จากข้อมูลสถิติของหน่วยงานรัฐที่ติดตามคุณภาพอากาศในประเทศจีน ระบุว่าจากช่วงต้นปีมานี้มลพิษทางอากาศในเมืองหลักทางภาคเหนือของประเทศจีน 39 เมือง สูงขึ้น 16 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากกิจกรรมภาคอุตสาหกรรมที่กละบมาคึกคัก
สำนักข่าวรอยเตอร์สทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐของจีน รายงานว่าความเข้มข้นโดยเฉลี่ยของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในเขตควบคุมการแพร่กระจายมลพิษในสองเมืองหลักของจีน ทะยานสูง ถึง 114 ไมโครกรัม/คิวบิคเมตร
ประเทศจีนเผชิญวิกฤตมลพิษอากาศมาหลายปี จนขณะนี้ยังขับเคี่ยวขจัดการแพร่กระจายมลพิษสู่อากาศโดยเฉพาะการแพร่กระจายจากภาคอุตสาหกรรในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
“อาจเป็นการยากที่จะระบุสาเหตุที่ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูงขึ้น แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว (2018) การผลิตภาคอุตสาหกรรมอย่างเช่น โรงงานซีเมนต์ โรงงานเหล็ก และโรงงานพลังงานความร้อน กลับมาคึกคักขึ้น
ในช่วงฤดูหนาวที่แล้ว ปักกิ่งได้เอาท์ซอร์สการผลิตอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายคุณภาพอากาศ แต่ในฤดูหนาวนี้การผลิตอุตสาหกรรมในปักกิ่งกลับมาเดินเครื่อง จนทำให้ระดับมลพิษในอากาศดีดตัวสูงขึ้น ขณะที่คุณภาพอากาศในพื้นที่อื่นๆของประเทศดีขึ้น ” Lauri Myllyvirta นักวิเคราะห์ด้านพลังงานของกลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ (Greenpeace) กล่าว
เมืองที่เผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดเมื่อเดือนที่แล้วคือ เมืองหลินเฝิน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถ่านหินของมณฑลซันซี โดยระดับ PM2.5 ในเมืองพุ่งสูงถึง 174 ไมโครกรัม สูงขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า ด้านเมืองสือจยาจวงเมืองเอกของมณฑลเหอเป่ย ซึ่งเป็นเขตผลิตเหล็ก ค่าฝุ่นพิษดีดตัวสูง 30 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 144 ไมโครกรัม
ทั้งนี้ จีนได้กำหนดขีดมาตรฐานคุณภาพอากาศไว้ที่ 35 ไมโครกรัม ด้านองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ได้กำหนดอัตราเฉลี่ยต่อปี ไม่เกิน 10 ไมโครกรัม
ในสามเดือนที่ผ่านมา นับจากเดือนพ.ย. จีนได้เปิดระบบเครื่องทำความร้อนที่ใช้พลังงานถ่านหินในเขตภาคเหนือ ทำให้ระดับฝุ่น PM2.5 โดยเฉลี่ยใน 39 เมือง แตะระดับ 93.5 ไมโครกรัม สูงขึ้นมา 12 เปอร์เซ็นต์ โดยเมืองอันหยังของมณฑลเหอหนันซึ่งเป็นศูนย์การผลิตเหล็ก ผจญฝุ่นพิษอย่างสาหัสที่สุด
ในช่วงเวลาดังกล่าว ความเข้มข้นโดยเฉลี่ยของฝุ่นพิษที่อาจแทรกเข้าไปทำลายปอด เท่ากับ 124 ไมโครกรัม สูงขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ ด้านกลุ่มเจ้าหน้าที่ในเขตที่คุณภาพอากาศย่ำแย่ต่างโทษ “ปัจจัยสภาพอากาศ”