xs
xsm
sm
md
lg

40 ปี จีนปฏิรูป เปิดประเทศ : เปลี่ยนทุ่งนาผู่ตง เป็นเมืองมังกรผงาดศูนย์กลางการเงินโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู่ตงในอดีตเมื่อ 30 ปีก่อน (บน) เมื่อมองจากฝั่งผู่ซี เทียบกับปัจจุบัน (ภาพรอยเตอร์ส)
เป่ยจิงนิวส์ / MGR online - เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่แยกตะวันตก ตะวันออก คดเคี้ยวตามสองฝั่งแม่น้ำหวงผู่ โดยเรียกฝั่งตะวันตกของแม่น้ำหวงผู่ว่า ผู่ซี (ผู่ตะวันตก) และผู่ตง (ผู่ตะวันออก) ซึ่งนอกจากความแตกต่างทางทิศที่ตั้งฟากฝั่งน้ำ ยังแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในสภาพความเจริญ

ในช่วง 30 กว่าปีก่อน ชาวเมืองผู่ตงไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าพื้นที่ผู่ตงจะพัฒนามาได้อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทุกคนบนฝั่งผู่ตงได้แต่มองเห็นความเจริญของฝั่งผู่ซี ที่มีประวัติการพัฒนายาวนาน ยามค่ำคืนแสงไฟสว่างไสว รถราบนถนนคึกคัก ตรงข้ามกับฝั่งผู่ตง ยามค่ำมีเพียงความมืด ทางถนนดินโคลน

เวลานั้นหากมองจากเดอะบันด์ ฝั่งผู่ซี จะเห็นผู่ตงเป็นทุ่งเวิ้งว้าง พื้นที่รกร้าง สลับกลุ่มบ้านเรือนเตี้ย ๆ และมีเพียงเรือข้ามฟากเชื่อมโยงไปมาสองฝั่ง

แต่ทุกสิ่งเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2533 เมื่อผู่ตงได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปและการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่องของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และสภาแห่งรัฐ ซึ่งตัดสินใจที่จะพัฒนาพื้นที่ผู่ตงเป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" และตั้งชื่อว่า "เขตผู่ตงใหม่"

ผู่ตง นับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ การปฏิรูปและการเปิดประเทศของจีน แทบจะกล่าวเปรียบได้ว่า คือการเนรมิต

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 สำนักงานพัฒนา ได้ใช้โกดังสินค้าร้าง มาปรับปรุงสำนักงานพัฒนาเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ และสถาบันวิจัยและการออกแบบการวางแผนพัฒนาผู่ตง เซี่ยงไฮ้ อาคารนี้ เป็นอาคารสองชั้น เลขที่ 141 บนถนนผู่ตง ใช้ชั้นแรกซึ่งเคยเป็นคลังสินค้าเป็นล็อบบี้ และห้องประชุม ขณะที่สำนักงานจะอยู่บนชั้นสอง มีโต๊ะทำงานเพียง 4 โต๊ะ เก้าอี้ 4 ตัว สภาพในเวลานั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีโต๊ะทำงานส่วนตัว พวกเขาต้องแบ่งใช้ด้วยกัน และแต่ละคนก็มีลิ้นชักเพียงหนึ่งช่อง

กระแสน้ำแห่งการพัฒนา และความอุตสาหะ ได้ลอดผ่านเวลาพาความเจริญมาสู่อีกฝั่งของแม่น้ำหวงผู่ จากถนนดินโคลน กระท่อมและโครงสร้างที่ผิดกฎหมาย ถูกรื้อสร้างใหม่กำหนดพื้นที่เป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าเสรี (Lujiazui Financial and Trade Zone) การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพียงข้ามคืน ตึกระฟ้ามากมายผุดขึ้น ทางดินโคลนถูกเปลี่ยนเป็นถนนแห่งความรุ่งเรือง (Silver City Middle Road)

เหวิง จูเหลียง เลขานุการพรรค ประจำเขตผู่ตงใหม่ กล่าวถึงการพัฒนาผู่ตง ว่าสามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 10 ปี โดยช่วงแรก ระหว่างปี 2533-2544 เป็นช่วงการพัฒนาที่รวดเร็ว โดยมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก และมีนโยบายพิเศษจากรัฐบาลกลาง

ช่วงที่สองระหว่างปีพ.ศ. 2544 ถึง พ.ศ. 2555 คือขั้นตอนการปฏิรูปที่ครอบคลุม นำร่องในการสร้างและปรับปรุงระบบเศรษฐกิจการตลาดเชิงสังคมนิยมให้สอดคล้องกับแนวทางสากล

