ไชน่าเดลี / MGR Online - พัฒนาการรถไฟความเร็วสูงของจีน มาพร้อมกับเทคโนโลยีในการวางราง ทุกสภาพภูมิประเทศ และรูปแบบสมรรถนะหลากหลายของรถไฟหัวกระสุน
รถไฟหัวกระสุน (Bullet Trains) ที่จีนพัฒนาล่าสุดมีชื่อว่า “ฟู่ซิง” Fuxing (复兴号) (หรือ ฟู่ชิงห่าว) อันมีความหมายนัยยะแห่งการฟื้นฟูความเจริญ เป็นรุ่นของรถไฟฟ้าความเร็วสูงรถไฟ พัฒนาโดย CRRC เดิมเรียกว่า China Standardized EMU ที่มีโครงการพัฒนาในปี 2555 และแผนการออกแบบเสร็จสิ้นในปี 2557 EMU คันแรกเริ่มผลิตในปี 2558
ทั้งนี้ชื่อดังกล่าวยังมาจากคำที่เหล่าผู้นำจีนมักใช้อ้างถึงเป้าหมาย “การผงาดกลับมายิ่งใหญ่ของชาติจีน” ซึ่งต่างจากรถไฟหัวกระสุนรุ่นก่อนๆ ของจีนที่ใช้ชื่อ เหอเสีย (和谐) หรือ Harmony ในภาษาอังกฤษอันหมายถึงความสามัคคี
ปัจจุบัน ฟู่ซิง มีรูปแบบ และชื่อเรียกที่หลากหลาย อาทิ รุ่น CR400AF เรียกว่า "Blue / Red Dolphin" ส่วนรุ่น CR400BF เรียกว่า "Golden Phoenix"
ฟู่ซิง วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ยที่ 350 กม./ชม. และสามารถเร่งความเร็วได้สูงถึง 400 กม./ชม. เวลานี้เป็นรถไฟที่เร็วที่สุดและให้บริการในจีน ออกโลดแล่นเป็นครั้งแรกบนเส้นทางรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2560
อีกด้านหนึ่ง วิศวกรสร้างทางรถไฟของจีน ก็พัฒนาขีดความสามารถจนเอาชนะอุปสรรคด้านภูมิประเทศทุกรูปแบบของโลกแล้วก็ว่าได้ ตัวอย่างเช่น ทางรถไฟฯ สายฮาร์บิน-ต้าเหลียน ซึ่งต้องแล่นผ่านพื้นที่ที่มีอุณหภูมิลดต่ำกว่า -40 องศาเซลเซียสในฤดูหนาว, ทางรถไฟฯ สายหลันโจว-ซินเจียง ที่วิ่งผ่านทะเลทรายโกบีอันแห้งแล้ง หรือทางรถไฟฯ บนเกาะไห่หนัน (ไหหลำ) ที่ต้องสามารถต้านทานความรุนแรงจากพายุไต้ฝุ่นได้ เป็นต้น
โดยล่าสุดปีนี้ได้พัฒนาโครงการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงใต้ทะเล เชื่อมเมืองหนิงปั่วกับเกาะโจวซาน มณฑลเจ้อเจียง ความยาวรวม 70.92 กิโลเมตร โดยมีส่วนที่ขุดลึกอยู่ใต้ทะเลกว่า 16.2 กิโลเมตร
ข้อมูล ณ ปี 2560 ระบุความยาวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีนทั้งสิ้น เท่ากับ 25,000 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 66 ของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงรวมทั้งโลก อันเป็นไปตามยุทธศาสตร์ “โครงข่ายเส้นทางรถไฟโดยสารความเร็วสูง 4 แนวตั้ง 4 แนวขนาน (四纵四横) ” ซึ่งเป็นโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ “โครงข่ายระบบรางระยะกลาง/ยาว (中长期铁路网规划)” ที่รัฐบาลจีนเริ่มมาตั้งแต่ปี 2547
ในปี 2559 จีนยังได้กำหนดยุทธศาสตร์ “โครงข่ายเส้นทางรถไฟโดยสารความเร็วสูง “8 แนวตั้ง 8 แนวขนาน (八纵八横)” เพิ่มเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระยะทางรวม 4.5 หมื่นกิโลเมตรภายในปี พ.ศ. 2573