โดย พชร ธนภัทรกุล
ทฤษฏียินหยางเป็นหัวใจของสามวิชาหลัก คือ
วิชาการแพทย์แผนจีน หรือ จง-อี-เสวีย (中医学เสียงจีนกลาง)
วิชาเภสัชศาสตร์แผนจีน หรือ จง-เอี้ยว-เสวีย (中药学เสียงจีนกลาง)
และวิชาโภชนาการแผนจีน หรือ หยั่ง-เซิง-เสวีย (养生学เสียงจีนกลาง)
ทั้งสามวิชาจะเน้นเรื่องดูแลสุขภาพ ด้วยการปรับให้ยินหยางสมดุลกัน เมื่อใดที่เกิดความสมดุล ร่างกายเราก็จะมีภาวะสุขภาพที่ดีที่เป็นปกติ
แล้วทฤษฏียินหยางคืออะไร
ทฤษฏียินหยาง เป็นทฤษฏีที่ว่าด้วยความขัดแย้งของด้านตรงข้ามสองด้านที่อยู่ในองค์เอกภาพเดียวกัน
ชาวจีน (สมัยโบราณ) มองว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติ (รวมทั้งร่างกายคนเรา) ล้วนมีคุณสมบัติสองอย่างที่ตรงข้ามกันและขัดแย้งส่งอิทธิพลต่อกันอยู่ในตัว และเรียกคุณสมบัติสองอย่างนี้ว่า ยินหยาง (阴阳เสียงจีนกลาง) หรืออิมเอี๊ยงในเสียงแต้จิ๋ว
คุณสมบัติที่เป็นยินถูกกำหนดให้เป็นด้านลบ เช่น เย็น มืด อ่อนแอ หญิง เป็นต้น
คุณสมบัติที่เป็นหยางถูกกำหนดให้เป็นด้านบวก เช่น ร้อน สว่าง แข็งแรง ชาย เป็นต้น
ร่างกายคนเราก็ถูกกำกับด้วยคุณสมบัติสองอย่างนี้เหมือนกัน ขอให้สังเกตตัวเองดูสักนิด ถ้าร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ร่างกายมักฟ้องด้วย “ความแห้ง” เช่น คอแห้งผากตลอด ผมแห้งกรอบ ผิวแห้งกร้าน ปัสสาวะน้อย ท้องผูกประจำ เป็นต้น นี่เป็นร่างกายที่มีคุณสมบัติเป็นหยาง
ทีนี้ถ้าปกติ มักเป็นสิวง่าย รู้สึกร้อนตามอุ้งมืออุ้งเท้า หน้าแดงก่ำ มีเหงื่อง่ายทั้งที่อากาศไม่ร้อน ท้องผูกง่าย ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม ผู้หญิงมีรอยเดือนนานหรือมาก่อนแบบผิดปกติ วิตกกังวลง่าย นอนไม่หลับ ชอบอยู่ในที่เย็นๆ เช่น ในห้องปรับอากาศ ชอบดื่มน้ำเย็น ไม่ชอบอยู่นิ่ง ชอบทำโน่นทำนี่ ช่างพูด มีความอดทนต่ำอย่างนี้แสดงว่า ร่างกายมีคุณสมบัติที่เป็นหยาง
แต่หากร่างกายคุณมีลักษณะตรงข้ามกับที่ว่ามานี้ คือ ชอบทานของร้อน ไม่ชอบทานของเย็น ไม่ค่อยรู้สึกคอแห้งหรือกระหายน้ำ หน้าตาดูซีดขาวกว่าปกติ เป็นคนกลัวหนาว อากาศเย็นลงนิดหน่อย ก็รู้สึกหนาวแล้ว อาจถึงกับต้องใส่เสื้อกันหนาว ไม่ชอบอยู่ในห้องปรับอากาศ มักเป็นหวัดง่าย เพราะภูมิต้านทานต่ำ ท้องเสียง่าย ตัวบวมน้ำง่าย กลางคืนมักตื่นมาปัสสาวะบ่อย ผู้หญิงมีตกขาวมาก รอบเดือนมาช้า เป็นคนไม่ค่อยกระฉับกระเฉง ชอบอยู่นิ่งๆ ไม่ค่อยพูด มีความอดทนสูง อย่างนี้แสดงว่า ร่างกายคุณมีคุณสมบัติที่เป็นยิน
