กลุ่มสื่อจีนรายงาน (2 มี.ค.) จีนเริ่มทำการทดสอบยาน “เจียวหลง” ยานสำรวจใต้น้ำที่ศูนย์ทะเลลึกแห่งชาติจีน ในเมืองชิงต่าว หลังทำการปรับปรุงครั้งใหญ่
รายงานระบุว่า จีนดำเนินการตรวจสอบอุปกรณ์ในยานดำน้ำฯ กว่า 1,200 ชิ้นอย่างละเอียดและพัฒนาชิ้นส่วนต่าง ๆ จำนวนกว่า 2,300 ชิ้นมาเป็นเวลา 15 เดือน
นายเฉิง เฝย นักวิจัยประจำ บริษัท China Shipbuilding Industry Corporation (CSIC) กล่าวว่า “โดยรวม ระดับมาตรฐานความปลอดภัยและศักยภาพในการตรวจจับการทำงานผิดปกติได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ ประสิทธิภาพการทำงานก็ได้รับการยกระดับขึ้นด้วย”
ระบบไฟฟ้า ระบบการจัดเก็บตัวอย่างใต้ทะเลและระบบการนำทางได้รับการพัฒนาไปอีกขั้น นายเฉิงระบุ
หลังจากที่ยานดำน้ำฯ ผ่านการทดสอบภายในศูนย์ทะเลลึกแห่งชาติจีนแล้วก็จะถูกนำไปทดสอบประสิทธิภาพในทะเลจริงต่อไป
ในปี 2560 จีนได้ส่งยานใต้น้ำเจียวหลงดำดิ่งลงสำรวจร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา โดยได้ปฎิบัติภารกิจเสร็จสิ้นอย่างราบรื่น โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 8 ชั่วโมง 50 นาที ในการดำดิ่งลงไปใต้ท้องสมุทรกว่า 4,811 เมตร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ภายในยานดำน้ำได้ทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างก้อนหิน น้ำทะเล และสัตว์ทะเล พร้อมทั้งทำการถ่ายก้นทะเลไว้เพื่อการศึกษาในอนาคต
จากความสำเร็จของเจียวหลง ทำให้จีนผงาดขึ้นเป็นจ้าวยานดำน้ำลึกและการพัฒนาเทคโนโลยีสำรวจใต้ทะเลลึก ต่อจาก สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และรัสเซีย