MGR Online / เอเจนซี - ยุคเติ้ง เสี่ยวผิง ก้าวขึ้นมามีอำนาจในจีนเมื่อปี ค.ศ. 1978 ได้ริเริ่มเปิดรับวิทยาการพัฒนาชาติตามตะวันตก ด้วย “นโยบายสี่ทันสมัย” พัฒนา 4 ด้าน คือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การป้องกันประเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ในเวลานั้น คงยังไม่มีใครคิดว่าจีนจะพัฒนาจนทันสมัย แซงล้ำหน้าชาติอื่น ๆ ได้อย่างทุกวันนี้
จีนก้าวกระโดดขึ้นมาจากกลียุคแกะเปลือกไม้มาป่นกินแทนข้าว ด้วยความอุตสาหะของคนในประเทศจำนวนมากมาย ศาสตราจารย์หยวน หลงผิง "บิดาแห่งข้าวพันธุ์ผสม" วัย 87 ปี หัวหน้าศูนย์วิจัยข้าวของจีน ก็เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่จะได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของจีน ด้วยความเป็นนักปฐพีวิทยาและนักการศึกษา ซึ่งริเริ่มพัฒนาข้าวลูกผสมไฮบริด พันธุ์แรกในทศวรรษที่ 1970 จนทุกวันนี้ จีนมีข้าวไฮบริดมากกว่า 200 ชนิดแล้ว
ศาสตราจารย์หยวน เกิดที่กรุงปักกิ่งในปีพ.ศ. 2473 บ้านบรรพบุรุษของเขาอยู่ในเขตเต้ออัน จิ่วเจียง มณฑลเจียงซี เป็นคนจีนร่วมสมัยสงครามจีน - ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 และสงครามกลางเมือง ครอบครัวต้องอพยพและผลัดเปลี่ยนที่เรียนในโรงเรียนหลายแห่ง รวมถึงหูหนาน ฉงชิ่ง หานโข่ว และหนานจิง
หลังสำเร็จการศึกษาจาก Southwest Agricultural College (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ Southwest University) ในปีพ.ศ. 2496 หยวนจึงได้เริ่มสอนในโรงเรียนเกษตรกรรมในเมืองอันเจียง มณฑลหูหนาน
ภัยจากธรรมชาติและนโยบายทางการเมืองที่วิบัติ (ตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมือง จนถึงการก้าวกระโดดครั้งใหญ่) ได้ก่อให้เกิดวิปโยคชาวจีนนับล้านเสียชีวิต เพราะความอดอยาก
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หยวนได้ทุ่มเทชีวิตให้กับการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ดีกว่า ในปีพ. ศ. 2507 เขาได้ตั้งโรงวิจัยข้าวธรรมชาติเพื่อใช้ในการทดลองการผสมข้ามพันธุ์ของเขา พัฒนาให้มีข้อดีเหนือกว่าพันธุ์ชนิดอื่น
ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในตอนนั้น ก็คือยังไม่มีวิทยาการที่สามารถปลูกซ้ำข้าวพันธุ์ผสม ให้ได้ในปริมาณมาก และหยวนได้ใช้เวลาสองปี ค้นคว้าวิจัยจนประสบความสำเร็จแก้ปัญหาความเสื่อมของพันธุ์ข้าวอันเกิดจากการกลายพันธุ์ และทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าจนสามารถยืนยันเป็นทฤษฎีข้าวพันธุ์ผสม หรือข้าวไฮบริด
ในปีพ.ศ. 2522 เทคนิคการเพาะข้าวไฮบริดของเขาถูกนำเข้าสู่สหรัฐอเมริกา ทำให้เป็นกรณีแรกของทรัพย์สินทางปัญญาในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ปัจจุบัน ข้าวไฮบริดของศาสตราจารย์หยวน หลงผิง ได้เติบโตขึ้นในหลายสิบประเทศ ทั้งในทวีปแอฟริกา อเมริกาและเอเชีย พื้นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดความอดอยาก และผลงานข้าวพันธุ์ผสมหลากหลายชนิด ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อให้ผลผลิตสูงขึ้น และไปไกลอีกขั้น ด้วยการพัฒนาค้นคว้าข้าวไฮบริดทนน้ำเค็ม วิเคราะห์การจัดลำดับของยีน ทำให้ได้ข้าวน้ำเค็มสายพันธุ์ใหม่ "Sea-rice" เติบโตได้ดีในน้ำกร่อย น้ำเค็ม หรือแหล่งเสื่อมโทรมที่มีปัญหาดินเค็ม ทนต่อศัตรูพืช โรคพืช จนกระทั่งสามารถปลูกในทะเลทราย และปลูกโดยใช้น้ำทะเลที่มีความเค็ม
