xs
xsm
sm
md
lg

จีนจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้หรือไม่ อย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 รถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมืองซีอัน และเมืองเฉิงตู  ภาพ 6 ธ.ค. 2017 (ภาพ ซินหวา)
โดย ดร.ร่มฉัตร จันทรานุกุล

วันนี้ผู้เขียนอยากจะมาเล่าสู่กันฟังถึงปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่กำลังประสบนั่นคือ กับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) หลายประเทศพยายามหาทางและวิธีที่จะก้าวข้ามจากกับดักฯนี้ บางประเทศก้าวข้ามสำเร็จและมีอีกหลายประเทศที่ยังก้าวข้ามไม่ผ่าน อย่างเช่นประเทศไทยของเราก็ถือว่ายังติดกับดักรายได้ปานกลางนี้อยู่

เมื่อปี 2006 ธนาคารโลกได้กล่าวถึง Middle Income Trap ในรายงานการพัฒนาเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก โดยให้คำนิยามว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังจะก้าวข้ามไปสู่ประเทศพัฒนาแต่เกิดติดปัญหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก ในแง่ของรายได้เฉลี่ยของประเทศอยู่ในระดับที่จะไปแข่งกับประเทศรายได้ตัวหัวต่ำก็ไม่ได้ ครั้นที่จะไปแข่งขันกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าก็ไม่ได้อีก มาตราฐานของประเทศที่มีรายได้ปานกลางคือ ประเทศที่มี GDP ต่อหัวประมาณ 3000 ดอลล่าร์ขึ้นไป อีกคุณลักษณะหนึ่งของประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางคือการมีช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยมากขึ้น สภาพสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหา พร้อมปัญหาความไม่สงบทางสังคมและปัญหาอื่นๆที่นำพาไปสู่เศรษฐกิจซบเซา ประเทศที่ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง รายได้ GDP ต่อหัวจะวนเวียนอยู่ประมาณ 3,000-5,000 เหรียญสหรัฐ

หากย้อนเวลาไปใน 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่สุดท้ายหลุดจากกับดักขึ้นไปถึงระดับประเทศพัฒนาแล้วได้คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และอิสราเอล ส่วนตัวอย่างของประเทศที่ยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางคือ แม็คซิโก ชิลี และอาเจนติน่า ประเทศไทยเราเองปัจจุบันก็ถือว่าติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางนี้

สาเหตุของการติดกับดักรายได้ปานกลางนี้แยกได้ 3 สถานการณ์หลักๆคือ

1. กับดักของระบบการพัฒนาของประเทศ ต้องแก้ไขโดยการปฎิรูป

2. กับดักวิกฤตทางสังคม ต้องลดช่องว่างรายได้ให้น้อยลง โดยเฉพาะช่องว่างของรายได้ในแต่ละพื้นที่ ต้องสร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อหลีกเลี่ยง

3. กับดักของการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นต้องสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและเพิ่มการลงทุน

หากกล่าวถึงประเทศจีน ประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน (Planing Economic) กำลังเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนารายได้ระดับกลาง-สูง จีนปฎิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ 40 ปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่เห็นกันทั่วกันว่าประเทศจีนพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก การเติบโตช่วงประมาณ 30 ปีแรกจีนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10% หลังจากประสบกับปัญหาเศรษฐกิจโลก Hamberger crisis ในปี 2008 จีนหลีกไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ

หลังจากนั้นเศรษฐกิจจีนมีการเติบโตที่ลดลงตามการชะลอของเศรษฐกิจโลก จีนได้ตั้งเป้าหมายใหม่เกี่ยวกับการเติบโตอย่างเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็นต้องเติบโตอย่างรวดเร็วแต่ต้องเติบโตไปอย่างปานกลางแต่มั่นคง“稳中求进” ภายใต้การนำของรัฐบาลสี จิ้นผิง จีนกำลังเข้าสู่การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมหน้าใหม่ไปสู่เทคโนโลยีขั้นสูง การเป็นผู้นำ IT industry ระดับโลกเป็นต้น

ทุกวันนี้จีนตระหนักในปัญหาของการติดกับดักรายได้ปานกลางเพราะจีนรู้ดีว่าหากติดอยู่ที่กับดักนี้จีนจะพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้ตามเป้าหมาย ในปี 2017 จีนมี GDP เฉลี่ยต่อหัว 9,400 สหรัฐ อยู่อันดับที่ 70 ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 87 มี GDP เฉลี่ยต่อหัว 5,952 สหรัฐ ประเทศไทยเคยอยู่ในอันดับที่สูงกว่าจีนสิบกว่าปีที่ผ่านมา GDP เฉลี่ยต่อหัวถูกจีนนำไปแบบไม่เห็นฝุ่น

