xs
xsm
sm
md
lg

มาทานขนมอี๋ในวันสารทตังโจ่ยกัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ขนมอี๊ปรุงน้ำ ขอบคุณภาพจาก https://kknews.cc/zh-my/news/peyabe8.html
โดย พชร ธนภัทรกุล

ชาวจีนเรียกขนมลูกกลมปั้นจากแป้งข้าวเหนียว ลูกเล็กบ้างใหญ่บ้าง ต้มน้ำใส่น้ำตาลทรายเป็นขนมหวานปรุงน้ำว่า “ทังหยวน” หรือ “ทังถวน” (汤圆/汤团เสียงจีนกลาง) ขนมหวานชนิดนี้มักมีไส้ จะเป็นไส้งา ไส้ถั่วกวน หรือไส้อื่นๆก็แล้วแต่ความชอบและความเคยชินของแต่ละคนในแต่ละท้องถิ่น และเป็นขนมที่ชาวจีนนิยมชื่นชอบกันทั้งประเทศ ไม่แยกจีนถิ่นไหนกลุ่มไหนทั้งสิ้น

สำหรับชาวจีนทางเหนือ ทังหยวนยังเป็นขนมประจำเทศกาล “หยวนเซียว” หรือเทศกาลประทีปโคมไฟหลังวันตรุษจีนแล้ว 15 วัน

ชาวจีนทางใต้บางกลุ่มบางสำเนียง เช่น ชาวแต้จิ๋ว ชาวฮกเกี้ยน มีศัพท์คำหนึ่งคือ “อี๊” (丸เสียงแต้จิ๋ว เวลาออกเสียงให้ทำเสียงขึ้นทางจมูกด้วย) ซึ่งแปลว่า ลูกกลม ใช้เรียกสิ่งที่เป็นทรงกลมลูกเล็กๆ เช่น หื่ออี๊ (ลูกชิ้นปลา, 鱼丸เสียงแต้จิ๋ว) เอียะอี๊ (ยาลกกลอน. 药丸เสียงแต้จิ๋ว) เป็นต้น

ชาวจีนทางใต้มีขนมหวานชนิดหนึ่ง คล้ายทังหยวน แต่ลูกเล็กกว่ามาก ส่วนมากมักมีไส้ ต้มใส่น้ำตาล เป็นขนมหวานปรุงน้ำเหมือนกัน เรียกขนมชนิดนี้ว่า อี่เกี้ย (丸仔เสียงแต้จิ๋ว อี๊กับอี่ เป็นคำเดียวกัน แต่ที่ออกเสียงวรรณยุกต์ต่างกัน ก็เป็นไปตามกฏการผันเสียงวรรณยุกต์ตามหลักภาษาแต้จิ๋ว) หรือเรียกสั้นๆว่า อี๊

สมัยก่อน ชาวแต้จิ๋วทำขนมอี๊ไว้เลี้ยงแขกที่มาเยี่ยมเยือน ซึ่งมักไม่ใช่แขกประจำ แต่จะเป็นแขกพิเศษ เช่น ผู้หลักผู้ใหญ่ เจ้านายคนใหญ่คนโต ขุนนางข้าราชการ บุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือ เพื่อนใหม่ เขยคนใหม่ ญาติใหม่ที่เพิ่งเกี่ยวดองกัน คนในครอบครัวที่ไปได้ดิบได้ดีในต่างแดนแล้วนานปีทีหนกลับมาเยี่ยมบ้านสักครั้ง เจ้าของบ้านจะเตรียมขนมอี๊นี้ไว้เลี้ยงรับรองแขกผู้มีเกียรติเหล่านี้ ชาวแต้จิ๋วบางพวกพิถีพิถันขนาดว่าต้องมีไข่ไก่ต้มใส่ไปด้วยอีก 2-4 ฟอง เรียกว่า “ตีอี่หนึง” (甜丸汤เสียงแต้จิ๋ว) หรือ ขนมอี๊ไข่หวาน

