โดย พชร ธนภัทรกุล
สำหรับชาวจีน เรื่องไข่เป็นเรื่องปรัมปราที่มีตำนานเล่าขานกันมากมาย เริ่มต้นจาก...“ในช่วงเริ่มแรก ทั่วฟ้า (จักรวาล) ขมุกขมัวดังไข่ไก่ ฟ้าเป็นทรงกลมดุจลูกกระสุน โลกประดุจไข่แดงในไข่ เดียวดายอยูข้างใน ฟ้ากว้างใหญ่ แต่ดิน (โลก) เล็กนิดเดียว ในฟ้ามีน้ำ ฟ้าโอบดินไว้ ดุจดั้งเปลือกไช้หุ้มไข่แดง”
ข้อความข้างต้นเป็นทรรศนะกำเนิดจักราลและโลกของจางเหิง 张衡(เสียงจีนกลาง) นักการศึกษาคนดังในสมัยแผ่นดินฮั่น เขามองจักรวาลและโลกเป็นเหมือนไข่ และบอกเราว่า ฟ้าดิน (จักรวาลและโลก) ถือกำเนิดเกิดจากอะไรก็ตามที่ดูคล้ายไข่
ไม่เพียงแค่นี้ ชาวจีนยังมีเรื่องเล่าพิสดารอีกว่า นางเจี่ยนตี๋ (簡狄เสียงจีนกลาง) เห็นนกนางแอ่นตกไข่ไว้ จึงเก็บไข่มากิน แล้วเกิดตั้งครรภ์ ให้กำเนิดลูกชายคนหนึ่ง ตั้งชื่อว่า ชี่ (契เสียงจีนกลาง) เด็กชายคนนี้ คือผู้ก่อตั้งอาณาจักรซางในเวลาต่อมา (เมื่อ 1600-1100 ปีก่อนคริสตกาล)
นี่คือเรื่องราวเรื่องแรก ที่ไข่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการก่อเกิดชีวิต
ชาวจีนมีทัศนะว่า สีแดงเป็นสีของการเฉลิมฉลอง การแสดงความยินดี เพราะฉะนั้น สีแดงจึงเป็นสีมงคล ไข่ต้มทาเปลือกสีแดงจึงถือเป็นไข่มงคลด้วย ชาวจีนจะมอบไข่สีแดงนี้ให้กันในงานมงคลสำคัญ เช่น งานมงคลสมรส งานวันเกิด งานวันที่เด็กมีอายุครบเดือน เป็นต้น
ทุกวันนี้ ชาวจีนเขาใช้ไข่พลาสติกสีแดง (เปลือกไข่) มาเป็นของชำร่วยในงานแต่งงาน งานวันเกิด และงานฉลองเด็กอายุครบเดือนกันแทนไข่ต้มทาสีแดงกัน ซึ่งจะใส่อะไรในเปลือกไข่พาสติกสีแดงก็ได้ โดยมากมักเป็นขนมขบเคี้ยว เช่น ท้อฟฟี่ ช็อกโกแลต ถั่วลิสงคั่วสุก เยลลี่ กระทั่งไข่ต้ม
ว่ากันว่า ประเพณีแจกไข่สีแดงในงานแต่งงาน เริ่มมาจากเรื่องราวในสามก๊ก ตอนที่ว่า ....
