xs
xsm
sm
md
lg

สี จิ้นผิง ประกาศเปิดสะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า เปิดการเชื่อมโยงพรมแดนครั้งหลักหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศเปิดสะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2018 (ภาพ รอยเตอร์ส)
เอเจนซีส์ - ประมุขแดนมังกร “สี จิ้นผิง” ประกาศเปิดสะพานข้ามทะเลยาวสุดในโลก เชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า นับเป็นการเชื่อมพรมแดนครั้งหลักหมาย ระหว่างแผ่นดินใหญ่เข้ากับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และมาเก๊า

สะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ทำสถิติเป็นสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก ความยาวทั้งสิ้น 55 กิโลเมตร เชื่อมโยงเมืองจูไห่ในมณฑลกว่างตง กับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และมาเก๊า การเปิดสะพานฯนี้ล่าช้ากว่ากำหนดถึง 2 ปี และงบประมาณการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์นี้บานปลายถึงหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ

การเปิดสะพานเป็นสัญญาณความสำเร็จในความร่วมมือระหว่างแผ่นดินใหญ่ เขตบริหารพิเศษได้แก่ ฮ่องกง และมาเก๊า อีกทั้งการพิชิตความท้าทายด้านความสมารถทางวิศวกรรมที่ไร้เทียมทาน
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง  และนาง แคร์รี่ แลม หัวหน้าเขตบริหารพิเศษแห่งฮ่องกง และ นาย เฟอร์นันโด ชุย หัวหน้าเขตบริหารพิเศษแห่งมาเก๊า ในพิธีเปิดสะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2018 (ภาพ รอยเตอร์ส)
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มาเป็นประธานวันเปิดสะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าในวันนี้ (23 ต.ค.) โดยมีแขกรับเชิญประมาณ 700 คน เหล่าผู้นำระดับสูงสุดที่เข้าร่วมพิธีเปิดสะพานฯได้แก่ นายหัน เจิ้ง รองนายกรัฐมนตรี นายเหอ ลี่เฟิง ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติ นายหลี่ ซี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกว่างตง เป็นต้น

นายหัน เจิ้ง รองนายกรัฐมนตรีกล่าวในพิธีเปิดสะพานว่าจะกระชับสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดด้านเศรษฐกิจการค้าของแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกง

รองนายกฯ หัน เจิ้ง ซึ่งดูแลรับผิดชอบบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาค กล่าวว่าสะพานฯนี้ จะช่วยการพัฒนา “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งเป็นกรอบการปกครองฮ่องกง และมาเก๊า ที่ให้อำนาจการปกครองตัวเองระดับหนึ่ง การก่อสร้างสะพานฯ ถือเป็นความร่วมมือครั้งแรกของสามดินแดนในเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเปิดการแลกเปลี่ยนมากขึ้นในด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างสามดินแดน อีกทั้งส่งเสริมแรงแข่งขันของเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมแม่น้ำไข่มุก (Pearl River Delta)

“สะพานจะบูรณาการฮ่องกงและมาเก๊าเข้ากับแผ่นดินใหญ่” รองนายกฯ หัน กล่าว

ด้าน หลี่ ซี เลขาธิการพรรคฯสาขากว่างตง กล่าวในพิธีเปิดฯ รับรองความทนทานของสะพานข้ามทะเลที่ยาวสุดในโลกแห่งนี้ สามารถต้านทานพายุลูกมหากาฬอย่างไต้ฝุ่นมังคุด และเป็นสัญลักษณ์การบรรลุความฝันของประชาชนในสามดินแดน

นายใหญ่พรรคฯ สาขากว่างตงเผยอีกว่า แผนการผุดเมกะโปรเจกต์สะพานเชื่อม ฮ่องกง จูไห่ และมาเก๊า เพื่อสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ “เขตเกรตเตอร์ เบย์” (The Greater Bay Area) มาจากความคิดส่วนตัวของสี จิ้นผิง โดยเป็นการผลักดันยุทธศาสตร์ระดับชาติที่สำคัญ เปิดโอกาสครั้งสำคัญให้แก่มณฑลกว่างตง ฮ่องกง และมาเก๊า
รถเคเบิลจากลันเตาเคลื่อนเข้ามายังสะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ภาพวันที่ 21 ต.ค. 2018 (ภาพ รอยเตอร์ส)
ในคำปราศรัย 5 นาที หัวหน้าคณะบริหารเขตพิเศษแห่งฮ่องกง นางแคร์รี แลม (Carrie Lam Cheng Yuet-ngor) ได้กล่าวถึงการเปิดประเทศที่ครบรอบ 40 ปี ในปีนี้ เป็นยุคการเปลี่ยนผ่านที่ฮ่องกงได้มีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์ด้วย

