โดย พชร ธนภัทรกุล
ชาวแต้จิ๋วเรียกวันนี้ว่า ชิก-ง้วย-ปั่ว-โจ่ย (七月半节) แปลว่าวันสารทกลางเดือนเจ็ด มีบ้างที่เรียกว่า กุยโจ่ย (鬼) คือวันงานของผี ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติจีนแล้ว จะตรงกับวันที่ 15 เดือนเจ็ดของทุกปี
ปกติแล้ว ไม่ว่าเทศกาลไหนของจีน ก็จะมีของกินที่เป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลนั้นๆ เช่น ตรุษจีน มีขนมเข่งขนมฟู วันเช็งเม้ง ชาวแต้จิ๋วในจีนมี จี-พก-ก้วย(积朴粿) แต่ชาวแต้จิ๋วในไทย ดูเหมือนจะไม่มีของกินประจำเทศกาลนี้ เทศกาลตวนอู่หรือวันไหว้บ๊ะจ่าง ก็มีบ๊ะจ่าง เทศกาลตังโจ่ยหรือขนมอี๊ ก็จะมีขนมอี๊ (คล้ายบัวลอย)
แต่เทศกาลสารทจีน สำหรับชาวแต้จิ๋วทั้งในจีนและในไทย ดูจะไม่มีของกินประจำเทศกาล คงมีเพียงของกินที่เป็นของเซ่นเครื่องไหว้เท่านั้น ซึ่งก็เป็นอะไรที่คล้ายๆกับของเซ่นเครื่องไหว้ในเทศกาลอื่น ไม่มีอะไรเด่นเป็นพิเศษ
ชาวจีนเชื่อกันว่า ตลอดเดือนเจ็ดของทุกปีตามปฏิทินจีน ประตูเมืองผีจะเปิดตั้งแต่วันแรกไปจนถึงวันสิ้นเดือน เพื่อให้บรรดาผีทั้งหลายได้มีโอกาสออกจากเมืองนรกกลับมายังโลกมนุษย์เป็นเวลาหนึ่งเดือน เพื่อมา “เยี่ยม” ลูกหลาน มาดูว่า ในรอบปีที่ผ่านมา พวกเขาทำดีทำชั่วอะไรไว้ และอยู่ดีมีสุขกันไหม
เมื่อบรรดาผีบรรพชนอุตส่าห์เดินทางจากเมืองผี มา “เยี่ยม” ทั้งที คนบนโลกก็ควรมีพิธีต้อนรับขับสู้กันหน่อย ลูกหลานชาวจีนจึงเลือกเอาวันที่ 15 ของเดือนนี้ จัดเครื่องเซ่นของไหว้ มาเซ่นไหว้บรรพชน
แต่หากไม่มีการเซ่นไหว้ และพ้นวันนี้ไปแล้ว ผีบรรพชนที่ไม่ได้รับการเซ่นไหว้ ก็จะต้องกลายเป็นผีเร่ร่อนติดอยู่บนโลกมนุษย์ กลับไปเมืองผีไม่ได้ ต้องรอไปอีกหนึ่งปี เมื่อมีการเซ่นไหว้แล้วนั่นแหละ ถึงจะได้กลับไปเมืองผีกัน
ส่วนที่เลือกเซ่นไหว้ผีบรรพชนในวันที่ 15 เดือนเจ็ด ก็เพราะเป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง พืชผลบางชนิด เช่น ข้าวโพด มันเทศ งาและถั่วต่างๆ พุดซาจีน สาลี่ ลูกท้อ ลูกพลับ แม้แต่ฝ้าย ก็เริ่มสุกแก่เก็บเกี่ยวได้แล้ว เพื่อบอกกล่าวถึงผลเก็บเกี่ยวที่ได้ให้บรรพชนได้รับทราบ
ที่เล่ามานี้ เป็นเค้าลางบอกที่มาของวันสารทจีนว่า มาจากอิทธิพลคำสอนของขงจื๊อที่สอนให้ชาวจีนยึดถือความกตัญญูกตเวทิตาเป็นที่ตั้ง คือรู้คุณและแทนคุณ
