MGR Online / เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ (14 ต.ค.) - ชนชั้นกลางของจีน จะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ท่ามกลางผลกระทบทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ และสงครามการค้าที่กำลังเผชิญหน้ากันของสหรัฐและจีน
บรรดานักวิเคราะห์ที่มองโลกแง่ดีต่างเชื่อว่าอย่างไรจีนก็ไม่หวั่นกับสงครามการค้าเพราะมีพลังบริโภคชนชั้นกลางมหาศาล ขณะที่ด้านมองโลกแง่ร้ายเตือนให้ระวังความซบเซาทางเศรษฐกิจ เพราะจะเป็นต้นเหตุความวุ่นวายทางการเมือง
รัฐบาลจีนต้องการพลังขับเคลื่อนของชนชั้นกลางในการผลักดันเศรษฐกิจ แต่อีกด้านหนึ่งชนชั้นกลางต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น กองหนี้ที่จมอยู่กับราคาบ้าน หนี้ครัวเรือน และยังมีภาระส่วนตัวอื่นๆ เช่นแบกรับสังคมผู้สูงอายุของจีน จึงอยู่ในสถานการณ์ที่ยังต้องดิ้นรนทำมาหากิน ไม่ใช่ช่วงเก็บเกี่ยวความสุขจากรายได้ ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของคนชั้นกลางอาจไม่ได้เป็นไปตามภาพฝันของรัฐบาล ภาพฝันของคนจีน
คนชั้นกลางจีนไม่ใช่ทั้งหมดที่จะใช้จ่ายอย่างเต็มที่ ในหลายกรณีที่พวกเขากำลังทำตรงข้ามของสิ่งที่รัฐบาลต้องการ จำนวนมากเลือกที่จะประหยัด ลด ละ การบริโภค ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อาจจะทำให้แผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง
ขณะนี้จีนจึงกำลังวางเดิมพันว่าชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในโลกที่มีผู้บริโภคกว่า 400 ล้านคน จะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายด้านสินค้าและบริการ ทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพท่ามกลางสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ได้เพียงใด
คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานวางแผนของรัฐบาลเมื่อเดือนที่แล้วประกาศว่า ได้จัดให้มีฟอรัมพิเศษเพื่อศึกษาการเพิ่มเงินเดือนให้กับกลุ่มรายได้ที่มีรายได้ปานกลางล่าง และปานกลาง กับปานกลางช่วงบน ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 13,843 - 34,547 หยวน
ข้อมูลของธนาคารประชาชนจีน พบว่า ผู้บริโภคจีนจำนวนมากเป็นหนึ้มากขึ้น ซึ่งการสำรวจเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าหนี้สินครัวเรือน เฉพาะการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น 29.1 เปอร์เซนต์ เทียบรายปี สูงกว่าหนี้ครัวเรือนทั่วไป ซึ่งรวมถึง หนี้สินเชื่อบ้าน โดยเงินกู้บริโภคไม่ไหลไปในการซื้อสินค้าและบริการ แต่หมดไปกับภาระการเช่าบ้าน และที่อยู่อาศัย
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวในการเจริญเติบโตของการใช้จ่าย ยอดค้าปลีกที่มีอัตราการเติบโตโดยรวมของจีนดีดตัวขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 9 ในเดือนสิงหาคม แต่ยังคงใกล้เคียงกับจุดที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งเป็นร้อยละ 8.5 ในเดือนพฤษภาคม
มีผลสำรวจด้านหนึ่งพบว่า คนชั้นกลางจีนซึ่งด้านหนึ่งกำลังสร้างฐานะ พร้อมไปกับการวางพื้นฐานที่มั่นคงให้กับลูกหลาน มักให้ความสนใจมากกับการศึกษา โดยรายได้ในครัวเรือนถูกใช้จ่ายไปกับการศึกษาของลูก ๆ เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่ารายจ่ายเพื่อการบริโภคอื่น ๆ
บรรยากาศการแข่งขันเพื่อให้ลูกๆ ได้โอกาสมีอนาคตทางการศึกษาในจีน บีบให้ผู้ปกครองคนชั้นกลางต่างยังต้องดิ้นรนหาทางเพิ่มศักยภาพทางศึกษาให้กับลูก ๆ ตั้งแต่เล็ก ๆ
New Oriental และ TAL Education Group สองหน่วยงานธุรกิจด้านการศึกษาพิเศษรายใหญ่ของจีน มีรายงานผลประกอบการเติบโตสูงระดับ 2 หลัก ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทั้งในส่วนวิชาติวเพิ่มเกรด และกวดสอบเข้า
