สรวง สิทธิสมาน
'จีน' ในวันนี้ที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจโลกใหม่ ที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จนแซงประเทศที่ได้ชื่อว่ามหาอำนาจยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐฯไปได้ และตัวผม ผู้ซึ่ง ณ เวลานี้ กำลังศึกษาอยู่ที่มหานครเซี่ยงไฮ้ เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจีน ก็สามารถเป็นประจักษ์พยานได้ถึงความเจริญรุ่งเรืองในทุก ๆ ด้านของประเทศนี้จริง ๆ
หากถามว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะ 30 ปีหลังนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ ?
บางคนอาจตอบว่าหลังจากก่อตั้งสาธารณรัฐขึ้นมาโดยประธานเหมา หรือบางคนอาจมองว่าหลังจากที่เติ้ง เสี่ยวผิง ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของสาธารณรัฐได้เริ่มเปิดประเทศและทำการปฏิวัติเศรษฐกิจ ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำประเทศมาสู่การเป็นมหาอำนาจ
แต่ถ้าเป็นคำตอบของผม ต่อคำถามข้างต้น ว่าที่จริงแล้ว อะไรคือจุดเริ่มต้น มันก็คงจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลยนอกจาก...
"สงครามฝิ่น"
ก่อนที่จะถามว่าทำไม ต้องย้อนกลับไปดูสถานการณ์ในช่วงนั้นก่อน
ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่างจีน กว่าจะสร้างชาติมาถึงยุคราชวงศ์ชิงหรือราชวงศ์แมนจูนี้ได้นั้นต้องแลกมาด้วยมูลค่าที่ไม่สามารถประเมินได้ ความยิ่งใหญ่ที่บรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้มากมาย ทั้งนักปราชญ์ วีรบุรุษสงคราม จักรพรรดิผู้พิชิต ตลอดจนวัฒนธรรม ความเชื่อ ธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือกันมารุ่นต่อรุ่น ทั้งหมดนั้นนับว่ายิ่งใหญ่มากจริง ๆ จนทำให้คนจีนในยุคนั้นยังคงคิดว่า แผ่นดินจีนหรือ "จงหยวน" แห่งนี้คือศูนย์กลางของจักรวาล และจักรพรรดิก็คือ 'โอรสแห่งสวรรค์' ที่ถูกส่งลงมาปกครองแผ่นดินจีนแห่งนี้ ซึ่งก็คล้ายกับแนวคิด "เทวราชา" ตามคติฮินดูที่ตกทอดมาถึงเขมรและไทย ที่เชื่อว่ากษัตริย์คือร่างอวตารของเทพเจ้าผู้สูงส่งบนสวรรค์นั่นเอง
中国 ก็แปล China ซึ่งก็คือประเทศจีนนั่นเอง คำว่า "中" (zhong) อ่านว่า "จง" แปลว่า ตรงกลาง หรือจุดศูนย์กลาง "国" (guó) อ่านว่า "กั๋ว" แปลว่า ชาติ แผ่นดิน หรือประเทศ เพราะฉะนั้นคำว่า "中国" ก็จะแปลได้ว่า "แผ่นดินที่เป็นจุดศูนย์กลาง" นั่นเอง
ฮ่าฮ่า แค่เห็นชื่อประเทศและความหมายก็คงจะพอตีความได้แล้วสินะครับ ว่าจีนในอดีตเชื่อในความยิ่งใหญ่ของตนเองมากขนาดไหน ถึงขั้นตั้งชื่อให้ประเทศตัวเองว่าเป็นจุดศูนย์กลางของทุกสิ่ง
ตามประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่รัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงที่ได้สิ้นสุดลง ราชวงศ์ชิงจากยุคแห่งความรุ่งเรืองก็เริ่มเข้าสู่ขาลง ด้วยปัจจัยมากมายที่ทำให้ระบอบเก่านี้ได้เริ่มสั่นคลอน เช่น การฉ้อราษฎร์บังหลวงของเหล่าข้าราชสำนัก และการก่อกบฏจากกลุ่มชาวนาอยู่หลายครั้งหลายหนทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณในการทำสงครามไปอย่างมหาศาล ประกอบกับการใช้เงินทองอย่างฟุ่มเฟือยขององค์จักรพรรดิทุกพระองค์ด้วย เศรษฐกิจจึงซบเซาหนัก ประชาชนอดอยาก แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ส่งผลมากที่สุดคงจะไม่พ้นการเข้ามาปรากฏตัวของพ่อค้าชาติตะวันตกที่เข้ามาค้าขายตามเมืองท่าของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อังกฤษ
แต่ด้วยความที่หัวเมืองใหญ่ด้านการค้าของจีนอย่างเช่นกว่างโจว ยังคงมีระบบผูกขาดที่แข็งแรง ทำให้ยังสามารถกีดกันการเข้ามารุกรานจากเหล่าพ่อค้าต่างชาติได้อย่างสบาย
และด้วยเหตุนี้ อังกฤษจึงรู้สึกว่าตัวเองเสียดุลการค้า ไม่สามารถค้าขายได้อย่างคุ้มค่า ในปี 1820 อังกฤษได้เริ่มนำเข้าฝิ่นเพื่อสร้างข้อได้เปรียบให้กับฝั่งของตัวเองบ้าง
โดยในปี 1830 ผ่านไปเพียงแค่ 10 ปี ก็มีคนจีนติดฝิ่นมากกว่า 10 ล้านคนเสียแล้ว...
ฝิ่นทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมในระดับชาวบ้านจนถึงระดับข้าราชสำนัก ภาวะมนุษย์ที่ถูกมอมเมา สิ่งที่ตามมาคือการทุจริตในหมู่ข้าราชการทุกระดับ ทำให้จีนเสียดุลการค้า ระบบผูกขาดตามเมืองค้าขายสำคัญได้ถูกทำลายลง
หากไม่ปราบปรามฝิ่นจีนก็คงจะล่มสลายในไม่ช้า จะไม่มีกองทัพที่แข็งแกร่งมาป้องกันตนเอง ภาวะคลอนแคลงเช่นนี้อาจทำให้ราชบัลลังก์ชิงถึงกาลล่มสลายได้
ในที่สุดก็เกิดมาตรการปราบฝิ่น ทางการจีนได้ออกกฎหมายห้ามค้าฝิ่น และจัดตั้งกองกำลังที่มีหน้าที่จัดการยึดฝิ่นตั้งแต่ในระดับที่ขายอยู่ตามโรงฝิ่น ไปจนถึงตามเรือสินค้าที่ถูกส่งมาจากอังกฤษเพื่อทำการค้าขาย ในตอนนั้นจีนสามารถริบฝิ่นจากพ่อค้าชาวอังกฤษได้หลายพันตัน และจัดการเผาทิ้งเสียหมด เรียกได้ว่าเป็นการหักหน้าพ่อค้าชาวอังกฤษอย่างจัง
ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นราชวงศ์ชิงและเหล่าประชาชนจีน ซึ่งแน่นอนว่าผู้เสียผลประโยชน์ก็คือพ่อค้าอังกฤษ แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ทางอังกฤษกลับมองเห็นวิกฤติเป็นโอกาส เมื่อมีมาตรการปราบปรามฝิ่น ทางอังกฤษจึงมองเห็นข้ออ้างในการสำแดงอำนาจเพื่อที่จะสร้างโอกาสเข้าไปทำการค้าขายถึงใจกลางของประเทศ
ในช่วงต้น กองทัพอังกฤษเข้าโจมตี เพียงเพื่อหวังจะแสดงแสนยานุภาพทางด้านการทหารเพื่อข่มขวัญทางการจีนเท่านั้น และให้โอกาสจีนได้ยกเลิกนโยบายปราบปรามฝิ่น แต่ในมุมมองของชาวจีน การมารุกรามของอนารยชนเหล่านี้ พวกเขาต้องการที่จะมาล้มล้างราชวงศ์และเข้ายึดครองแผ่นดินจีนเสียมากกว่า ทางฝั่งจีนจึงเริ่มตอบโต้อย่างเต็มกำลังจนสงครามยืดเยื้ออยู่หลายปี
