xs
xsm
sm
md
lg

ตามดู มังกรชักดาบ วิกฤตการเงินแบบอัตลักษณ์จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน พร้อมผู้ติดตามเพียงไม่กี่คน ได้ลงเยี่ยมเยียนประชาชนในหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลของนครปักกิ่ง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กล่าวอวยพรส่งความปรารถนาดีเนื่องในวันตรุษจีนถึงชาวปักกิ่งและชาวจีนทั่วประเทศ ขอให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นและขอให้ประเทศมีความอุดมสมบูรณ์ (ภาพซินหัว/เอพี)


MGR Online / เอเจนซี - สัปดาห์แห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ หลังตรุษจีนนี้ สื่อจีนต่างได้รายงานบรรยากาศความชื่นมื่นและสุขสม เฮงๆ มั่งมีของจีน และยังได้เห็น สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน พร้อมผู้ติดตามเพียงไม่กี่คน เยี่ยมเยียนประชาชนในหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลของนครปักกิ่ง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กล่าวอวยพรส่งความปรารถนาดีเนื่องในวันตรุษจีนถึงชาวปักกิ่งและชาวจีนทั่วประเทศ "ขอให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นและขอให้ประเทศมีความอุดมสมบูรณ์"

ความมั่งคั่งของจีนและการลงทุนมหาศาล เหมือนซองแดงอั่งเปาทั้งระดับประเทศและระหว่างประเทศของจีน อาจเป็นภาพปรากฏอันคุ้นชินในช่วงหลายปีมานี้ ทำให้เรามองข้ามภาพจริงของทุกความมั่งคั่งแห่งโอกาส ที่เหมือนหยินกับหยาง ซึ่งก่อความเสี่ยงระดับประเทศซ่อนอยู่เช่นกัน

หน้าข่าวการเงินของเซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ ได้รายงานว่า คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน หรือ NDRC ซึ่งกำกับดูแลการออกพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่ที่สุดและบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ได้เปิดตัวแคมเปญการตรวจสอบทั่วประเทศเพื่อประเมินความเสี่ยงทางการเงิน เนื่องจากมีบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่หลายแห่งประสบปัญหาในการชำระหนี้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

คำว่าประสบปัญหาในการชำระหนี้ พูดอีกความหมายหนึ่งคือเค้าลางการเบี้ยวหนี้ และชักดาบ เพราะตามสถิติ ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2533 ยังไม่มีกิจการเกิดใหม่รายใดที่การขยายตัวของหนี้เกินมาตรฐาน จะสามารถรอดพ้นจากความหายนะทางการเงิน ซึ่งจีนกำลังท้าทายประวัติศาสตร์เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะจากหนี้สินนี้เช่นกัน

ตามประกาศที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ NDRC เจ้าหน้าที่ กล่าวว่าจะตรวจสอบพันธบัตร บริษัทภายใต้ระยะเวลาและตรวจสอบขนาดของหนี้สินของกิจการเหล่านั้น ตลอดจนการใช้เงินและความคืบหน้าของโครงการที่ได้รับทุนจากพันธบัตรเหล่านี้

การปล่อยสินเชื่อง่าย ๆ ลักษณะนี้ได้กระตุ้นการระดมทุนและการลงทุนอย่างก้าวกระโดดของบริษัทจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และหลังจากที่ปักกิ่งเปิดตัวแคมเปญเพื่อลดหนี้สินและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเชิงระบบ กลับพบว่ากิจการหลายรายประสบปัญหาสภาพคล่องตั้งแต่ปีที่แล้วทันที

หลี่ หยวนเว่ย นักวิเคราะห์จาก บริษัทหลักทรัพย์ปั๋วไห่ ในเทียนจิน กล่าวว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจยังอยู่ภายใต้ความกดดัน ในขณะที่บริษัทต่าง ๆ กำลังเผชิญกับปัญหาในการรีไฟแนนซ์หนี้ เพื่อควบคุมหนี้ที่พอกพูนไม่หยุด"

ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยผู้ให้บริการข้อมูลทางการเงิน ระบุว่าในปีพ.ศ. 2561 มูลค่าของตราสารหนี้ที่ผิดนัดชำระของเอกชนจีน มีเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าอยู่ที่ 1.166 แสนล้านหยวน จาก 3.37 หมื่นล้านหยวนในปี 2560

หนึ่งในนั้นคือ China Minsheng Investment Group หรือ CMIG ซึ่งเป็นกิจการลงทุนเอกชนรายใหญ่ที่สุดของจีน ได้พลาดการจ่ายเงินหนี้ของพันธบัตรที่วางไว้เป็นส่วนตัวมูลค่า 3,000 ล้านหยวนในปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา และยังได้ระงับการเสนอราคาสำหรับพันธบัตรอีกสามแห่งในสัปดาห์นี้ เนื่องจากนักลงทุนขวัญเสียเทขายหุ้นฯ ทิ้ง

