xs
xsm
sm
md
lg

มาเลย์หวังส่ง “มูซังคิง” ตีตลาด “ทุเรียนไทย” ในจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เยี่ยมชมและชิมช็อกโกแลตทุเรียนในเทศกาลทุเรียนมาเลเซีย ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2562
MGR Online/เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ - มาเลเซียรุกตลาดทุเรียนในจีน ชูพันธุ์ มูซังคิง หรือเมาซานหวัง คุยแพงและอร่อยที่สุด หวังดึงแชร์จากตลาดทุเรียนไทย พร้อมเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก นำเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะเข้ามาบริหาร รวมถึงการแปรรูปไปเป็นอาหารอย่างอื่น เช่น ช็อกโกแลต ขนมไหว้พระจันทร์

มูซังคิง (Musang King) หรือในชื่อภาษาจีนคือ เมาซานหวัง (猫山王) ซึ่งแปลได้ว่า ราชาแมวป่า ถือเป็นทุเรียนชั้นเลิศของประเทศมาเลเซีย โดยชาวมาเลเซียคุยว่ารสชาติดีที่สุดในโลก และราคาแพงกว่าทุเรียนชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันทุเรียนที่ชาวจีนนำเข้าไปบริโภคในประเทศนั้น มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เป็นทุเรียนจากมาเลเซีย ขณะที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศไทย
ภาพจาก newleaf.com.my
ด้วยเหตุนี้เองมาเลเซียจึงพยายามจะเพิ่มปริมาณการส่งออกทุเรียนไปยังจีน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะส่งออกทุเรียนเป็นลูก และทุเรียนแช่แข็งไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดที่ความนิยมในการบริโภคทุเรียนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ในช่วงการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ครั้งที่ 2 ที่ปักกิ่ง บริษัทผู้ส่งออกทุเรียนหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับเครือพีแอลเอส แพลนเทชันส์ เบอร์ฮัด (PLS Plantations Berhad) ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้ไปออกงานเทศกาลทุเรียน มาเลเซีย โดยนำผลิตภัณฑ์จากทุเรียน และเทคโนโลยีการปลูกผลไม้ที่ได้รับฉายาว่าเป็น “ราชาแห่งผลไม้” ไปจัดแสดงด้วย

สำหรับงานเทศกาลทุเรียนมาเลเซียดังกล่าวจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันในโรงแรมหรูในกรุงปักกิ่ง ซึ่งนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้เข้าเยี่ยมชมงานในวันเสาร์ที่ 27 เม.ย. โดยหลายบูทได้นำผลิตภัณฑ์จากทุเรียนอย่างเช่น ช็อกโกแลตทุเรียน ขนมไหว้พระจันทร์ทุเรียน ฯลฯ ไปจัดแสดง โดยหวังว่าการจัดงานดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวจีนหันมาสนใจทุเรียนจากมาเลเซียเพิ่มขึ้น
ภาพจาก newleaf.com.my
ภาพจาก newleaf.com.my
“ทุเรียนมาเลเซียนั้นราคาแพงกว่า (ทุเรียนไทย) แต่เนื่องจากเศรษฐกิจจีนนั้นดีมาก ชาวจีนก็มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเรื่องเสื้อผ้า รถยนต์ รวมถึงอาหารที่รับประทาน” นายวัน มันโฮ กรรมการของนิวลีฟ แพลนเทชัน เบอร์ฮัดกล่าว โดยปัจจุบันจีนไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าทุเรียนทั้งลูกจากมาเลเซีย เพียงอนุญาตให้นำเข้าแบบแช่แข็งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อสิงหาคม 2561 ทางรัฐบาลจีนและมาเลเซียได้บรรลุข้อตกลงเพื่ออนุญาตให้สามารถนำเข้าทุเรียนทั้งลูก และแช่แข็งจากมาเลเซียมายังจีนได้แล้ว และในงานเทศกาลทุเรียนมาเลเซียล่าสุดที่กรุงปักกิ่งก็มีการเปิดเผยว่าทั้งสองประเทศได้ตกลงถึงขั้นตอนและวิธีการนำเข้า-ส่งออกกันเรียบร้อยแล้ว โดยการส่งออกทุเรียนของมาเลเซียไปยังจีนน่าจะสามารถทำได้ภายในปี 2562 นี้ และเชื่อว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากผู้บริโภคชาวจีน

“ตอนนี้คนจีนสามารถซื้อหาทุเรียนได้แต่ในเฉพาะเมืองใหญ่ๆ แต่ในอนาคตมาเลเซียกำลังขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน เราหวังว่าเราจะสามารถรองรับความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีนได้” นายวันกล่าวเสริม

