xs
xsm
sm
md
lg

จากยุคคลำหินข้ามธาร วันนี้จีนสร้างสะพานข้ามมหาสมุทร อุโมงค์ลอดทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สะพานเชื่อมระหว่างเมืองจูไห่, เกาะมาเก๊า และโยงมายังฮ่องกง มีความยาวทั้งหมด 55 กิโลเมตร ทำลายสถิติสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก 41.58 กิโลเมตร ของสะพานชิงเต่าไห่วาน ที่ทอดผ่านอ่าวเจียวโจวทางชายฝั่งตอนใต้ของมณฑลซานตง (ภาพซินหวา)
MGR Online - จากยุคคลำหินข้ามแม่น้ำของเติ้งเสี่ยวผิง มาวันนี้ สีจิ้นผิงได้พาจีนสู่ยุคสะพานข้ามมหาสมุทรที่มีความยาวที่สุดในโลก และยังมีอุโมงค์ลอดใต้ทะเล เพื่อให้เรือใหญ่สามารถล่องข้ามรถยนต์ได้

สะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ทำสถิติเป็นสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก ความยาวทั้งสิ้น 55 กิโลเมตร เชื่อมโยงเมืองจูไห่ในมณฑลกว่างตง กับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และมาเก๊า การเปิดสะพานฯนี้ล่าช้ากว่ากำหนดถึง 2 ปี และงบประมาณการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์นี้บานปลายถึงหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ

จีนเป็นประเทศที่มีสะพานระดับโลกมากมาย แต่ไม่มีสะพานไหนเหมือนสะพานนี้ 

โครงการนี้ ได้แบ่งสร้างขึ้นในหลายส่วน มีความยาวทั้งหมด 55 กิโลเมตร โดยมีทั้งส่วนที่เป็นสะพานข้ามทะเล 35 กิโลเมตร เชื่อมไปยังเกาะเทียม ทอดลงสู่อุโมงค์ใต้ทะเลลึก 49 เมตรจากระดับน้ำทะเล ระยะทางยาว 6.7 กิโลเมตร จากนั้นขึ้นไปที่เกาะเทียมอีกเกาะ ก่อนแล่นไปบนสะพานข้ามทะเลสู่ฝั่งฮ่องกง ก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีวิศวกรรมชั้นสูงที่สุดของจีน ซึ่งแตกต่างจากสะพานทั้งหมดที่มีการสร้างในประเทศ ใช้เหล็กมากกว่า 420,00 ตัน หรือ ปริมาณเท่ากับสร้างหอไอเฟล ในประเทศฝรั่งเศส ได้ถึง 60 หอไอเฟล โดยใช้เวลาในการสร้างเพียง 9 ปี

สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า สร้างพาดบนเส้นทางเดินเรือ ของเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ดังนั้นโจทย์ทางวิศวกรรมจึงมีทางเลือกสองทาง คือ ยกสะพานในช่วงที่เป็นเส้นทางเดินเรือให้สูงขึ้นไปอีกซึ่งเป็นทางถนัดของวิศวกรรมก่อสร้างสะพานจีนอยู่แล้ว แต่ทำไม่ได้ เพราะสะพานช่วงนั้นเข้าใกล้เกาะฮ่่องกง และยังใกล้กับเขตสนามบินฮ่่องกงด้วย ซึ่งท่าอากาศยานฮ่่องกงมีกฎความปลอดภัย ห้ามมีสิ่งก่อสร้างสูงเกินเพดานที่กำหนด จึงต้องแก้โจทย์นี้ ด้วยการขุดอุโมงค์มุดลงทะเล ให้เรือยักษ์ล่องข้ามรถยนต์

เทคโนโลยีและความมุ่งมั่นในการสร้างสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า นี้แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นไม่ยอมประนีประนอมกับความยิ่งใหญ่และมาตรฐานระดับโลกของสิ่งก่อสร้างจีน ซึ่งคงจะได้พบเห็นการยกระดับและทำลายสถิติตนเองขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยล่าสุด สะพานนี้ทำลายสถิติสะพานชิงเต่าไห่วาน สะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก 41.58 กิโลเมตร ทอดผ่านอ่าวเจียวโจวทางชายฝั่งตอนใต้ของมณฑลซานตง ไปเรียบร้อยแล้ว

การเปิดสะพานนี้ จึงนับเป็นสัญญาณความสำเร็จในความร่วมมือระหว่างแผ่นดินใหญ่ เขตบริหารพิเศษได้แก่ ฮ่องกง และมาเก๊า อีกทั้งการพิชิตความท้าทายด้านความสามารถทางวิศวกรรมที่ไร้เทียมทาน ซึ่งเบื้องต้นยังมีข้อมูลที่น่ารู้ น่าสนใจ เกี่ยวกับสะพานแห่งนี้อีกมากมาย

การเดินทางบนสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ย่นระยะเวลาถึงที่หมายจาก 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 30 นาที แต่แม้ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงแต่ผู้ขับขี่รถยนต์บนสะพานแห่งนี้ ถูกกำหนดว่าจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพความดันโลหิตและความพร้อมอื่น ๆ จากหน่วยงานประจำสะพาน นอกจากนี้ตลอดเส้นทางยังมีกล้องอัจฉริยะที่สามารถตรวจจับการหาวสัปหงกของผู้ขับขี่ได้ ซึ่งถ้าเมื่อใดพบว่าผู้ขับขี่มีอาการหาวมากกว่า 3 ครั้งใน 20 วินาทีกล้องอัจฉริยะจะส่งสัญญาณเตือนผู้ขับขี่บนสะพานทันที 