ดังนั้น คนที่ร่างกายมีคุณสมบัติที่เป็นหยาง หรือร่างกายอยู่ในภาวะค่อนไปทาง “ร้อน” แนะนำว่า ควรทานผลไม้ที่มีคุณสมบัติเย็นถึงเย็นมาก เช่น ผลหม่อน แตงโม กล้วยหอม สาลี่ สมอ เป็นต้น เพื่อลดคุณสมบัติที่เป็นหยางหรือภาวะที่ค่อนไปทางร้อนของร่างกาย
ส่วนคนที่ร่างกายมีคุณสมบัติที่เป็นยิน หรือร่างกายอยู่ภาวะสุขภาพค่อนไปทาง “เย็น” แนะนำว่า ควรทานผลไม้ที่มีคุณสมบัติอุ่นถึงร้อน เช่น ลำไย ฟักทอง ท้อ ลิ้นจี่ ส้มเช้ง ลูกไหน เป็นต้น เพื่อลดคุณสมบัตืที่เป็นยินหรือภาวะที่ค่อนไปทางเย็นของร่างกาย
นี่เป็นหลักการง่ายๆ
ในขณะเดียวกันสภาพลมฟ้าอากาศและภูมิประเทศ ก็มีผลกระทบต่อสุขภาพและอาหารการกินของเราด้วย เช่น ประเทศไทยเราอยู่ในเขตร้อนชื้น อากาศในช่วงฤดูร้อน จะร้อนอบอ้าวมาก ความร้อนในอากาศและจากพื้นดิน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้โดยตรง เช่น ปวดหัว ตัวร้อน คอแห้ง หงุดหงิดง่าย เป็นต้น ดังนั้น ใครที่ร่างกายมีคุณสมบัติเป็นหยาง ก็ยิ่งต้องทานผลไม้ที่มีคุณสมบัติเย็นถึงเย็นมากให้มากไว้ เพื่อให้ร่างกายอยุ่ในภาวะสมดุลจะดีที่สุด
แน่นอนว่า การทานผลไม้อย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป ร่างกายย่อมทนรับไม่ไหว ไม่ว่า ร่างกายจะมีคุณสมบัติแบบไหนก็ตาม โดยเฉพาะผลไม้ฉ่ำน้ำที่มักมีคุณสมบัติเย็น เช่น พวกแตงต่างๆ ถ้าทานมากไป อาจทำให้ปวดท้องหรือท้องเสียได้ ส่วนลำใยและลิ้นจี่ที่มีคุณสมบัติร้อน ถ้าทานมากไป จะทำให้ร่างกายมีความร้อนสะสม เกิดเป็นร้อนในได้ ยิ่งในคนที่ร่างกายมีคุณสมบัติเป็นหยางด้วย ยิ่งต้องระวัง
ดังนั้น การสร้างสมดุลแก่ร่างกาย จึงไม่เพียงแค่คำนึงถึงคุณสมบัติของผลไม้เท่านั้น แต่ยังต้องใส่ใจในเรื่อง “ปริมาณ” ด้วย ก่อนทานจึงต้องคิดให้ดีก่อนว่า ผลไม้ชนิดนั้นๆเหมาะกับร่างกายของเราหรือไม่ ในที่นี้ ขอพูดถึงผลไม้บางชนิดให้พอเป็นตัวอย่าง
แอปเปิล ซึ่งว่าไปแล้วมีคุณสมบัติกลางๆ แต่ก็ค่อนไปทางเย็น ถ้าทานมากเกินไป กลับจะทำให้ไม่สบายท้องได้ มีภาษิตอังกฤษบทหนึ่ง บอกว่า An apple a day keeps the doctor away ความจริงจะเป็นเช่นใดไม่ทราบ รู้แต่ว่า ในแอปเปิ้ลมีเกลือโพแทสเซียมและน้ำตาลมาก ถ้าทานมากไป ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการทำงานของหัวใจและไต ใครเป็นโรคหัวใจ โรคไต และโรคเบาหวาน จึงไม่ควรทานมากเกินไป
กล้วยหอม เป็นผลไม้ที่มีคุณสมบัติ “เย็นจัด” และมีเกลือโซเดียมมาก คนเป็นโรคไตเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ควรทานมากเกินไป และกล้วยหอมยังมีน้ำตาลมาก คนเป็นโรคเบาหวานก็ไม่ควรทานมากเกินไปด้วย
