โดย พชร ธนภัทรกุล
อาหารจีนที่ทำจากกระเพาะปลา ที่หลายคนรู้จักกันดี เช่น กระเพาะปลาน้ำแดง กระเพาะปลาผัดแห้ง กระเพาะปลาพวกนี้ เป็นกระเพาะปลาสำหรับปรุงอาหาร แต่ยังมีกระเพาะปลาอีกอย่างหนึ่งที่ชาวจีนใช้เป็นยา ชาวจีนถึงกับยกให้เป็น “โสมจากท้องทะเล”
และด้วยคุณสมบัติทางยาข้อนี้เอง ทำให้ครั้งหนึ่ง กระเพาะปลาที่ใช้ทำยา คือหนึ่งในเครื่องบรรณาการที่หัวเมืองทางใต้ของจีน ต้องจัดหาส่งไปถวายฮ่องเต้มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ดังปรากฎหลักฐานอยู่ในหนังสือชื่อ “ซินถังซู” (新唐书เสียงจีนกลาง หรือ New History of the Tang Dynasty) ที่ระบุว่า
“แคว้นอู๋ (คือมณฑลเจียงซูปัจจุบัน) ได้ส่งกระเพาะปลามาเป็นเครื่องราชบรรณาการทั้งสิ้น 7 ชั่ง”
กระเพาะปลาที่ใช้ทำยา ส่วนมากได้จากถุงลมของปลาหายชนิด ที่สำคัญๆ เช่น
ปลาโครกเกอร์เหลือง (Yellow croaker) หรือหวงหวี (黄鱼เสียงจีนกลาง)
ปลาสเตอเจียนจีน (Chinese sturgeon) หรือสวิ้นหวี (鲟鱼เสียงจีนกลาง)
ปลาเหมี่ยน หรือเหมี่ยนหวี (鮸鱼เสียงจีนกลาง) เรียกหมิ่นหวี(鳘鱼เสียงจีนกลาง) ก็มี และยังมีอีกชื่อว่า ปลาหวงฉุน หรือหวงฉุนหวี(黄唇鱼เสียงจีนกลาง) ที่บางคนเรียกปลาจวดยักษ์
ปลาหมิ่นหรือปลาเหมี่ยนอีกชนิด คือปลาหมิ่นทอง (金钱鳘鱼เสียงจีนกลาง) กระเพาะปลาของปลาชนิดนี้มีชื่อ จินเฉียนเปี้ยว (金钱鳔เสียงจีนกลาง หรือกิมจี่เผีย -เสียงแต้จิ๋ว) ที่หายากมาก ปัจจุบัน ในเมืองไทยน่าจะไม่มีแล้ว
และกระเพาะปลาอื่นๆ เช่น กระเพาะปลาซีแง้ กระเพาะปลากิมเล้ง เป็นต้น
การเตรียมกระเพาะปลามีสองวิธี คือ
วิธีแรก คือผ่าตัวกระเพาะปลาออก ลอกเส้นเลือดและเยื่อเมือกออกให้หมด กดแผ่เป็นแผ่นแบน แล้วตากแดดให้แห้ง หรือจะใช้สดเลยก็ได้
อีกวิธีคือ ต้มกระเพาะปลาให้หลอมละลาย จากนั้นตั้งทิ้งไว้ให้แห้ง กระเพาะอย่างนี้เรียกว่า เปี้ยวเจียว (鳔胶 เสียงจีนกลาง) หรือวุ้นกระเพาะปลา (isinglass) กระเพาะปลาที่ตากแห้งแล้วนี้ ส่วนมากจะกดทับเป็นแผ่นแบนกลมบาง สีเหลืองอ่อน มีลักษณะเป็นคิวติน (cutin) และมันวาวเล็กน้อย มีสายย้อยลงมาสองเส้น เนื้อแข็งเหนียว ฉีกขาดยาก ถ้าฉีกขาด