ต่อมา ทั้งฝ่ายเต๋าและฝ่ายพุทธ ได้มองเห็นว่า ชาวจีนให้ความสำคัญกับวันนี้กันมาก จึงได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญของฝ่ายตนบ้าง กล่าวคือ
ฝ่ายเต๋ากำหนดให้เป็นวันเกิดของเทพเจ้าผู้ดูแลเมืองผี มีชื่อยาวเหยียดว่า 中元二品七炁赦罪地官洞灵清虚大帝青灵帝君 (ขอไม่ถอดเสียงอ่าน เพราะมันยาวเยิ่นเย้อ) แต่ชาวจีนเรียกกันสั้นๆว่า “จง-หยวน-ตี้-กวน” (中元地官) จึงเรียกวันนี้ว่า จง-หยวน-เจี๋ย (中元节)
ไหนๆเป็นวันเกิดทั้งที ท่านเทพเจ้าแห่งเมืองผีเลยใจดี อภัยโทษชั่วคราวแก่ผีทั้งหลาย พร้อมเปิดประตูเมืองผี ให้บรรดาผีไม่มีญาติได้มีโอกาสไป “เที่ยว” บนโลกมนุษย์ ยาวนานถึงหนึ่งเดือนเต็ม กลายเป็นวันหยุดยาวของบรรดาผีทั้งหลาย แล้วเกิดเป็นประเพณีเซ่นไหว้ผีไม่มีญาติขึ้น แยกต่างหากจากการเซ่นไหว้ผีบรรพชน
ส่วนทางฝ่ายพุทธ (มหายาน) ก็กำหนดให้วันนี้เป็นวัน “หวี-หลัน-ผึน (盂兰盆节) หรืออุลลัมพัน (ullambana) บอกเล่าเรื่องราวที่ภิกขุมู่เหลียน (目莲) บุกเมืองผีช่วยแม่ให้พ้นจากขุมนรก มาเป็นต้นเรื่อง กลายมาเป็นงานประเพณี ที่ชื่อว่า หวี-หลัน-ผึน-หุ้ย (盂兰盆会) ที่ชาวแต้จิ๋วในไทยเรียก หู่-หลั่ง-เส่ง-หวย (盂兰盛会-เสียงแต้จิ๋ว) โดยในงานจะมีพิธี “โพว-โต่ว-ซิ-โกว” (普度施孤) หรือที่เรารู้จักกันว่า งานประเพณีทิ้งกระจาด จุดประสงค์เดิม คือการแจกทานแก่ผีไม่มีญาติ เพื่อนำพาผีเหล่านี้ให้พ้นจากห้วงทุกข์ ต่อมาก็เลยแจกทานให้ทั้งผีทั้งคน (เน้นคนจน)
จากที่เล่ามา ชาวจีนมีการเซ่นไหว้ผีสองกลุ่ม คือกลุ่มผีไม่มีญาติ กับกลุ่มผีบรรพชนของตัวเอง ซึ่งก็เซ่นไหว้ต่างกัน มาเริ่มกันที่การเซ่นไหว้ผีไม่มีญาติกันก่อน
ชาวแต้จิ๋วเลี่ยงไม่เรียกผีไม่มีญาติทั้งหลายว่า กุ้ย (鬼) ที่แปลว่า ผี โดยตรง แต่เลี่ยงไปใช้คำที่มีความหมายดีกว่า เช่น โกวเอี๊ย (孤爷) อันเป็นการเรียกยกย่องเปรียบผีไม่มีญาติเหล่านี้ เป็นเจ้าใหญ่นายโต หรือ ฮอเฮียตี๋ (好兄弟) ซึ่งเป็นการเรียกที่แสดงความสนิทชิดเชื้อความเป็นกันเอง และความนับถือพวกเขาเสมือนพี่น้องเครือญาติ ดังนั้น จึงเรียกพิธีเซ่นไหว้ผีไม่มีญาติเหล่านี้ว่า “ไป้โกวเอี๊ย” (拜孤爷) หรือ“ไป้ฮอเฮียตี๋” (拜好兄弟)
การเซ่นไหว้ผีไม่มีญาติจะทำกันหลังเที่ยงวันไปแล้ว มีบ้างที่ไหว้หลังบ่ายสามโมงหรือหลังห้าโมงเย็น ต่างกันตามประเพณีของแต่ละถิ่น ชาวแต้จิ๋วในไทยมักไหว้ผีไม่มีญาติกันหลังเที่ยงวัน
ข้อสำคัญในพิธีเซ่นไหว้ คือไม่จัดโต๊ะไหว้ แค่ปูเสื่อปูผ้าวางอาหาร ผลไม้และของเซ่นไหว้ไว้บริเวณริมทางหน้าประตูบ้านนอกตัวอาคารก็พอ