สงครามฝิ่นเกิดขึ้นอยู่ 2 ครั้งหลัก ๆ ระลอกแรกดำเนินอยู่ระหว่างปี 1839 - 1842 และระลอกที่สองอยู่ระหว่างปี 1856 - 1860
คนจีนสมัยนั้นมองว่าสงครามฝิ่นเกิดจากความไร้ศีลธรรมของอังกฤษที่เข้ามามอมเมาคนจีนด้วยฝิ่น จึงเรียกสงครามนี้ว่า 'สงครามฝิ่น' แต่กลับกัน คนอังกฤษมองว่าการค้าฝิ่นเป็นเรื่องของธุรกิจการค้าขายปกติเท่านั้น การที่ทางการจีนมีนโยบายปราบปรามฝิ่นย่อมเป็นการกระทำที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในทางการค้า ซึ่งผิดหลักความยุติธรรมเป็นอย่างมาก พวกเขาจึงเรียกว่าสงครามนี้ว่า 'สงครามการค้า' (trade war)
ตามประวัติศาสตร์แล้วจีนเคยรบพุ่งกับเฉพาะผู้รุกรานที่เป็นชนเผ่านอกด่าน ห้ำหั่นกันแค่สงครามภายใน แต่ไม่เคยต้องมาเกิดการกระทบกระทั่งกับชาติมหาอำนาจจากแดนไกลดังเช่นอังกฤษมาก่อน
กลยุทธ์การรบในสงครามฝิ่นจึงแสดงให้เห็นถึงความลังเลของกองทัพราชวงศ์ชิง การตัดสินใจที่ไม่เด็ดขาด เมื่อควรจะรุกคืบกลับถอยมาตั้งรับ ครั้นเวลาที่ควรจะตั้งรับดันรุกคืบเสียซะอย่างนั้น รวมถึงความหวงแหนในดินแดนของเผ่าแมนจูที่อยู่ทางตอนเหนือ มากกว่าการให้ความสำคัญต่อกลยุทธิ์ในสมอรภูมิทางภาคใต้ กองกำลังที่ประจำอยู่ทางภาคใต้ซึ่งเหมาะต่อการเป็นสมอรภูมิ จึงถูกเรียกกลับขึ้นไปป้องกันดินแดนแมนจูทางเหนือเพราะความหวาดระแวงขององค์จักรพรรดิ
ประกอบกับความห่างชั้นทางอาวุธยุทโธปกรณ์ และกลยุทธ์การรบ รวมถึงปัญหาการเมือง และสงครามภายในจีนเอง ก็ได้สร้างความเสียเปรียบอย่างใหญ่หลวงให้กับกองทัพราชวงศ์ชิงในตอนนั้น
จนเวลาผ่านไปเพียงไม่นานอังกฤษก็ยกทัพมาประชิดเมืองหนานจิงซึ่งเป็นเมืองหลวงในขณะนั้นได้สำเร็จ จีนจึงจำต้องยอมจำนนในที่สุด
เกิดการเซ็น 'สนธิสัญญาหนานจิง' ที่มีเนื้อหาบังคับให้จีนเปิดเมืองท่าตามชายทะเลเพื่อทำการค้าขายกับอังกฤษ รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ที่ถือสัญชาติอังกฤษจะไม่ต้องขึ้นศาลจีน รวมถึงสิทธิใด ๆ ที่อังกฤษได้ต่างชาติอื่น ๆ (ชาติตะวันตก) ก็ต้องได้ด้วย พูดง่าย ๆ คือสนธิสัญญาที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากประเทศของตนได้อย่างไม่อั้น นับว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าอัปยศที่สุดช่วงหนึ่งของชาวจีนเลยก็ว่าได้
นอกจากนี้ยังมี 'สนธิสัญญากว่างตง' และ 'สนธิสัญญาปักกิ่ง' ที่ทำให้ประเทศจีนต้องสูญเสียดินแดนในส่วนของเกาะฮ่องกงและเอกราชบนเกาะเกาลูนไปอีก
ถึงสงครามจะจบไปแล้ว แต่ภายในทศวรรษที่ 19 คนจีนไม่น้อยกว่า 13 ล้านชีวิตที่ยังคงติดฝิ่นอยู่ เศรษฐกิจจีนถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ และราชวงศ์ชิงก็เข้าสู่สภาวะแห่งการล่มสลายในช่วงเวลานั้น
