MGR ONLINE—สื่อในฮ่องกง เซาท์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์รายงานบทวิเคราะห์ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง สวมบท “พิราบขาว” คุยกับอดีตประธานพรรคก๊กมินตั๋ง นาย เหลียนจ้าน แห่งไต้หวันในการพบปะเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วยลดกระแสคุกรุ่นในช่องแคบไต้หวัน ที่ถูกโถมทับด้วยเสียงเรียกร้องใช้กำลังรวมชาติจากกลุ่มสายเหยี่ยวในแดนมังกร
ในการพบปะระหว่าง สี จิ้นผิง และเหลียน จ้าน อดีตประธานพรรคก๊กมินตั๋งเมื่อวันศุกร์ (13 ก.ค.) สีกล่าวกับผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งมีแนวนโยบายเป็นมิตรกับจีนว่า “เรามีความเชื่อมั่น และความสามารถในการหาทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อพัฒนาสันติภาพในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ ขณะที่ผลักดันความคืบหน้าในการรวมชาติจีนอย่างสันติ
ท่าทีน้ำเสียงของสีได้ช่วยลดอุณหภูมิตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน ขณะที่กลุ่มสายเหยี่ยวในจีนออกมาเร่งเร้าเสียงดังมากขึ้น ให้โต้ตอบสหรัฐฯกรณีการเข้ามาแทรกแซงกิจการช่องแคบฯในช่วงนี้ อีกทั้งรัฐบาลที่สนับสนุนอิสรภาพไต้หวัน
กลุ่มนักสังเกตการณ์ในปักกิ่งและไทเปชี้ว่าสีพยายามที่จะสกัดกระแสตึงเครียด มิให้บานปลายจนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบอย่างแท้จริง
สำนักข่าวกลาง รายงานในวันจันทร์ (16 ก.ค.) เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดที่ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบของฝ่ายไต้หวัน คือ รัฐมนตรีสภากิจการแผ่นดินใหญ่ นาย เฉิน หมิงทง ได้ออกเดินทางไปเยือนสหรัฐฯเป็นเวลา 9 วัน เพื่อยกระดับการสื่อสารระหว่างไทเปและวอชิงตัน ขณะที่เจ้าหน้าที่สภากิจการแผ่นดินใหญ่เผยว่าเฉินอาจล็อบบี้สหรัฐฯให้สนับสนุนนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบของไต้หวันมากยิ่งขึ้น
การเดินทางไปอเมริกาเที่ยวนี้ของนาย เฉิน เกิดหลังจากที่เรือพิฆาตสองลำของสหรัฐฯได้ออกมาลาดตระเวนในช่องแคบไต้หวันเมื่อต้นเดือนนี้ เจ้าหน้าที่ดูแลกิจการไต้หวันของปักกิ่ง นาย หลิว เจียอี้ได้ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์อย่างแรง โดยกล่าวว่าวอชิงตันกำลัง “เดินเกมไต้หวัน” ในขณะที่โรมรันข้อพิพาทการค้ากับจีน
ในการประชุมฯเมื่อวันศุกร์ สีกล่าวว่าจีนและไต้หวันจะไม่ยุติการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกัน แม้มีความไม่ลงรอยระหว่างประชาชนสองฟากฝั่งไต้หวันในบางประเด็น ประมุขแดนมังกรได้ย้ำอีกว่าปักกิ่งยึดถือ “นโยบายจีนเดียว และฉันทามติ 1992” เป็นพื้นฐานการดำเนินสัมพันธ์กัน ทั้งนี้ในรายงานข่าวของสื่อทางการจีนซินหวาระบุ “ฉันทามติ 1992” ระบุเกี่ยวกับ “หลักการจีนเดียว” และต่อต้าน “อิสรภาพไต้หวัน” อย่างเด็ดขาด