เวลาไหว้ให้หันหน้าออกนอกอาคาร ไม่หันหน้าเข้าหาอาคาร เพื่อไม่เป็นการเชื้อเชิญผีไม่มีญาติเหล่านี้เข้าบ้าน
กระถางธูปให้ใช้กระป๋องหรือกระบอกไม้ไผ่ ใส่ข้าวสารไว้สัก 7 ส่วนทำเป็น “กระถางลอย” คือไม่ต้องเขียนชื่อใดๆติดไว้ คงตั้งลอยไว้อย่างนั้น ตั้งเทียนจีนไว้สองข้างกระถาง พร้อมกะละมังใบใหม่ใส่น้ำครึ่งหนึ่งและผ้าใหม่หนึ่งผืนไว้ให้ “ผี” ล้างหน้าล้างตา และล้างมือก่อนรับอาหารเครื่องเซ่นไหว้
เครื่องเซ่นไหว้ให้จัดอาหารปรุงจากเนื้อเป็ด เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา และผัก รวม 5 อย่าง ทำเป็นอาหารต่างๆราว 6-10-12 ชาม บ้างก็เพิ่มชุดเนื้อสัตว์ 3 อย่างที่เรียกว่า ซาแซ (三牲) มีห่าน (หรือเป็ดไก่) 1 ตัว เนื้อหมูต้มสุก 1 ชิ้น ปลานึ่งสุก 1 ตัว เหล้า 3-5-7-9-11 จอก น้ำชา 3 จอก ข้าวสวยตามจำนวนจอกเหล้า ขนมโก๋ ขนมเปี้ย ขนมโซวเกี้ยว (คล้ายกะหรี่ปับ) ขนมอิ่วจุ๋ง (คล้ายขนมกรอบเกลียว) เส้นหมี่ ข้าวของเครื่องใช้ชุดใหม่ ของแห้ง เช่น เครื่องกระป๋อง น้ำขวด น้ำอัดลม ข้าวสาร และอื่นๆ ที่ขาดไม่ได้คือ เฮียงหู่ (香腐) หรือเต้าหู้แข็ง นัยว่าเต้าหู้นี้เป็นเสมือนพาสปอร์ตวีซ่าใช้ผ่านประตูผีกลับไปเมืองผีได้
สำหรับผลไม้ เลือกใช้ผลไม้ต่างๆตามฤดูกาล ยกเว้นกล้วย ลูกไหน สาลี่ ฝรั่ง มังคุด น้อยหน่า มะเขือเทศ ที่เป็นผลไม้ต้องห้าม เหตุผลน่าจะมาจากชื่อจีนของผลไม้เหล่านี้ ที่ผู้ไหว้คิดว่าไม่เป็นมงคลหรือไม่อยากให้เกิดผลตามชื่อนั้นๆ จึงงดเสียไม่นำมาไหว้ เรื่องของต้องห้ามเหล่านี้แตกต่างกันไปตามประเพณีแต่ละท้องถิ่น จึงเกิดสสภาพที่ ผลไม้อย่างเดียวกัน จีนถิ่นนี้ห้ามนาเซ่นไหว้ แต่จีนถิ่นโน้น เอามาเซ่นไหว้ได้ คือไม่มีข้อห้ามร่วมกันชัดเจน
สิ่งที่ต้องเตรียมอีกรายการคือ กระดาษไหว้ ที่คนแต้จิ๋วเรียกว่า จั๋วจี๊ /จั๊วงึ่ง (纸钱/纸银) ซึ่งเมื่อไหว้เสร็จจะเผาส่งไปให้ผีไม่มีญาติเหล่านี้นำกลับไปใช้ยังเมืองผี ที่ต้องเตรียมมีเสียงึ้ง (小银) เป็นกระดาษติดเงินเปลวใบเล็ก
โกวอี (孤衣) คือกระดาษไหว้พิมพ์ลายหรือตัดพับเป็นรูปข้าวของเครื่องใช้ต่างๆในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า หมวก เป็นต้น
อวงแซจั้ว (往生钱) เป็นกระดาษไหว้ที่พิมพ์บทสวดให้กลับชาติไปเกิดใหม่ สี่มุมพิมพ์คำว่า แดนสุขาวดีตามความเชื่อของพุทธมหายาน
กิมงึ้งไฉ่ป้อ (金银财宝) เป็นกระดาษไหว้ที่พับเป็นเงินก้อนบ้าง ทองแท่งบ้าง
