xs
xsm
sm
md
lg

Leica งานเข้า! คนจีนโวยคลิปโปรโมตโยงเหตุ 'เทียนอันเหมิน 1989'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพตอนท้ายของหนังสั้น วิดีโอโปรโมต Leica The Hunt (จาก YouTube / RadioaktiveFilm)
เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ (19 เม.ย.) - บริษัทกล้องไลก้า ปัดไม่เกี่ยวข้องกับคลิปหนังสั้น วิดีโอโปรโมต ล่าสุด ที่ถ่ายทอดเหตุการณ์ความขัดแย้งทั่วโลก ผ่านเลนส์กล้องนักข่าวภาคสนามและสมรภูมิต่างๆ โดยหนึ่งในเหตุการณ์นั้นคือ ภาพชายจีนคนหนึ่ง ขณะยืนขวางขบวนรถถัง ที่เคลื่อนปิดล้อมจัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อปี 1989

รายงานข่าวกล่าวว่า “ The Hunt” คลิปหนังสั้น วิดีโอโปรโมท ที่มีความยาว 5 นาที แสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาที่มืดมนแห่งสงครามและความขัดแย้งผ่านเลนส์ของนักถ่ายภาพข่าว แต่ประเด็นหลักของเรื่อง คือเหตุการณ์นักข่าวชาวตะวันตกในโรงแรมปักกิ่งในปี 1989 ถูกเจ้าหน้าที่จีนบุกค้นห้องพัก ขณะที่เขาพยายามออกไปถ่ายภาพ การล้อมปราบผู้ประท้วงนักศึกษาในจัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยกองทัพจีน



ทันทีที่หนังสั้นเรื่องนี้เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ต้นสัปดาห์นี้ กลายเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองสำหรับรัฐบาลจีน ซึ่งปีนี้ ครบรอบ 30 ปีของการปราบปรามการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในใจกลางกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989 กองทหารจีนที่ได้รับการหนุนด้วยรถถัง ได้เปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ประมาณการว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตตั้งแต่หลักร้อย ถึงหลักพัน

คลิปหนังสั้นนี้ ถูกห้ามเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ของจีน และโพสต์ใด ๆ ที่มีคำหลักว่า “ Leica” - ทั้งเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน ก็ไม่สามารถเผยแพร่บนแพลตฟอร์มโซเชียลเวยปั๋วได้อีกต่อไป เนื่องจาก “ละเมิดกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของเวยปั๋ว”

ผู้ใช้เวยปั๋วจำนวนมากได้เข้าไปแสดงความเห็นเชิงตำหนิ บนแพลตฟอร์มโซเชียล Leica พร้อมกับให้ความเห็นว่า เป็นการเคลื่อนไหวการตลาดที่ “งี่เง่า” การโฆษณาแบบนี้ไม่เพียงส่งผลเสียกับไลก้า แต่ยังทำให้หัวเว่ย พันธมิตรเทคโนโลยี ซึ่งใช้เลนส์กล้องสมาร์ทโฟนไลก้า ยังอยู่ในตำแหน่งที่ลำบากคบหาด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (18 เม.ย.) เอมิลี แอนเดอรสัน โฆษกหญิงของบริษัทไลก้า กล่าวว่าคลิปโฆษณา“ The Hunt” ซึ่งลงท้ายด้วยโลโก้ไลก้านั้น ไม่ใช่ภาพยนตร์ทางการ ที่ได้รับอนุญาตจากบริษัทฯ

“Leica Camera AG ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสนอเรื่องราวเนื้อหาที่แสดงในวิดีโอดังกล่าว และเสียใจกับความเข้าใจผิด หรืออื่นๆ ที่เกิดขึ้น” โฆษกฯ กล่าวพร้อมเสริมว่า บริษัทไลก้า ได้ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ถูกแชร์ในช่องทางโซเชียลมีเดียของ Leica

รายงานข่าวกล่าวว่า ผู้ผลิตวิดีโอชื่อ F / Nazca Saatchi Saatchi ผู้สร้างภาพยนตร์ มือรางวัลมากมายสำหรับ Leica ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังไม่ตอบหรือแสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับการผลิตหนังสั้นวิดีโอโปรโมตนี้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไลก้าซึ่งผลิตกล้องดิจิทัลและกล้องฟิล์มระดับไฮเอนด์ ได้ขยายตลาดธุรกิจในประเทศจีน โดยขยายร้านค้าปลีกอย่างเป็นทางการ 9 แห่งแล้ว และเมื่อปี 2559 บริษัทได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับหัวเว่ยซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของจีน ร่วมมือกันพัฒนากล้องสำหรับสมาร์ทโฟน