ช่วงที่สามซึ่งเริ่มดำเนินการในปีพ.ศ. 2555 และยังคงดำเนินต่อไปในปัจจุบัน คือขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีชั้นนำของประเทศจีน (FTZ) ซึ่งจะช่วยยกระดับนวัตกรรมไฮเทคและการพัฒนาในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หากเล่าลำดับตามเวลา จะเห็นได้ว่าตลอดช่วงทศวรรษ 1990 ผู่ตงเป็นพื้นที่ที่มีแต่การก่อสร้างขนาดใหญ่ หอกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์โอเรียนเต็ลเพิร์ล ซึ่งเป็นอาคารที่โดดเด่นในเซี่ยงไฮ้ ก็เริ่มเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2534 และสร้างเสร็จสิ้นในปี 2538 อาคารสูง 468 เมตรเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศจีนในเวลานั้นก็อยู่ที่นี่ โดยเป็นตึกระฟ้าสูงเป็นอันดับแรกในเซี่ยงไฮ้ด้วย จนกระทั่งต่อมาสถิตินี้ถูกสร้างใหม่โดยศูนย์การเงินซั่งไห่ เวิลด์ ไฟแนนเชียล เซ็นเตอร์ (Shanghai World Financial Center) อาคารสูง 492 เมตร และหอคอยเซี่ยงไฮ้ 632 เมตร ในผู่ตง

ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ได้เริ่มดำเนินการ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2533 โดยการนำสถาบันการเงินจำนวนมาก ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์ไปอยู่ที่เมืองผู่ตง

ในขณะเดียวกันธนาคารกลางจีนและต่างประเทศรวมทั้งธนาคารประชาชนจีน (สาขาเซี่ยงไฮ้) ธนาคารเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมแห่งประเทศจีน ธนาคารซิตี้แบงก์ และธนาคารเอชเอสบีซี เริ่มเข้ามาในศูนย์กลางการเงินแห่งโลกอนาคตนี้

ในเดือนกันยายนปี 2533 เป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาและการพัฒนาของผู่ตง โดยเริ่มจากการพัฒนาเขตพัฒนาการส่งออก Jinqiao Export Processing Zone Development และ เขตการเงินและการค้าเสรี

วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2535 บริษัทประกันภัยอเมริกันเอไอเอเซี่ยงไฮ้ได้จดทะเบียนและเปิดกิจการในเมืองผู่ตง เป็นบริษัทประกันภัยต่างชาติแห่งแรกในประเทศจีน

ในปีพ.ศ. 2536 สะพานหยางผู่ ที่เชื่อมระหว่างผู่ตงและผู่ซี ได้เริ่มเปิดใช้งาน ช่วยลดการสัญจรของเรือข้ามฟากที่แออัด

พ.ศ. 2538 กิจการค้าปลีกร่วมทุนจีนกับต่างชาติรายแรกเริ่มเกิดขึ้น คือ No.1 Yaohan Co. Ltd และ ในเดือนธันวาคม 2542 ตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ หรือ SHFE (Shanghai. Futures Exchange) เปิดอย่างเป็นทางการและค่อย ๆ สร้างศักยภาพในการแข่งขันจนมีบทบาทหลักในตลาดโลก

ปีต่อมา บริษัท เซี่ยงไฮ้ไดมอนด์เทรด ก่อตั้งศูนย์นำเข้าส่งออกเพชรแห่งแรกในประเทศจีน เดือนพฤศจิกายน ปีพ.ศ. 2543

ปีพ.ศ. 2544 พัฒนาการของผู่ตงได้เข้าสู่ยุคใหม่เต็มรูปแบบ หลังจากที่จีนเข้าร่วมองค์การการค้าโลกในปีนั้น และได้เป็นสถานที่จัดงาน World Expo 2010 มีการสร้างทางรถไฟใต้ดิน อุโมงค์ลอดและสะพานตลอดแนวแม่น้ำทั้งสองแห่ง

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2556 โครงการนำร่องเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Pilot FTZ) ได้ถูกกำหนดขึ้นจากพื้นที่ 28.78 ตารางกิโลเมตร และขยายไปอีก 120.72 ตารางกิโลเมตร ในช่วงปลายปี 2557 โดยสี จิ้นผิง กล่าวว่าเขตการค้าเสรีนี้เป็นการทดลองขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะมีผลสำเร็จที่น่าพอใจ ซึ่งในปีต่อ ๆ ไปเขตผู่ตงนี้ จะได้รับการส่งเสริมในด้านอื่น ๆ เช่นเดียวกับเขตการค้าเสรีของจีนที่มีจำนวน 13 เขต

ในขณะที่รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ ออกกฎหมายและข้อบังคับจำนวน 20 ฉบับเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ สำหรับรัฐวิสาหกิจในท้องถิ่นตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2558 สภาแห่งรัฐ ยังได้เผยสร้างปรับเสริมนโยบายต่าง ๆ มากมาย ซึ่งทำให้ขั้นตอนการบริหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู่ตง ทุ่งเวิ้งว้างเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ได้กลายเป็นเฟืองจักรขับเคลื่อนความเจริญของเซี่ยงไฮ้ไปแล้ว ในช่วง 28 ปีที่ผ่านมา GDP ของผู่ตง ได้พุ่งขึ้นจาก 6,000 ล้านหยวน (874 ล้านดอลลาร์) ในปี 2533 เป็น 965,100 ล้านหยวน (140.8 พันล้านเหรียญ) ในปี 2560 และคาดว่าจะเกินกว่า 1 ล้านล้านหยวน (146 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2561