จะเห็นลักษณะเป็นเส้นใยตรงรอยฉีกขาด แช่น้ำแล้วพองตัวง่าย ถ้าเอาไปต้มให้เดือด ก็จะหลอมละลายเกือบหมด เมื่อทิ้งไว้ให้เย็นตัวลง ที่หลอมละลายจนข้นหนาจะจับตัวแข็งเป็นแผ่นหรือแท่งกาวที่เหนียวมาก มีกลิ่นคาวเล็กน้อย รสจืด มีชื่อทางการค้าว่า หวีตู้ (鱼肚เสียงจีนกลาง) ส่วนที่ตัดเป็นเส้นเรียกว่า เสี้ยนหวีเจียว (线鱼胶เสียงจีนกลาง) หรือเส้นวุ้นกระเพาะปลา
ส่วนการเตรียมกระเพาะปลาเพื่อใช้เป็นยามีหลายวิธี เช่น
ย่างให้อ่อนตัวลงแล้วตัดเป็นท่อน นำไปตากแห้ง หรือจะเอามาคั่วในกาบหอย เช่น กาบหอยนางรม ที่บดป่นเป็นแป้งแล้วก็ได้ วิธีทำคือ ร่อนแป้งกาบหอยใส่ในกระทะ ตั้งไฟกลางให้ความร้อนจนแป้งเริ่มปะทุ จึงใส่ชิ้นกระเพาะปลา (หรือสมุนไพรอื่น) ลงไป พลิกคนไปเรื่อยๆ คั่วจนกระเพาะปลาพองฟูเป็นฟอง ตักขึ้นมาร่อนแป้งกาบหอยทิ้ง ตั้งทิ้งให้เย็นตัวลง ได้ฟองกระเพาะปลา จึงเอามาบดเป็นผง ผสมน้ำผึ้งเป็นยาลูกกลอน ซึ่งต้องรอให้เย็นตัวลงก่อนถึงจะนำมาใช้ได้ และอย่าใช้วิธีตำ เพราะจะเหนียวยืดจนทำลูกกลอนไม่ได้ ที่เอามาคั่วกับแป้งกาบหอย เพราะแป้งกาบหอยจะช่วยขจัดกลิ่นคาวและเพิ่มสรรพคุณทางสมุนไพรด้วย ซึ่งมักใช้กับพวกวุ้นกาว เพื่อให้ตัวสมุนไพรกรอบร่วน ง่ายต่อการนำไปปรุงยาหรือเข้าลูกกลอน เพื่อเพิ่มสรรพคุณดับร้อน ละลายเสมหะของกระเพาะปลา
กระเพาะปลาที่เป็นยาจีน มีชื่อเรียกหลากหลายมาก เช่น หวีเปี้ยว (鱼鳔 )หรือหื่อเผีย -เสียงแต้จิ๋ว หวีเจียว (鱼胶) หรือหื่อกา -เสียงแต้จิ๋ว เปี้ยว (鳔หรือเผีย -เสียงแต้จิ๋ว หวีตู้ (鱼肚) หวีเพา (鱼脬) หวีไป๋ (鱼白) ไป๋เปี้ยว (白鳔) จู๋อี๋ (鱁鮧) จู๋ถี (鱁鳀) เสวี้ยนเจียว (縼胶) เป็นต้น
ชื่อกระเพาะปลาทั้งหมดใช้เสียงจีนกลาง ชื่อไหนมีในภาษาแต้จิ๋ว ก็ได้ให้เสียงอ่านไว้ด้วย
นอกจากชื่อที่มีมากมายแล้ว กระเพาะปลาที่เป็นยา ยังมีการจำแนกเป็นกระเพาะปลาตัวผู้กับกระเพาะปลาตัวเมีย ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายคนอาจไม่ทราบ การจำแนกกระเพาะปลาออกเป็นตัวผู้กับตัวเมีย ก็มาจากเพศของปลานั่นแหละ กระเพาะปลาตัวผู้มาจากปลาตัวผู้ กระเพาะปลาตัวเมียก็มาจากปลาตัวเมีย แต่ก็มีกระเพาะปลาบางชนิดที่ไม่แยกตัวผู้ตัวเมียด้วย