และต่อให้แขกมาในช่วงเวลาใกล้มื้ออาหาร เช่น มื้อเที่ยง ก็ต้องเอาขนมหวานนี้มาเลี้ยงรับรอง สำหรับผู้เป็นแขก ถ้าเกรงว่า เจ้าของบ้านจะตักให้มาก แล้วจะทานไม่หมด ก็บอกกล่าวขอให้ตักแต่น้อยหรืออาจขอไข่ไก่แค่ 2 ฟอง พอเป็นการให้เกียรติแก่เจ้าของบ้าน ตามมารยาทที่ดี ก็ได้แล้ว
ลูกแป้งขนมอี๊ ขอบคุณภาพจาก http://baa.bitauto.com/fujian/thread-6527048.html
ปัจจุบัน ไม่พบเห็นประเพณีการเลี้ยงรับรองแขกด้วยขนมอี๊อย่างนี้กันแล้ว คงเหลือแต่ทำขนมอี๊รับวันตังโจ่ย ซึ่งไม่ใช่ในช่วงเทศกาลหยวนเซียวอย่างชาวจีนทางเหนือ (วันตังโจ่ยนี้ ชาวจีนทางเหนือจะทานเจี่ยวจื่อหรือเกี๊ยวซ่ากัน)

ปฏิทินหน่งลี่ (农历เสียงแต้จิ๋ว) หรือปฏิทินเกษตรคติจีน แบ่งช่วงเวลาทั้งปีออกเป็น 24 จักขี่ (节气เสียงแต้จิ๋ว) ผมขอเรียกว่า 24 คาบฤดู แต่ละคาบฤดูจะมีชื่อกำกับ เพื่อบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศหรือฤดูกาลแบบละเอียดกว่าที่แบ่งกันคร่าวๆแค่ 4 ฤดู และมีคาบฤดูหนึ่งชื่อว่า ตังจี่ (冬至เสียงแต้จิ๋ว) หรือ ตงจื้อ (เสียงจีนกลาง) ซึ่งจะตรงกับวันที่ 21-22 ของเดือนธันวาคม ไม่สามารถกำหนดวันที่แน่นอนได้ไม่ว่าจะตามปฏิทินสากลหรือแม้แต่ตามปฏิทินจันทรคติจีนเองก็ตาม แต่ก็อยู่ในวันที่ 21หรือ 22 เดือนธันวาคมนี่แหละ

และวันนี้ยังเป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากโลกไกลที่สุด นี่ทำให้เกิดเงาจากแสงแดดบนเส้นศูนย์สูตรของโลกทอดยาวที่สุด ชาวจีนสมัยโบราณจึงเรียกวันนี้ วัน “เฉี่ยงจี่” (长至เสียงแต้จิ๋ว) หมายถึงยาวสุด ซึ่งฝรั่งเรียกวันนี้ว่า วันโซลสทิส (solstice)

ชาวจีนสมัยโบราณ ถือว่าคาบฤดู “ตังจี่” หรือ “ตงจื้อ” นี่แหละเป็นคาบฤดูแรกของปี เพราะว่าก่อนหน้าวันตังจี่ 1 วันเป็นวันสิ้นสุดของคาบฤดูสุดท้ายของปี คือคาบฤดูตั่วเสาะ (大雪เสียงแต้จิ๋ว) หรือช่วงหิมะตกหนัก เมื่อสิ้นคาบฤดูนี้แล้ว อากาศจะเริ่มอุ่นขึ้น วันตังจี่จึงถือเป็นวันเริ่มต้นของทุกคาบฤดู

ดังนั้น เมื่อสมัยก่อน วันตังจี่จึงเปรียบเสมือนวันขึ้นปีใหม่ แต่เมื่อมีการกำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันแรกในเดือนหนึ่งตามปฏิทินจีน วันตังจี่ก็เลยถูกลดความสำคัญลง แต่ก็ยังเป็นวันเทศกาลที่สำคัญรองลงมาจากวันตรุษจีน

