ไชน่าเดลี (9 ก.ค.) - รัฐบาลท้องถิ่นกล่าวว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญของการวางแผนการก่อสร้างในเมืองในอนาคตของจีน โดยตั้งเป้าปลูกป่าระดับชาติ 300 แห่ง อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสร้างระบบนิเวศของประเทศ ภายในปี ค.ศ.2025
ตามแผนพัฒนาแห่งชาติที่ออกโดย สำนักงานป่าไม้และการบริหารจัดการทุ่งหญ้า จะมีการพัฒนาป่าในเมือง 200 แห่ง ภายใน 2 ปีข้างหน้า
รายงานข่าวกล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองป่า เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมของพื้นที่เขตเมืองผ่านพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดอุณหภูมิอากาศเฉลี่ย ปรับปรุงคุณภาพอากาศ ลดมลพิษเสียง และสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ป่าใหม่ๆ พร้อมกับปรับปรุงความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น
ภายใต้แผนนี้ ได้รวมพื้นที่ของกลุ่มเมืองยุทธศาสตร์อย่าง ปักกิ่ง - เทียนจิน - เหอเป่ยและเมืองฝั่งแม่น้ำแยงซี กับภูมิภาคชายแดนที่เชื่อมต่อประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมในโครงการ หนึ่งแถบหนึ่งทาง โดยจะให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ
การพัฒนาเมืองป่าจะเป็นการขยายพันธุ์พืชและเสริมสร้างการปกป้องทรัพยากรทางนิเวศวิทยา ด้วยการเพิ่มการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ
นาย เผิง ยู่ต่ง รองหัวหน้าฝ่ายบริหารของ Eco Forum Global Guiyang กุ้ยโจว กล่าวว่า "ผู้คนจะได้รับประโยชน์มากขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่เขียวขจี และสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น"
"การพัฒนาเมืองป่าจะมีส่วนช่วยในแผนการสร้างชาติจีนให้สวยงามในปี ค.ศ.2035 เราจำเป็นต้องปรับปรุงการรับรู้ของประชาชนในด้านการคุ้มครองระบบนิเวศ และสร้างแรงสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น" เขากล่าว
ประเทศจีนเป็นประเทศที่ มีการพัฒนาความเป็นเมืองอย่างรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยปัจจุบัน มีประชากรในเขตเมือง มากกว่า 800 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านคนในปี ค.ศ. 2030
ที่ผ่านมาห้าปี กว่า 200 เมือง ใน 18 มณฑล ได้มีส่วนร่วมในแผนพัฒนาเมืองป่า ตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งมีการปลูกป่าในแต่ละเมืองโดยเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้น 13,333 เฮกตาร์ หรือเท่ากับ 83,331.25 ไร่
"จีนได้กำหนดให้การสร้างระบบนิเวศเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ และปัจจุบันมีบทบาทสำคัญทั่วโลก ในการรณรงค์กระแสสิ่งแวดล้อมนี้ พร้อมแบ่งปันประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จของจีนกับประเทศอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ให้กับประชาชนทั่วโลก" หลิว ซื่อหรง กรรมการบริหารของ องค์กรวิจัย International Union of Forestry กล่าวฯ และถึงการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ที่จีนพบว่า "ความสามารถเอาชนะความท้าทายในการสร้างเมืองป่า เป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศอื่น เพื่อช่วยปรับปรุงระบบนิเวศน์ทั่วโลก"