xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights: ชีวิตคนจีนยุคใหม่กับการ “เช่าแทนซื้อ” เป็นอย่างไร&?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายหวงกำลังเปิดแอพพลิเคชั่นเช่ารถ เลือกรถที่ตนเองต้องการเช่ามาขับ ซึ่งคุ้มกว่าการซื้อขาด เพราะปกติโดยการใช้งานรถแข่งไม่เหมาะกับชีวิตประจำวันและยังมีค่าบำรุงรักษาที่สูงมากอีกด้วย (ที่มา เอเจนซี่)
ชีวิตยุคใหม่ของคนเมือง มีสิ่งหลอกล่อดึงดูดมากมาย ความต้องการในสิ่งของของผู้คนมากเกินกว่าแค่สิ่งของใช้ที่จำเป็น คนส่วนใหญ่ความต้องการมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ความสามารถในการจับจ่ายมีจำกัด ธุรกิจการเช่าสิ่งของต่างๆจึงเกิดขึ้น คนจีนยุคใหม่มีคนอยู่จำนวนหนึ่งเป็นขาประจำเช่า ทั้งเช่ารถยนต์ เช่ากล้องถ่ายรูป เช่าเครื่องดูดฝุ่น ไปจนถึงเช่าเสื้อผ้าที่ใส่ประจำวัน เป็นต้น

ที่จีนมีคำฮิตใหม่ที่ว่า 消费降级 หมายความว่า การบริโภคที่ลดระดับลง down-grade consumed การบริโภคที่ลดระดับลงในขณะที่มีรายได้มากขึ้นไม่ได้หมายความว่าการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การใช้จ่ายซื้อสินค้าหรือบริการที่ราคาต่ำแทนสินค้าราคาแพง การใช้วิธีการเช่าแทนวิธีการซื้อขาดคือการบริโภคที่ลดระดับลงอย่างนึง คนจีนยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะชอบชีวิตแบบ “เช่ามากกว่าซื้อขาด”สิบปีที่แล้วไม่ค่อยมีใครชอบเช่าสินค้าเพราะคนที่จะไปเช่าสินค้ามีอยู่สองประเภทคือ หนึ่งคนที่ไม่มีเงิน สองคนที่ไม่มีเงินแล้วอยากโอ้อวด แต่ว่าในปัจจุบัน Share Economy กำลังมาแรง วิถีของการใช้จ่ายมีความเปลี่ยนแปลงไป ทางเลือกในการใช้จ่ายมากขึ้น คนจีนยุคใหม่จำนวนหนึ่งเห็นว่าการเช่าสินค้าต่าง ๆ มาใช้ คุ้มกว่าการซื้อขาด เช่น คนที่มีเงินเดือน 4,000 หยวนสามารถที่จะใช้ชีวิตอย่างคนที่มีเงินเดือนเป็นแสนได้ ดูเหมือนว่ามาตรฐานชีวิตสูงขึ้นและไม่ต้องแบกรับภาระค่าสึกหรอของสิ่งของที่อาจไม่ได้ใช้และกลายเป็นขยะในที่สุด สิ่งของที่เช่ามาใช้ ก็เปลี่ยนไปมาใช้ได้อย่างรวดเร็วตามใจฉัน

ไลฟ์สไตล์ของคนจีนยุคใหม่นี้มีการให้คำนิยามของชีวิตการเช่าสินค้าต่างๆมาใช้นี้ว่า “租生活” แต่ก่อนหากคนบอกว่า “เช่า”ส่วนใหญ่จะเป็นการเช่าบ้าน เช่าอุปกรณ์ เครื่องจักรอะไรชิ้นใหญ่ๆ แต่ทุกวันนี้มีแอพพลิเคชั่นที่เป็นแพลตฟอร์มของการเช่าสินค้าหลากหลาย ทั้งเสื้อผ้า ของเล่นเด็ก มือถือ เสื้อผ้า ระยะเวลาการเช่าตั้งแต่รายวันไปจนถึงรายปี แถมหากว่าใช้แล้วถูกใจยังขอซื้อขาดได้ด้วย

ขอยกตัวอย่างคนจีนวัยรุ่นที่เกิดในยุค 90s นายหวงปีนี้อายุ 25 ปีเป็นคนที่หลงไหลในรถยนต์มาก ที่ผ่านมาจะเช่ารถที่ตัวเองชอบในแอพตลอด ที่ผ่านมาเช่าขับมาแล้ว 20 คัน นายหวงจะเช่ารถหรูราคาแพงมาขับเล่น โดยเขาให้ความเห็นว่า การซื้อรถเป็นของตัวเองมีต้นทุนสูงเกินไปและแบกรับภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวไม่ไหว เขาเองเช่ารถราคา 600,000 กว่าหยวนหรือ 3 ล้านกว่าบาทมาขับได้ โดยใช้ต้นทุนเช่าแต่ละวันหลังจากโปรโมชั่นประมาณ 1,500 หยวนหรือประมาณ 7,500 บาท เงินประกัน 10,000 หยวนหรือ 50,000 บาทจะคืนให้ทันทีหลังจากที่เอารถมาคืน และรถที่นายหวงเช่ามาขับทั้ง 20 คันเป็นรถแข่งทั้งหมดและใช้ต้นทุนการเช่าทั้งหมดอยู่ที่เกือบ ๆ 20,000 หยวนหรือราว ๆ 100,000 บาท นายหวงคิดว่ารถแข่งเช่ามาขับนี้คุ้มกว่าการซื้อขาดเพราะปกติโดยการใช้งานรถแข่งไม่เหมาะกับชีวิตประจำวันและยังมีค่าบำรุงรักษาที่สูงมากอีกด้วย