แคลี แลม กล่าวพุ่งประเด็นไปที่โครงสร้างพื้นฐานระหว่างพรมแดน 3 โครงการ ได้แก่ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกว่างโจว เสิ่นเจิ้น และฮ่องกง, สะพานเชื่อมฮ่องกง จูไห่ และมาเก๊า และด่านควบคุมพรมแดนเหลียนถัง/เซียงหยวนเหวย (Liantang/Heung Yuen Wai Boundary Control Point) ซึ่งจะเปิดในต้นปีหน้า โดยแต่ละโครงการนี้จะช่วยเสริมสร้างบูรณาการระหว่างฮ่องกง มาเก๊า และแผ่นดินใหญ่

นาง Carrie Lam กล่าวว่าสำหรับสะพานเชื่อมสามดินแดนจะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการพัฒนา เขตเกรทเตอร์ เบย์ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ-เทคโนโลยี ประกอบด้วยเขตพัฒนาในฮ่องกง มาเก๊า และเขตพัฒนาใน 9 เมืองในแผ่นดินใหญ่ โดยมีเป้าหมายเป็นคู่แข่งกับซิลิกอนวัลเลย์ ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ

แลมยังกล่าวถึงโครงการน้องใหม่ล่าสุดที่เธอนำเสนอระหว่างแถลงนโยบายฮ่องกงในปีนี้ คือ เมือง “อนาคตแห่งลันเตา” (Lantau Tomorrow Vision) คือโครงการถมที่ผุดเกาะเทียมเพื่อสร้างเขตธุรกิจขนาดใหญ่บนพื้นที่ 17 ตารางกิโลเมตร ซึ่งตั้งบริเวณน่านน้ำด้านตะวันออกของเกาะลันเตา (Lantau Island) บริเวณปากแม่น้ำไข่มุก

แลมชี้ว่า ด้วยโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ สะพานใหม่ และสนามบินนานาชาติฮ่องกง เกาะลันเตา จะกลายเป็นประตูใหญ่ที่เปิดออกสู่โลกภายนอก และเขตเกรตเตอร์ เบย์
วิวราตรีบริเวณสะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า และทางเข้าลอดอุโมงค์ใต้ทะเลเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2018 (ภาพ รอยเตอร์ส)
สำหรับสะพานฮ่องกง จูไห่ และมาเก๊า ความยาว 55 กิโลเมตรนี้ เชื่อมสามเมืองเข้าด้วยกัน สามารถเดินทางไปมาระหว่างกันทางรถยนต์ภายใน 1 ชั่วโมง คาดว่าจะช่วยหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและและการท่องเที่ยวฮ่องกง ซึ่งควักกระเป๋าลงทุนโครงการก่อสร้างสะพานฯ 120,000 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือประมาณ 517,200 ล้านบาท รวมทั้งการลงทุนก่อสร้างเส้นทางถนนและสะพานลอยภายในเมือง

ทั้งนี้ การก่อสร้างสะพานฯ เริ่มเมื่อปี 2009 ตามแผนการได้ระบุว่าวันเปิดสะพานในปี 2016 กลุ่มวิพากษ์วิจารณ์โครงการฯ ตั้งฉายาสะพานฯ นี้ว่า “สะพานช้างเผือก” และ “โครงการหยาดเหงื่อและหยดเลือด” โดยระหว่างก่อสร้างโครงการมีคนงานเสียชีวิต 10 คน และบาดเจ็บมากกว่า 600 คน
อาคารท่าเรือบริเวณสะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ในวันพิธีเปิดฯวันที่  23  ต.ค. 2018 (ภาพ รอยเตอร์ส)
สะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ในวันพิธีเปิดฯเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2018 (ภาพ รอยเตอร์ส)
สะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2018 (ภาพ รอยเตอร์ส)
สะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ก่อนวันพิธีเปิดฯเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2018 (ภาพ รอยเตอร์ส)
สะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ก่อนวันพิธีเปิดฯเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2018 (ภาพ รอยเตอร์ส)
วิวราตรีสนามบินนานาชาติฮ่องกง เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2018 (ภาพ รอยเตอร์ส)


กำลังโหลดความคิดเห็น