การสังเกตกระเพาะปลาไหนเป็นตัวผู้ ไหนเป็นตัวเมีย มักดูจากรูปทรง ขนาด ความหนา และลักษณะพิเศษบางอย่าง กล่าวคือ
กระเพาะปลาตัวผู้ มักมีรูปทรงคล้ายอานม้า คือกลางตัวค่อนข้างหนา แต่ขอบจะค่อนข้างบาง ตัวยาวเป็นรูปตัว V และที่เป็นจุดสังเกต คือ มีลายเส้นสีเหลืองทองหรือสีเกือบขาวอยู่สองเส้น ซึ่งไม่มีในกระเพาะปลาตัวเมีย ตัวที่มีเนื้อแน่น หนา แห้งสนิท มีสีเหลืองทอง กึ่งโปร่งใส ถือว่ามีคุณภาพดี ในคุณภาพระดับเดียวกัน กระเพาะปลาตัวผู้จะให้สรรพคุณดีกว่ากระเพาะปลาตัวเมีย
ส่วนกระเพาะปลาตัวเมีย มักมีรูปทรงกลมแบนราบ คล้ายแผ่นกระดาน มีลายเป็นเส้นขวางหรือเส้นคลื่น เนื้อหนา ในคุณภาพระดับเดียวกัน ราคาถูกกว่ากระเพาะปลาตัวผู้เกือบครึ่งต่อครึ่ง
การจะบอกว่า กระเพาะปลาตัวผู้หรือกระเพาะปลาตัวเมียอย่างไหนดีกว่ากัน มันขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละคน บางคนชอบกินกระเพาะปลาตัวเมียโดยเฉพาะตัวที่มีเนื้อหนาๆ กินนุ่มเหนียว เพราะมีสารคอลลอยด์มากกว่า แต่บางคนกลับนิยมกระเพาะปลาตัวผู้ เพราะเนื้อแน่น แต่นุ่มลื่น เข้าปากแล้วไม่ละลายง่ายๆ เคี้ยวกินรู้สึกได้ถึงแรงต้านการขบกัด
สรุปวิธีดูกระเพาะปลาตัวผู้กระเพาะปลาตัวเมียแบบง่ายๆ คือ
กระเพาะปลาตัวผู้ รูปร่างยาว เนื้อบาง มีเส้นสีเหลืองเกือบขาวอยู่สองเส้น
กระเพาะปลาตัวเมียมีรูปร่างกลมแบนราบ และเนื้อหนากว่าอย่างเห็นได้ชัดในเกรดเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังต้องดูขนาด ความเก่าเก็บ ถึงจะบอกว่า กระเพาะปลาตัวผู้ดีกว่า แต่ถ้ากระเพาะปลาตัวผู้นั้นมีขนาดเล็ก แถมยังดูใหม่ นั้นก็อาจจะดีสู้กระเพาะปลาตัวเมียไม่ได้ กระเพาะปลาตัวเมียนั้นมีขนาดใหญ่กว่า และเก่าเก็บกว่า อย่างนี้ กระเพาะปลาตัวเมียก็ดีกว่า