ตามที่ผู้เขียนกล่าวไปข้างต้น เศรษฐกิจแบบวางแผนของจีนกำลังนำพาจีนเข้าสู่ความเจริญยุคใหม่ที่จะเท่าทันกับโลกตะวันตก นักเศรษฐศาสตร์จีนหลายคนมีความมั่นใจว่าจีนไม่ตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางเหมือนกับประเทศละตินอเมริกา นโยบายการเติบโตของประเทศจีนเรียนรู้จากตัวอย่างประเทศอื่น จีนเดินตามประเทศที่ประสบความสำเร็จ เรียนรู้จากประเทศที่ล้มเหลวและเลือกจะไม่เดินตาม จีนพยายามที่จะไม่ใช้แค่กระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิต แต่ยังเพิ่มการเติบโตที่มีความเป็นนวัตกรรมเข้าไป การพยายามสร้างความเป็นเมืองตามที่ต่างๆเพื่อลดความแออัดในเมืองหลวงและลดช่องว่างการเติบโตระหว่างเมืองที่มากเกินไป จีนตั้งดรรชนีใหม่ขึ้นมา เพื่อบรรลุถึงการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจของประชาชน การดันอุตสาหกรรมไอทีให้เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นบริษัทระดับโลก การพยายามที่จะผลิตชิปเป็นของตนเอง ลดการเพิ่งพาจากอเมริกาเป็นต้น การที่จะให้บรรลุการเป็นประเทศที่ปราศจากคนจนอย่างเบ็ดเสร็จ สร้างสังคมใหม่ การเป็นประเทศที่ทันสมัย
ภาพกราฟิก ขาที่ใส่กางเกงลวดลายธงชาติจีน กำลังเหยียบคำว่า “กับดักรายได้ปานกลาง”  (ภาพ สื่อจีน)
กับดักของรายได้ปานกลางที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายกำลังประสบอยู่นั้น เอาเข้าจริงๆก็เป็นงานหนักของจีน เพราะการปฏิรูปโครงสร้างและควบคุมเศรษฐกิจของประเทศที่มีประชากรมากถึง 1,400 ล้านคนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็มีความเห็นจากนักวิชาการจีนอีกฝ่ายที่ออกมาบอกว่า จีนได้ติดอยู่ในกับดักของรายได้ปานกลางแล้ว และถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนจะมีมาตราการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจต่างๆแต่ก็ต้องจับตากันต่อไปว่าจะมีผลอย่างไรในระยะยาว จีนเองแน่นอนว่าพยายามจะหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางนี้ จากนโยบายแผนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประกาศอยู่เนืองๆที่ผ่านมา ผู้เขียนขอสรุปนโยบายป้องกันการตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางของรัฐบาลจีนดังนี้

1.ขยายความเป็นเมืองไปในชนบท เพื่อลดความเลื่อมล้ำของสังคมและลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน เพราะหากคนจนมีมากจะทำให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมามากมาย เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าอย่างถ้วนหน้า นโยบายที่สอดคล้องกับการสร้างความเป็นเมืองอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่น นโยบายบายมุ่งสู่ตะวันตก (Go west policy) เป็นต้น นโยบายนี้ดำเนินมาเป็นเวลาเกือบสิบปี และก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว

2. สร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่สะดุด การเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆจีนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกคนต้องก้าวตามให้ทัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีไอที ที่จีนก้าวไปสู่ระดับโลกแล้ว การเปลี่ยนถ่ายนวัตกรรมที่รวดเร็วจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของจีนไม่สะดุดหรือหยุดนิ่ง

3. นอกจากภาคการส่งออกที่สำคัญมากสำหรับจีน จีนพยายามจะกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศของประชาชน พร้อมทั้งการใช้จ่ายรัฐมหาศาลในด้านของการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานและการออกใบอนุญาตการพัฒนาที่ดินประเภทต่างๆ จีนพยายามใช้ทรัพยากรภายในประเทศที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด การกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายเพื่อให้เศรษฐกิจจีนเติบโตต่อไปได้โดยไม่สะดุดหรือติดกับดัก

4. การกระตือรือร้นกับการร่วมมือระหว่างภูมิภาคต่างๆมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อหาความร่วมมือระดับประเทศ หาพันธมิตรที่พร้อมจะเติบโตด้านเศรษฐกิจไปพร้อมๆกับจีน การร่วมมือในระดับภูมิภาคจะช่วยยกระดับบทบาทของจีนบนเวทีโลก และยังแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและประเทศต่างๆด้วย

5. การปฎิรูปแบบลงลึกของจีนที่พยายามดันกันอยู่เพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนแข็งแรง เช่น การปราบคอรัปชั่น การพยายามกำจัดอุตสาหกรรมล้าหลังที่สร้างมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม การพยายามยกระดับเทคโนโลยีในทุกอุตสาหกรรมการผลิต

6. การตั้งเป้าหมายระดับชาติทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ทุกคนพยายามบรรลุถึงจุดมุ่งหมายนั้น สร้างความฮึกเหิมและเป็นหนึ่งเดียว สามานฉันท์ของประชาชนทุกภาคส่วนเพราะการเติบโตของประเทศไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคนที่จะทำได้ แต่เป็นประชาชนทั้งประเทศนั่นเอง

จากการเปิดประเทศพัฒนาของจีน 40 ปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนก้าวกระโดดไปหลายขั้น สร้างความอัศจรรย์แก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จีนกำลังตระหนักถึงกับดักรายได้ปานกลางนี้ถึงพยายามที่จะเปลี่ยนแนวการเติบโตใหม่เพื่อให้หลบพ้นกับการติดอยู่ที่กับดักรายได้ปานกลาง ทีนี้เราก็ต้องดูกันอีกต่อไปอาจจะ 10-20 ปีว่าจีนจะหลุดหรือหลบพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางนี้ได้หรือไม่ อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น