xs
xsm
sm
md
lg

จีนส่งดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาเฟิงอวิ๋น-2เอช แจกข้อมูลฟรีแก่สมาชิก “เส้นทางหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา เฟิงอวิ๋น-2เอช (Fengyun-2H)  ถูกส่งขึ้นจากสถานียิงดาวเทียมซีชัง มณฑลเสฉวน เมื่อเวลา 21.07 น. ของเวลาท้องถิ่นในวันอังคาร 5 มิ.ย. 2018 ซึ่งจะช่วยให้การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งช่วยกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมความริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง รับมือภัยพิบัติธรรมชาติได้อย่างทันการณ์มากขึ้น (ภาพ ซินหวา)
ซินหวา—จีนส่งดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา เฟิงอวิ๋น-2เอช (Fengyun-2H) ซึ่งจะช่วยให้การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งขยายความช่วยเหลือด้านอุตุนิยมวิทยาให้แก่กลุ่มประเทศที่เข้าร่วมความริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (B&R)

จรวดขนส่ง “ลองมาร์ช-3A” (Long March-3A) ได้นำพา “เฟิงอวิ๋น-2เอช” ทะยานสู่ห้วงอวกาศจากสถานียิงดาวเทียมซีชัง มณฑลเสฉวน เมื่อเวลา 21.07 น. ของเวลาท้องถิ่นในวันอังคาร(5 มิ.ย.)

ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาเฟิงอวิ๋น-2เอช เป็นดาวเทียมค้างฟ้า (geostationary orbit satellite)ดวงสุดท้ายของตระกูลเฟิงอวิ๋น-2 จากนี้ไปดาวเทียม

อุตุนิยมวิทยาตระกูล เฟิงอวิ๋น-4 (Fengyun-4) จะขึ้นมามีบทบาทใหญ่แทน เจ้า เจี้ยน รองผู้อำนวยการแผนกระบบวิศวกรรมของคณะกรรมการบริหารด้านอวกาศแห่งชาติ (China National Space Administration ชื่อย่อ CNSA

เฟิงอวิ๋น-2เอช จะถูกเปลี่ยนตำแหน่งประจำที่จากจุดเดิมที่ลองจิจูด 86.5 องศาตะวันออก มายังลองจิจูด79 องศาตะวันออก เนื่องจากคำเรียกร้องจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และองค์การความร่วมมือด้านอวกาศเอเชีย-แปซิฟิก (APSCO)

การเปลี่ยนพิกัดประจำที่นี้ จะทำให้ปฏิบัติการดาวเทียมฯตระกูลเฟิงอวิ๋น ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของประเทศจีน รวมไปถึงภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ กลุ่มประเทศที่เข้าร่วม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” มหาสมุทรอินเดีย และประเทศทั้งหมดในทวีปแอฟริกา นอกจากนี้การเปลี่ยนพิกัดประจำที่นี้ยังทำให้ดาวเทียมฯตระกูลเฟิงอวิ๋นสามารถเก็บข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาอย่างกว้างขวางมากขึ้น ปรับปรุงความแม่นยำในการพยากรณ์อากาศ สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และลดความสูญเสียจากภัยพิบัติธรรมชาติ

ดาวเทียมเฟิงอวิ๋น-2เอช ติดตั้งอุปกรณ์ติดตามสภาพแวดล้อมอวกาศที่ทันสมัย สามารถส่งภาพละอองน้ำและเมฆขณะปฏิบัติการ (real time) และข้อมูลสภาพอากาศในอวกาศให้แก่ลูกค้าในย่านเอเชีย-แปซิฟิก

ทั้งนี้ ในภูมิภาค “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขา ทะเลทราย มหาสมุทร และขาดข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา ความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติในบริเวณนี้ สูงกว่าทั่วโลกโดยเฉลี่ยสองเท่า

ความก้าวหน้าด้านวิทยาการด้านนี้ยังสนองตอบเสียงเรียกร้องขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก คือการขยายการสังเกตการณ์ทางดาวเทียมในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อถมช่องว่างในอาณาบริเวณ และขณะนี้จีนกำลังสร้างคุณูปการแก่ประชาคมโลกในด้านต่างๆ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของโลกกำลังพัฒนา

“จีนจะให้ข้อมูลจากเฟิงอวิ๋นฟรี แก่กลุ่มประเทศที่เข้าร่วมความริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง และสมาชิกของ APSCO” นาย เจ้า กล่าว

โดยขณะนี้จีนกำลังจัดตั้งสถานีภาคพื้นดินเพื่อรับข้อมูลในประเทศสมาชิก APSCO ได้แก่ ปากีสถาน อินโดนีเซีย ไทย อิหร่าน และมองโกเลีย นอกจากนี้ยังมีแผนปรับปรุงสถานีและเปิดคอร์สการฝึกฝนแก่เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิกในประเทศเหล่านั้น

ข้อมูลจากเฟิงอวิ๋น จะช่วยประเทศที่เข้าร่วม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง รับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น ไต้ฝุ่น พายุฝน พายุทะเลทราย และไฟไหม้ป่า ได้อย่างทันการณ์มากขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น