xs
xsm
sm
md
lg

ตามอาม่าไป เหลาะหั่ง หาความรู้เรื่องหาบเร่ของชาวจีนในไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หาบหมันโถวในกรุงปักกิ่ง ขอบคุณภาพจากhttps://kknews.cc/history/2684kng.html
โดย พชร ธนภัทรกุล

อาหารเป็นเรื่องของสุขภาพ วัฒนธรรม ศิลปะ และวิถีชีวิต

สัปดาห์นี้ ผมจะพามารู้จักกับศิลปะและวิถีชีวิตของคนจีนส่วนหนึ่งในไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่หาเลี้ยงชีพด้วยการเร่ขายอาหาร ตามผมมาครับ

“เหลาะหั่ง” (落巷เสียงแต้จิ๋ว) คำจีนคำนี้ หมายถึง การเดินไปตามตรอกซอยต่างๆ

“เหลาะหรือเลาะ” (落เสียงแต้จิ๋ว) หมายถึง จาก ...(ที่นี่) ... ไป (ที่นั่น)

“หั่ง” (巷เสียงแต้จิ๋ว) คือ ตรอก ซอย

รวมความก็คือ การเดินจากตรอกซอยนี่ ไปยังตรอกซอยนั่น หรือการเดินลัดเลาะไปตามตรอกซอยต่างๆในย่านนั้นๆ

คนแต้จิ๋วเรียกการหาบของเดินเร่ขายไปตามตรอกซอยต่างๆว่า “เหลาะหั่ง” ซึ่งโดยมากมักมีเส้นทางประจำ แต่ชาวจีนส่วนอื่นจะใช้คำที่ต่างออกไป คือคำว่า โจ้ว-เจ-ช่วน-เซี่ยง (走街串巷 เสียงจีนกลาง) ความหมายใกล้เคียงกัน คือ เดินไปตามถนนตรอกซอย

อาชีพที่ต้องเดินลัดเลาะไปตามตรอกซอยต่างๆเป็นประจำ คือ อาชีพขายของเร่ ซึ่งส่วนมากมักเป็นการขายอาหาร เช่น ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่เกี๊ยว กระเพาะปลาน้ำแดง ขนมเปี๊ยะ ขนมเค้กชิ้นเล็กชิ้นน้อย น้ำต้มต่างๆ เช่น น้ำรากบัว น้ำแห้ว น้ำเก๊กฮวย ส่วนอาม่าผมขายปลาเข่งนึ่งสารพัดชนิด

ที่เร่ขายของอื่นด้วยก็มี เช่น พวกของใช้เบ็ดเตล็ดต่างๆในครัวเรือน แม้แต่พวกเครื่องเงิน เช่น สร้อย แหวน ต่างหู ก็มีคนหาบมาเร่ชายแถวละแวกบ้านย่านท่าดินแดงเป็นประจำ

เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว อาชีพขายของเร่ทั้งในพระนครและธนบุรี (คือกรุงเทพฯในปัจจุบัน) เป็นอาชีพที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยมีคนจีนประกอบอาชีพนี้กันเป็นจำนวนไม่น้อย

การไป “เหลาะหั่ง” เป็นงานที่หนักมาก เพราะต้องหาบของที่หนักอึ้งเดินเลาะเข้าตรอกนี้ออกซอยนั้น และแม้จะเป็นเส้นทางที่เดินประจำ แต่เส้นทางนี้ก็ยาวหลายกิโลเมตรทีเดียว เช่น เส้นทางที่อาม่าเดิน “เหลาะหั่ง” จะเริ่มตั้งแต่ทางเข้าตลาดเก่าเยาวราช เดินเข้าตรอกซอยต่างๆในย่านนั้น ใช้เวลากว่าชั่วโมง จึงเดินออกจากตรอกข้างศาลเจ้าปึงเถ่ากงมาโผล่ที่ถนนทรงวาดได้ เดินเร่ขายเลียบถนนทรงวาดไปยังท่าน้ำราชวงศ์ แล้วลงเรือข้ามฟากไปท่าน้ำท่าดินแดง เพื่อกลับบ้าน

