xs
xsm
sm
md
lg

ของกินมงคลในวันตรุษจีน เหนียนเกา ตีก้วย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เหนียนเกาฮกเกี้ยนสีขาว ขอบคุณภาพจาก https://zhidao.baidu.com/question/876053119564522052.html?&mzl=qb_xg_5&word=
โดย พชร ธนภัทรกุล

ใกล้ตรุษจีนแล้ว ผมขอสวัสดีวันตรุษจีนกับคุณผู้อ่านทุกท่าน ซินเจียหยู่อี่ ซินนี้ฮวกไช้ ครับ

แต่ก่อนจะไปเล่าเรื่องของกินมงคล ผมเห็นมีบางสื่อเริ่มพูดถึงว่า ปีนี้เป็นปีหมูทอง จะเป็นปีหมูทองหรือไม่ ต้องไปทำความเข้าใจกัน มาเริ่มกันที่เรื่องการนับปีของชาวจีนเลย

ชาวจีนได้คิดวิธีคำนวณปีมาแต่โบราณ โดยนำอักขระจีน 2 ชุดมาจัดลำดับปี (ในที่นี้ขอใช้เสียงแต้จิ๋วกับอักขระจีนทั้ง 2 ชุดนี้ทุกตัว)

อักขระจีนชุดแรก มี 10 ตัว เรียกว่า "ทีกัง" (天干หรือ Celestial Stem) ได้แก่

甲、乙、丙、丁、戊、己、庚、辛、壬、癸。

ถอดเสียงตามลำดับได้ดังนี้
1.กะ 2.อิก 3.เปี้ย 4.เต็ง 5.โบ่ 6.กี้ 7.แก 8.ซิง 9.ยิ้ม 10.กุ่ย

ผมเอาตัวเลขมากำกับไว้เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

อักขระจีนชุดที่สอง มี 12 ตัว เรียกว่า "ตี่กี" ( 地支หรือ Terresrial Branches) ได้แก่

子、丑、寅、卯、辰、巳、午、未、申、酉、戌、亥。

ถอดเสียงตามลำดับได้ดังนี้
1.จื้อ 2.ทิ้ว 3.อิ๊ง 4.เบ้า 5.ซิ้ง 6.จี่ 7.โง่ว 8.บี่ 9.ซิม 10.อิ๋ว 11.สุก 12.ไห

ในสมัยแผ่นดินซ่ง มีการเอาสัตว์ 12 ชนิดใช้กับอักขระจีนทั้ง 12 ตัวเพื่อระบุปีให้จำกันง่ายขึ้น ได้แก่

1.ปีหนู 2.ปีวัว 3.ปีเสือ 4.ปีกระต่าย 5.ปีมังกร 6.ปีงู 7.ปีม้า 8.ปีแพะ 9.ปีลิง 10.ปีไก่ 11.ปีหมา 12.ปีหมู

ชาวแต้จิ๋วเรียกชุดสัตว์ประจำแต่ละปีทั้ง 12 ชนิดนี้ว่า แซเสี่ย (生肖)

ส่วนไทยจัดชุดสัตว์ประจำแต่ละปีคล้ายคลึงกับของจีนมาก เรียกว่า นักษัตร์ ได้แก่

ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน

โดยใช้สัตว์ชนิดเดียวกันในแต่ละลำดับปี ยกเว้นมะโรงเท่านั้นที่ต่างไป มะโรงคืองูใหญ่ ไม่ใช่มังกร

การนับปีของชาวจีน จะเริ่มจากการนำอักขระจีน 2 ชุดนี้มาจับคู่กัน โดยใช้ชุดอักขระ “ทีกัง” เป็นหลัก และใช้ชุดอักขระปีนักษัตร์มาจับคู่ไล่เรียงไปเรื่อยๆ เริ่มจาก...

"กะ" จับคู่กับ "จื้อ" ได้ว่าปีนั้นคือปี "กะจื้อ" (甲子)หรือปีชวด เป็นลำดับที่หนึ่ง

"อิก"คู่กับ"ทิ้ว" ได้ว่าปีนั้นคือปี "อิกทิ้ว" (乙丑) หรือปีฉลู นับเป็นลำดับที่สอง

ซึ่งจะจับคู่ไล่ลำดับเรียงกันไปเช่นนี้เรื่อยๆ จนถึงลำดับที่ 10 ก็จะเป็นปี “กุ่ยอิ๊ว” (癸酉) หรือปีระกา