ศาสตราจารย์หยวน ได้เริ่มสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวน้ำเค็ม ในเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2559 เพื่อพัฒนาข้าวทนต่อการเจริญเติบโตของน้ำทะเลและดินเค็มได้ จนปี 2560 ได้ทดลองปลูกข้าว โดยใช้น้ำทะเลที่เจือจางบนดินเพื่อทดสอบว่าข้าวชนิดใดที่สามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำเค็ม ค้นพบข้าว 4 ชนิดในการทดลองฯ ซึ่งทนทานและให้ผลผลิตประมาณ 6.5 ถึง 9.3 ตันต่อเฮกตาร์ มีความเหมาะสมในการพัฒนาผลผลิตขนาดใหญ่
ศาสตราจารย์หยวน หลงผิง และคณะนักวิทยาศาสตร์จีน ประสบความสำเร็จล่าสุด ในการทดลองปลูกข้าวในที่ลุ่มน้ำเค็ม ที่นครดูไบแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สามารถปลูกข้าวได้ในพื้นที่เขตร้อนทะเลทราย โดยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 500 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ปลูกราว 666 ตารางเมตร หรือ 1 หมู่ ตามหน่วยวัดของจีน (1 ไร่ เท่ากับ 1,600 ตารางเมตร) ทำให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้นไปอีก ที่จีนจะเข้าไปปลูกข้าวในดินแดนตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
โกลบอลไทม์ส เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมาได้รายงานความเป็นมาของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าว นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเนินทะเลทรายเวิ้งว้างกลายเป็นทุ่งนาข้าวเขียวขจี ห่างจากท่าเรือเจเบล อาลี เพียงขับรถหนึ่งชั่วโมง
ผลงานนาข้าวที่ปลูกบนทะเลทรายของนักวิทยาศาสตร์จีนนี้ สามารถเก็บเกี่ยวได้ถึง 7,500 กิโลกรัมต่อ เฮกตาร์ (6.25 ไร่) สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยของข้าวในทุ่งนาปกติทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 3,000 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์
ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ข่าวการเก็บเกี่ยวข้าวไฮบริดจีนในทะเลทรายดูไบ ยังเป็นเพียงข่าวที่ไม่มีรายละเอียดสำคัญๆ ของโครงการนี้ โดยรู้เพียงว่า นักวิทยาศาสตร์เตรียมขยายพื้นที่เพาะปลูกเป็น 100 เฮกตาร์ และมีเป้าหมายสำคัญการขยายพื้นที่ปลูกข้าวบนทะเลทรายให้ครอบคลุมพื้นที่ราว 10% ของทะเลทรายในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