สื่อตะวันตกต่างเพ่งมองดูตัวเลขแดงที่ซ่อนอยู่ในอั่งเปาของกิจการเอกชนจีนมานานแล้ว และนักลงทุนทั่วโลกต่างมองจีนด้วยความกังวล และเชื่อว่าสงครามการค้าจีน สหรัฐฯ เริ่มส่งผลการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สาม ที่ลดลงมาที่ระดับร้อยละ 6.5 ซึ่งเป็นอัตราเติบโตที่ช้าที่สุด นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2552 การซื้อรถยนต์ลดลงเมื่อปีที่แล้วเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสองทศวรรษ Apple Inc. เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยอดขายไอโฟน ในประเทศจีนก็ซบเซา

นอกจากนี้ ยังมีกิจการวินไทม์ เอ็นเนอร์ยี หนึ่งในบริษัทเหมืองถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของจีน ได้ผิดนัดชำระหนี้รอบที่สอง ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ไม่สามารถหาเงินทุนมาจ่ายคืนหนี้ที่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ที่หมักหมมไว้ในช่วงไม่ถึง 5 ปีมานี้

เหล่านี้เหมือนสัญญาณแจ้งเตือนให้โลกรู้ว่า เศรษฐกิจอาณาจักรมังกรที่ชะลอตัวลง จะรั้งการเติบโตและผลกำไรของทั้งจีนและบริษัทตะวันตกลงได้อย่างไร และนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่สุดท้ายก็ทำให้ปักกิ่งและวอชิงตัน ต้องลดทิฐิ นั่งลงและเจรจาเพื่อขจัดความขัดแย้งกันอยู่ดี

ข้อตกลงการค้าถ้าหากเกิดขึ้นได้ ก็ยังอาจบรรเทาเศรษฐกิจการลงทุนและแม้กระทั่งการค้ารายเล็กรายน้อยได้ชั่วคราว แต่จะไม่ยุติเค้าลางวิกฤตของจีน เพราะผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่า ปัญหาที่แท้จริงยังคงมีอยู่ลึกลงไปในโครงสร้างทางการเงินของจีน

ไม่มีใครสังเกตว่าจีนกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต วิกฤตนี้ไม่เหมือนความล่มสลายแบบวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ในปี 2551 หรือวิกฤติต้มยำกุ้งในเอเชียในปี 2540 แต่มันจะเป็น "วิกฤตการณ์ทางการเงินแบบอัตลักษณ์จีน"

สื่อต่างประเทศมองว่า วิกฤติครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการชะลอตัวของการเติบโตในปัจจุบัน แต่กำลังดำเนินไประยะหนึ่งและจากลักษณะของมันจะไม่หายไปในเร็ว ๆ นี้ วิกฤตครั้งนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอนาคตทางเศรษฐกิจของจีน กับความสามารถจัดการการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่จำเป็นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่ทันสมัยที่สุดของโลกหรือไม่ และเป็นตัวบ่งชี้ว่าจีนจะเป็นเสาหลักของการเติบโตของโลก หรือเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเงินของโลก

การวิเคราะห์ว่าจีนกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติอาจฟังดูไร้สาระ การเติบโตลดลง แต่ยังคงแข็งแกร่ง เชื่อว่าตัวเลขของรัฐบาล ธนาคารและบริษัทต่าง ๆ ไม่มีแนวโน้มที่จะล้มละลายในระดับสูง เงินหยวนยังแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในไม่กี่วันที่ผ่านมา และยังมีกลไกพิเศษในการแทรกแซงตัดวงจรหนี้ แล้ววิกฤติมันคืออะไร?

จริงอยู่ ประเทศจีนอาจไม่ประสบกับความล้มเหลวอย่างน่าสะพรึงกลัวแบบที่เกิดขึ้นกับวอลลตรีท สหรัฐอเมริกา ในปี 2551 แต่วิกฤตการณ์ทางการเงินแบบคุณลักษณะของจีนไม่ได้เป็นหลักสูตรเดียวกับที่อื่น ๆ คือแทนที่จะระเบิดอย่างฉับพลัน กลับทำลายธนาคารและกิจการของจีนอย่างยืดเยื้อ เรื้อรังและช้าจนแทบสังเกตไม่เห็น และท้ายที่สุด ความเสียหายอาจจะคล้ายคลึง หรืออาจยิ่งแย่กว่าวิกฤตการณ์แบบดั้งเดิมที่ใครๆ คาดคิด

