xs
xsm
sm
md
lg

จีน 1978-2018 : 40 ปีกับความเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพเปรียบเทียบเซี่ยงไฮ้ในปี 1987 และ ปัจจุบัน
โดย ดร.ร่มฉัตร จันทรานุกุล

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเดินชมงานนิทรรศกาลการเปิดประเทศของจีนครบรอบ 40 ปี ที่เริ่มเปิดให้ประชาชนเข้าชมเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นผู้เปิดงาน งานนิทรรศการนี้เปิดให้ชมแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ศูนย์แสดงนิทรรศการแห่งชาติ ณ กรุงปักกิ่ง จำนวนคนที่เข้าชมงานนั้นเยอะแน่นขนัดทุกวัน เพราะไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไปที่เข้าไปชมด้วยตัวเองเท่านั้น แต่ยังมีหน่วยงานของรัฐทุกที่ทั่วประเทศจัดรถบัสนำคนในหน่วยงานไปเยี่ยมชมงาน หลังจากการเปิดงานสามวันคนเข้าชมมากกว่า 1 แสนคน งานนิทรรศกาลยังไม่ประกาศวันที่จะเสร็จสิ้นนิทรรศการเพราะฉะนั้นชาวไทยที่พำนักอยู่ที่ปักกิ่งหรือจังหวะเหมาะมาเที่ยวที่ปักกิ่งพอดีก็เชิญไปเดินดูเยี่ยมชมได้ อย่าลืมที่จะต้องนำพาสปอร์ตติดตัวไปด้วย ผู้เขียนเห็นว่างานนิทรรศกาลครั้งใหญ่นี้หากมีโอกาสควรไปเดินดูสักครั้ง

ทีนี้เรามาดูกันว่าจีนหลังจากที่ปฎิรูปเปิดประเทศมา 40 ปีเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง หากนับย้อนหลังไปตั้งแต่จีนเปิดประเทศถึงปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศต่างทำนายทายทักเศรษฐกิจจีนไปต่างๆนานาจะรอดหรือไม่รอด ฟองสบู่จะแตกหรือไม่แตก จีนจะลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้หรือไม่ เพราะในช่วงการเปิดประเทศของจีนในยุคเริ่มต้นนั้นยากลำบากมาก ความยากจนของประชาชนที่มีมหาศาลเป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข อีกทั้งจีนยังมีระบบการบริหารและระบบตลาดที่ถูกควบคุมโดยศูนย์กลาง ไม่ใช่กลไกตลาดเสรี นายหวู่เสี่ยวโป นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของจีนได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับจีนกับการเปิดประเทศครบรอบ 40 ปีกล่าวว่า “เศรษฐกิจจีนที่เปลี่ยนแปลงมาจนปัจจุบันมาจาก 4 ปัจจัยหลักด้วยกันคือ 1.นวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงของบริษัท ที่ผ่านมาการก็อปปี้ของจีนก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ 2.ยอมรับได้ในความไม่เท่าเทียม จีนก่อนหน้าจนเท่าเทียมกลายเป็นยอมให้คนบางกลุ่มมีเงินขึ้นมาก่อน 3.ความได้เปรียบจากจำนวนประชาการเกิด Gigantic effect 4.การค้นพบทางเทคโนโลยีใหม่ๆที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตลอด” ในปี 1978 ขนาด GDP ของจีนต่อเศรษฐกิจโลกคือ 1.8% ในตอนนั้นจีนเป็นประเทศที่ยากจนแร้นแค้น แต่ ณ เวลานี้ 2018 จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เท่ากับ 14.8% ของทั้งโลก และในปี 1978 GDP ต่อหัวของจีน 384 ดอลล่าร์ ในจำนวนสองร้อยกว่าประเทศทั่วโลกจีนถูกจัดอันดับ 7 จากรั้งท้าย ในปีนี้ GDP ต่อหัวของจีน 9281 ดอลล่าร์ จากตัวเลขนี้ทำให้รู้ว่าจีนขึ้นมาอยู่ในระดับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง มาดู Gini index หรือดัชนีความยากจน ในปี 1978 ประชาชนได้เงินเดือน 100 หยวนค่าใช้จ่ายของอาหารการกินอยู่ที่ 60% ของรายได้แต่ในปัจจุบันรายได้ 100 หยวนใช้ในอาหารการกิน 39% ที่เหลือ 61% ใช้ในด้านที่ยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น
ปี 1978 จีนไม่มีอาคารหรือตึกที่สูงกว่า 200 เมตร ในปีนี้ 10 ตึกสูงระดับโลก มี 8 ตึกอยู่ที่จีน ในปี 1978 จีนไม่มีบริษัทเอกชน และในปี 2017 500บริษัทระดับโลกมีบริษัทจีนอยู่ 115 บริษัทและในจำนวนนี้เป็นบริษัทเอกชน 100% มากกว่า 25 บริษัท ในปี 1978 คนจีนยากจนทั่วหน้าและเท่าเทียม คำว่า“ชนชั้นกลาง” ในยุคนั้นถูกดูถูก ต่อมาในปี 2018 ชนชั้นกลางในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 230 ล้านคนและทุกวันนี้แบรนด์หรูหราทั่วโลกมีคนจีนเป็นผู้ซื้อหลักมากกว่า 70% อายุเฉลี่ยของคนจีนพวกนี้ 39 ปี ในปี 1978 จีนมีการผลิตและบริโภครถยนต์ประมาณ 1 แสนคัน ทุกวันนี้จีนเป็นตลาดผลิตและบริโภครถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปีที่แล้วจีนผลิตรถยนต์ 30 ล้านคัน รถยนต์กลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นกลางจีนไปแล้ว ดังนั้นนอกจากเป็นตลาดการผลิตที่ใหญ่ระดับโลกแล้วยังเป็นตลาดบริโภคระดับโลกอีกด้วย
จีนลงหน้าปกนิตยสารไทม์ในช่วงเวลาต่างๆ
ถึงปัจจุบันจีนถูกขึ้นหน้าปกในนิตยสารไทม์มาแล้ว 4 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกคือเมื่อ 40 ปีแล้วเติ้งเสี่ยวผิงถูกยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปี ผู้นำของจีนท่านนี้นำจีนหลุดพ้นจากการต่อสู้ทางชนชั้น เปิดประตู เปิดประเทศรับสิ่งใหม่ๆ ต่อมาในปี 1984 นิตยสารไทม์สลงเรื่องของจีนอีกครั้งเป็นรูปผู้ชายวัยรุ่นยืนอยู่ที่กำแพงเมืองจีนและถือขวดโค้ก ขึ้นพาดหัวว่า “หน้าใหม่ของจีน” จีนในขณะนั้นเริ่มปฎิรูประบอบสังคม เริ่มมีธุรกิจเอกชนเข้ามาจากต่างชาติและเอกชนในประเทศกำลังเริ่มเติบโต มีป้ายโฆษณาขายของให้เห็นทั่วไป ต่อมาในปี 2013 จีนขึ้นปกไทม์อีกครั้งคราวนี้เป็นรูปเด็กเป่าฟอง ขึ้นพาดหัวว่าฟองสบู่จีน จีนในวันนี้กำลังอยู่ในอันตราย หลังจากนั้นไม่นาน 4 ปีหลังไทม์ขึ้นหัวข่าวอีกว่า “จีนชนะแล้ว” เนื้อหากล่าวว่าประธานาธิบดีสหรัฐมาจีนเพราะต้องการออเดอร์ 2 ล้านล้านดอลล่าร์จากจีน หากว่ามองจากมุมของนิตยสารจากฝั่งตะวันออกที่มองจีนแสดงให้เห็นว่าการเติบโตขึ้นมาของจีนนั้นลึกลับ จีนเปรียบเสมือนเรือลำใหญ่การเปลี่ยนแปลงของจีนนั้นแปรปรวนและรวดเร็ว ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน

การเติบโตขึ้นมาของจีนได้รับความสนใจจากนักเศรษฐศาสตร์ตะวันตก ที่มีการทำวิจัยและให้คำนิยามการเติบโตต่างๆนานา จนในปี 1991 นายโรนัลด์ โคส นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล ได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงจีน ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของจีน 3 ข้อดังนี้คือ

1. ปี 1978 ที่จีนเปิดประเทศถือว่าเป็นความสำเร็จของมนุษย์ชาติในด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
2. เศรษฐกิจของจีนในอีกกี่ 10 ปีข้างเป็นไปได้อย่างมากที่จะนำหน้าอเมริกา
3. การพัฒนาของเศรษฐกิจจีนไม่สามารถใช้ระบบเศรษฐกิจของตะวันตกมาอธิบายได้ จีนประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเกิดจากพฤติกรรมมนุษย์ที่เกินความคาดเดา

ในด้านของนักเศรษฐศาสตร์ดังของจีนศาสตราจารย์โจวฉีเหริน กล่าวว่าเศรษฐกิจจีนสิบปีที่ผ่านมากลายเป็นขนาดเศรษฐกิจอันดับสองของโลกได้เพราะ “ปลาใหญ่ น้ำเยอะ” น้ำหมายถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและระบบ ปลาหมายถึงภาคธุรกิจ ทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกัน น้ำไม่ดีปลาอยู่ไม่ได้ น้ำเยอะแต่ไม่มีปลาก็ไม่ใช่ ใน 40 ปีมานี้ภาคธุรกิจจำนวนมากทำเงินได้อย่างมหาศาล จีนมองว่าวิวัฒนาการสมัยใหม่ของจีนมาจากการขับเคลื่อนภายในและความต้องการภายในประเทศเป็นสำคัญ อิทธิพลจากตะวันตกส่งผลกระทบเช่นกันแต่มีข้อจำกัด จากที่กล่าวไปหลายท่านเห็นได้ว่าจีนเปลี่ยนแปลงไปเยอะในหลายๆด้านจริงๆ มาถึงจุดนี้แล้วแต่รัฐบาลจีนก็ยังไม่หยุดพักที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างแข็งขัน จีนเริ่มสนับสนุนตลาดในประเทศ สนับสนุนการ start-up ให้คนรุ่นใหม่ ผลักดันการร่วมมือกับนานาชาติ จีนจะไม่หลุดจากวงโคจรในโลกกาภิวัฒน์และจะไม่เปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ของประเทศ ทั้งสองต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วยกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น