โกลบอลไทม์ส เผยล่าสุดว่า แผนการนี้ชื่อว่า "Green Dubai" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยการเพาะปลูกข้าวด้วยน้ำทะเลของจีนในเมืองชิงเต่า กับกิจการส่วนพระองค์ของชีกห์ซาอีด บิน อาห์เหม็ด อัล มักตูม (Sheikh Saeed Bin Ahmed Al Maktoum) เจ้าผู้ปกครองนครดูไบ เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวด้วยน้ำทะเล ลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนอาหาร และน้ำในการเพาะปลูก อันเป็นเหตุทำให้ประเทศต้องนำเข้าอาหารถึง 80%
การทดลองปลูกข้าวน้ำเค็มของจีนในดูไบนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อได้รับคำเชิญไปทดลองปลูกข้าวในทะเลทรายของประเทศดูไบ จากชีกห์ซาอีด บิน อาห์เหม็ด อัล มักตูม หลังทรงทราบข่าวความสำเร็จของโครงการข้าวพันธุ์ผสมของศาสตราจารย์ หยวน หลงผิง ในประเทศจีน เมื่อปีพ.ศ. 2558
จาง กั่วตง รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยชิงเต่าในมณฑลซานตงกล่าวกับ โกลบอลไทม์ส ว่า "ครั้งแรกที่ทราบคำเชิญ เราไม่อยากเชื่อเลยว่ามันเป็นความจริง จนกระทั่งได้รับการยืนยันเรื่องนี้"
อย่างไรก็ตาม แม้การทดลองพิสูจน์ว่าข้าวสามารถทนต่อน้ำเค็ม และมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ แต่การย้ายการทดลองไปยังทะเลทรายจริงๆ นั้น ยังเป็นงานที่น่าวิตก
จาง ซู่วเฉิน หัวหน้าฝ่ายการผลิตของโครงการดูไบ ของศูนย์ชิงเต่ากล่าวว่า "ความร่วมมือกับผู้ปกครองนครดูไบ เป็นเรื่องที่ทำให้เราดีอกดีใจ แต่ก็กังวลเพราะสภาพดินและอากาศในดูไบต่างจากประเทศจีนมาก เรากลัวว่าการทดลองจะล้มเหลว"
"เรายอมรับคำเชิญ เพราะเชื่อว่าแม้ว่าเราจะล้มเหลว แต่นี่คือก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์การเพาะปลูกข้าว"
อุณหภูมิในทะเลทรายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากกลางวันถึงกลางคืน โดยมีความแตกต่างกันถึง 30 องศา เป็นความท้าทายที่สำคัญ นอกจากนั้น ยังมีพายุทรายซึ่งพัดทรายเข้ามา ทำลายความสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดิน
"นั่นหมายความว่า ระบบการเพาะปลูกข้าวแบบเดิม ๆ ส่วนใหญ่ที่เคยทำกันมานั้น จะใช้ไม่ได้กับที่นครดูไบ ดังนั้น เราต้องหาวิธีใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับความเป็นจริงในท้องถิ่น"
นอกเหนือจากการคัดเลือกประเภทข้าวที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับดินในท้องถิ่นได้ดีขึ้นแล้ว ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวิธีการในการปรับปรุงดินในท้องถิ่นอีก 4 วิธี ซึ่งรวมถึง การปรับสภาพความเป็นด่างของดิน และใช้วิทยาการอัจฉริยะ Internet of Things ('IoT' หรืออินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง) กับระบบการชลประทานใต้ดินอัจฉริยะ
นักวิทยาศาสตร์ได้ฝังระบบชลประทานอัจฉริยะไว้ใต้ทุ่งนา ลึกประมาณ 0.5 เมตร เพื่อส่งสารอาหารและน้ำไปยังรากของต้นข้าวโดยตรง และยังสร้างระบบติดตามสภาพใต้ดินอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบและปรับระดับน้ำทะเล
"มีบางครั้งที่เรากังวลความไม่แน่นอนของข้อมูล แต่ทุ่งนาไม่เคยหลอกใคร สำเร็จหรือล้มเหลว ได้หรือไม่ได้ ทุกอย่างจะชัดเจนจากสภาพการณ์ที่ทุ่งนา" จาง ซู่วเฉิน กล่าว
... แล้วในที่สุด ต้นข้าวก็ออกรวงกลางทุ่งทะเลทราย ...
