โดย ดร.ร่มฉัตร จันทรานุกุล
วันนี้ผู้เขียนอยากจะขอหยิบยกประเด็นการแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลจีน ในยุคนี้ที่ประเทศจีนกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาและปฎิรูปโครงสร้างการเติบโตใหม่ วันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมาเป็นวันขจัดความยากจนนานาชาติ International Day for the Eradication of Poverty เป็นวันที่องค์กรสหประชาชาติรณรงค์ให้คนทั่วโลกตระหนักถึงการเลือกปฎิบัติ ความไม่เท่าเทียมกันของคนรวยและคนจนในสังคม เพื่อต่อต้านความยากจนทั่วโลก
จีนเองเลือกวันที่ 17 ต.ค.เป็นวันขจัดความยากจนแห่งชาติเช่นกัน จีนให้ความสำคัญกับการขจัดและหลุดพ้นความยากจนของประชาชนในประเทศเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในเขตชนบทพื้นที่ที่ห่างไกลเพราะตามแผนการพัฒนาประเทศของจีนที่วางเป้าหมายในปี 2020 หรืออีก 2 ปีข้างหน้าที่จะบรรลุประเทศจะต้องปราศจากคนยากจนอย่างเบ็ดเสร็จ หมายถึงคน 1,400 ล้านคนทั้งประเทศต้องมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่สูงกว่าเส้นยากจนของนานาชาติ
ในวันขจัดความยากจนแห่งชาตินี้ผู้เขียนได้สืบค้นตัวเลขและสถิติของทางการจีนที่น่าสนใจในการลดปริมาณคนยากจนในประเทศอย่างรวดเร็ว ถึงขนาดที่นานาชาติเคลมว่ามาตรการการจำกัดความยากจนของจีนนั้นน่าทึ่งและมีผลจริง ทำให้ในอนาคตจีนจะเป็นประเทศตัวอย่างด้านการขจัดความยากจน จากสถิติของภาครัฐจีนในปลายปี 1978 ประชากรที่ยากจนมีจำนวน 770 ล้านคนทั่วประเทศ จนถึงปลายปี 2017 ประชากรที่ยากจนลดลงเหลือ 30 ล้านคน จากการเปิดประเทศมาสี่สิบปีประชากรยากจนของจีนลดลงไป 740 กว่าล้านคนนับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ดังนั้นจีนจึงมีบทบาทช่วยโลก ลดจำนวนประชากรยากจนลดลงถึง 70%
มาตรฐานความยากจนที่รัฐบาลจีนขีดเส้นไว้ดังนี้คือตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา รายได้ของเกษตรกรต่อปี 2,300 หยวน หรือถ้าคิดเป็นรายวัน 365 วัน คือวันละ 6.3 หยวน ในขณะนั้นมาตรฐานของธนาคารโลกได้ระบุรายได้ของคนยากจนอยู่ที่วันละ 1.25 ดอลล่าร์ และในปี 2015 รายได้เกษตรกรจีนต่อปี 2,800 หยวน หรือถ้าคิดเป็นรายวัน 365 วันคือวันละ 7.67 หยวน ในขณะที่มาตรฐานรายได้ของคนยากจนโดยธนาคารโลกก็ถูกปรับขึ้นเป็น 1.9 ดอลล่าร์
ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมาจำนวนประชากรยากจนของจีนลดลงในแต่ละปีประมาณ 10 ล้านคนโดยเฉลี่ย จีนได้จัดอันดับความยากจนของแต่ละพื้นที่ ได้แก่ทั้งประเทศยังมีอำเภอที่ยากจนขั้นแร้นแค้นหรือยากจนสุดขีด (深度贫困县)334 อำเภอ โดยกระจายอยู่ใน 22 มณฑลทางภาคตะวันตกและภาคกลาง ในมณฑลเหลียวหนิงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมณฑลซานตงทางภาคตะวันออก รวมทั้งสิ้น 24 มณฑล โดยรวมแล้วจีนมีหมู่บ้านที่ยากจนแร้นแค้น(深度贫困村) 30,000 หมู่บ้าน