การไหว้เริ่มจากจัดวางตะเกียบให้ครบตามจำนวนจอกเหล้าและชามข้าวสวย จุดเทียนจีน รินน้ำชา รินเหล้า จุดธูปตามจำนวนของเซ่นไหว้บวกเพิ่มอีก 3 ดอก ไหว้แล้วปักธูป 3 ดอกไว้ในกระถางลอย ธูปที่เหลือปักไว้บนของเซ่นไหว้ให้ครบทุกที่ จากนั้นเผากระดาษไหว้โกวอีก่อน เสมือนหนึ่งให้ผีได้ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนมากินของเซ่น พอธูปหมดไปครึ่งดอก ให้เผากระดาษไหว้ “เสียงึ้ง” และ”กิมงึ้งไฉ่ป้อ” เรียงลำดับจากใหญ่ไปเล็ก เผาเสร็จ เอาเหล้าที่เซ่นไหว้เทใส่เถ้ากระดาษไหว้ บ้างมีการโปรยข้าวสารโปรยเกลือไปตามทางเดิน เพื่อขับไล่ความโชคร้าย แล้วไหว้ลา เสร็จพิธี
พิธีไหว้บรรพชนก็ทำคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ต้องจัดโต๊ะวางของเซ่นไหว้ มีป้ายชื่อบรรพชน และกระถางไหว้ประจำตระกูล (ไม่ใช่กระถางลอย) จำนวนกับข้าวจะมี 6-8-12 ชาม เวลาไหว้ต้องเริ่มก่อนเที่ยงราว 11 โมงเช้า ในระหว่างไหว้ อาจทอดเวลาออกไปได้ไม่เกินบ่ายโมง ขั้นตอนการไหว้นั้นเหมือนกัน เพียงไม่ต้องปักธูปไว้บนของเซ่นไหว้ กระดาษไหว้ใช้เหมือนกัน แต่ให้เปลี่ยนใช้ตั่วงึ้ง (กระดาษเงินใหญ่) แทนเสียงึ้ง และเพิ่มกิมจั้ว ส่วนธนบัตรกงเต๊กและของมีค่าอื่นๆจะเพิ่มด้วยหรือไม่ก็ได้ พอธูปหมดไปครึ่งดอก ให้จุดธูปไหว้รอบสองและสาม พอธูปรอบสามหมดไปหนึ่งในสามดอก ให้ยกกระดาษไหว้ขึ้นลา การเผาก็ไล่ลำดับเริ่มจากเผาโกวอี กิมจั้ว ตั่วงึ้ง และกิมงึ้งไฉ่ป้อ จากใหญ่ไปหาเล็ก เทเหล้าใส่เถ้ากระดาษไหว้ เก็บของเซ่นไหว้ เสร็จพิธีไหว้บรรพชน
วัฒนธรรมในเรื่องผีของชาวจีนมากด้วยเนื้อหา คงไม่อาจสรุปเอาง่ายๆว่าเป็นเรื่องงมงาย มีเรื่องราวเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมหยั่งรากลึกอยู่ในนั้น สอนในเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจากทั้งฝ่ายเต๋าและฝ่ายพุทธ รวมทั้งความกตัญญูรู้คุณจากคำสอนของขงจื๊อ ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งในการจรรโลงคุณธรรมของสังคมชุมชนชาวจีน และช่วยสร้างคนดีให้กับครอบครัว สังคมชาวจีน และบ้านเมืองโดยรวม
ดังนั้น เมื่อละเนื้อหาส่วนที่งมงายเสีย ประเพณีสารทจีนจึงเป็นประเพณีที่ดีงามที่สมควรได้รับการสืบทอดต่อๆไปตราบนานเท่านาน
*หมายเหตุ บทความเผยแพร่ครั้งใหม่ (rerun) วันที่ 22 สิงหาคม 2564 (เผยแพร่ครั้งแรก สิงหาคม 2561)