หู ซิ่ง โต่ว นักเศรษฐศาสตร์อิสระ ให้ความเห็นว่า ผู้ปกครองจีนโดยเฉพาะชนชั้นกลาง เข้าใจความยากลำบากในการปีนบันไดแห่งโอกาสของคนระดับปานกลาง หรือเด็กที่ไม่จบการศึกษา หรือไม่ได้สำเร็จจากสถาบันระดับแนวหน้า ซึ่งความกังวลนี้ ทำให้คนชั้นกลางต่างผลักดันลูก ๆ ให้เรียนสูง ๆ ขนาดยอมไม่ใช้จ่ายส่วนตัว ประหยัดทุกหยสนเพื่อเก็บเงินมาใช้เป็นรายจ่ายการศึกษาลูก ๆ
สภาพความจริงนี้ ว่าไป ก็อาจจะเป็นเหมือนกันทั่วโลก โดยมีรายงานของ เอชเอสบีซี พบว่ามูลค่าการศึกษาสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการสำรวจผู้ปกครอง 8,481 คน ใน 15 ประเทศ และเขตการปกครอง พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้สำรวจ ได้ส่งลูกเรียนพิเศษเพิ่ม และมี 1 ใน 3 ที่ใช้จ่ายเพื่อเรียนพิเศษแบบจ้างครูสอนส่วนตัว
ผู้ปกครองในประเทศ หรือเขตปกครอง ที่มีรายจ่ายสำหรับการเรียนพิเศษลูก ๆ มากที่สุด คือ อินเดีย (96%) อินโดนีเซีย (91%) ฮ่องกง (88%) และอียิปต์ (88%)
ขณะที่ ผู้ปกครองในประเทศ หรือเขตปกครอง ที่จ้างครูสอนพิเศษส่วนตัวมากที่สุดคือ จีน (93%) อินโดนีเซีย (91%) ฮ่องกง (88%) และอียิปต์ (88%)
ฮ่องกง ใช้เงินเพื่อการศึกษาของลูกต่อปีมากที่สุด ที่ 132,161 เหรียญสหรัฐ ตามด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 99,378 เหรียญ, สิงคโปร์ 70,939 เหรียญ, สหรัฐอเมริกา 58,464 เหรียญ, ไต้หวัน 56,424 เหรียญ และจีน 42,892 เหรียญ
รายงานสำรวจระบุว่า การแข่งขันเพื่อได้ที่นั่งในมหาวิทยาลัยจีนแผ่นดินใหญ่นั้น มีความยากลำบากมาก โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าเรียนสถาบันระดับแนวหน้าของรัฐ 150 อันดับแรก ซึ่งรวม ๆ แล้ว เทียบสัดส่วนประมาณ 100 คน รับได้แค่ 6 คน
แม้ว่าในระดับประดมศึกษาและมัธยมต้น รัฐบาลจีนได้แก้กฎหมายยกเลิกการสอบเข้าไปตั้งแต่ปี 2006 เพื่อไม่ให้เด็กๆ และผู้ปกครองต้องเครียดกับการสอบแข่งขัน และเมื่อ สีจิ้นผิง เป็นประธานาธิบดีในปี 2013 ยังเน้นย้ำความเท่าเทียมและเป็นธรรมทางการศึกษาโดยให้สิทธิเรียนฟรี 9 ปีแรก แต่ก็ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการเพื่อแก้ปัญหา
สำหรับครอบครัวปัจเจกชนคนชั้นกลางนั้น เมื่อหักรายได้กับรายจ่ายการศึกษาแล้ว พบว่า ผู้ปกครองคนชั้นกลางหลายคนยังคงต้องใช้ชีวิตเหมือนคนยากจนชั้นล่าง
อย่างเช่น นางเจียง ผู้ปกครองในชนบทซานซี ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่ง มีรายได้ปีละ 100,000 หยวน ซึ่งทำให้มีฐานะระดับคนชั้นกลาง เธอให้ความสำคัญกับการศึกษาโดยเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างโอกาสและขยับฐานะของตน ดังนั้น จึงทุ่มเทเงินเพื่อการเรียนของลูกสาวที่เกิดมา ตั้งแต่การแบ่งรายได้เป็นรายจ่ายสำหรับการเรียนวิชาเสริมต่าง ๆ อาทิ ค่าเรียนคณิตศาสตร์ ปีละ 12,000 หยวน ภาษาอังกฤษ 25,000 หยวน นอกจากนี้ยังมีค่าเรียนเปียโน เรียนเต้นรำ 50,000 หยวน ยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ อีก 20,000 หยวน เพื่อให้ลูกได้เห็นโลกกว้างนอกตำรา
เมื่อรวม ๆ เงินรายรับของตนกับสามี พบว่าในครอบครัวตนเองมีสัดส่วนรายจ่ายสำหรับการศึกษาลูกคนเดียว สูงในสัดส่วน 30 เปอร์เซนต์ของรายได้ครัวเรือน
เจียง บอกกับผู้สื่อข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ ว่า อย่าเรียกเธอว่าคนชั้นกลาง เพราะตั้งแต่มีลูก เธอและสามี ไม่เคยได้ใช้เงินเพื่อบริโภคใช้สิ่งของใด ๆ เกินกว่าราคา 100 หยวน
"เราต้องเก็บเงินทุก ๆ หยวน เพื่อการศึกษาของลูก ซึ่งเป็นหนทางเดียว ที่คนธรรมดาอย่างเรา จะรับประกันอนาคตของลูกได้"
เสียงสะท้อนจากการสำรวจครอบครัวคนชั้นกลางจีนนี้ อาจจะไม่ใช่ทุกครอบครัว แต่ก็สะท้อนให้เห็นสภาพที่ต้องแบกรับทางด้านรายจ่ายของครัวเรือนต่าง ๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว อย่างน้อยก็คงจะทำให้เห็นภาพที่ละเอียดขึ้น ว่าแท้จริงแล้ว ชนชั้นกลางจีนมีพลังจับจ่ายในการบริโภคอื่น ๆ อย่างแข็งแกร่งหรือไม่ ตามความคาดหวังของรัฐ