ทีนี้ “กุ่ย” (癸) เป็นลำดับสุดท้ายของอักขระชุด “ทีกัง” แต่ยังเหลือนักษัตร์ปีจอกับปีกุน จึงต้องวนกลับไปที่อักขระ “กะ” อีกครั้ง ได้เป็นปี “กะสุก” (甲戌) หรือปีจอ และปี “อิกไห” (乙亥) หรือปีกุน หมดชุดนักษัตร์ ก็ต้องเริ่มนักษตร์รอบใหม่ที่ปีชวด ซึ่งต้องไปจับคู่กับอักขระ

ชุด “ทีกัง” ตัวต่อไป คือ เปี้ย (丙) เป็นปี “เปี้ยจื้อ” (丙子) หรือปีชวด แต่เป็นปีชวดในลำดับที่ 13 ไม่ใช่ปีลำดับที่ 1 ให้ไล่เรียงวนเช่นนี้ไปจนลำดับสุดท้ายของอักขระ “ทีกัง” คือ กุ่ย (癸) มาจับคู่กับนักษตร์สุดท้ายคือ ไห (亥) เป็นปีกุ่ยไห (癸亥) หรือปีกุน ก็จะต้องวนกลับมาที่ปี “กะจื้อ” อีกครั้ง

การเรียงปีแบบจับคู่กันเช่นนี้ จะได้ทั้งหมด 60 ปี นั่นหมายความว่า เมื่อจับคู่กันครบ 60 ปีแล้ว ก็เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้งที่ปี “"กะจื้อ" นั่นเอง

คุณผู้อ่านคงเคยได้ยินได้เห็นมาตามสื่อต่างๆมาบ้างว่า ปีมังกรทองบ้าง ปีไก่ทองบ้าง และตรุษจีนที่จะถึงนี้ ก็เริ่มมีบางสื่อบอกว่า เป็นปีหมูทอง ความจริงคือ ไม่ได้เป็นปีทองทุกปี อย่างตรุษจีนปี (2019) นี้ ก็ไม่ใช่ปีหมูทอง แต่เป็นปีหมูดิน ปีไหนจะเป็นปีทองหรือไม่ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับดาวเคราะห์ 5 ดวงที่จะเล่าต่อไปนี้

นักดาราศาสตร์จีนโบราณจัดดาวเคราะห์ 5 ดวง คือดาวไม้ ดาวไฟ ดาวดิน ดาวทอง ดาวน้ำ (หรือดาวพฤหัสบดี ดาวอังคาร ดาวเสาร์ ดาวศุกร์ และดาวพุธ) กำกับแต่ละปีของรอบ 60 ปีไว้ดังนี้

ปีที่ขึ้นต้นด้วย กะ และ อิก (甲乙) มีดาวไม้ (ดาวพฤหัสบดี) กำกับ นักษัตร์ปีนั้น ตกธาตุไม้

ปีที่ขึ้นต้นด้วย เปี้ย และ เต็ง (丙丁) มีดาวไฟ (ดาวอังคาร) กำกับ นักษัตร์ปีนั้น ตกธาตุไฟ

ปีที่ขึ้นต้นด้วย โบ่ และ.กี้ (戊己) มีดาว มีดาวดิน (ดาวเสาร์) กำกับ นักษัตร์ปีนั้น ตกธาตุดิน

ปีที่ขึ้นต้นด้วย.แก และ.ซิง (庚辛) มีดาวทอง (ดาวศุกร์) กำกับ นักษัตร์ปีนั้น ตกธาตุทอง

ปีที่ขึ้นต้นด้วย.ยิ้ม และ.กุ่ย (壬癸) มีดาวน้ำ (ด่สพุธ) กำกับ นักษัตร์ปีนั้น ตกธาตุน้ำ

ตรุษจีนปีนี้ (ปี 2019) คือปี “กี้ไห” (己亥) มีดาวเสาร์กำกับ และนักษัตร์ตกธาตุดิน ปีหมูปีนี้ จึงเป็นปีหมูดิน ไม่ใช่ปีหมูทองอย่างที่อ้างกันในเชิงพานิชย์ ปีหมูทองจะมาถึงในอีก 12 ปีข้างหน้า คือปี “ซิงไห” ซึ่งเป็นปีที่มีดาวศุกร์กำกับ และนักษัตร์ตกธาตุทอง หรือปี 2031
เหนียนเกาฮกเกี้ยนสีแดงน้ำตาลใส่ถั่วลิสง ขอบคุณภาพจาก http://blog.sina.com.cn/s/blog_7422e93b0102vfzw.html
อีกเรื่องคือ ชาวจีนแปลี่ยนปีนักษัตร์ในวัน “หลิบชุง” (立春) ไม่ใช่วันตรุษจีน หรือวันชิวอิกของเดือนหนึ่ง วันหลิบชุงจะตกราววันที่ 3-4 เดือนกุมภาพันธ์ แต่อาจมาถึงก่อนหรือหลังวันตรุษจีนก็ได้ สำหรับปีนี้ วันหลิบชุงตรงกับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เป็นวันเริ่มต้นปีหมูด้วย และประจวบตรงกับวันไหว้พอดี