อีกทั้งการไป “เหลาะหั่ง” มักเป็นช่วงหลังตลาดเช้าวายแล้ว ซึ่งตกช่วงสายที่แดดกล้าอากาศร้อนพอดี ทั้งร้อนทั้งเหนื่อย จนเหงื่อชุ่มไปทั้งตัว เป็นงานที่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำจริงๆ แต่ถ้าวันไหนฝนตก ก็จะแย่มาก เพราะลูกค้าจะหายเข้าบ้านกันหมด นอกจากขายของไม่ได้แล้ว ยังต้องระวังอย่าให้ลื่นหกล้ม เพราะถ้าเดินลื่นล้ม สินค้าก็จะเสียหาย และวันนั้นต้องขาดทุนแน่นอน

อาม่าเรียกอาชีพขายหาบปลาเข่งนึ้งเร่ขายของตัวเองว่า ตา-โป๊ย-เสาะ (担八绳เสียงแต้จิ๋ว) ความหมายคือ หาบเชือกแปดเส้น

อันที่จริง คนจีนมักดัดแปลงหาบของตัวเอง ให้เหมาะกับการใช้งาน หาบของคนจีนจึงมีหลายแบบมาก และหาบแต่ละแบบ ก็ออกแบบมาสำหรับขายของต่างกัน เช่น หาบตู้ไม้ขายก๋วยเตี๋ยว ขายตือฮวน หาบลังไม้ ขายหมูสะเต๊ะ หาบเข่งไผ่หลัวไผ่ ขายจุ๋ยก้วย หาบหม้อสแตนเลส ขายกระเพาะปลา เป็นต้น

ส่วนหาบของอาม่า ข้างหนึ่งเป็นหลัวไม้ไผ่ใบใหญ่ อีกข้างเป็นสาแหรก ข้างที่เป็นหลัวไม้ไผ่อาม่าใช้เชือกสี่เส้นผูกติดตัวหลัว โดยแยกเป็นสี่มุม ให้ตัวหลัวได้สมดุล เวลาหาบขึ้นมา หลัวจะได้ไม่โคลงเคลง ส่วนอีกข้างเป็นสาแหรกหวาย มีหวายสี่เส้นเป็นขาอยู่แล้ว

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นหาบแบบไหน หาบแต่ละข้างต้องมัดผูกด้วยเชือกสี่เส้น เพื่อช่วยให้ตัวหาบสมดุล ไม่โคลงเคลง ดังนั้น หาบคู่หนึ่งสองข้าง จึงมีเชือกแปดเส้น เชือกแปดเส้นนี้แหละ คือเส้นชีวิตของพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ อาม่าถึงเรียกอาชีพของตัวเองว่า ตา-โป๊ย-เสาะ หรืออาชีพหาบของเร่ขายด้วยเชือกแปดเส้น

นอกจากตัวหาบแล้ว เอกลักษณ์หนึ่งของอาชีพหาบเร่ คือ การร้องขาย ชาวจีนจึงเรียกอาชีพนี้ในอีกชื่อว่า เจี้ยว-ม่าย (叫卖เสียงจีนกลาง) คนแต้จิ๋วเรียกการร้องขายว่า ออ (呵 เสียงแต้จิ๋ว) ออคือการส่งเสียงร้อง ขายอะไร ก็ส่งเสียงร้องหรือ “ออ” ชื่อสินค้าตัวนั้น เช่น อาม่าขายปลาเข่งนึ่ง ก็เรียกการส่งเสียงร้องขายปลาเข่งนึ่งว่า “ออหื่อปึ่ง” (呵鱼饭 เสียงแต้จิ๋ว หื่อปึ่งคือปลาเข่งนึ่ง)

คำร้องขายที่อาม่าร้องประจำจนเหมือนท่องจำ และกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวไป ก็คือ
“เจี๋ยะ-ไล้-หื่อ-แฮ้” (食来鱼虾 เสียงแต้จิ๋ว) แปลความคร่าวๆได้ว่า “จะกินก็มา มีปลามีกุ้ง...” อะไรทำนองนั้น

อาม่าจะส่งเสียงร้องขายดังมากๆ ได้ยินกันตั้งแต่หัวซอยยันท้ายซอย เพราะการร้องขายที่ใช้พลังเสียงธรรมชาติจากปาก โดยไม่มีเครื่องขยายเสียงช่วยอย่างนี้ จะต้องปล่อยพลังเสียงออกมาให้เต็มที่ มีพลังเสียงเท่าใด ก็ต้องปล่อยออกมาหมด ซึ่งอาม่ามีพลังเสียงดีมาก และรู้สึกภูมิใจในพลังเสียงอันดังกังวาลของตัวเองอย่างยิ่ง

