xs
xsm
sm
md
lg

กระแสพ่อแม่จีนซื้อการศึกษาพร้อมบ้านในไทย ทำภาคอสังหาฯไทยคึกคัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรุงเทพมหานคร  (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
MGR ONLINE/เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์--พ่อแม่จีนในยุคปัจจุบันที่แดนมังกรผงาดมั่งคั่งขึ้นแล้ว ต่างปรารถนาส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ แต่ยังลังเลที่จะควักกระเป๋าจ่ายค่าเล่าเรียนที่แพงระยับ หลายคนหันมาเลือกโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยแทน กระแสฯนี้ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในท้องถิ่นคึกคักไปด้วย

กรณีตัวอย่างในกระแสฯดังกล่าว นาง เบกกี้ หวัง คุณแม่ผู้มีลูกสาววัย 10 ขวบ และลูกชายวัย 6 ขวบ ส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งค่าเล่าเรียนปีหนึ่ง ต่ำกว่า 60,000 หยวน หรือกว่า 3 แสนบาท คิดเป็น 1 ใน 4 ของค่าเล่าเรียนปีละ 240,000 หยวน หรือราว 1.2 บาท ของโรงเรียนสองภาษาในกรุงปักกิ่ง

“พวกครูในโรงเรียนที่ปักกิ่ง เปลี่ยนหน้าบ่อยมาก แต่ในเมืองไทย ครูมีครอบครัวอยู่ที่นั่น ครูที่สอนจึงมีความเสถียรกว่า” นางหวัง กล่าว

ก่อนพาลูกมาเรียนที่เชียงใหม่ นางหวังได้ซื้อบ้านเดี่ยวในเชียงใหม่ เท่านั้นยังไม่พอ ยังซื้ออพาร์ทเมนท์ 31 ตารางเมตรในกรุงเทพ และอพาร์ทเมนท์ในเมืองพัทยาอีกด้วย

ในจีนกำลังเกิดกระแสกลุ่มพ่อแม่เผ่นหนีค่าเล่าเรียนของโรงเรียนนานาชาติในท้องถิ่น และระบบการเรียนการสอนแบบท่องจำในโรงเรียนรัฐ พวกเขามองมาที่ประเทศไทย มาเลือกสรรโรงเรียนนานาชาติให้ลูกๆ พร้อมกับมองหาช่องทางลงทุน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ เรียลเอสเตทระหว่างประเทศ Juwai.com ระบุปริมาณการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอสังหาฯไทยช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มีจำนวนมากทะลุปริมาณการสอบถามตลอดทั้งปี 2017 ประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายปลายทางอันดับหนึ่งของกลุ่มผู้ซื้อชาวจีนไปแล้ว โดยขยับขึ้นจากอันดับที่สามของปีก่อนหน้า

ข้อมูลของ International Schools Database ระบุว่าค่าเล่าเรียนของโรงเรียนนานาชาติที่นครเซี่ยงไฮ้ เท่ากับ 2,744 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือกว่า 91,500 บาท จัดว่าเป็นแพงที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน

การศึกษาเป็นปัจจัยประกอบร่วมที่ผลักดันนักลงทุนจีนออกไปลงทุนภาคอสังหาฯในต่างประเทศ ด้วยความวิตกว่าความมั่งคั่งในจีนจะหดตัวลงจากปัจจัยต่างๆจากปัจจัยการลดค่าเงินหยวน ภาวะเงินเฟ้อที่สูงลิบ เป็นต้น ไทยซึ่งมีข้อได้เปรียบอย่างเช่นที่ตั้งภูมิศาสตร์ที่ใกล้กว่าและค่าใช่จ่ายที่ถูกกว่า ได้กลายเป็นเป้าหมายปลายทางการลงทุนแห่งใหม่ของชาวจีน ต่อจากเป้าหมายการลงทุนเก่าแก่อย่าง สหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย

คริส เติ้ง นักธุรกิจเมืองหนันจิง มณฑลเจียงซูทางภาคตะวันออกจีน ซึ่งบินไปบินมาระหว่างจีนและอเมริกาเป็นว่าเล่น ในปีนี้เขาได้ซื้ออพาร์ทเมนท์ขนาด 35 ตารางเมตรทำเลใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ในราคา 1.3 ล้านหยวน หรือกว่า 6 ล้านบาท เขามีแผนย้ายลูกสาวมาเรียนที่โรงเรียนชั้นประถมศึกษาในไทย ขณะนี้ลูกสาวนายเติ้ง อายุสองขวบเรียนอยู่ในโรงเรียนอนุบาลในจีน

นอกจากนี้ นายเติ้ง กำลังพิจารณาการลงทุนในไทยด้วย เขามีหลักทรัพย์ทั่วโลกทั้งสินทรัพย์อสังหาฯในสหรัฐฯและตามเมืองต่างๆบนแผ่นดินใหญ่

“ในประเทศไทย ผมสามารถเช่าบ้านพักในราคาเดือนละ 5,000-6,000 หยวน ขณะที่บ้านของผมในหนันจิง ขนาด 100 ตารางเมตร ขณะนี้มูลค่า 5.6 ล้านหยวน” นายเติ้ง เผย

อีกกรณีหนึ่ง ด้วยผลตอบแทนประจำปีเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นแรงดึงดูดให้สาวนครฉงชิ่ง เจนิเฟอร์ อู๋ วัย 25 ปี มาลงทุนที่กรุงเทพฯ อู๋ได้ซื้ออพาร์ทเมนท์ ขนาด 28 ตารางเมตร ในราคา 566,000 หยวน โดยซื้อขายผ่าน Uoolo ซึ่งเป็นแอพที่ช่วยชาวจีนซื้ออสังหาฯในต่างประเทศ

“ฉันได้ยินว่ามหาวิทยาลัยต่างๆในไทย คุณภาพดี ในอนาคตฉันอาจส่งลูกๆมาเรียนที่นี่” นาง อู๋ กล่าว

นางหวังเล่าอีกว่า “กลุ่มพ่อแม่ที่มีแผนส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติในแผ่นดินใหญ่ที่ค่าเล่าเรียนแพงระยับ กำลังมองหาตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า ราคาถูกกว่าและคุณภาพไม่แพ้กัน และขณะนี้พ่อแม่หลายคนจึงตัดสินใจทิ้งการงานในจีน และย้ายไปอยู่ต่างแดนกับลูกๆ”

“การอาศัยอยู่ในไทย ฉันและลูกๆไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก ทุกครั้งที่พวกเราเดินทางกลับมาที่ปักกิ่ง ลูกๆจะถามว่า เมื่อไหร่เราจะกลับไปไทยอีก?”

ทั้งนี้ การปฏิรูปเศรรษฐกิจของจีน 40 ปีที่ผ่านมา ทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับสองของโลก ประชากรกลุ่มหนึ่งมั่งคั่งขึ้น จากสถิติที่ยังไม่สมบูรณ์ ระบุว่าประชากรมากกว่า 400 ล้านคน ในกลุ่มประชากรทั้งหมด 1.4 พันล้านคน เป็นผู้มีรายได้ปานกลาง และตัวเลขนี้กำลังเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เหอ ลี่เฟิง ผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูปและการพัฒนา (NDRC)

นอกจากนี้ ตัวเลขจากหน่วยงานต่างชาติ McKinsey & Co ระบุว่าในปี 2020 มากกว่า 3 ใน 4 ของกลุ่มผู้บริโภคในเขตเมือง จะได้รายได้ต่อปี เท่ากับ 60,000 หยวน ถึง 229,000 หยวน หรือราว 300,000 หยวน ถึง 1.145 ล้านหยวน ซึ่งแปลว่า ประชาชนเกือบ 400 ล้านคน จะถูกจัดเข้ามาอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง


กำลังโหลดความคิดเห็น