ชาวแต้จิ๋วโดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นอากงอาม่าทั้งในจีนและในไทย ต่างก็ยังคงยึดถือและให้ความสำคัญกับวันนี้อยู่เหมือนเดิม และเนื่องจากเป็นวันเทศกาล วันนี้ก็จึงเรียกกันอีกชื่อว่า ตังจี่โจ่ย (冬至节เสียงแต้จิ๋ว) แต่ชาวแต้จิ๋วนิยมเรียกกันสั้นๆตามความเคยชินว่า วัน ตังโจ่ย (冬节เสียงแต้จิ๋ว) และก่อนหน้าวันนี้หนึ่งวัน จะมีการปั้นขนมอี๊ไว้รับวันเทศกาลสำคัญนี้ เรียกว่า ตังโจ๊ยอี๊ (冬节丸เสียงแต้จิ๋ว)
ขนมอี๊ในน้ำตาลอ้อย ขอบคุณภาพจาก http://stu.stnews.cn:8000/?p=30590
อาม่าให้ความสำคัญกับวันนี้มาก ในคืนก่อนถึงวันตังโจ่ย พอหลังอาหารเย็น อาม่าก็จะเริ่มนวดแป้งข้าวเหนียว พอได้ที่ก็จะเรียกทุกคนในบ้านออกมาช่วยกันปั้นลูกขนมอี๊ ทุกคนจะมานั่งล้อมวงรอบถาดใบโต ช่วยกันบิแป้งข้าวเหนียวใส่ฝ่ามือ สองมือคลึงวนไปมาจนได้ลูกข้าวเหนียวกลมๆ ในถาดจะมีแป้งข้าวเหนียวพิเศษก้อนไม่ใหญ่นักอยู่ก้อนหนึ่ง ใส่สีแดงสดใส พวกเด็กๆอย่างผมก็จะแย่งปั้นข้าวเหนียวแดงก้อนนี้กันอย่างสนุกสนาน รู้สึกได้ถึงบรรยากาศของวันเทศกาลที่จะมาถึงในวันรุ่งขึ้น ซึ่งกว่าจะปั้นกันเสร็จก็ดึกพอสมควร ได้เวลาเด็กๆต้องเข้านอนกันพอดี

วันรุ่งขึ้น อาม่าจะตื่นแต่เช้าตรู่ ลุกขึ้นมาต้มขนมอี๊ที่ปั้นไว้ตั้งแต่เมื่อคืน ขนมอี๊ต้มใส่น้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลอ้อย สุกแล้ว ตักใส่ถ้วยใบย่อม แบ่งไปไหว้เจ้าต่างๆที่มีอยู่ในบ้าน และก็ไม่ลืมตักขนมอี๊สีแดงแต่งแต้มบนขนมอี๊ขาวในถ้วยไปด้วย ดูสวยงามดี หลังไหว้เจ้าต่างๆแล้ว ทุกคนในบ้านก็จะได้อร่อยกับขนมหวานที่ลงมือทำกันเองกันละคนถ้วยสองถ้วย ขนมอี๊ต้มสุกใหม่ๆ หอมหวานนุ่มลิ้นอร่อยมาก

ทางบ้านจะทำขนมอี๊ไว้ไหว้เจ้าเท่านั้น ไม่ได้ไหว้บรรพบุรุษ แต่ชาวแต้จิ๋วบางท้องถิ่น จะเอาขนมอี๊เซ่นไหว้บรรพชนกันด้วย สมัยก่อน ยังเอาลูกขนมอี๊ไปติดตามวงกบประตู เครื่องเรือน รวมทั้งไปติดไว้ตามตัววัวบ้าง เขาวัวบ้าง หัววัวบ้าง นัยว่าเพื่อให้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงมีแต่ความร่มเย็น แคล้วคลาด มีสุขภาพดีและเจริญรุ่งเรือง

เด็กๆกินขนมอี๊ในวันนี้ เท่ากับว่าโตขึ้นอีกขวบหนึ่ง มีเรื่องเล่าว่า เมื่อสมัยก่อน ทางราชการจีนจะไม่ประหารนักโทษกันในวันนี้ นักโทษคนไหนโชคดีถึงคิวถูกประหารวันนี้ ก็จะรอดชีวิตไปหนึ่งวัน ญาติๆจะเอา “ตังโจ่ยอี๊” หรือขนมอี๊ไปเยี่ยมอวยพรที่มีชีวิตรอดมาได้ครบปี