จิวยี่ขุนพลคนสำคัญของซุนกวนแห่งง่อก๊ก วางแผนหลอกล่อเล่าปี่ให้มาแต่งงานกับน้องสาวซุนกวน เพื่อหวังจับตัวไว้ และบังคับให้คืนเมืองเก็งจิ๋วที่ยืมไป แต่ขงเบ้งอ่านแผนของจิวยี่ออก จึงสั่งให้จูล่งคุ้มกันเล่าปี่ไปยังกังตั๋งพร้อมให้นำไข่ไก่ต้มสุกทาสีแดงจำนวนมากไปด้วย
เมื่อคณะของเล่าปี่เดินทางมาถึงกังตั๋ง ได้ป่าวประกาศเรื่องงานแต่งงานของเล่าปี่กับน้องสาวของซุนกวน พร้อมกับเอาไข่ไก่สีแดงที่เตรียมมาออกแจกจ่ายชาวเมือง ให้ทุกคนได้กินไข่ไก่สีแดง ร่วมฉลองยินดีกับงานมงคลนี้ด้วย ข่าวนี้แพร่กระจายอกไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ซุนกวนต้องตกกระไดพลอยโจน จำยอมยกน้องสาวให้เล่าปี่
นับแต่นั้นมา ดินแดนแถบกังหนำทางภาคใต้ของจีน จึงเริ่มมีประเพณีแจกไข่สีแดงในงานแต่งงานกัน จนกลายเป็นประเพณีของชาวจีนทั่วทั้งประเทศ บางท้องถิ่นจะให้เจ้าสาวนำไข่ต้มสีแดงใส่ถังไปด้วยในวันออกเรือน เป็นการถือเคล็ดว่า เจ้าสาวจะมีลูก (ชาย) ในเร็ววัน หรือชาวบ้านในเมืองฟู่หยัง มณฑลกวางตุ้ง ในอดีต ทางฝ่ายเจ้าสาวจะเตรียมไข่ ๑๒ ฟองให้เจ้าสาวนำติดตัวไป เมื่อเจ้าสาวกราบไหว้บรรพชนฝ่ายชายแล้ว ผู้ประกอบพิธีจะเอาไข่ใส่เข้าไปในกางเกงเจ้าสาว ให้ไข่นั้นกลิ้งตกลงมาตามขากางเกง เป็นสัญลักษณ์ว่าต่อไปเจ้าสาวจะมีลูกเหมือนเช่นแม่ไก่ออกไข่ และเป็นการสืบเนื่องความเชื่อที่ว่า การกินไข่ ช่วยให้หญิงตั้งครรภ์ได้ หรือหญิงใดแต่งงานแล้วยังไม่มีลูก ให้ไปขอไข่สีแดงจากญาติฝ่ายชาย มากินแล้วจะมีลูก ในอดีต ความเชื่อเช่นนี้มีอยู่ทั่วไปในจีน แม้ทุกวันนี้ ชาวจีนจะมีความรู้มากขึ้นและไม่ได้มีความเชื่ออย่างนี้แล้ว แต่ประเพณีการให้ไข่สีแดง ก็ยังคงมีอยู่ในเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นสิริมงคล
นอกจากนี้ ยังมีการมอบไข่ให้กับหญิงใกล้คลอดด้วย ในสมัยหนานซ่ง (คริสต์ศตวรรษที่ 13) มีหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “เมิ่งเหลียงลู่” (梦粱录เสียงจีนกลาง) ได้กล่าวถึงประเพณีของชาวเมืองหลิงอันว่า
“(เมื่อหญิงใกล้คลอดบุตร) ญาติฝ่ายหญิงจะใช้ถาดเงินหรือถาดลายดอกสวยงาม... จัดไข่เป็ดต้มสุกทาสีสันหลากหลาย ๑๒๐ ฟอง พร้อมข้าวปลาอาหาร...ส่งมาให้ทางบ้านเขย เป็นของขวัญรับการคลอดลูก”
ประเพณีการให้ไข่แก่หญิงใกล้คลอดนี้ บางท้องถิ่นก็ให้กันหลังคลอด เมื่อญาติมิตรได้รับข่าวดีว่าบ้านไหนได้ลูก ก็มักเอาไข่ไปแสดงความยินดี ที่สำคัญคือต้องเป็นไข่ต้มสุกทาสีแดง อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน เช่น ถ้าได้ลูกชาย ก็จะให้ไข่เป็นจำนวนคี่ และถ้าเป็นลูกสาว จะให้ไข่เป็นจำนวนคู่ รายละเอียดอย่างนี้มักแตกต่างกันไปตามธรรมเนียมประเพณีของคนแต่ละท้องถิ่น
