เอพี—เสียงแตกดังจากหมอกเหนือธารน้ำแข็งไป๋สุ่ย หมายเลข 1 (Baishui No. 1 Glacier) เศษหินร่วงลงมาจากธารน้ำแข็ง เฉียดใบหน้าของเจ้าหน้าที่ เฉิน เหยียนจวิน ที่กำลังง่วนอยู่กับอุปกรณ์ GPS
เศษชิ้นส่วนร่วงกราวลงมาจากก้อนน้ำแข็ง ขณะที่นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ธารน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ธารน้ำแข็งไป๋สุ่ย หมายเลข 1 อยู่บนอี้ว์หลงเสวี่ยซัน หรือเขาหิมะมังกรหยก (玉龙雪山)ในมณฑลอวิ๋นหนัน หรือยูนนาน เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวนับล้านมาชมทิวทัศน์ที่งดงามของหมอกไป๋สุ่ย ซึ่งตั้งอยู่บนชายขอบด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขตธารน้ำแข็งขั้วโลกที่สาม (The Third Pole) ซึ่งเป็นเขตน้ำแข็งใหญ่อันดับสามของโลก รองจากแอนตาร์กติกา และกรีนแลนด์
ธารน้ำแข็งขั้วโลกที่สามนี้มีความสำคัญต่อผู้คนนับพันล้านคนจากประเทศเวียดนามไปถึงอัฟกานิสถาน แม่น้ำสายใหญ่ยาวที่สุด 10 แห่งของเอเชีย ได้แก่ แยงซีเกียง แม่น้ำเหลือง แม่โขง และแม่น้ำคงคา ล้วนได้รับการหล่อเลี้ยงจากการละลายของธารน้ำแข็งประจำฤดูกาล
“ที่นี่เป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เมื่อธารน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วเท่าไหร่ ก็จะมีน้ำจืดมหาศาลไหลลงสู่มหาสมุทร และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ ” นาย Ashley Johnson ผู้จัดการโครงการพลังงานประจำสำนักคลังสมองอเมริกัน National Bureau of Asian Research
ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้โลกร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้ธารน้ำแข็งทั่วโลกละลาย 28-44 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าอุณหภูมิจะร้อนขึ้นอีกเรื่อยๆ จากรายงานฉบับใหม่ของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC)
การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ส่งผลต่อธารน้ำแข็ง ไป๋สุ่ยอย่างน่าวิตก มวลธารน้ำแข็งได้หายไป 60 เปอร์เซนต์ และหดลง 250 เมตร นับจากปี 1982 ทั้งนี้จากรายงานปี 2018 ที่เผยแพร่ในวารสารการวิจัยธรณีฟิสิกส์ (Journal of Geophysical Research)
ในปี 2015 นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการสำรวจธารน้ำแข็งในประเทศจีน และพบว่า 82 เปอร์เซนต์ ของธารน้ำแข็งที่สำรวจหดตัวลง และการละลายของธารน้ำแข็งนี้จะกระทบกับแหล่งน้ำ จีนจะเผชิญปัญหาจากผลกระทบนี้รุนแรงมากขึ้น
“จีนมักมีปัญหาแหล่งน้ำจืด เนื่องจากจำนวนประชากรมหาศาลคิดเป็นสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลก แต่มีแหล่งน้ำจืดแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมีผลประทบต่อปัญหานี้มาก” Jonna Nyman ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่งคงพลังงานแห่ง University of Sheffield กล่าว
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้สำรวจภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อเขาหิมะมังกรหยกในยูนนาน โดยทีมนักวิจัยได้พบว่าในแต่ละปีธารน้ำแข็งไป๋สุ่ยหดตัว ประมาณ 27 เมตรในช่วงสิบปีที่ผ่านมา หวัง สือจิน นักธารน้ำแข็งวิทยา และผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมและและธารน้ำแข็งประจำภูเขาหิมะมังกรหยก กล่าว
“เรามาที่นี่ในปี 2008 บริเวณนี้ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง ขณะนี้สิ่งที่เราเห็นคือธารน้ำแข็งได้หดไปประมาณ 20-30 เมตร มันหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจนทีเดียว”
ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ได้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาชมความงามของเขาหิมะมังกรหยก โดยอนุญาตนักท่องเที่ยว 10,000 คนต่อวัน และห้ามปีนเขาน้ำแข็ง นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังมีการแผนทำหิมะเทียม และทำธารน้ำเพิ่มความชื้น เพื่อชะลอการละลายของธารน้ำแข็ง