ซินหวา สื่อทางการจีนรวมภาพ (16 มิ.ย.) เมื่อเทศกาลไหว้บะจ่างหรือ “เทศกาลตวนอู่” (端午节) หรือ “เทศกาลแข่งเรือมังกร” (赛龙舟)ได้เวียนมาถึงอีกครั้งในปีนี้ ในวันที่ 18 มิ.ย. “เฉิน ปิงโซ่ว” ศิลปินแกะไม้ท้องถิ่นในเมืองหย่งโจว มณฑลหูหนันก็เร่งผลิต “เรือมังกร” อย่างสุดกำลัง
ชีวิตของนายเฉินวัย 56 ปีขลุกตัวอยู่กับการแกะสลักหัวมังกรสำหรับเรือมังกรมาแล้วนับ 40 ปี โดยก่อนหน้าเทศกาลตวนอู่ จะเป็นช่วงที่นายเฉินมีงานยุ่งที่สุดของทุกปี ด้วยคำสั่งผลิตหัวมังกรของลูกค้าจำนวนมาก
รายงานระบุว่า นายเฉินใช้เวลาราว 12 วันในการสร้างหัวมังกรเพียงหนึ่งชิ้น โดยชิ้นหนึ่งมีน้ำหนักราว 15 กิโลกรัม
เกี่ยวกับที่มาของเทศกาลตวนอู่ สำหรับประเทศจีน บ้างก็ว่าเป็นวันรำลึกถึงชีว์หยวน (屈原)บ้างว่าเป็นวันรำลึกถึงอู๋ จื่อซีว์ บ้างก็ว่าเป็นวันรำลึกถึงเฉาเอ่อร์ หญิงยอดกตัญญู (ค.ศ. 130-143) แห่งยุคตงฮั่นหรือฮั่นตะวันออก แต่ที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางที่สุด คือเป็นประเพณีรำลึกและคารวะแด่ชีว์ หยวน กวีผู้รักชาติแห่งแคว้นฉู่ปลายยุคจั้นกั๋ว (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ชีว์หยวนโดนพวกกังฉินริษยาใส่ร้ายป้ายสี จนเจ้าครองแคว้นฉู่เนรเทศชีว์หยวนไปแดนไกล
เมื่อกองทัพแคว้นฉินเข้ายึดครองแคว้นฉู่ ชีว์หยวนละอายใจที่ไม่อาจช่วยบ้านเมืองได้เจ็บปวดสุดทานทน กระโจนลงแม่น้ำมี่หลัวเจียงในวันขึ้นห้าค่ำ เดือนห้า เมื่อ 278 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวบ้านในละแวกนั้นนับถือจิตใจของชีว์หยวน ต่างพาพายเรือออกค้นหาศพของเขา เมื่อไม่พบ ก็เกรงว่ากุ้ง หอย ปู ปลาในน้ำ จะพากันกัดแทะกินร่างของเขา จึงพากันนำเอาข้าวเหนียวบรรจุในกระบอกไผ่แล้วโยนลงไปในแม่น้ำให้เหล่าสัตว์น้ำมากินแทน จากเรื่องราวการพายเรือค้นศพชีว์หยวนและการโยนข้าวเหนียวฯนี้เอง ได้กลายเป็นประเพณีเซ่นไหว้บะจ่าง และการแข่งเรือมังกร สืบทอดมาถึงปัจจุบัน