สียังได้ย้ำกันทางไต้หวันว่าปักกิ่งยืนยันมาตรการต่างๆที่ประกาศในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะเปิดโอกาสดีๆให้แก่กลุ่มบริษัทและบุคคลจากไต้หวัน เข้ามาเจาะตลาดในแผ่นดินใหญ่ ตลอดจนภาคการจ้างงานและภาคสังคม
กลุ่มนักวิเคราะห์ชี้ว่า สีได้ส่งสารแก่ทางไต้หวันว่า ปักกิ่งปฏิเสธกลุ่มที่สนับสนุนอิสรภาพดินแดน ไม่ใช่ประชาชนบนเกาะไต้หวันที่ตั้งรัฐบาลขึ้นมาปกครองตัวเอง
ทั้งนี้ จีนและไต้หวันได้แยกจากกันนับจากปี 1949 เมื่อผู้นำก๊กมินตั๋ง นายพล เจียงไคเช็ค พ่ายแพ้สงครามกลางเมืองในจีนแก่พรรคคอมมิวนิสต์ จึงนำกำลังถอยร่นไปตั้งหลักที่เกาะไต้หวันและจัดตั้งรัฐบาลปกครองต่างหาก ขณะที่ทางจีนยึดถือมาตลอดมาว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน และอาจต้องใช้กำลังเข้ายึดดินแดนหากจำเป็น
ความสัมพันธ์ปักกิ่งกับไทเปบูดเน่าอย่างหนักเมื่อไช่ อิงเหวิน ผู้นำพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือดีพีพี ซึ่งมีความโน้มเอียงสู่อิสรภาพดินแดน ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2016 โดยนางยังได้แถลงปฏิเสธ “ฉันทามติ 1992” ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำเนินความสัมพันธ์กันมาตลอด
หลี่ เจิ้งกวง ผู้ช่วยหัวหน้าสถาบันการศึกษาเรื่องไต้หวันของมหาวิทยาลัย Beijing Union University กล่าวว่าสีได้ใช้การพบปะกับเหลียน จ้าน และคณะผู้แทนจากไต้หวัน เพื่อบรรเทาความวิตกสาธารณะที่กำลังกลัวกันว่าปักกิ่งจะวางแผนใช้กองกำลังเข้ายึดครองไต้หวันหรือไม่
“ความสัมพันธ์ในช่องแคบไต้หวันกำลังเผชิญศึกท้าทายทั้งจากภายในและข้างนอกนับจากต้นปีมา โดยเฉพาะเรื่องที่วอชิงตันส่งเรือพิฆาตลาดตระเวนช่องแคบไต้หวัน (วันที่ 7 ก.ค.) ซึ่งทำให้กลุ่มสายเหยี่ยวออกมาเร่งเร้าให้ใช้กองกำลังไปยึดดินแดนไต้หวันคืนมา
“อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวจะทำลายความสัมพันธ์ระยะยาว และเสถียรภาพในอาณาบริเวณ สีกำลังเล่นเกมปลุกเร้า “อารมณ์” เพื่อยืนยันกับสาธารณชนไต้หวันว่าปักกิ่งจะไม่ใช้กำลังยึดดินแดนคืน” หลี่ กล่าว
นักวิเคราะห์อีกคนคือ Andrew Yang Nien-dzu อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไต้หวัน กล่าวว่าสียังได้ส่งสารให้แก่ทั้งไทเปและวอชิงตันว่า “จีนยังสงบสติอารมณ์” แม้สหรัฐฯส่งเรือพิฆาตแล่นเฉียดจมูก ทั้งการยั่วยุอื่นๆ รวมถึงการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รับรอง “กฎหมายการเดินทางไต้หวัน” (Taiwan Travel Act) ในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ กฎหมายการเดินทางไต้หวันเปิดทางให้เจ้าหน้าทุกระดับเดินทางไปไต้หวันและพบกับเจ้าหน้าที่ของไต้หวัน และอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไต้หวันเดินทางเข้าสหรัฐฯ ซึ่งจีนถือว่าการผ่านกฎหมายการเดินทางไต้หวันนี้ เป็นการละเมิดนโยบายจีนเดียว