เรื่องการนับปีของจีน ก็ว่ากันเท่านี้ก่อน มาดูที่ของกินประจำวันตรุษจีนของชาวจีนกัน

ของกินที่หลายคนนึกถึงเป็นอย่างแรกในวันตรุษจีน คือ ขนมเข่ง ซึ่งเป็นชื่อที่คนไทยตั้งให้

ชาวจีนทั่วไปเรียกขนมหวานชนิดนี้ว่า “เหนียนเก” (年糕-เสียงจีนกลาง) ชาวแต้จิ๋วและชาวฮกเกี้ยนเรียก ตีก้วย (甜粿) และตีก้วยของชาวแต้จิ๋ว ก็เป็นเพียงเหนียนเกาชนิดหนึ่งเท่านั้น เพราะเหนียนเกามีหลายสิบชนิด แตกต่างกันตามวัฒนธรรมการกิน ประเพณีนิยม และการใช้วัตถุดิบ เช่น

คนทางใต้ของจีนนิยมใช้ข้าวเหนียว และเจียงหมี่ (江米เสียงจีนกลาง) ซึ่งเป็นข้าวเจ้าของจีนที่มียางข้าวค่อนข้างมาก มาทำเหนียนเกา อย่างตีก้วยของชาวแต้จิ๋วทำจากแป้งข้าวเหนียวที่ผสมน้ำไว้ดี เอาเทใส่กระทงใบตองแห้งที่อยู่ในเข่งไผ่สานตาห่างๆใบเล็กอีกที นึ่งให้สุก ก็ได้แล้ว และคงเพราะใส่เข่งนึ่งนี่แหละ คนไทยถึงให้ชื่อว่า ขนมเข่ง

ตีก้วยของชาวแต้จิ๋วจะมีสีขาว เพราะใช้น้ำตาลทรายขาว ส่วนตีก้วยของชาวฮกเกี้ยน มีทั้งชนิดสีแดงน้ำตาล เพราะใช้น้ำตาลแดง และชนิดสีขาว เพราะใช้น้ำตาลทรายขาว ทั้งมักใส่ถั่วลิสง ถั่วแดง พุทราจีน และอื่นๆผสมอยู่ในเนื้อขนมด้วย
ตีก้วยแต้จิ๋วชุบไข่ทอด ขอบคุณภาพจาก https://kknews.cc/food/2ae3n4r.html
เหนียนเกาของคนจีนทางใต้ นอกจากนึ่งแล้ว ยังเอามาทอด อย่างที่บ้านผม จะเอาขนมเข่งมาหั่นชิ้นบาง ชุบไข่ทอดน้ำมัน ชาวจีนบางส่วนเอามาผัดและทำน้ำแกงด้วย ทำให้เหนียนเกาของจีนทางใต้ มีทั้งชนิดหวานและชนิดเค็ม

ตีก้วย แปลว่าขนมหวาน มีนัยมงคลสื่อว่า ปีใหม่ได้เริ่มต้นชีวิตอย่างหวานชื่น

ส่วนคนทางเหนือของจีนนิยมใช้ข้าวฟ่างชนิดหนึ่ง คือ “เสี่ยวหวงหมี่” (小黄米เสียงจีนกลาง) ข้าวฟ่างชนิดนี้ พอเอามาโม่เป็นแป้ง ผสมน้ำ นึ่งให้สุก จะได้ก้อนขนมสีเหลืองเหนียวๆ และมีรสหวาน

เหนียนเกาของคนจีนทางเหนือมีแค่ 2 ชนิด คือชนิดนึ่งกับชนิดทอด ซึ่งเป็นขนมหวานทั้งคู่

