xs
xsm
sm
md
lg

ลิ่ว..ลิ่ว!...ครบรอบ 10 ปี เปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ที่พัฒนาโดยจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทัพรถไฟความเร็วสูงในนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย เตรียมขบวนพร้อมรับใช้ผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างเทศกาลตรุษจีนในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา (แฟ้มภาพ ซินหวา)
MGR ONLINE--ในวันที่ 1 ส.ค. 2008 จีนได้เปิดบริการเดินรถเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-เทียนจิน โดยสำนักข่าวซินหวาของทางการจีนได้นับเป็นเส้นทางรถไฟรุ่นไฮสปีดสายแรกของประเทศจีน และระบุว่าเครือข่ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในจีน ขยายจาก “ศูนย์” เมื่อ10 ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน ข้อมูล ณ ปี 2017 ระบุความยาวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีนทั้งสิ้น เท่ากับ 25,000 กิโลเมตร คิดเป็น 66 เปอร์เซนต์ของเส้นทางไฮสปีดโลก

ไชน่า เรลเวย์ ยังได้ตั้งเป้าขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ถึง 30,000 กิโลเมตร ภายในปี 2020

จีนได้สร้าง “แนวกระดูกสันหลัง” ของโครงข่ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เรียกว่า “สี่ระเบียงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ-ใต้” และ “สี่ระเบียงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก-ตะวันตก” อีกทั้งเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ตัดผ่านกลุ่มเมืองต่างๆ อาทิ กลุ่มเมืองเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง (长三角) กลุ่มเมืองเขตเศรษฐกิจแม่น้ำจูเจียง หรือแม่น้ำไข่มุก (珠三角) และปั๋วไห่ ริม (环渤海)เส้นทางเหล่านี้ได้เชื่อมโยงกลุ่มเมืองในพื้นที่เขตตะวันออก พื้นที่ตอนกลาง พื้นที่เขตตะวันตก และพื้นที่เขตตะวันออกเฉียงเหนือ นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยเพื่อพัฒนาเขตเมืองได้อย่างทั่วถึง

การพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีน ที่สามารถเดินรถทะลุทะลวงเขตต่างๆของประเทศนั้น มิใช่เรื่องง่าย ด้วยประเทศจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ชนิดที่ชาวยุโรปอย่างชาวเบลเยี่ยมเชื่อว่า ประเทศจีนเป็นทวีปมากกว่าประเทศ นอกจากนี้ยังประกอบด้วยภูมิประเทศหลากหลาย ทั้งเทือกเขาสูง ทะเลทราย เขตสภาพอากาศสุดขั้ว ในที่สุดพญามังกรก็ทำได้ “งูเหล็กจ้าวความเร็ว” จีนสามารถบุกฝ่าพื้นที่ในเงื่อนไขสภาพอากาศ และภูมิประเทศต่างๆ อีกทั้งได้ทำสถิติโลกหลายด้าน อาทิเช่น

- เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายฮาร์บิน-ต้าเหลียน ทอดผ่านพื้นที่เยือกแข็ง (permafrost) ที่อุณหภูมิต่ำสุด -40 องศาเซสเซียสในช่วงฤดูหนาว ส่วนต่างอุณหภูมิสูงสุด เกิน 80 องศาเซลเซียส

- เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-กว่างโจว เป็นเส้นทางสายหลักที่ยาวที่สุดในโลก 2,281 กม. ของแนวระเบียงเหนือ-ใต้ ทอดผ่านเขตสภาพอากาศหลากหลายและพื้นที่ที่เงื่อนไขธรณีวิทยาหลากหลาย

- เส้นทางรถไฟความเร็วสูงหลันโจว-อูลู่มู่ฉี ตัดผ่านทะเลทรายโกบี เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายยาวที่สุดในโลก ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในเฟสเดียว ในเขตพื้นที่ทะเลทรายและลมแรง

- เส้นทางรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ทำสถิติเป็นทางรถไฟไฮสปีดสายยาวที่สุดที่สร้างด้วยมาตรฐานสูงสุดในโลก แล้วเสร็จในเฟสเดียว

รถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-เทียนจิน ที่สถานีรถไฟอู่ชิง ในนครเทียนจิน จีนได้เปิดการเดินรถในเส้นทางรถไฟความเร็วนี้ระหว่างสองเมืองใหญ่นี้ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2008 (แฟ้มภาพ ซินหวา)

ผู้โดยสารกำลังขึ้นรถไฟความเร็วสูงรุ่น “ฟู่ซิง” ที่สถานีรถไฟหงเฉียว นครเซี่ยงไฮ้ วันที่ 21 ก.ย. 2017 ซึ่งเป็นวันประเดิมนำขบวนรถไฟ “ฟู่ซิง” มาวิ่งในเส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ด้วยอัตราเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำสถิติครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเดินรถไฟความเร็วสูงที่อัตราเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (แฟ้มภาพ ซินหวา)

จีนเปิดบริการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมหัวเมืองใหญ่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ฉงชิ่ง – กุ้ยหยาง ระยะทาง 347 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง จากเดิมราว 10 ชั่วโมง ภาพพนักงานต้อนรับกำลังรอผู้โดยสารที่สถานีรถไฟกุ้ยหยางทิศเหนือ มณฑลกุ้ยโจว ภาพ 25 ม.ค. 2018 (ภาพ ซินหวา)

เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างนครเซี่ยงไฮ้และนครคุนหมิงในมณฑลอวิ๋นหนัน หรือยูนนาน เป็นเส้นทางเชื่อมมหานครจากชายฝั่งตะวันออกสู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศซึ่งเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงหรืออาเซียน ความยาวเส้นทางนี้ เท่ากับ 2,066 กิโลเมตร เปิดบริการเดินรถฯเมื่อเดือนธ.ค.2016 (แฟ้มภาพ ซินหวา)

ส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างนครซีอันในมณฑลส่านซีและเฉิงตูในมณฑลเสฉวน ความยาวประมาณ 643 กิโลเมตร ย่นเวลาเดินทางโดยรถไฟระหว่างสองเมืองท่องเที่ยวยอดฮิตนี้ เหลือเพียง 3-4 ชั่วโมง จากเดิม 12-17 ชั่วโมง เพิ่งเปิดเดินรถเมื่อเดือนธ.ค.ปี 2017 (แฟ้มภาพ ซินหวา)

บริษัทการรถไฟจีน (China Railway Corporation) ประกาศความสำเร็จในการทดสอบรถไฟความเร็วสูงระบบอัตโนมัติ สามารถวิ่งและหยุดได้เองโดยอัตโนมัติ ในภาพเป็นการทดสอบการวิ่งจากสถานีรถไฟนครเสิ่นหยังเหนือไปยังสถานีเฮยซันเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 350 กิโลเมตร และจะทดสอบวิ่งฯอีกหลายครั้งจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ (แฟ้มภาพ ซินหวา)




กำลังโหลดความคิดเห็น