วันที่ 8 มกราคม 2562 ในวาระรำลึกอสัญกรรมของ #โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานตั้งแต่ ปีค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) จนถึงแก่อสัญกรรม ขอเสนอบทความรำลึกถึงบทเรียนแห่งศิลปะการสร้างชาติ สร้างสันติภาพ ซึ่งนานาชาติแม้ต่างขั้วอุดมการณ์ ยังคงยกย่องในอัจฉริยภาพและภราดรภาพของผู้นำจีนท่านนี้เสมอมา
จอห์น เจ.นอรริส จูเนียร์ แห่งมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์เปิดประเทศสู่โลก ผูกมิตรกับสหรัฐอเมริกาของโจวเอินไหลในเอกสาร China's Opening to the U.S.:The Statecraft of Zhou Enlai (1999) ว่า โจวเอินไหล มีศิลปะแห่งการสร้างชาติ บริหารประเทศที่ล้ำลึกรอบด้าน อีกทั้งมีวิเทโศบายที่สหรัฐอเมริกา น่าศึกษาเป็นตัวอย่าง
จอห์น เขียนว่า รัฐบุรุษอย่างโจวเอินไหล เป็นบุคคลที่สหรัฐฯ แม้ว่าจะปฏิเสธ อยู่คนละขั้วอุดมการณ์ก็ตาม พึงยกย่องและเรียนรู้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติจากเขา โดยพลังแห่งบุคลิกภาพที่สะท้อนผ่านทักษะในฐานะผู้เจรจาต่อรองเพื่อมาตุภูมิของโจวเอินไหลนั่นเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ และศักยภาพของเขาคือสมบัติสำคัญล้ำค่ายิ่งของชาติจีน
แม้ว่าโจว เอินไหล จะศรัทธาอุทิศตัวเพื่อลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แต่ความเชื่อเหล่านี้ ก็ไม่ได้จำกัดให้เขาคับแคบกับการประเมินความเป็นไปของโลกตามความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นจริงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่เปลี่ยนไป ความสามารถของเขาในการนำพาชาติไปสู่เป้าหมายที่สำคัญที่สุด และไม่เคยไขว้เขวหวั่นไหวกับสถานการณ์ปลีกย่อยต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ชาติระบอบประชาธิปไตยแบบพหุนิยม ความสงบสุขบนความขัดแย้งของผลประโยชน์ ความเชื่อและการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันล้วนปรารถนา
โจวเอินไหล เป็นนักปฏิบัติเพียงพอที่จะรู้ว่า เมื่อใดควร "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" ประนีประนอม ยอมอ่อนข้อ ยอมแพ้ในเรื่องเล็กเพื่อบรรลุเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน เหมือนที่ เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ นักการทูตชาวอเมริกัน ซึ่งร่วมสมัยกับโจวเอินไหล กล่าวว่า 'ท่านโจว มีภูมิปัญญาความรู้ที่จะแยกแยะระหว่างสิ่งที่ควรยืนหยัดปักหลัก กับขอบเขตที่ควรก้าวข้ามเพื่อการสร้างสรรค์'
ในยุคสมัยที่เพิ่งก่อร่างสร้างชาติจีนใหม่นั้น สาธารณประชาชนจีนเป็นประเทศที่มีสถานะยากจนแร้นแค้น ถูกบีบขนาบและคุกคามจากมหาอำนาจโลกใหม่อย่าง สหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น แต่โจวเอินไหล กลับสามารถกรุยทางสู่ที่หยัดยืนอันมั่นคงให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน จนรอดพ้นภัยการเมืองระหว่างประเทศ กับดักมหาอำนาจตลอดช่วงชีวิตนักการทูตของเขา
โจวเอินไหล ยังนำจีนกลับมาสู่เวทีโลก หลังจากที่นานาชาติเคยมีความพยายามที่จะโดดเดี่ยวกีดกัน เพื่อสนับสนุนไต้หวันแทน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องไต้หวันนี้ โจวเอินไหล ก็รู้เท่าทันพอที่จะไม่หักหาญเอาทั้งหมด โดยยอมรับว่า ยังมีเป้าหมายหลัก เป้าหมายรองอีกมากมายที่จำเป็นต้องใช้เวลา ไม่อาจสำเร็จได้ในระยะสั้น หรือบรรลุได้พร้อมกันในทุกเรื่อง และเรื่องสำคัญที่ต้องการในยุคของเขาคือการเปิดประตูสู่ตะวันตก และสร้างกำแพงที่มั่นคงจากการคุกคามของสหภาพโซเวียตในเวลานั้นมากกว่า