การร้องขายยังอาจต้องมีทำนองจังหวะ เสมือนหนึ่งเป็นศิลปะการร้องขายที่จะกลายเป็นเอกลักษณ์ของคนขายเอง ทั้งการเน้นคำ การเว้นจังหวะ 2 -3 -4 คำ หรือการร้องลากเสียงยาวบางคำที่ต้องการเน้นจนสุดลมหายใจ แล้วค่อยผ่อนลมหายใจ

อาแปะขายเฉาก๊วยคนหนึ่ง มักร้องเน้นเสียงสั้นเสียงยาวกับบางคำ อย่างร้องว่า

“เฉา...ก้วย” โดยเปล่งเสียงคำแรก “เฉา” ออกมาสั้นมากๆ แล้วลากเสียงยาวมากที่คำ “ก้วย” ลองจินตนาการความเร็วของเสียงร้องนี้ เราจะได้รูปแบบเสียงร้องว่า “ก้วย...ยยยยยย” ก่อนปิดท้ายแบบสั้นๆห้วนๆว่า “ก้วย”

นอกจากพลังเสียงกับทำนองจังหวะแล้ว ภาษาที่ใช้ร้องขายของเร่ หรือ “เจี้ยว-ม่าย-วี่-เหยียน” (叫卖语言เสียงจีนกลาง) ที่ฝรั่งใช้คำว่า hawking language นั้นก็สำคัญ โดยมีหลักและศิลปะการใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการขายในตัวมันเอง นั่นคือ ต้องใช้คำที่สั้นกระชับ จำง่าย เข้าใจง่าย บอกชื่อสินค้าได้ครบถ้วน

การขายของเร่ของคนจีน ยังมักจะมีอุปกรณ์เครื่องมือประกอบการขาย ซึ่งอาจเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวสินค้า หรือเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของคนขายเองก็ได้ ส่วนมากมักเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงดัง เช่น เสียงกระดิ่งเป็นเสียงของการเร่ขายไอติม เสียงกลองสองหน้า เสียงกลองป๋องแป๋งเป็นเสียงการเร่รับย้อมสีผ้า เสียงเคาะซีกไม้ไผ่ เป็นเสียงของการเร่ขายก๋วยเตี๋ยวบะหมี่

อาแปะคนขายเฉาก๊วยที่พูดถึงข้างต้น ก็ใช้ไม้ตีเคาะก้นชามตราไก่ ที่คนแต้จิ๋วเรียกว่า “โกยอังอั้ว” (鸡安碗)เสียงแต้จิ๋ว) เป็นสัญลักษณ์การขายเฉาก๊วยของเขา

ว่าไปแล้ว คนจีนขายของเร่เหล่านี้ คือศิลปินเดี่ยวตัวจริงเสียงจริงที่มาแสดงศิลปะพื้นบ้านให้ชมกันถึงหน้าบ้านเป็นประจำ เพราะนี่คือศิลปะการแสดงที่เกิดจากวิถีการยังชีพ “เพื่อชีวิต” อย่างแท้จริง

แม้เครื่องมืออันเป็นเสมือน “อุปกนณ์ส่งเสริมการชาย” เหล่านี้ บางอย่างยังมีใช้กันในทุกวันนี้ เช่น กระดิ่งขายไอติมไอศกรีม ซีกไผ่เคาะเรียกลูกค้าของรถขายก๋วยเตี๋ยวบะหมี่เกี๊ยว แต่บางอย่างก็หายไป เช่น กลองป๋องแป๋ง

แต่ที่น่าเสียดายที่สุดสำหรับคนจีนคือ การร้องขายของเร่ด้วยภาษาจีน (แต้จิ๋ว) ที่เมื่อหมดยุคการทำมาหากินของคนรุ่นอากงอาม่า (วัยเกินร้อย) เหล่านี้แล้ว ศิลปะการร้องขายที่ดูราวกับการแสดงของเหล่าศิลปินเดี่ยว ก็พลอยหายสูญไปอย่างถาวรจริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น