เอเจนซีส--ทางการจีนแถลงยินดีต้อนรับกลุ่มนักท่องเที่ยว และสื่อจากต่างแดนเดินทางมายังทิเบตโดยปฏิบัติตามข้อจำกัดการเดินทาง
ในวันพุธ(6 มี.ค.) นาย อู๋ อิงเจี๋ย เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตปกครองตัวเองทิเบต แถลงว่ารัฐบาลยังเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามายังทิเบต แต่ต้องปฏิบัติตามข้อจำกัดที่รัฐบาลท้องถิ่นได้กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้มาเยือน เนื่องจากบางคนอาจล้มป่วยจากอาการแพ้ความสูง
พร้อมกันนี้นายใหญ่พรรคฯประจำแดนหลังคาโลก ได้โจมตีสหรัฐอเมริกาต่อกรณีที่สภาคองเกรสแดนพญาอินทรีผ่านกฎหมาย Reciprocal Access to Tibet Act ในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา โดยกฎหมายฉบับนี้เรียกร้องให้จีนเปิดทางให้กลุ่มเจ้าหน้าที่การทูต กลุ่มผู้สื่อข่าว และนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ เดินทางไปยังทิเบตอย่างสะดวกดายมากขึ้น พร้อมกับขู่ว่าหากจีนปฏิเสธ วอชิงตันจะโต้ตอบโดยห้ามกลุ่มเจ้าหน้าที่จีนที่รับผิดชอบนโยบายนี้ เดินทางมายังสหรัฐฯ
หลังจากที่สหรัฐฯผ่านกฎหมายฯดังกล่าว ซึ่งรอการลงนามของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จึงจะมีผลบังคับใช้ โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน นาย หลู่ คังออกมาแถลงโต้ตอบทันควันว่า วอชิงตันแทรกแซงกิจการภายในจีนและละเมิดบรรทัดฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
“ชาวอเมริกันจำนวนมากเข้ามายังทิเบต ด้วยภูมิประเทศและสภาพอากาศที่พิเศษอย่างมาก เราจึงต้องออกกฎสำหรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางมายังทิเบต” เลขาฯพรรคฯประจำทิเบต กล่าวกับผู้สื่อข่าวในการประชุมนอกรอบระหว่างการประชุมสภาผู้แทนแห่งชาติจีน หรือเอ็นพีซี ในวันพุธ(6 มี.ค.)
ทิเบตมีฉายา “แดนหลังคาโลก” นครลาซาเมืองเอกของทิเบต อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 3,650 เมตร ซึ่งอาจทำให้คนต่างถิ่นเกิดอาการแพ้ความสูง โดยความรุนแรงขึ้นกับสภาพร่างกาย
ชาวต่างชาติต้องขอใบอนุญาตพิเศษสำหรับเข้าทิเบต ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จีนมักปฏิเสธกลุ่มผู้สื่อข่าว นักการทูต และนักวิชาการที่วิจัยประเด็นอ่อนไหวในทิเบต ซึ่งจัดเป็นจุดร้อนความขัดแย้งทางการเมืองของจีน
นาย Qizhala ประธานเขตปกครองตัวเอง บอกกับผู้สื่อข่าวสื่อท้องถิ่น Tibetan Daily ในเดือนม.ค.ว่า จะจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวมายังทิเบต กว่า 40 ล้านคนในปีนี้ และลดใบอนุญาตการเดินทางของชาวต่างชาติลงครึ่งหนึ่ง
ในวันพุธ นาย อู๋ ปฏิเสธเรื่องรัฐบาลออกมาตรการจำกัดเข้มงวดเป็นพิเศษต่อกลุ่มผู้สื่อข่าวต่างชาติ และว่าทางการยินดีต้อนรับนักข่าวต่างชาติมายังทิเบตตราบเท่าที่ปฏิบัติตามกฎ
ทั้งนี้ เดือนมี.ค.ปีนี้ เป็นวาระครบรอบ 60 ปี ที่ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทิเบต ออกจากทิเบตไปยังอินเดียหลังจากศึกลุกฮือใหญ่ต่อต้านอำนาจปกครองจีนในปี ค.ศ. 1959 โดยต่อมามีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่เมืองธรรมศาลาของแดนภารตะ ฝ่ายจีนประณามทะไล ลามะมาตลอดว่าเป็นสนับสนุนกลุ่มลัทธิแบ่งแยกดินแดน