นี่ดูเหมือนผู้หญิงและเด็กจะมีสิทธิเศษ ได้กินไข่มากกว่าผู้ชาย
ชาวจีนมีคำพูดว่า “ไข่เงิน ไข่ทอง ก็สู้ไข่สาวของแม่ไก่สาวไม่ได้”
ไข่สาว คือไข่ฟองแรกของแม่ไก่สาว ในบางท้องถิ่นของจีน จะมีแต่ผู้หญิงเท่านั้น ที่ได้กินไข่สาว เพราะเชื่อว่า ไข่สาวให้สารอาหารสูงกว่าไข่ทั่วไป (เรื่องนี้ไม่มีงานวิจัยอะไรยืนยัน เป็นเพียงความเชื่อของชาวบ้าน) ถือเป็นของบำรุงดีที่สุดสำหรับผู้หญิง โดยชาวจีนบางท้องถิ่นจะเก็บไข่สาวไว้ให้ลูกสะใภ้คนใหม่และลูกสาวที่จะออกเรือนกิน และมีบ้างที่เก็บไข่สาวไว้เซ่นไหว้บรรพชน หรือให้เด็กเล็กกิน เชื่อว่าบำรุงร่างกายได้ดีมาก
ส่วนผู้ชายเขาไม่ให้กิน เพราะ “ผู้ชายกินไข่สาว จะกลายเป็นคนตะกละ เกียจคร้าน อยู่แต่บ้านเกาะเมียกิน ไม่ออกไปทำนา” ว่ากันให้แรงถึงขนาดนี้เลยเชียว ผิดกับผู้หญิงที่กินไข่สาวแล้ว “จะแข็งแรง มีสุขภาพดี ทำงานเก่ง ยิ่งเลี้ยงไก่มาก ก็ได้ไข่มาก เอาไปแลกเงินได้ ไม่ต้องห่วงไม่มีเงินซื้อเสื้อผ้าอาหาร”
ชาวจีนยังมีประเพณีให้ไข่สีแดงแก่ญาติมิตร ที่ทารกผู้เป็นสมาชิกคนใหม่ของครอบครัว มีอายุครบเดือน เป็นการให้พรและแสดงความยินดี ซึ่งต่อเนื่องมาจากการให้ไข่สีแดงในวันแรกเกิดของทารก
หลังจากนี้แล้ว ไข่จะเป็นของกินประจำวันคล้ายวันเกิดของทุกปี สมัยเด็ก พอถึงวันคล้ายวันเกิดของผม อาม่าจะต้มไข่ไก่สองฟอง ทำเป็นไข่หวานให้กินทุกปี จนอายุ ๑๕ เข้าพิธีชุกฮวยฮึ้งไหว้ขงจื๊อ ถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วนั่นแหละ ถึงไม่ได้กินไข่ต้มหวานในวันเกิดจากอาม่าอีก
ชาวจีนมีคำพูด พูดถึงของกินฉลองวันคล้ายวันเกิดว่า “ผู้ใหญ่กินหมี่ เด็กกินไข่”
นี่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ใหญ่จะกินไข่ในวันคล้ายวันเกิดไม่ได้ แต่กลับกลายเป็นว่า ผู้ใหญ่ได้กินทั้งหมี่ทั้งไข่ ส่วนเด็กคงได้กินแต่ไข่อย่างเดียว พอถึงวันครบรอบวันคล้ายวันเกิด แม่ก็จะทำบะหมี่หวานใส่ไข่ให้อาม่าทาน คือลวกบะหมี่ให้สุก จัดใส่ชาม ต้มน้ำเดือดแล้วใส่น้ำตาล ปรุงรสให้หวาน แล้วเทใส่บะหมี่ พร้อมไข่ไก่ต้มสองฟอง วันไหน อาม่าได้ทานบะหมี่หวานใส่ไช่ต้ม ทุกคนก็จะรู้เลยว่า วันนี้คือวันเกิดของอาม่า ของขวัญดีที่สุดสำหรับมอบให้ผู้ใหญ่วัยเกิน ๖๐ ปีในวันคล้ายวันเกิดคือ ไข่ไก่จำนวน ๑๒ ฟอง เป็นการอวยพรให้เจ้าของวันเกิดมีสุขภาพแข็งแรง และมีชีวิตอย่างมีความสุขไปตลอดทั้งปี