ไม่กี่ปีที่ผ่านมานักติดตามเศรษฐกิจการเงินจีนบางคน ได้ส่งสัญญาณเตือนภาวะฟองสบู่ที่อยู่อาศัย และกำลังการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรม ตั้งแต่เหล็กจนถึงแผงโซลาร์เซลล์และสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการก่อหนี้ในสัดส่วนที่ใหญ่โต ยอดรวมหนี้ของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 253% ในกลางปี ​​2561 จากเพียง 140% ในทศวรรษก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนยังคิดว่ามันจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะประเทศจีนใหญ่เกินกว่าที่จะล้ม รัฐบาลจีนมีอำนาจควบคุมมากมายไม่ว่าจะเป็นธนาคาร บริษัทขนาดใหญ่และการไหลเวียนของเงินทุน ซึ่งอำนาจเหล่านี้สามารถยับยั้งวิกฤตที่เศรษฐกิจเสรีไม่สามารถป้องกันได้

พลังวิเศษแบบอัตลักษณ์จีนนี้ ได้เคยแสดงต่อสาธารณชนมาแล้วในปี 2558 หลังจากฟองสบู่แตกในตลาดหุ้นจีน อันเกิดจากการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และความไร้ประสิทธิภาพของระบบฯ ซึ่งรัฐบาลได้แทรกแซงช่วยเหลือทางการเงินและควบคุมการไหลออกของเงินทุนจนสงบวิกฤตไปได้

แนวทางแก้ปัญหาแบบอัตลักษณ์จีนนี้ คือกลยุทธ์โดยรวมของปักกิ่งที่มีต่อปัญหาหนี้สิน ซึ่งรัฐบาลต้องทำทุกอย่างเพื่อความมั่นคงทางสังคม ไม่ยอมให้มีการระเบิดของหนี้สิน แต่การทำแบบนี้ ก็อาจก่อวิกฤตการณ์ทางการเงินที่มีคุณลักษณะของจีน ซึ่งท้ายที่สุดก็ก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจแบบเดียวกัน

กลุ่มสื่อต่างชาติต่างมองว่า ประเทศจีนกำลังเผชิญกับอัตลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของวิกฤตการณ์ทางการเงิน ได้แก่ ภาวะวิกฤตเงินทุนหนี (Capital flight) คือหนีไปลงที่ต่างประเทศ สมาคมการค้าชาวจีนเปิดเผยรายชื่อผู้ซื้อต่างประเทศของอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ เป็นเวลาหกปีติดต่อกัน ในช่วง 12 เดือนถึงสิ้นเดือนมีนาคม มีเงินทุนจีนซื้อบ้านชาวอเมริกันมากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในทางทฤษฎีแล้ววิกฤติการเงินในสไตล์จีนมีข้อได้เปรียบ ที่ปักกิ่งยังคงมีเวลาในการแก้ไขระบบ หน่วยงานกำกับดูแลกำลังพยายามสะสางปัญหาบางประเภท และยกเครื่องรัฐวิสาหกิจที่หนี้เน่าบวมเป่ง หลังการมุ่งบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่เป็นไปไม่ได้ที่ทบหนี้สินเพิ่ม จนรัฐต้องเข้ามาบรรเทาระยะสั้น แต่หลังจากนั้นเมื่อปล่อยเสรีอีกก็จะเห็นเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวอีก เพิ่มหนี้อีก แล้วรัฐก็ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สินอีกครั้ง

พลังสำคัญที่สุดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คือการกำหนดให้พรรคคอมมิวนิสต์ควบคุมทุกอย่าง นโยบายอุตสาหกรรมล่าสุด เศรษฐกิจจึงต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ ไมโครชิพ รถยนต์ไฟฟ้า แต่การจัดการระเบียบการเงินถ้ายังเป็นแบบเก่า ๆ ก็ไม่พ้นทำให้โรงงานนวัตกรรมผชิญปัญหาหนี้สินแบบเดิม และสินเชื่อที่ไม่ดีเหล่านี้ ไม่มีทางเปลี่ยนเป็นทองคำเสียด้วย

ความแตกต่างที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวระหว่างวิกฤตการณ์ทางการเงินแบบดั้งเดิม กับวิกฤตการณ์ทางการเงินแบบอัตลักษณ์จีน คือระยะเวลา ความวุ่นวายทางการเงินของประเทศจีนอาจใช้เวลาหลายปี ยืดเยื้อ เรื้อรังและช้าจนแทบสังเกตไม่เห็น และท้ายที่สุด ความเสียหายจะคล้ายคลึง หรือแย่ยิ่งกว่าวิกฤตการณ์แบบดั้งเดิมที่ใคร ๆ วิตกหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น