จีนจัดตั้งสภาแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลและเยียวยาด้านการขจัดความยากจน การทำงานในด้านการขจัดความยากจนของรัฐบาลจีนเป็นไปอย่างเข้มข้นในหลายปีมานี้ ผู้นำจีนเชื่อว่าประเทศต้องปราศจากคนยากจนถึงจะสามารถพัฒนาด้านต่างๆอย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นการขจัดความยากจนของรัฐบาลจีนถือว่าเป็นงานหลักและงานหนัก
ในสองสามปีที่ผ่านมานี้สื่อต่างๆของจีนรายงานข่าวเกี่ยวกับการขจัดความยากจนของประชาชนค่อนข้างถี่ จนคำภาษจีน “ฝูผินทัวผิน” (扶贫脱贫)หรือแปลเป็นไทยว่า ช่วยเหลือประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน กลายเป็นคำฮิตติดปากไป หน่วยงานรัฐรวมไปถึงหน่วยงานเอกชนล้วนตระหนักถึงการให้ความช่วยเหลือแก่ประชากรที่ยากจนเพื่อให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากลำบาก
รัฐบาลจีนได้กำหนดระบบการจัดการขจัดความยากจน แบ่งเป็น 6 ระบบย่อยคือ มาตรการ-ตั้งทีมงาน-ประเมิน-รับผิดชอบ-ปฎิบัติ-ติดตามและตรวจสอบ
จากการประเมินของทางการจีน ประชากรในชนบทที่ยากจนเพราะร่างกายไม่แข็งแรงมีโรครุมเร้ามีจำนวนมากกว่า 42% ในจำนวนนี้เป็นประชากรที่เป็นผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมีประมาณ 17% แนวทางการแก้ปัญหายากจนของจีนอยู่ในกรอบ “สองไม่กังวล สามประกัน”สองไม่กังวลคือ ไม่กังวลว่าไม่มีจะกินและไม่กังวลว่าจะไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่ สามประกันคือ ประกันที่อยู่อาศัย ประกันการรักษาพยาบาลและประกันการศึกษา ในส่วนของแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลแบ่งออกได้เป็น 8 แนวทางใหญ่ๆดังนี้คือ
1. นำอุตสาหกรรมเข้ามาช่วย การดึงอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยขจัดความยากจนทำให้ประชาชนสามารถที่จะหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืนและถาวร เช่นในชนบทมีสินค้าเกษตรหรือภูมิศาสตร์อะไรที่โดดเด่น ก็จะสามารถนำอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเข้ามาพัฒนา ไม่ว่าจะในด้านการท่องเที่ยวหรือการเพิ่มมูลค่าสินค้า หาช่องทางระบายสินค้าเพิ่มเติมในอีคอมเมิร์ซ ทั้งหมดนี้รัฐบาลจีนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการชักนำและให้การช่วยเหลือ
2. กระตุ้นการจ้างงาน กระตุ้นการจ้างงานและเพิ่มตำแหน่งงาน ทั้งนี้ก็เกี่ยวเนื่องกับข้อแรก คือการเอาอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยพยุงการเติบโตของชนบท
3. โยกย้ายประชากร การโยกย้ายประชากรออกจากพื้นที่ทุรกันดารที่ยากแก่การพัฒนา ย้ายประชากรและให้ที่อยู่ใหม่พร้อมกับเงินชดเชย วิธีนี้จะช่วยประชากรที่ยากจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด
4. ช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิต คุณภาพชีวิตที่ดีเกิดจากการพัฒนารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณูปโภค ถนนหนทาง น้ำ ไฟ มีโรงเรียน โรงพยาบาล ชุมชนแข็งแรง คุณภาพชีวิตก็ดีตามมา รัฐบาลจีนพยายามอย่างมากที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ประชากรที่ยากจน การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนพัฒนาสิ่งสำคัญพื้นฐานของชุมชนเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนทำมาตลอด
5. ช่วยเหลือด้านการศึกษา ประชากรที่ยากจนในชนบทห่างไกล ขาดพื้นฐานที่ดีในด้านการศึกษา อาจารย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องน้อยมากที่อยากจะไปอยู่หรือสอนหนังสือในเขตทุรกันดาร เพราะความไม่สะดวกและเงินรายได้ที่น้อย ดังนั้นเด็กๆในที่ทุรกันดารก็ขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาที่ดี
ทุกคนทราบดีว่า การศึกษาเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาบุคคลากรของประเทศชาติ ความเหลื่อมล้ำของการศึกษานำมาสู่ความเหลื่อมล้ำในสังคม จีนให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุคลลากรในประเทศเป็นอย่างมาก ปัจจุบันจีนให้เงินอัดฉีดด้านการศึกษาแก่ประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบทมากมายและก็เริ่มมีอาสาสมัครจำนวนมากจากในเมืองที่จะไปอยู่ในชนบทแบบผลัดเปลี่ยนกันเพื่อสอนหนังสือ
6. ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้แก่ประชากรยากจน โดยเฉพาะบ้านที่ผุพังและอาจเป็นอันตรายแก่ผู้อยู่อาศัย
7. ช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมที่ดีช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมที่ว่านี้ครอบคลุมหลายด้านและการพัฒนาด้านนี้ต้องใช้ระยะเวลา
8. เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในระบบสาธารณสุขหมายถึงนอกเหนือจากเงินในระบบการรักษาพยาบาลแล้ว ส่วนที่ประชาชนต้องจ่ายเองก็จะต้องมีส่วนหนึ่ง สำหรับประชาชนยากจนรัฐบาลจะเข้ามาดูแลในส่วนนี้เอง คือให้เงินชดเชย
มาตรการการช่วยเหลือผู้ยากจนของรัฐบาลจีนไม่ใช่การหว่านแห แต่คือการช่วยเหลืออย่างตรงจุดและตรงกลุ่มหรือที่ภาษาจีนกล่าวว่า “จิงจุ่น”(精准) หน่วยงานที่ดูแลมีการเข้าไปสอดส่องและตามงานอย่างใกล้ชิด สิ่งสำคัญคือ การช่วยเหลือคนจนและไม่ให้คนจนกลับไปจนอีกรอบ การหลุดพ้นอย่างยั่งยืน ตรงนี้ถือเป็นงานยากของรัฐบาล การป้องกันคอรัปชั่นที่อาจเกิดในโครงการต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเพ่งเล็ง เป้าหมายที่ตั้งไว้ในอีก 2 ปีประชากรจีนต้องหลุดพ้นจากความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จซึ่งเวลาก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ
ผู้เขียนเห็นว่าถึงแม้จะเลยผ่านปี 2020 ไปจีนก็ต้องยังคงทำงานด้านการช่วยเหลือผู้ยากจนอย่างหนักหน่วง อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้นว่า ประเทศต้องปราศจากคนยากจนหรือต้องลดปริมาณคนจนได้ให้น้อยที่สุด ถึงจะทำให้ประเทศพัฒนาได้อย่างสงบสุขและยั่งยืน ทั้งนี้การป้องกันไม่ให้คนจนกลับไปจนอีกก็ถือว่าเป็นงานยากเพราะการบริหารคนหรือปรับเปลี่ยนทัศนคติหรือความคิดของคนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย กลับมามองประเทศไทยของเรา ผู้อ่านคิดว่าประเทศไทยที่ดำเนินมาตรการดูแลคนยากจนมาเป็นเวลานานให้หลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน มีผลเป็นอย่างไรบ้างในปัจจุบัน?