บริษัทของนายวันโฆษณาว่า ทุเรียนพันธุ์มูซังคิงของมาเลเซียนั้นเป็นเหมือนแอร์เมส (ยี่ห้อเครื่องหนังและสินค้าแฟชั่นราคาแพงของฝรั่งเศส) ในวงการทุเรียน โดยปัจจุบันใช้พื้นที่เพาะปลูกราว 50 เอเคอร์ (ราว 125 ไร่) แต่ในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะเช่าพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มเติมเป็น 1,000 เอเคอร์ (ราว 2,500 ไร่) โดยบริษัท นิวลีฟ เผยว่ามีการใช้ระบบการเพาะปลูกอัจฉริยะเพื่อติดตามสภาพ และการเจริญเติบโตของต้นทุเรียน

“ตลาดจีนเปิดรับทุเรียนมาเลเซีย ดังนั้น การทำการเกษตรของมาเลเซียจึงเริ่มเปลี่ยนไปเป็นแบบการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องใช้การบริหารจัดการด้วยระบบการเพาะปลูกอัจฉริยะ” นายวันเปิดเผย

ทั้งนี้ อุปสงค์ของทุเรียนจากจีนยังเป็นตัวผลักดันให้ราคาของทุเรียนมาเลเซียเพิ่มขึ้น โดยในปี 2555 ชาวสวนทุเรียนมาเลเซียสามารถขายทุเรียนได้ราว 9 ริงกิตต่อกิโลกรัม (ราว 70 บาท) แต่ปัจจุบันราคาทุเรียนมาเลเซียเพิ่มสูงขึ้นเป็น 30 ริงกิตต่อกิโลกรัม (ราว 230 บาท)
ด้วยความต้องการบริโภคทุเรียนที่เพิ่มขึ้นของชาวจีน ทำให้ในมาเลเซียเกิดการรุกพื้นที่ป่า เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนในเขต Raub รัฐปาหัง ซึ่งห่างจากกัวลาลัมเปอร์ราว 100 กิโลเมตร โดยภาพนี้ทางองค์กรพัฒนาเอกชนถ่ายไว้เมื่อ 19 ธันวาคม 2561 (ภาพเอเอฟพี)
นายเอริก ชาน ผู้บริหารบริษัท ดูไล ฟรุต ของมาเลเซียบอกว่า เมื่อปี 2554 บริษัทของเขาส่งทุเรียนไปจีนแค่ปีละ 1 คอนเทนเนอร์เท่านั้น แต่ปัจจุบันความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีนสูงขึ้นมาก โดยทุกเดือนเขาส่งทุเรียนไปจีนราว 5-6 คอนเทนเนอร์ และคาดว่า ยอดขายจะเพิ่มขึ้นถึงราว 3 เท่าในช่วงสองปีข้างหน้า

“ประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปจีนมาได้ราว 20 ปีแล้ว ดังนั้น ทุเรียนไทยจึงสามารถเจาะตลาดได้ลึกกว่า นอกจากนี้ไทยยังมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนมากกว่ามาเลเซียด้วย” นายชานเสริม และว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมามาเลเซียไปให้ความสำคัญกับธุรกิจน้ำมันปาล์ม โดยเพิ่งมาสนใจส่งออกทุเรียนเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เอง นอกจานี้ที่ผ่านมามาเลเซียก็เพียงส่งออกทุเรียนไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์เท่านั้น

ในปี 2560 ยอดการนำเข้าทุเรียนของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เป็น 350,000 ตัน โดยร้อยละ 40 ของทุเรียนที่จีนนำเข้ามาจากประเทศไทย ผู้ผลิตทุเรียนอันดับหนึ่งของโลก โดยไทยเริ่มส่งออกทุเรียนไปจีนตั้งแต่ปี 2546

ด้านนายชาร์ลส์ เฉิน ผู้บริหารของ Krillo Kakaw ผู้ผลิตช็อกโกแลตที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์เปิดเผยว่า ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตทุเรียนของบริษัทราว 7-8 รสชาติที่ขายดีอย่างมาก แม้จะถูกวางขายในราคา 49 ริงกิต (ราว 380 บาท) โดยบริษัทวางแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อจะส่งออกไปยังประเทศจีน โดยเป็นทุเรียนทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง (ฟรีซดราย) โดยคาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้ในปีแรกราว 40-50 ล้านริงกิต (ราว 310-390 ล้านบาท)


กำลังโหลดความคิดเห็น