"โลกหลายขั้วอำนาจ"
โรนัลด์ ซี.คีธ (Ronald C. Keith) ผู้เขียนหนังสือ The Diplomacy of Zhou Enlai แสดงความเห็นถึงความลึกซึ้งทางเป้าหมายการทูตของโจวเอินไหล นั้นไม่ได้มุ่งหวังดุลยภาพแบบเอาหลังพิงมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ เพื่อคานกับโซเวียต แต่ต้องการดำเนินการตามวิถีที่ดำรงความเป็นตัวตนแห่งชาติจีนคอมมิวนิสต์ด้วย
แรงขับเคลื่อนของโจวเอินไหล มีความซับซ้อนล้ำลึก ก้าวไปไกลกว่าการสร้างสมดุลมหาอำนาจ ซึ่งนั่นเป็นเพียงเป้าหมายระยะสั้นมากกว่า ทว่าเป้าหมายระยะยาวของเขากลับอยู่ที่การเปลี่ยนระบบขั้วอำนาจการเมืองโลก จากระบบสองขั้วอำนาจ (Bipolar system) โดยมีสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ ไปสู่ 'โลกหลายขั้วอำนาจ' (Multi-polar World) ที่บทบาทอำนาจทางการเมือง การกำหนดชะตากรรม ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการค้า จะไม่ตกอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงประเทศเดียว หรือสองประเทศอีกต่อไป
ด้วยวิสัยทัศน์ 'โลกหลายขั้วอำนาจ' นี้เอง คือที่มาของ "หลักปัญจศีล" ความร่วมมือกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศต่าง ๆ บนหลักการ ‘แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง’ ที่ร่วมริเริ่ม ในปี ค.ศ.1954 โดยโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีน และบัณฑิต ชวาหะร์ลาล เนห์รู รัฐบุรุษและนายกรัฐมนตรีคนแรก หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษของอินเดีย มีหลักทั่วไป 5 ข้อ คือ การอยู่ร่วมกันโดยสันติ เคารพซึ่งบูรณภาพแห่งดินแดนและอำนาจอธิปไตยของกันและกัน ไม่รุกรานซึ่งกันและกัน ธำรงไว้ซึ่งความเสมอภาค มีผลประโยชน์ร่วมกัน ที่สำคัญที่สุดคือการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน
"นโยบายสี่ทันสมัย"
แม้ว่าภูมิรัฐศาสตร์โลกในเวลานั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่นักการทูตอย่างเขาต้องกังวล แต่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของจีนในฐานะนายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล ยังมุ่งเป้าหมายไปที่การหยัดยืนทางเศรษฐกิจด้วย ในช่วงต้นของการปกครองโดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ ผิดพลาดในแนวทางการพัฒนา "นโยบายก้าวกระโดดใหญ่" ซึ่งมุ่งอุดมการณ์การเมืองที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จนเกิดวิปโยคแผ่นดินประชาชนอดตายนับสิบๆ ล้าน แผ่นดินตกหายไปจากโลก โจวเอินไหล เริ่มทบทวนและนำเสนอ 'นโยบายสี่ทันสมัย' ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงเพื่อแก้ไข และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่กลายเป็นร่องรอยขัดแย้งแบ่งกลุ่มอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเขาได้ยืนขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในปี ค.ศ.1975 (ก่อนเสียชีวิต 1 ปี) เน้นย้ำให้ความสำคัญกับแผน 'นโยบายสี่ทันสมัย' พร้อมทั้งแสดงความปรารถนาก่อนเสียชีวิตในการวางตัวบุคคลที่จะมารับสานต่อนโยบายนี้ คือ เติ้้งเสี่ยวผิง ผู้ซึ่งเขาเชื่อมั่น-เชื่อใจว่าเป็นบุคคลเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายนี้แทนเขาได้ในอนาคต และแน่นอนว่าไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในสายตาของประธานเหมาเจ๋อตงเลย