แตงโม ผลไม้ฉ่ำน้ำชนิดนี้ช่วยแก้กระหายคลายร้อนได้ดีในช่วงฤดูร้อน แต่เนื่องจากมีคุณสมบัติเย็น ดังนั้น ผู้สูงอายุและคนที่อ่อนแอขี้โรค ทานมากไป อาจปวดท้องหรือท้องเสียได้ง่าย และที่ควรระวังคือ คนที่มีอาการบวมน้ำอย่างรุนแรง ไม่ควรทานแตงโมมากเกินไป
ส้ม ผลไม้นี้มีคุณสมบัติเย็น คนที่ร่างกายมีภาวะเย็น โดยเฉพาะคนชราไม่ควรทานมากเกินไป ไม่เช่นนั้น อาจทำให้มีอาการปวดท้อง ปวดเมื่อยหลัง เกิดแผลมุมปากได้ง่าย
ลิ้นจี่ ถ้าทานมากไป ก็อาจไปลดสมรรถภาพการทำงานของระบบการย่อยอาหาร ซึ่งจะไปลดความอยากอาหารลงด้วย การทานลิ้นจี่ในปริมาณมากติดต่อกัน ยังทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า Lychee disease คือหน้าซีด วิงเวียน ใจสั่น เหงื่อออกผิดปกติ ง่วงเหงาหาวนอน และไม่มีเรี่ยวแรง เพราะลิ้นจี่ทำให้เกิดปฏิกิริยาน้ำตาลในเลือดต่ำได้นั่นเอง
ลูกพลับหรือมะพลับ แม้จะเป็นผลไม้ที่มีคุณสมบัติเย็น แต่ก็มีฤทธิ์ช่วยสมานแรง ดังนั้น ใครท้องผูกเป็นประจำ จึงไม่ควรทานมากเกินไป นอกจากนี้ ควรเลี่ยงไม่ทานลูกพลับในขณะท้องว่าง หรือหลังทานปูทะเล โดยเฉพาะคนที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีกรดในกระเพาะอาหารมาก ยิ่งต้องระวัง
นอกจากนี้ ยังไม่ควรทานผลไม้บางชนิดคู่กับอาหารทะเลด้วย เนื่องอาหารทะเลพวกปลา ปู กุ้ง หอย และสาหร่ายทะเล นอกจากมีโปรตีนมากแล้ว ยังมีแร่ธาตุพวกแคลเซียมและเหล็กในปริมาณมากด้วย ซึ่งถ้าเราทานผลไม้ที่มีกรดแทนนิกค่อนข้างมาก เช่น ทับทิม องุ่น ส้ม ส้มโอ มะนาว ลูกพลับ สมอ ผลพลัม บ๊วย เป็นต้น กรดแทนนิกในผลไม้เหล่านี้จะรวมตัวกับแคลเซียมและเหล็กในอาหารทะเล ทำให้เกิดสารชนิดหนึ่งที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้ และยังจะไประคายเคืองกระเพาะอาหารด้วย ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องได้ ฉะนั้น จึงไม่ควรทานผลไม้เหล่านี้กับอาหารทะเล แต่ถ้าจะทานผลไม้เหล่านี้ ก็ควรทานหลังจากมื้ออาหารทะเลแล้วสัก 2-3 ชั่วโมงจะดีกว่า
สรุปว่า การทานผลไม้ ควรคำนึงถึงคุณสมบัติยินหรือหยางทั้งของร่างกายและของผลไม้ไปพร้อมกันด้วย และพึงระลึกไว้เสมอว่า ไม่ว่าผลไม้นั้นๆจะมีคุณค่าหรือมีสารอาหารมากแค่ไหน แต่หากทานมากเกินไป ย่อมไม่ก่อผลดีต่อสุขภาพแน่ ทุกอย่างต้องเดินทางสายกลาง ทานให้ถูกหลักและทานแต่พอเหมาะพอประมาณ จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีแน่นอน