เดิมที ชาวจีนใช้ ขนมเหนียนเกา ไหว้เจ้าไหว้บรรพชนในคืนวันก่อนตรุษจีน ต่อมาจึงค่อยๆกลายเป็นของกินประจำเทศกาลตรุษจีนไป และชื่อเหนียนเกา ก็ฟังมีนัยมงคล โดยคำว่า เหนียน (年เสียงจีนกลาง) ที่แปลว่า ปี นั้น พ้องเสียงกับคำ เหนียน (黏เสียงจีนกลาง) แปลว่า เหนียว ส่วนคำว่า เกา (糕เสียงจีนกลาง ) แปลว่าขนมโก๋ ขนมเค้ก ขนมลักษณะเป็นก้อนนั้น ก็พ้องเสียงกับคำ เกา (高เสียงจีนกลาง) แปลว่า สูง สูงขึ้น

ดังนั้น ชื่อเหนียนเกา จึงถูกขยายความให้มีนัยมงคลว่า ดีขึ้นเจริญขึ้นทุกปี

เรื่องสีของเหนียนเกา (ขนมเข่ง) ก็ถูกตีความให้มีนัยมงคลด้วย เหนียนเกาสีขาวที่ใส่น้ำตาลทรายขาว ถูกเปรียบเป็นเงิน และเหนียนเกาสีแดงน้ำตาลที่ใส่น้ำตาลแดง ถูกเปรียบเป็นทอง เช่นเดียวกับเหนียนเกาที่ทำจากข้าวฟ่าง (เสี่ยวหวงหมี่) ซึ่งมีสีเหลืองอยู่แล้ว ก็ถูกเปรียบเป็นทองด้วยเช่นกัน

ความเป็นมาของเหนียนเกา อาจไล่ย้อนกลับไปไกลถึงสมัยแผ่นดินราชวงศ์ฮั่น (กว่า 1500 ปีมาแล้ว) คนจีนในยุคนั้น นอกจากเรียกขนมที่ทำจากข้าวว่า “เกา” แล้ว ยังเรียก “เอ่อร์” (饵) บ้าง “ฉือ” (糍) บ้าง ซึ่งทุกวันนี้ ชาวแต้จิ๋วยังคงใช้คำนี้กันอยู่ ออกเสียงว่า “จี๊” กันอยู่ เช่นเรียกขนมชนิดหนึ่งทำจากแป้งข้าวเหนียว นวดเหนียวนุ่มเป็นก้อนนิ่มๆ ทอดในน้ำมันน้อยๆ แล้วตัดเป็นชิ้นเล็ก คลุกงาขาวงาดำและน้ำตาลทรายว่า “กาลอจี๊” หรือ “หมั่วจี๊” (剪落糍/麻糍เสียงแต้จิ๋ว)
เหนียนเกาข้าวฟ่างแบบทอด ขอบคุณภาพจาก https://www.douguo.com/cookbook/811048.html
หลังสมัยแผ่นดินราชวงศ์ฮั่นแล้ว ขนมที่ทำจากข้าวก็แพร่หลายมากขึ้น และเริ่มพัฒนาจากขนมข้าวมาเป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าว จนเริ่มปรากฏคำว่า “เหนียนเกา” ในช่วงศตวรรษที่ 6 ซึ่งบอกวิธีทำไว้ด้วยว่า

“หุงข้าวเหนียว สุกแล้วเอาไปตำขณะข้าวยังร้อน ตำให้แหลกจนเหนียวเนียนแลไม่เห็นเม็ดข้าวและปั้นเป็นก้อน ข้าวต้องร้อนจริงๆ และอย่าให้มีเม็ดข้าวหลงเหลือ...”

เวลากินขนมชนิดนี้จะตัดเป็นชิ้นพอคำ ผึ่งลมให้แห้งแล้วนำไปทอดในน้ำมัน จึงคลุกด้วยน้ำตาลอีกที

การทำขนม “เกา” หรือ “ฉือ” แบบนี้ ละม้ายคล้ายการทำขนมรับปีใหม่ของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “โมจิ” (mochi) มากทีเดียว ตามประเพณี คนญี่ปุ่นจะเอาก้อนแป้งข้าวเหนียวใส่ถังไม้หรือครกไม้ใบใหญ่ ใช้สากขนาดใหญ่ตำไปเรื่อยๆ จนก้อนแป้งเหนียวเนียน โมจิของญี่ปุ่นมีสีขาวและรสจืด

ในเมืองไทย ขนกลุ่มน้อยบางเผ่าเช่น ม้ง ก็เอาข้าวเหนียวสุกมาตำในครกไม้ใบใหญ่ให้เหนียวเนียน เรียกว่า “หยัว” เวลากิน จะใช้ใบตองห่อ “หยัว” นำไปย่างหรือปิ้งไฟ จิ้มน้ำผึ้งกิน รสชาติอร่อยมาก คนม้งจะทำ “หยัว” กินกันในวันปีใหม่ของพวกเขาเหมือนกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น