พูดถึงกระเพาะปลาเก่าเก็บ เชื่อว่า หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า คนจีนบางบ้านมีกระเพาะปลาเก่าเก็บไว้หลายสิบปี จุดประสงค์จริงๆที่เก็บกระเพาะปลาไว้ ก็เพื่อเอามาตุ๋นให้ลูกสาวหรือลูกสะใภ้กินในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตรแล้ว โดยทั่วไปจะเริ่มตุ๋นกระเพาะปลาให้กินในช่วงที่มีอายุครรภ์ 4-5 เดือน และกินถี่มากขึ้นในช่วงก่อนคลอด เชื่อว่าจะช่วยให้หญิงนั้นมีสุขภาพดีสบายตัวขึ้นหลังคลอดบุตร นอกจากนี้ หลังผ่าตัดแล้ว 4-5 วัน ถ้าให้กินกระเพาะปลา จะช่วยให้แผลสมานตัวหายเร็วขึ้น
แต่เมื่อกระเพาะปลากลายเป็นของเก่าเก็บ ประกอบกับชนิดกระเพาะปลาเก่าที่เก็บไว้นานปี กระทั่งหลายสิบปี ทำให้กระเพาะปลาชนิดนั้นๆ กลายเป็นของหายาก จึงเกิดการซื้อขายกระเพาะปลาเก่ากันในราคาสูงลิ่วคล้ายการซื้อขายของเก่าหายากอย่างอื่นๆ ราคากระเพาะปลาเก่าจะสูงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับชนิด (ปลาชนิดไหน) ดูสีโปร่งใสแค่ไหน ขนาดใหญ่เล็กและความหนาบาง ความสมบูรณ์ของตัวกระเพาะปลา กระเพาะปลาตัวผู้หรือตัวเมีย ดมกลิ่นต้องไม่มีกลิ่นคาวหรือกลิ่นเหม็น ต้องเก่าเก็บจริง กระเพาะปลาเก่าจะมีสีเข้ม ยิ่งเก่าสียิ่งเข้ม กระเพาะปลาเก่าจะใช้บำรุงร่างกายได้ดีกว่ากระเพาะปลาใหม่
และสุดท้าย ถ้ารู้แหล่งที่มาได้ก็ยิ่งดี เช่น ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ (รวมประเทศที่ติดทะเล เช่น ไทย ฟิลิปปินส์) มหาสมุทรอินเดีย (อินเดีย พม่า) มหาสมุรแอตแลนติค (บราซิล อมเริกาใต้) โอเชี่ยนเนีย (นิวซีแลนด์) แหล่งที่มาของกระเพาะปลาเหล่านี้ เรียงตามลำดับคุณภาพของกระเพาะปลาที่ได้จากดีมากไปหาน้อย
เราจะมาพูดถึงสรรพคุณหรือประโยชน์ทางยาของกระเพาะปลากัน
ในตำราสมุนไพรจีนระบุถึง สรรพคุณของกระเพาะปลาไว้ว่า มีฤทธิ์กลาง รสหวาน ใช้บำรุงเลือด ห้ามเลือด บำรุงไตให้แข็งแรงขึ้น เสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพิ่มพูนกำลังวังชา บำรุงผิวพรรณให้เนียนกระชับเปล่งปลั่ง ช่วยเพิ่มน้ำนมในสตรีหลังคลอดบุตร และบรรเทาอาการหลงลืมนอนไม่หลับในผู้สูงวัย
ในตำราสมุนไพรเล่มสำคัญของจีน “ปึงเช่ากังมัก” (本草纲目 Compendium of Materia Medic ที่เรียบเรียงโดยนักเภสัชศาสตร์คนสำคัญในสมัยราชวงศ์หมิง หลี่สือเจิน ระบุว่า
“(กระเพาะปลา) มีรสหวาน ฤทธิ์กลาง ไม่มีพิษ ให้สรรพคุณบำรุงไต เพิ่มกำลังวังชา...”