อีกบริการเช่านึงที่คนจีนวัยรุ่นกำลังจะเป็นที่นิยมคือการเช่าเสื้อผ้าใส่ ยกตัวอย่างเช่น วัยรุ่นหญิงจีนที่เพิ่งเรียนจบทำงาน เช่าบ้านอยู่ รายรับมีอยู่จำกัดแต่มีความต้องการแต่งตัวมีอยู่ไม่จำกัด เช่นนางสาวหลี่ที่เป็นขาประจำเช่นเสื้อผ้า เพิ่งเรียนจบ พนักงานบริษัทเงินเดือน 5,000 หยวนหรือ 25,000 บาท ในแต่ละเดือนค่าใช้จ่ายเช่าบ้านเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ที่สุด นางสาวหลี่นี้ในหนึ่งปีที่ผ่านมาเช่าเสื้อผ้าใส่ในชีวิตประจำวันแล้วกว่า 360 ชุด นางสาวหลี่บอกว่าโดยเฉลี่ยแล้วเปลี่ยนชุดใหม่ ๆ ใส่ทุกวัน การเช่าชุดใส่สำหรับตัวเธอเอง คิดว่าประหยัดและสะดวกกว่าการซื้อเสื้อผ้าของตัวเอง เพราะชุดเช่านี้ไม่ต้องซักเอง ไม่เปลืองเวลา ใส่เสร็จก็ส่งกลับไปที่ผู้ให้เช่า อีกทั้งประหยัดมากเพราะการเช่าชุดใส่ประจำวันนี้ คิดไปคิดมาในแต่ละเดือนนอกจากเงินประกันที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว ค่าใช้จ่ายเช่าเสื้อผ้าอยู่ 500 หยวนหรือ 2,500 บาทต่อเดือนเท่านั้น

นางสาวหลี่ให้เหตุผลว่า สมัยก่อนซื้อเสื้อผ้าใส่ในแต่ละเดือนต้องหมดเงินอย่างต่ำ 2,000 หยวนหรือ 10,000 บาท อีกทั้งการซื้อเสื้อผ้ามาใส่มีหลายชุดที่ใส่อยู่ไม่กี่ครั้งก็ไม่ได้ใส่อีกทำให้สิ้นเปลืองอย่างมาก

จากที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นให้ผู้อ่านได้เห็นว่า แนวคิดการเช่าแทนซื้อของวัยรุ่นจีนกำลังเป็นเทรนต์ใหม่ วัยรุ่นจีนยุคนี้ส่วนใหญ่ไม่ติดกับความคิดเดิม ๆ แบบคนสมัยก่อน ที่อาจจะมีความเชื่อและไม่ค่อยชอบใช้ของร่วมกับผู้อื่น ตัวอย่างที่ยกไปเป็นแค่ตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น ทุกวันนี้ยังมีบริการเช่ามือถือรายเดือน เช่าของเล่นเด็ก เช่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ก็มีคนรุ่นใหม่บางส่วนที่จะไม่เช่าเสื้อผ้า มือถือ เป็นต้นมาใช้ เพราะความกังวลที่คิดว่าเสื้อผ้าเช่า อาจจะไม่สะอาดเท่าที่ควร เคยใส่มาแล้วหลายคน ไม่เช่ามือถือถึงแม้ว่าคิดเฉลี่ยแล้วต้นทุนอาจจะถูกกว่าการซื้อขาดเพราะมือถือมีข้อมูลส่วนตัวเยอะหากว่าเช่าไปเช่ามา ข้อมูลส่วนตัวของตนอาจจะถูกขโมยไปได้ เป็นต้น

มีตัวเลขที่น่าสนใจของเว็บไซต์เช่าสินค้าขนาดใหญ่เว็บหนึ่งให้ตัวเลขว่า บัญชีผู้ใช้ที่เป็น active users 54% คือวัยรุ่นวัยทำงานที่เกิดในช่วงยุค 1990s โดยในจำนวนผู้ใช้นี้มากที่สุดมาจากมณฑลกว่างโจว เจียงซู และเจ้อเจียง และสินค้าที่ได้รับความนิยมถูกเช่าออกมากที่สุดคืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิก เช่นกล้องถ่ายรูป มือถือ แล็ปท็อป เครื่องหุ่นยนต์ เป็นต้น อีกทั้งของใช้ในบ้านประเภทอื่น ๆ ก็มีคนเช่าอยู่เรื่อย ๆ และแนวโน้มอยู่ในช่วงขาขึ้น ถัดมาก็เป็นพวกกระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องประดับ ของเด็กเล่น และอื่น ๆ เป็นต้น

การเช่าแทนการซื้อนี้ก็เป็นตัวอย่างของ share economy ที่ชัดเจน เราสามารถที่จะหาเช่าสินค้ามาใช้ได้ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ให้บริการ หนึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการในระยะสั้นของตนเอง โดยที่ไม่ต้องจ่ายต้นทุนสูง(ซื้อขาดมาครอบครอง)สองคือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด ดังนั้น share economy กลายมาเป็นเทรนต์ของผู้บริโภคใหม่ในปัจจุบัน ถูก ตรงจุด สนองความต้องการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในขณะที่คนในสังคมมีความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ในขณะที่การได้มาครอบครองมีจำกัด สินค้าเช่ากลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว พร้อมไปทั้งการเติบโตอย่างรวดเร็วของสารสนเทศ e-commerce และประหยัดทรัพยากร หลายคนมองว่าการเช่าคือการ ลดระดับการบริโภค ในขณะที่คนส่วนหนึ่งเห็นข้อดีของการเช่าที่มากกว่า

คุณผู้อ่านลองคิดเล่น ๆ ว่าหากเมืองไทยการเช่าสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันกลายมาเป็นที่นิยมแล้ว คุณยังจะเลือกซื้อสินค้าอยู่หรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น