แม้ว่าสะพานนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสัมพันธ์เชื่อมความมั่งคั่งแผ่นดินใหญ่ - ฮ่องกง - มาเก๊าให้ใกล้ชิด แต่ก็ยังมีมาตรการตรวจคนเข้าเมือง และการขับขี่รถยนต์ส่วนตัวจากฝั่งฮ่องกงก็ยังถูกจำกัด ต้องขออนุญาตใช้เส้นทางซึ่งมีเกณฑ์พิจารณาอยู่ ต่อไปแม้ผ่อนผันให้กับรถยนต์ส่วนบุคคล ก็คงจะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลบางประเภท ที่อยู่ในเกณฑ์ขั้นตอนต่าง ๆ อาทิ เป็นบุคคลผู้มีรายได้และการเสียภาษีในเกณฑ์ที่รัฐบาลระบุ หรือผู้ที่ได้บริจาคเงินเพื่อการกุศลในพื้นที่กว่างตงหรือไม่ก็อาจจะเป็นการอนุมัติผ่อนผันให้กับสมาชิกขององค์กรการเมืองเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่อนุญาตให้มีรถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารสาธารณะใด ๆ ใช้สะพาน หรือให้บริการบนเส้นทางนี้ แต่ประชาชนสองฝั่งก็สามารถเดินทางด้วยการโดยสารรถชัตเติลบัส รับส่งระหว่างสองฝั่ง

ข้อจำกัดของการเดินทางของสะพานในลักษณะนี้ คงจะเป็นที่ถกเถียง และเป็นปัจจัยความนิยมของการใช้งานสะพานนี้ต่อไป เพราะตอนนี้ประชาชนฮ่องกงก็ไม่ค่อยตื่นเต้นกับสะพานนี้นัก โดยบางคนกล่าวว่าสะพานแห่งนี้ใช้เงินลงทุนไปมหาศาล ซึ่งเป็นภาษีของชาวฮ่องกงไม่น้อย แต่ชาวฮ่องกงกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และเหมือนโดนคุมการใช้งาน และตลอดสะพานนี้ ก็เป็นอาณาเขตที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของจีนแผ่นดินใหญ่

ประเด็นแบบนี้ ก็เป็นช่องทางให้นักการเมืองฝั่งสนับสนุนประชาธิปไตยอ้างว่าโครงการนี้เป็นโครงการทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ สร้างขึ้นทั้งที่ยังไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไรเลย โดยยกตัวอย่างว่านอกจากสะพานข้ามทะเลแห่งนี้ ยังมีอีก 2 สะพานในระดับเดียวกัน ที่กำลังสร้างและจะถูกใช้งาน ที่เสิ่นเจิ้นและจงซาน ทางเหนือของจูไห่ ซึ่งถ้าสะพาน 2 แห่งนั้นเปิดใช้งานในปี ค.ศ. 2030 การใช้งานของสะพานแห่งนี้ก็คงจะไม่ได้คึกคัก และคงลดความสำคัญลงไป

แต่สำหรับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ สะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าแห่งนี้เสริมกับศักยภาพของรถไฟความเร็วสูงฮ่องกงที่เพิ่งเปิดเมื่อเดือนที่แล้ว จัดเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมือง และเศรษฐกิจ เชื่อมฮ่องกงและมาเก๊ากับ 11 เมืองของจีน เพื่อสร้างเขตพัฒนาใหม่ให้เป็นภูมิภาคไฮเทค ช่วยการพัฒนา “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งเป็นกรอบการปกครองฮ่องกง และมาเก๊า ที่ให้อำนาจการปกครองตัวเองระดับหนึ่ง การก่อสร้างสะพานฯ ถือเป็นความร่วมมือครั้งแรกของสามดินแดนในเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเปิดการแลกเปลี่ยนมากขึ้นในด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างสามดินแดน อีกทั้งส่งเสริมแรงแข่งขันของเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมแม่น้ำไข่มุก (Pearl River Delta)

หลี่ ซี เลขาธิการพรรคฯสาขากว่างตง กล่าวในพิธีเปิดฯ รับรองความทนทานของสะพานข้ามทะเลที่ยาวสุดในโลกแห่งนี้ สามารถต้านทานพายุลูกมหากาฬอย่างไต้ฝุ่นมังคุด โดยรับมือพายุได้ถึงระดับกำลังลม(gale-force wind) ที่ระดับ 16 และทานแผ่นดินไหวระดับ 8 แมกนิจูด นับเป็นสัญลักษณ์การบรรลุความฝันของประชาชนในสามดินแดน

แผนเมกะโปรเจกต์สะพานเชื่อม ฮ่องกง จูไห่ และมาเก๊า เพื่อสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ “เขตเกรตเตอร์ เบย์” (The Greater Bay Area) นี้เป็นความคิดส่วนตัวของสี จิ้นผิง เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ระดับชาติที่สำคัญ เปิดโอกาสครั้งสำคัญให้แก่มณฑลกว่างตง ฮ่องกง และมาเก๊า อีกครั้ง ซึ่งแม้ตอนนี้ หลายคนอาจจะยังเห็นภาพไม่ชัด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ฝันเฟื่อง เพราะนี่ก็ไม่ต่างจาก การคลำหินก้าวข้ามแม่น้ำของเติ้งเสี่ยวผิง ที่คลำจนพาจีนมาถึงวันนี้ได้ เพียงแต่วันนี้ เป็นยุคข้ามมหาสมุทร ลอดทะเลของสีจิ้นผิง นั่นเอง






กำลังโหลดความคิดเห็น