ไชน่าเดลี (20 ก.ย.) ผู้เชี่ยวชาญฯ กล่าวในการประชุม World Science Literacy ได้เรียกร้องให้มีการสร้างระบบการศึกษา STEM ครบวงจร เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นของจีน
หู่ เว่ยผิง ศาสตราจารย์และผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการหลักของ Modern Teaching Technology ที่มหาวิทยาลัยส่านซี นอร์มัล กล่าวในการประชุม World Science Literacy ซึ่งจัดที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 17-19 กันยายนที่ผ่านมาว่า บริษัทและโรงเรียนต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาด้าน STEM ซึ่งได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่พวกเขายังมักมุ่งเน้นที่ผลิตภัณฑ์มากกว่าบ่มเพราะฟูมฟักพรสวรรค์ตั้งแต่วัยเด็ก
"การศึกษา STEM ในประเทศของเรา จำเป็นต้องได้รับการออกแบบอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการกำหนดนโยบายการปฏิรูปหลักสูตรและนวัตกรรมการเรียนการสอน" เขากล่าว และว่า "แม้ว่ากองทุนวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติของประเทศจีน ได้ให้เงินสนับสนุนโครงการด้านการศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 แต่โครงการที่เกี่ยวกับศึกษาเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์ยังไม่มีอยู่ในรายการ"
"นั่นคือเหตุผลที่ผมได้เรียกร้องให้มีกองทุนเพื่อเริ่มต้นการทำงานในประเด็นนี้ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้รับการสนับสนุนทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยี" ศาสตราจารย์หู่กล่าว
ศาสตราจารย์หู่ ยังกระตุ้นให้โรงเรียนเสริมเนื้อหา STEM เพิ่มเติมเข้าไปในหลักสูตรประจำวัน แทนที่จะเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตร เนื่องจากกิจกรรมนอกหลักสูตรที่พบมากที่สุด เช่น การประกอบหุ่นยนต์ หรือการเข้าร่วมการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องมีการคิดหรือการออกแบบที่ลึกซึ้ง
"จุดมุ่งหมายหลักของกิจกรรมของโรงเรียน ควรทำให้นักเรียนสามารถคิดได้ ไม่ใช่การทำผลิตภัณฑ์" เขากล่าว
การศึกษา STEM ของจีนยังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ในปัญหาขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์ระดับมืออาชีพ และการฝึกอบรมวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมให้กับครูที่มีอยู่ ซึ่งประมาณ 80.5 เปอร์เซ็นต์ของครูผู้สอนที่เกี่ยวข้องกับวิชา STEM ไม่ได้รับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง และหลายคนมีการศึกษาระดับกลางหรือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
นอกจากนี้ นักการศึกษาชาวจีนควรหาแผนการวิธีการสอนและเป้าหมายที่ตอบสนองต่อระดับต่าง ๆ ควรมีการสอนทฤษฎีและการปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ผ่านการบรรยายประจำวัน สร้างวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพฝึกให้นักเรียนคิดอย่างจริงจัง
ด้านศาสตราจารย์เหริน โย่วชุน ศาสตราจารย์ด้านข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีด้านการศึกษาที่มหาวิทยาลัยอีสต์ ไชน่า นอร์มัล กล่าวว่าการศึกษา STEM เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ในขณะที่สังคมมุ่งสู่อนาคตดิจิทัล
"โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นของจีน ควรรวมโครงการและความรู้ความเข้าใจหลายด้าน เข้าไว้ในตำราเรียนและนักเรียนควรปรับปรุงทักษะในการแก้ปัญหาและการทำงานเป็นทีม"
ศาสตราจารย์เหริน เสนอว่ากระบวนการเรียนรู้ควรได้รับการประเมินอย่างละเอียด และโรงเรียนควรเริ่มต้นการจัดตั้งห้องทดลองนวัตกรรม อำนวยความสะดวกในสภาพแวดล้อมการศึกษา ที่เหมาะสมกับสถานการณ์การสอนทั้งแบบออนไลน์และแบบออฟไลน์