“จินตนาการไม่ออกเลยว่า หากไม่มีนิยายกำลังภายในของกิมย้ง โลกวรรณกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 คงจะจืดชืดไปถนัด กิมย้งได้พิสูจน์มุมมองทฤษฎีอย่างหนึ่งของวรรณกรรมบริสุทธิ์ .....ว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เขียนอะไร แต่อยู่ที่เขียนอย่างไร” ปัญญาชนผู้หนึ่งกล่าว
หลุยส์ จา เหลียงยง (Louis Cha Leung-yung/查良庸) นักเขียนนวนิยายจีนที่ทรงอิทธิพลที่สุด เป็นที่รู้จักดีในชื่อนามปากกา “กิมย้ง” (金庸) ลายุทธภพแล้วเมื่อวันอังคารที่ 30 ต.ค. 2018 ในวัย 94 ปี
“กิมย้ง” ได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 3 จอมยุทธกระบี่มือหนึ่งแห่งโลกนิยายกำลังภายในจีน โดยอีกสองท่านคือ โก้วเล้ง/古龙(1938-1985) และ เนี่ย อู้เซ็ง/梁羽生 (1924-2009)
นิยายกำลังภายในของกิมย้งมียอดขายถึง 300 ล้านเล่มจากทั่วโลก บางแหล่งว่าอาจถึง 1,000 ล้านเล่ม หากนับรวมฉบับละเมิดลิขสิทธิ์ (*ข้อมูลปี พ.ศ. 2006)
นิยายกิมย้ง ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์โทรทัศน์และซีรีส์วิทยุ ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน
กิมย้ง (1924-2018) เริ่มเขียนนิยายกำลังภายในเมื่ออายุ 31 ปี ผลงานนิยายทั้งหมด 15 เรื่อง โดยเป็นนิยายกำลังภายใน 14 เรื่อง มีเพียง “เย่ว์หนี่ว์เจี้ยน” (越女剑)เรื่องเดียวเป็นเรื่องสั้น
นิยายกำลังภายในสะท้านพิภพของกิมย้ง เรียงตามลำดับการเขียน และการเผยแพร่
1. ซูเจี้ยนเอินโฉวลู่-书剑恩仇录 ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เดอะ นิวส์ อีฟนิ่ง โพสต์ปี 1955 ฉบับภาษาไทย แปลโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง จอมใจจอมยุทธ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับภาพยนตร์โทรทัศน์
2. ปี้เสวี่ยซัน 碧血剑 ตีพิมพ์ครั้งแรกในฮ่องกง คอมเมอร์เชียล เดลี่ ปี 1956 ฉบับภาษาไทย แปลโดย จำลอง พิศนาคะ และฉบับของ น.นพรัตน์ รวมทั้งบทภาพยนตร์ ใช้ชื่อเพ็กฮวยเกี่ยม ซึ่งเป็นสำเนียงแต้จิ๋วของ ปี้เสี่ยว์ซัน
3. เส้อเตียวอิงสยงจ้วน 射雕英雄传 ตีพิมพ์ครั้งแรกในฮ่องกง คอมเมอร์เชียล เดลี่ ปี 1957 ฉบับภาษาไทยแปลโดย จำลอง พิศนาคะ ใช้ชื่อเรื่อง มังกรหยก ภาค 1 ส่วนฉบับภาษาไทยแปลโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง ก๊วยเจ๋ง ยอดวีรบุรุษ
4. เสวี่ยซันเฟยหู 雪山飞狐 เริ่มตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หมิงเป้าในปี 1959 ฉบับภาษาไทยของ น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง จิ้งจอกภูเขาหิมะ ส่วนภาพยนตร์โทรทัศน์ไทยก็ใช้ชื่อเดียวกัน
5. เสินเตียวเสียหลี่ว์ 神雕侠侣 เริ่มตีพิมพ์ ในปี 1959 ฉบับภาษาไทยโดย จำลอง พิศนาคะใช้ชื่อเรื่อง มังกรหยก ภาค 2 ส่วนฉบับภาษาไทยของ น.นพรัตน์ใช้ชื่อเรื่อง เอี้ยก้วย เจ้าอินทรี และฉบับแปลของ ว.ณ.เมืองลุงใช้ชื่อเรื่องอินทรีเจ้ายุทธจักร
6. เฟยหูไหว่จ้วน飞狐外传 เริ่มตีพิมพ์ในปี 1960 ฉบับภาษาไทยของ น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง จิ้งจอกอหังการ
7. ไป๋หม่าเซี่ยวซีเฟิง白马啸西风 ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์หมิงเป้าปี 1961 ฉบับภาษาไทยของ น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง เทพธิดาม้าขาว
8. ยวนยังเตา鸳鸯刀ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์หมิงเป้าปี 1961 ฉบับภาษาไทยโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง “อวงเอียตอ” สำหรับ “อวงเอียตอ”ฉบับภาษาไทยนี้ รวมเล่มเดียวกับ “กระบี่นางพญา”
9. อี่เทียนถู่หลงจี้ 倚天屠龙记ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์หมิงเป้าปี 1961 ฉบับภาษาไทยโดย จำลอง พิศนาคะ ใช้ชื่อเรื่อง มังกรหยกภาคสามและสี่ สำหรับฉบับแปลโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง ดาบมังกรหยก
10. เหลียนเฉิงเจี๋ยว์ 连城诀 ตีพิมพ์ครั้งแรกในเซาท์ อีสต์ เอเชียวีคลีปี 1963 ฉบับแปลภาษาไทยของน.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง หลั่งเลือดมังกร ต่อมาผู้แปลคนเดียวกันเปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่ เป็น กระบี่ใจพิสุทธิ์ ส่วนภาพยนตร์โทรทัศน์ใช้ชื่อ มังกรสะท้านบู๊ลิ้ม
11. เทียนหลงปาปู้ 天龙八部 ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1963 ฉบับภาษาไทยโดย น.นพรัตน์ใช้ชื่อเรื่อง แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ส่วนฉบับแปลโดย จำลอง พิศนาคะ ใช้ชื่อเรื่อง มังกรหยกภาคห้า หรือ มังกรหยกภาคสมบูรณ์
12. เสียเค่อสิง 侠客行 ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1965 ฉบับภาษาไทยโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง เทพบุตรทลายฟ้า
13. เซี่ยวเอ้าเจียงหู 笑傲江湖 ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์หมิงเป้าปี 1967 ฉบับภาษาไทยโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร
14. ลู่ติ่งจี้ 鹿鼎记 ตีพิมพ์ปี 1969-1972 ฉบับภาษาไทยโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง อุ้ยเซี่ยวป้อ
15. เย่ว์หนี่ว์เจี้ยน 越女剑 ตีพิมพ์ 1970 ฉบับภาษาไทยโดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง กระบี่นางพญา สำหรับภาพยนตร์โทรทัศน์ใช้ชื่อเรื่องเดียวกัน สำหรับ “กระบี่นางพญา”ฉบับภาษาไทย รวมเล่มเดียวกันกับ อวงเอียตอ และ เทพธิดาม้าขาว