ในบัญชีเวยปั๋ว ของไลก้า ยังคงมีผู้มาโพสต์แสดงความเห็นมากมาย
“ ไลก้าเสียสติไปแล้วหรือ จะก่อปัญหากับตัวเองไม่พอ แต่ต้องการโยนหัวเว่ยลงในหลุมไปด้วย” ผู้ใช้คนหนึ่งเขียนไว้บนเวยปั๋ว

“คุณสมควรที่จะร่วมมือกับหัวเว่ยผู้รักชาติของเราหรือไม่” ผู้ใช้รายอื่นพูดถึงไลก้า

ขณะที่ หัวเว่ยปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคลิปหนังสั้นโฆษณา ซึ่งแม้ว่าไม่ได้พูดถึงการปราบปรามจัตุรัสเทียนอันเหมินโดยตรง แต่ความหมายเชิงภาพนั้นสื่อชัดเจน

ในช่วงต้นของภาพยนตร์คำบรรยายภาพที่เกิดขึ้นใน“ ปักกิ่ง 1989” ทหารสวมหมวกที่มีตราสัญลักษณ์ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนและกระดุมคอปกของดาวคอมมิวนิสต์ เรียกร้องให้ตัวเอกแสดงเอกสารประจำตัวของเขาในทางเดินโรงแรมที่มืดมน และป้องกันไม่ให้เขาออกไปนอกอาคาร

ในฉากสุดท้ายนักข่าวถือกล้องของเขาที่หน้าต่างห้องในโรงแรม ขณะที่ทหารจีนทุบประตู เขาปรับเลนส์กล้องของตน ส่องไปนอกหน้าต่าง จังหวะนั้นเงาสะท้อนของเลนส์กล้องถ่ายรูปของเขา คือภาพของชายคนหนึ่งยืนขวางรถถัง ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า คือภาพของ Tank Man อันเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมประท้วงจัตุรัสเทียนอันเหมิน จากนั้นภาพยนตร์ตัดเป็นสีดำ เมื่อได้ยินเสียงกดชัตเตอร์ และมีโลโก้ Leica

โฆษณาดังกล่าวได้รับการชื่นชมจากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เช่น โจว เฟิงสั่ว ซึ่งเรียกวิดีโอนี้ว่า "game changer" หรือ ผู้เปลี่ยนโลก

“มันจับจิตวิญญาณเมื่อ 30 ปีที่แล้ว” โจว อดีตผู้นำนักศึกษาในการประท้วง และเคยอยู่ลำดับที่ 5 ในบัญชีดำรายชื่อบุคคลที่ทางการต้องการตัวมากที่สุดของปักกิ่ง กล่าวว่า “ตอนที่ชมคลิปนี้ น้ำตาผมคลอเลย”

โจวกล่าวว่า รัฐบาลจีนคงจะไม่พูดถึงเรื่องโฆษณาคลิปนี้อย่างเปิดเผย เพื่อหลีกเลี่ยงการดึงความสนใจไปที่เนื้อหา แต่ถ้าธุรกิจไลก้าในตลาดจีนได้รับผลกระทบอะไรจากการกระทำการตอบโต้ของรัฐบาล โจวกล่าว หวังว่า“ ตลาดต่างประเทศจะยืนหยัดเพื่อพวกเขา”

แต่พอได้รู้ในภายหลังว่า บริษัทไลก้า ได้บอกปัด ไม่รู้เห็น ไม่เกี่ยวข้องกับเนื่อหาสาระวิดีโอโปรโมทนี้ โจว กล่าวว่ามันเป็น "ความอัปยศ" “พวกเขาควรทำได้ดีกว่านี้”
ภาพของ“ Tank Man” ที่ยืนขวางหน้าขบวนรถถัง ในจตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนมิถุนายน 1989 (ภาพรอยเตอร์ส)
“ The Hunt” คลิปหนังสั้น วิดีโอโปรโมท ที่มีความยาว 5 นาที แสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาที่มืดมนแห่งสงครามและความขัดแย้งผ่านเลนส์ของนักถ่ายภาพข่าว แต่ประเด็นหลักของเรื่อง คือเหตุการณ์นักข่าวชาวตะวันตกในโรงแรมปักกิ่งในปี 1989


กำลังโหลดความคิดเห็น