“ตังโจ่ยอี๊” หรือขนมอี๊ของชาวจีนจึงเป็นขนมที่มีความหมายมงคลแฝงอยู่

ในที่นี้ขอแทรกเรื่องความเชื่อเรื่องสีแดงไว้สักนิด ขนมอี๊สีแดงสดใสที่ใช้เติมแต้มขนมอี๊สีขาวในถ้วย อาม่าไม่ได้ทำเพื่อให้ดูสวยงามแต่อย่างใด หากแต่เป็นไปคตินิยมที่ชาวแต้จิ๋วเขาทำกันทั่วไป อาหารทุกชนิดที่นำขึ้นโต๊ะ จะไหว้เจ้าหรือเลี้ยงแขก คนแต้จิ๋วเป็นต้องแต้มสีแดงไว้บนอาหารนั้นๆ ที่เด่นที่สุดคือการแต้มสีแดงสี่จุดไว้บนตัวไก่ ที่เรียกว่า “ซีเตียมกิม” (四点金เสียงแต้จิ๋ว) แปลว่าทองสี่จุด จะเป็นไก่ต้มทั้งตัว หรือถ้าสับแล้ว ก็ให้เรียงเนื้อไก่เป็นรูปตัวไก่ เอาสีแดงแต้มไว้บนหัวไก่ ปีกไก่ทั้งสองข้าง และก้นไก่ โดยเฉพาะการเลี้ยงฉลองในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานฉลองเปิดกิจการใหม่ ต้องจัดไก่แต้มทองสี่จุดไว้เลี้ยงแขกเสมอ
ขนมทังหยวน ขอบคุณภาพจาก http://www.cn-qiye.cn/shenghuozixun/jiankangyinshi/2012-02-06/59767.html
การแต้มสีแดงหรือใส่สีแดงในอาหารนั้น ชาวจีนเขาหมายขอให้เกิดความเป็นสิริมงคล สมบูรณ์พูนสุข ทั้งนี้เพราะชาวจีนจะใช้สีแดงสำหรับงานมงคลทั้งหลาย และจะใช้สีขาวเกับงานที่ไม่เป็นมงคล โดยเฉพาะงานศพ สีแดงในคติของชาวจีนทั่วไปจึงเป็นสีแห่งมงคล และถูกใช้สื่อความหมายดีๆอยู่เสมอ เช่น เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ ใครที่การงานก้าวหน้า กิจการเจริญรุ่งเรือง ดวงกำลังขึ้น ชาวจีนก็จะใช้คำว่า “หง” (hong หรืออั๊ง—แต้จิ๋วที่แปลว่าแดง) เพื่อบอกให้รู้ว่ามีสิ่งอันเป็นมงคลเกิดขึ้นกับเขา ดังนั้น บัตรเชิญงานต่างๆ (ยกเว้นงานศพ) ของจีน จึงมักเป็นบัตรสีแดง แตะเอียให้อั้งเปา ก็ต้องใช้ซองแดงใส่เงิน ปีนักษัตรใดตรงกับปีเกิดของใคร ก็ควรผูกข้อมือด้วยด้ายแดง สีแดงจึงเป็นสีแห่งมงคลสำหรับชาวจีนอย่างไม่ต้องสงสัย

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำขนมอี๊ไหว้เจ้า ใส่สีแดงในขนมอี๊ หรือแต้มจุดสีแดงบนตัวไก่ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวจีนสร้างสรรค์กันมานานนับร้อยนับพันปี และหยั่งรากลึกอยู่ในหมู่พวกเขา รู้ภูมิหลังและรากวัฒนธรรมการกินของชาวจีนเช่นนี้แล้ว หากคุณมีโอกาสได้ทานขนมอี๊หรืออาหารแต้มสีแดงของชาวจีน ขอให้รู้ว่า เจ้าภาพมีความตั้งใจมอบสิ่งอันเป็นมงคลให้คุณด้วยอาหารที่มีความหมายมงคล


กำลังโหลดความคิดเห็น