รอยเตอร์/MGR Online - อัลฟาเบ็ต อิงก์ บริษัทแม่ของกูเกิลออกคำสั่งห้ามมิให้อัปเดตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์บนสมาร์ทโฟนหัวเว่ย ตามคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ขึ้นบัญชีดำยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมจากจีน โดยน่าจะกระทบถึงแอปฯ สำคัญอย่าง จีเมล์ ยูทูป รวมถึงเบราเซอร์โครมด้วย
วานนี้ (19) แหล่งข่าวเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า อัลฟาเบ็ต อิงก์ บริษัทแม่ของกูเกิลบริษัทไอทีชั้นนำของโลก ได้สั่งห้ามการทำธุรกิจกับหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน และผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก โดยการสั่งห้ามดังกล่าวครอบคลุมถึงการถ่ายโอนฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการด้านเทคนิค ยกเว้นซอฟต์แวร์ที่สัญญาอนุญาตเปิดให้กับสาธารณชน โดยความเคลื่อนไหวของกูเกิลครั้งนี้ถือเป็นการขยายวงของสงครามการค้า หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งให้ให้บริษัท หัวเว่ย ถูกขึ้นบัญชีดำทั่วโลก
จากกรณีดังกล่าวโฆษกของกูเกิลเปิดเผยเพียงว่า ทางบริษัทฯ ดำเนินการ “ตามคำสั่ง และกำลังประเมินถึงผลกระทบ” โดยไม่ได้ให้รายละเอียดแต่อย่างใด
คาดการณ์กันว่าคำสั่งดังกล่าวจะทำเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยนอกประเทศจีน เนื่องจากสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยจะไม่สามารถเข้าถึงการอัพเดตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล ขณะที่สมาร์ทโฟนในอนาคตของหัวเว่ยที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ก็จะไม่สามารถเข้าถึงบริการยอดนิยมของกูเกิล อย่างเช่น กูเกิล เพลย์ สโตร์ จีเมล์ และยูทูป
“หัวเว่ยจะสามารถใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์แค่เวอร์ชันที่เปิดสาธารณะ และจะไม่สามารถเข้าถึง แอปพลิเคชัน และบริการต่างๆ จากกูเกิลได้” แหล่งข่าวระบุ
รัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี (16) ที่ผ่านมาว่า ชื่อบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ถูกใส่ไว้ในบัญชีดำทางการค้าและมีผลทันที ซึ่งจะทำให้บริษัทประสบความยากลำบากอย่างมากในการทำธุรกิจกับคู่ค้าในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร์ กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ออกมากล่าวว่ากำลังพิจารณาผ่อนคลายข้อจำกัดกับหัวเว่ย เพื่อ “ป้องกันความขัดข้องของการดำเนินการของระบบเครือข่ายและอุปกรณ์” และเมื่อถึงวันอาทิตย์ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าการเข้าถึงซอฟท์แวร์มือถือของหัวเว่ยจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด
มูลค่าความเสียหายของหัวเว่ยต่อการขึ้นบัญชีดำของทางการสหรัฐฯ ยังไม่มีการประเมินออกมาแน่ชัด เพราะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตของหัวเว่ยกำลังประเมินเรื่องผลกระทบอยู่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านชิปคอมพิวเตอร์ก็ตั้งข้อสงสัยว่าหัวเว่ยจะสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยปราศจากความช่วยเหลือของบริษัทสหรัฐฯ หรือไม่
ขณะที่ภายในของกูเกิลเองก็กำลังถกเถียงกันถึงเรื่องบริการที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นบัญชีดำดังกล่าว ขณะที่เมื่อวันศุกร์โฆษกของหัวเว่ยก็เปิดเผยว่า ฝ่ายกฎหมายของกำลังศึกษาอย่างเร่งด่วนถึงผลกระทบต่อเรื่องดังกล่าว โดยล่าสุดก็ยังไม่มีแถลงการณ์ใดๆ เพิ่มเติม
ในส่วนของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ statcounter.com ในเดือนเมษายน 2562 ได้รับความนิยมจากผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกเกือบร้อยละ 75 หรือ 3 ใน 4 เครื่อง หัวเว่ยจะยังเข้าถึงเวอร์ชันที่เปิดสาธารณะ หรือที่รู้จักกันในนาม Android Open Source Project (AOSP) โดยปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้อุปกรณ์บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ใช้งานเป็นประจำอยู่ราว 2,500 ล้านเครื่อง ทั้งนี้นับจากนี้เป็นต้นไปกูเกิลจะต้องหยุดให้หัวเว่ยเข้าถึง บริการด้านเทคนิค และความร่วมมือใด ๆ ที่เกี่ยวกับแอปพลิเคชัน และบริการในเครือข่าย
คาดกันว่าแอปพลิเคชันที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว อย่างเช่น จีเมล ยูทูป รวมไปถึงเบราว์เซอร์โครมที่ถูกเปิดให้ดาวน์โหลดบนกูเกิล เพลย์สโตร์ และจะหายไปบนมือถือหัวเว่ย โดยแอปฯ เหล่านี้ไม่ได้ถูกครอบคลุมอยู่ใน AOSP อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้สมาร์ทโฟนหัวเว่ยอยู่แล้วจะยังสามารถดาวน์โหลดอัปเดตจากกูเกิลได้อยู่
ขณะที่ทางด้านหัวเว่ยก็บอกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทมีการเตรียมแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือเหตุดังกล่าวด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีกรณีที่ถูกบล็อกไม่ให้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยเทคโนโลยีบางอย่างนั้นมีการใช้งานและจำหน่ายในประเทศจีนแล้ว