ในขณะเดียวกัน รายได้รัฐบาลของผู่ตง เพิ่มขึ้นจาก 1,100 ล้านหยวน (160.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2536 เป็น 393,800 ล้านหยวน (57.47 พันล้านดอลลาร์) ในปีที่ผ่านมา และรายได้ต่อหัวของชาวเมืองและชนบทเพิ่มขึ้นเป็น 60,715 หยวน (8,860 เหรียญสหรัฐ) 2017 สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของชาวเมืองเซี่ยงไฮ้ ที่ 58,988 หยวน (8,609 ดอลลาร์)

"เมื่ออิ่มท้อง ย่อมได้เวลาสร้างความอุดมในทุกด้าน" ความสำเร็จในการพัฒนาบทบาทของศูนย์การเงินของผู่ตงเป็นเพียงการเริ่มต้น และตอนนี้ผู่ตง มีเวลาที่จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการยกระดับบริการสาธารณะและสถานะทางวัฒนธรรมบ้างแล้ว

เราจึงเห็นการพัฒนาพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก บริการห้องสมุด ระบบไวไฟ บริการด้านสุขาภิบาลการจัดเก็บและบริการฉุกเฉินสำหรับสาธารณชน ที่เป็นวาระสำคัญในระยะที่สามของการพัฒนาผู่ตงนี้

มรดกทางอุตสาหกรรมตามแนวชายฝั่งได้รับการปรับปรุงทั่วไป คลังสินค้าถ่านหินเดิมถูกเปลี่ยนเป็นแกลเลอรีศิลปะ ซึ่งมีการจัดนิทรรศการฟรี สำหรับประชาชนทั่วไป

นายซัน หยู รองผู้อำนวยการแผนกประชาสัมพันธ์ของเขตผู่ตงใหม่ บอกว่า "ในอดีตเมื่อเทียบกับฝั่งผู่ซีนั้น ผู่ตงถือได้ว่าเป็นทะเลทรายทางวัฒนธรรม ทั้งที่เซี่ยงไฮ้อุดมไปด้วยวัฒนธรรมและศิลปะ แต่ในอดีตกิจกรรมทางวัฒนธรรมและศิลปะทั้งหมดถูกจัดขึ้นที่ฝั่งผู่ซี แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์นี้เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว โดยความพยายามของเรา"

ฝั่งผู่ตง เริ่มมีศูนย์ศิลปะ MIFA 1862 ซึ่งดัดแปลงอาคารจากอู่ต่อเรืออายุ 156 ปีที่ตั้งอยู่บนถนนปินเจียง ที่กลายเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ชมศิลปะการละคร

ในปีพ.ศ. 2560 ประเทศจีนพื้นที่จัดการแสดงคอนเสิร์ตกลางแจ้งขนาดใหญ่ จุผู้ชมกว่า 10,000 คน จำนวน 27 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ 9 แห่งอยู่ที่เมืองผู่ตง และอนาคตอันใกล้ พ.ศ. 2563 ผู่ตงยังจะมีเซี่ยงไฮ้โอเปร่าเฮาส์ด้วย

ช่วง 30 ปีที่ผ่านมาของการพัฒนาผู่ตง เป็นแรงบันดาลใจสำหรับศิลปินจำนวนมาก ซึ่งพบว่าผู่ตงไม่ได้เป็นทะเลทรายทางวัฒนธรรมอีกต่อไป แต่เป็นพลังทางวัฒนธรรมใหม่ ๆ ของอนาคต"

ผู่ตงซึ่งเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานั้น เป็นพื้นที่ที่ไม่อยู่ในสายตาใคร แต่ตอนนี้เป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ท่าอากาศยานนานาชาติของเมือง และหอคอยแห่งอนาคต Oriental Pearl Tower

ความเปลี่ยนแปลงของเมืองผู่ตงนี้ ก็เหมือนกับ "ความฝัน" ซึ่งหลาย ๆ คนกล่าวยอมรับว่า ทุกวันนี้นั่งมองไปที่ฝั่งผู่ตง ยังไม่เชื่อสายตาตัวเอง มันเหลือเชื่อ มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์

ชาวผู่ตงทุกรุ่นที่อาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้ มีความทรงจำที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนี้ คนรุ่นปู่มองเห็นเป็นพื้นที่สงคราม คนรุ่นพ่อมองเห็นการบุกเบิก คนรุ่นนี้เห็นความมั่งคั่ง

.....................
ข้อมูลเรียบเรียง และภาพจาก
1. Shanghai's 26-year mega-city transformation captured https://www.telegraph.co.uk/…/Shanghais-26-year-mega-city-t…

2. From Farmland to Wonderland
http://www.bjreview.com/Nat…/201809/t20180922_800142254.html

3. Reforms under Deng Xiaoping http://www.fsmitha.com/h2/ch32prc.html

4. Thirty Years of Economic Reform and Openness in China https://ageconsearch.umn.edu/bitstream/90620/2/WP%2051.pdf
กำลังโหลดความคิดเห็น