อีกเรื่องหนึ่งยังอยู่ในความทรงจำมาจนถึงทุกวันนี้คือ สมัยเรียนชั้นประถม อากงจะหิ้วปิ่นโตมื้อกลางวันไปให้ที่โรงเรียนทุกวัน ซึ่งก็มีกับข้าวอย่างอื่นสลับกับไข่ต้ม ไม่เจาะจงว่าวันไหนต้องกินไข่ต้ม แต่มื้อกลางวันในวันแรกของเทอมใหม่ ผมจะได้กินไข่ต้มสองฟองประจำ อากงบอกว่า เรียนหนังสือต้อง กินไข่เยอะๆ จะได้เรียนเก่งๆ จำที่ครูสอนได้ขึ้นใจ
จำขึ้นใจหรือท่องขึ้นใจ คนจีนแต้จิ๋วใช้คำว่า “เซก” (熟) คำนี้ยังมีความหมายว่า สุก อากงให้ผมกินไข่ต้ม อากงคงถือเคล็ดกับคำจีนคำนี้ จึงหิ้วไข่ต้มให้ผมกินบ่อยๆ และหวังว่า เวลาเรียน ผมจะได้จำได้ท่องได้จนขึ้นใจเหมือนไข่ที่ต้มสุกนั่นเอง และเพราะโรงเรียนประถมที่ผมเรียนนั้นเป็นโรงเรียนจีน เพื่อนร่วมชั้นหลายคนที่เป็นลูกหลานคนจีน ก็ได้กินไข่ต้มบ่อยๆเหมือนผม
ชาวจีนในจีนก็มีความเชื่อว่ากินไข่แล้วจะเรียนเก่งเหมือนกัน พ่อแม่บางคนเอาไข่มากลิ้งบนกระเป๋านักเรียนของลูก เพื่อเป็นเคล็ดแบบเดียวกับที่อากงถือ บางคนพอลูกใกล้สอบก็ให้ลูกกินไข่ต้มสองฟองกับปาท่องโก๋ตัวยาวๆหนึ่งเส้น ถือเคล็ดเป็นตัวเลข 100 หวังให้ลูกสอบได้คะแนนเต็มร้อย
นอกจากให้เด็กกินไข่เพื่อให้เรียนเก่งแล้ว ผู้ใหญ่เขาก็กินไข่กันเพื่อเข้าสังคมด้วย เช่น ชาวบ้านบางท้องถิ่นในจีน จะกินไข่เหล้ากันในช่วงตรุษจีนตั้งแต่วันชิวอิกจนถึงวันจับโหงว (วันที่ 1-15) ของเดือนอ้าย เมื่อมีแขกมาเยี่ยม จะยกเหล้าใส่ไข่ดิบออกมารับแขก เพื่อแสดงน้ำใจของเจ้าของบ้าน ไม่ทราบเหมือนกันว่า ประเพณีนี้กลายมาเป็นการกินเหล้าใส่ไข่ดิบ เพื่อชูกำลังทางเพศของคนบางคนได้อย่างไร งานเลี้ยงบางแห่ง จะมีการปอกไข่ต้มใส่น้ำแกงตามจำนวนแขกที่ร่วมโต๊ะให้กินกันคนละฟอง หลังชวนดื่มเหล้าไปแล้วสามรอบ เพื่อแสดงถึงมิตรภาพและสันติสุข เรียกว่าไข่สันติสุข
เมื่อมีไข่สันติสุขก็มีไข่ขอขมา คนจีนบางส่วนมีประเพณีการขอขมาด้วยไข่ เมื่อทำให้คนอื่นเดือดร้อนโดยไม่ตั้งใจ เช่น สาดน้ำสกปรกไปถูกคนอื่นโดยไม่ตั้งใจ จะเอาไข่ไก่ไปขอขมาคนที่ถูกสาดน้ำสกปรก หรือเด็กๆทะเลาะกันจนมีแผลแตกเลือดตกยางออก ผู้ปกครองเด็กคนที่ทำให้เด็กอื่นเลือดตกยางออก มักเอาไข่ไก่สองฟองไปขอขมาลาโทษ ที่ใช้ไข่เพื่อขอขมาลาโทษ เพราะเชื่อว่า ไข่ขับพิษและไล่สิ่งชั่วร้ายได้ สาดน้ำสกปรกใส่คนอื่น จึงต้องใช้ไข่ไก่ขอขมา และเพราะไข่บำรุงร่างกายได้ดี เมื่อเด็กทะเลาะกันจนเลือดตกยางออก จึงต้องใช้ไข่ไก่ขอขมา เหตุผลก็มีเท่านี้เอง