เมื่อสงครามปิดฉากลง คนจีนจึงเริ่มตระหนักได้แล้วว่า แท้จริงแล้วพวกเขาไม่ใช่เจ้าแห่งจักรวาล ยังมีประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษและเหล่าประเทศทางตะวันตกที่เจริญกว่าอีกมากมายยิ่งนัก และจักรพรรดิก็ไม่ใช่โอรสแห่งสวรรค์ที่ถูกส่งลงมาปกครองแผ่นดินจีน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง อำนาจแห่งสรวงสวรรค์ก็คงจะปกป้องพวกเขาจากการถูกรุกรานในครั้งนี้ได้อย่างแน่แท้
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความอ่อนแอของจีนในยุคนี้ เป็นเหตุให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มคนที่เสื่อมศรัทธาในระบบการปกครองยุคโบราณ และรวมตัวกันผลักดันให้ประเทศจีนก้าวเข้าสู่ยุคใหม่
นับตั้งแต่ช่วงปลายราชวงศ์ชิงของชาวแมนจู ซึ่งเป็นความเน่าในของระบบการปกครองแบบจักรพรรดิที่อ่อนแอ ยึดถือในตัวตนและความยิ่งใหญ่ในอดีตมากเกินไป นำมาสู่การเสื่อมเสียวิถีชีวิตในสังคมของตนเองลงไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้การเข้ามากอบโกยกันอย่างคึกคักของลัทธิล่าอาณานิคม ก็เป็นตัวจุดชนวนอย่างดีที่ผลักดันให้ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง
โดยหลังจากนั้นจีนยังคงต้องเผชิญกับภาวะความซบเซาทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากสงครามฝิ่น ซึ่งในเวลาต่อมาก็ต้องรับผลกระทบอย่างหนักจากการรุกรานของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 และต้องผ่านการปฏิวัติรูปแบบการปกครองครั้งใหญ่ ๆ ถึง 2 ครั้งกว่าจะเป็นจีนในทุกวันนี้ได้
'สงครามฝิ่น' อาจไม่ใช่จุดเปลี่ยนที่ทำให้จีนหนีพ้นจาก 'ยุคป่วยไข้' โดยตรง และทันที
แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวจีนได้รู้จักโลก และรู้จักตัวเอง เป็นการบีบบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอด
ความตกต่ำถึงที่สุดอาจไม่ใช่ความตกต่ำเสมอไป หากว่าความตกต่ำนั้นได้จุดชนวนขับเคลื่อนพลังแห่งความเปลี่ยนแปลงขึ้นมา....
หลังจากสงครามฝิ่นได้เกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงอีกมากมายเป็นระลอกแล้วระลอกเล่า รวมถึงตำนานของยอดคนอย่างซุนยัดเซ็น, เหมา เจ๋อตง, เติ้ง เสี่ยวผิง หรือแม้กระทั่ง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนคนปัจจุบันอีกด้วย
การสิ้นสุดลงของสงครามฝิ่น คือการปิดฉากจีนยุคโบราณ และเป็นจุดที่นำไปสู่จุดเริ่มต้นของมหาอำนาจยุคใหม่ในปัจจุบัน
บางครั้ง จากจุดที่ตกต่ำสุดจึงจะทะยานขึ้นไปสู่จุดสูงสุดได้ ไม่ว่าประเทศ หรือคน
"มังกรได้ตื่นขึ้นแล้ว แผ่นดินที่เคยป่วยไข้กำลังผงาด"