หนังสือสมุนไพรจีนเล่มอื่นๆ ล้วนระบุไว้ใกล้เคียงกันว่า กระเพาะปลาใช้บำรุงเลี้ยงเส้นเลือดเส้นเอ็น ห้ามเลือด ละลายลิ่มเลือด ละลายก้อนเสมหะ แก้บวม ใช้เพื่อบำบัดอาการไตหย่อนสมรรถภาพ บาดทะยัก บาดแผลมีเลือดออก ริดสีดวงทวาร เป็นต้น
ปัจจุบัน วงการแพทย์แผนจีนยังเห็นว่า กระเพาะปลาให้สรรพคุณเสริมการบำบัดอาการโรคเบาหวาน ต้อกระจก หอบหืด กระดูกพรุน และมะเร็งทางเดินอาหารและกระเพาะอาหารแม้แต่การบำรุงผิวพรรณ ก็มีการใช้กัน ถือเป็นของบำรุงที่ดีอย่างหนึ่ง
การใช้กระเพาะปลาเพื่อเป็นยา ให้ใช้เพียง ๑๕-๒๕ กรัม ต้มน้ำ เคี่ยว ป่นทำลูกกลอน หรือบดผงรับประทาน ถ้าใช้ภายนอก ให้หลอมละลายแล้วพอกบริเวณที่เป็น ข้อพึงระวังคือ ผู้ที่มีสารเหลวคั่งค้างมากในร่างกาย เบื่ออาหารที่เป็นผลจากอาการเจ็บป่วย ห้ามรับประทาน
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างอาหารตำรับยาจากกระเพาะปลาที่เป็นการบำบัดทางเลือก
๑. กระเพาะปลา ๘๐ กรัม น้ำมันงา ๑๐๐ กรัม ล้างกระเพาะปลาให้สะอาด ผึ่งแห้ง ตั้งน้ำมันงาในกระทะให้ร้อนสัก ๘ ส่วน จึงทยอยใส่กระเพาะปลาลงทอดจนกรอบ ตักขึ้น ตั้งไว้ให้เย็นตัวลง บดละเอียด เอาใส่ขวดปิดฝาให้สนิทเพื่อป้องกันความชื้น รับประทานวันละ ๒ ครั้งๆละ ๓ กรัมด้วยน้ำนมผึ้ง (Royal jelly) ให้สรรพคุณเสริมสร้างร่างกาย เพิ่มพูนกำลังวังชา เหมาะสำหรับแก้อาการเหนื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง โดยเฉพาะอาการอ่อนเพลียจากการใช้สมอง
๒. กระเพาะปลาและตังกุยอย่างละ ๑๐ กรัม ลูกจ๊อ ๑๐ ลูก ต้มน้ำดื่มวันละ ๒ ครั้ง เป็นประจำ ให้สรรพคุณบำรุงเลือด บำรุงผิวพรรณ บำบัดอาการโลหิตจางชนิด aplastic anemia
๓. กระเพาะปลา ๑๕-๓๐ กรัม น้ำตาลกรวด ๓๐-๖๐ กรัม อั่งจ้อ (พุทราจีน) เห็ดหูหนูขาว (แช่น้ำให้พองนุ่ม) นำทุกอย่างใส่หม้อตุ๋นกระเบื้องเคลือบ เติมน้ำปิดฝา ตุ๋นนาน 3-4 ชั่วโมง กินวันละครั้ง ติดต่อกันหลายวัน ให้สรรพคุณห้ามเลือด แก้บวม บำรุงผิวพรรณ เหมาะสำหรับหญิงหลังมีรอบเดือน
แถมท้ายด้วยสูตรอาหารสำหรับคุณผู้หญิงโดยเฉพาะ ด้วยกระเพาะปลามีสรรพคุณบำรุงเลือด บำรุงผิวพรรณ ดังนั้น คุณผู้หญิงที่เริ่มมีริ้วรอยบนใบหน้า แนะนำให้กินกระเพาะปลาตุ๋นเนื้อ เนื้อที่ใช้อาจเป็นกระดูกซี่โครงหมู ไก่ดำ หรือแม้แต่กบก็ได้ เครื่องยาจีนก็มีขิงสด ห่วยซัว เก๋ากี้ ล้างเครื่องปรุงทุกอย่างให้สะอาด เอาใส่ในชามตุ๋น เติมน้ำพอประมาณปิดฝา นำไปนึ่งตุ๋นด้วยไฟอ่อน 3 ชั่วโมง เติมเกลือปรุงรส ได้กระเพาะปลาตุ๋นเนื้อและยาจีนไว้บำรุงผิวพรรณ
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของกระเพาะปลา สิ่งที่ดูสกปรก ไร้ค่า ไร้ประโยชน์ และอาจถูกโยนทิ้งได้ง่าย ซึ่งชาวจีนทำให้กลายเป็น “ของดีมีค่าจากท้องทะเล” เป็นยา