นโยบายเปิดประเทศสู่โลกนี้ โจวเอินไหล ประสบความยากลำบากมากจากการต่อต้านของชนชั้นอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทั้งจาก หลินเปียว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ซึ่งประธานเหมาเจ๋อตง เคยวางตัวให้เป็นทายาทการเมืองสืบทอดคนต่อไป และจากแก๊งค์สี่สหาย โดยบุคคลเหล่านี้ พยายามโน้มน้าวผู้นำเหมาให้ปิดประเทศ ต่อต้านตะวันตก ยึดอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่ง อันไม่อาจอยู่ในโลกของความเป็นจริง และก่ออุปสรรคในภารกิจของโจวเอินไหลมาตลอด จนครั้งหนึ่ง โจวเอินไหล เคยกล่าวกับ คิสซิงเจอร์ ระหว่างเจรจาเปิดปูทางสร้างสัมพันธ์ เมื่อปี ค.ศ. 1971-1972 ว่า ให้มั่นใจเขาและดูการกระทำของรัฐบาลมากกว่า อย่าไปฟังคนพูดโน่นพูดนี่ แม้กระนั้นในทางรัฐบาลเอง โจวเอินไหล ก็ต้องเผชิญกับการเจรจาหยั่งเชิง ช่วยเหลือผู้คนที่ประสบภัยการเมืองจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ยังต้องประคองตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์ผันผวนจากการคุกคามของเหล่าแก๊งค์สี่สหายตลอดมา จนแม้กระทั่งในวันที่เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ.1976
ความพยายามของแก๊งค์สี่สหาย ในการลดอำนาจโจวเอินไหล และไม่ให้ความสำคัญกับการอสัญกรรมของเขาเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1976 นี้เอง กลายเป็นแรงกดดันให้ประชาชนจีนผู้อัดอั้นตันใจตลอดมา ต่างแสดงออกทางการเมืองด้วยการเดินเท้าจากบ้านหลั่งไหลมืดฟ้ามัวดิน ไปยังจตุรัสเทียนอันเหมิน ในเช้าวันที่ 5 เมษายน อันเป็นวันตรงกับวันบูชาบรรพบุรุษ (ชิงหมิง หรือเช็งเม้ง)
ในวันนั้น ประชาชนจีนนับแสนคน พร้อมใจกันนำเอาพวงหรีดมาตั้งไว้ที่อนุสาวรีย์วีรชนกลางจัตุรัสเทียนอันเหมิน หลั่งน้ำตาอาลัยนายกโจวเอินไหล ประมาณกันว่ามีจำนวนพวงหรีดนั้นกองสูงดั่งภูเขาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในการไว้อาลัยบุคคลสำคัญของประเทศจีน และพวงหรีดที่กองสูงดั่งภูเขานั้นเอง ที่โถมกลบฝังอวสานของยุคเจียงชิงและแก๊งค์สี่สหาย
"สงครามในศตวรรษที่ 21"
หลังอสัญกรรมของโจวเอินไหล โลกอยู่ในขั้วมหาอำนาจเดียวอย่างสหรัฐอเมริกามาตลอด แต่การผงาดขึ้นของจีนนั้นเปรียบเหมือนประวัติศาสตร์การผงาดขึ้นมาของเอเธนส์ ที่ก่อความหวาดกลัวในหมู่สปาร์ตา จนทำให้ต่างตกหลุมพรางมหาสงคราม หรือที่เรียกว่า หลุมพราง “ตูซิดิตี”
สงครามเย็นครั้งใหม่ในศตวรรษนี้ ผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นว่าได้ก่อตัวขึ้นแล้วระหว่างสหรัฐอเมริกาที่พุ่งเป้ามายังจีน สงครามเย็นครั้งนี้กำลังจะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ และอาจซ้ำรอยประวัติศาสตร์
สันติภาพแห่งโลกหลายขั้วฯ ความฝันการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างของมหาอำนาจ และอัจฉริยะทูตแบบโจวเอินไหล จะเกิดมีขึ้นอีกในศตวรรษนี้ได้หรือไม่ กับดักสงคราม หลุมพราง “ตูซิดิตี” ตลอดจนคำถามที่ว่า สงครามในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงหรือ ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่อาจรู้ตอนจบ ...