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ได้เชิญทีมผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศทั้งอินเดีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่น ๆ เพื่อประเมินความคืบหน้า ซึ่งพบว่า ข้าว 5 ชนิดที่ปลูกในทะเลทราย ให้ผลผลิต 4.8-7.8 ตันต่อเฮกตาร์ ผลผลิตเหล่านี้ ยังสูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 4.5 ตันต่อเฮกตาร์
ในการทดลองที่ตามมา ทีมงานยังได้พบว่ามีข้าว 4 ชนิด ที่ผลผลิตมากกว่าผลผลิตเฉลี่ยทั่วโลก
การวิจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จครั้งแรกในการปลูกข้าวที่ทนต่อความเค็มในทะเลทรายของดูไบ
สมาชิกสภาพัฒนาภูมิภาคตะวันตก แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่า ความสำเร็จของการทดลองนี้เป็นข่าวดีสำหรับพื้นที่ทะเลทรายที่ติดกับทะเล และแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่บนดินแดนนี้เป็นไปได้จริง คณะผู้บริหารท้องถิ่นนครดูไบ ยังได้หุงข้าวให้ผู้สื่อข่าวโกลบอลไทม์ส ลิ้มรสข้าวที่ปลูกในทะเลทราย พบว่าข้าวนึ่งหอมพิเศษ และรสชาติน่าประทับใจ ไม่มีความเค็มเลย
ณ เวลานี้ ดูไบ ยังมีโครงการพัฒนาที่ดินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนทางที่จะทำนาข้าวน้ำเค็มเชิงพาณิชย์ในระยะยาว
จาง ซู่วเฉิน กับทีมวิจัยข้าวน้ำเค็มของจีนซึ่งมีประมาณ 20 คน รับผิดชอบการทดลองและค้นคว้าวิจัยต่าง ๆ รวมถึงการปรับปรุงดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตรกรรม ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2561 โดยเดินทางไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อแก้ปัญหาในระยะการเติบโตต่าง ๆ ของข้าว ตั้งแต่ระยะปักดำต้นกล้าไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์
ภายใต้แนวทางของข้อตกลงกรอบความร่วมมือ "Green Dubai" ทีมวิจัยของจีนจะดำเนินการทดสอบเป็น 4 ขั้นตอน รวมกับการทดสอบเชิงอุตสาหกรรม
ขั้นตอนแรกนั้น เกี่ยวข้องกับการทดสอบความหลากหลายของวิธีการปลูกข้าวที่อุณหภูมิต่าง ๆ เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่า ข้าวพันธุ์ไหน และเทคนิคปลูกใดมีความเหมาะสมที่สุด
การทดลองในช่วงที่เหลือ ของปี พ.ศ. 2561 กำลังอยู่ระหว่างดำเนินงาน เป้าหมายหลักคือการตรวจวิเคราะห์ในภาคสนาม ณ สถานีเก็บตัวอย่างของดินที่เหมาะสมและการไหลเวียนของปุ๋ย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิต
ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มขั้นตอนที่สาม ในปีพ.ศ. 2562 ซึ่งจะรวมถึงการพัฒนานาข้าวน้ำเค็ม และสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดิน นิเวศวิทยาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแนะนำการลงทุนทางการค้าโดยการใช้เงินทุนจากโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งทาง
ขั้นตอนที่สี่ คือขั้นสุดท้ายเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีในพื้นที่มากขึ้นภายในปี พ.ศ. 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายทุ่งนาข้าวน้ำเค็ม ครอบคลุมประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทะเลทรายชายฝั่งทะเลของดูไบ
ในอนาคตประเทศจีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังวางแผนที่จะจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและส่งเสริมข้าวน้ำทะเลด้วย เพื่อร่วมเพาะปลูกข้าวน้ำทะเล ทั้งในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือด้วย