"ถ้าพระเจ้าบอกกับเราว่า การปฏิวัติทางวัฒนธรรมจะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่ปีต่อมา และแผ่นดินจีนจะเจริญก้าวหน้าอีกครั้ง ผมคงไม่เลือกว่ายน้ำหนีมาตายดาบหน้า" ชาน ฮักชี ชาวฮ่องกง ในวัย 70 ปี รำลึกความหลังผ่าน สื่อจีน Sixth Tone เมื่อครั้งที่เขาตัดสินใจว่าย ผ่านน่านน้ำที่มีฉลาม พาคนรักข้ามหนีความแร้นแค้นไปตายดาบหน้า บนฝั่งเกาะฮ่องกง เมื่อปี 1973 ทั้งที่ไม่มีเอกสารติดตัวเลยสักแผ่น
ชาน เล่าว่า "ในเวลานั้น ผมไม่มีทางเลือกอื่นๆ" ชานและหลี่ เลือกเส้นทางตะวันออก ซึ่งเป็นการว่ายน้ำที่เสี่ยงอันตราย และยากลำบาก แต่เป็นจุดที่รอดพ้นจากจากการลาดตระเวนยามฝั่ง
ชาน เกิดที่ กว่างโจว เมืองหลวงของมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน ในปี 1947 เพียงสองปีก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเป็นน้องคนสุดท้องของครอบครัวลูก 5 คน โตมาอย่างชายหนุ่มที่ขยันอุตสาหะ และมีความตั้งใจจะศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย แต่ทุกอย่างพลิกผันจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เมื่อปี 1966 อันเป็นช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายของสังคมจีน
เช่นเดียวกับหนุ่มสาวฝันสลายนับล้านคนในเวลานั้น ชานถูกส่งไปเข้าค่ายแรงงานในชนบท ที่เขตเล็กๆ แห่งหนึ่ง ห่างจากกวางโจวประมาณ 100 กิโลเมตร ชาน ทำงานใช้แรงงานอย่างหนัก เพื่อเป็นรากฐานของการปฏิวัติสังคมนิยมของประเทศ
ชาน ยังมีความหวังดิ้นรนหาหนทางหนีของตนเอง สุดท้าย แม่ของชาน ก็ยอมรับที่จะให้เขาหนีความวุ่นวาย จากการปฏิวัติทางวัฒนธรรมไปยังฮ่องกง พร้อมกับคนรักของเขา
แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน และนำพาชาวจีนลุกขึ้นยืนจากการกดขี่ของต่างชาติ และสงครามกลางเมืองแล้ว แต่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ต้องเผชิญกับภัยความอดอยาก 1959-1961 นโยบายก้าวกระโดดไกลที่ล้มเหลว และการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งนำทศวรรษแห่งหายนะมาสู่สังคมจีน ในปี 1966 - 1976 ทำให้เกิดคลื่นอพยพไปยังฮ่องกงหลายระลอก จนกระทั่ง ในปี 1979 ที่ฮ่องกงเปลี่ยนแปลงนโยบายการย้ายถิ่นฐาน ในปี 1980 ซึ่งกฎหมายระบุว่า ผู้อพยพจากแผ่นดินใหญ่ คือผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และจะถูกส่งตัวกลับแผ่นดินใหญ่ทันที
ในยุค 70 แรงงานอพยพ อย่างชาน มีสามเส้นทางเลือก คือเลาะหนีทางน้ำคาบสมุทรเกาลูน ซึ่งเชื่อมกับ เซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง แต่เสี่ยงกับการตามจับของเจ้าหน้าที่ฯ ส่วนอีกสองทาง คือ ปีนหนีไปฝั่งตะวันตก และว่ายน้ำข้ามอ่าวเซินเจิ้น หรือไม่ก็อีกทางคือว่ายน้ำข้ามอ่าวต้าเผิง 大鵬灣 ทางตะวันออก ซึ่งเสี่ยงมากที่สุด จากดงฉลามและความหนาวยะเยือกของน้ำ
ไม่มีทางเลือกอื่นใด ชานและหลี่เลือกแผนหนี ผ่านเส้นทางอ่าวต้าเผิงนี้ และเพื่อให้มั่นใจ เขาฝึกว่ายน้ำ 10 กิโลเมตรทุกวัน ในแม่น้ำเพิร์ล มณฑลกวางตุ้ง จนพร้อมในคืนวันที่ 16 กรกฎาคม 1973 ทั้งสองก็เดินไปเหนือโขดหินอ่าวต้าเผิง ผูกเชือกคล้องเอวของกันและกัน และว่ายทิ้งแผ่นดินใหญ่ไป
หลังจากว่ายตัดผ่านคลื่นแรงจากลมไต้ฝุ่นดอท เป็นเวลานานกว่าหกชั่วโมง ชาน และหลี่ ก็ถึงฝั่งฮ่องกงอย่างอ่อนล้า เห็นตัวอักษรอังกฤษบนเศษขยะ ชายฝั่งฯ พวกเขาได้เดินทางมาถึงบ้านใหม่แล้ว
สำหรับคู่รักที่ไม่เคยมีพิธีแต่งงานอย่างเป็นทางการ ทั้งสองจึงถือว่าวันนี้ วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2516 คือวันเฉลิมฉลองแต่งงานใช้ชีวิตคู่ของตน
"ไต้ฝุ่นดอทเป็นพยาน และคลื่นลมเป็นแขกสำคัญในงานมงคลสมรสของเรา" ชาน ย้อนความหลังวันสำคัญฯ
ชาน ได้สิทธิอยู่อาศัย และทำงานที่ฮ่องกง โดยพักกับป้าของเขา ซึ่งอพยพมาอยู่ในฮ่องกงเมื่อหลายปีก่อน
ด้วยความช่วยเหลือของป้า ทั้งสองได้งานทำในโรงงานทำสายนาฬิกา โดยเหมางานทั้งกะกลางวันและกลางคืน และยังรับทำกะแทนเพื่อนร่วมงานที่ลาฯ ไปด้วย มีรายได้เข้าบ้านแต่ละวันเพียง 5 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว $ 1 ณ เวลานั้น)
แรงกดดันทางการเงินมีมากขึ้น เมื่อให้กำเนิดลูกสาวคนแรกในอีกสองปีต่อมา และเมื่อมีลูกคนที่สาม ชานก็ออกรับหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวเพียงลำพังเอง ทำงานตั้งแต่โรงงานนาฬิกา โรงงานฝ้าย และโรงสี - รวมถึงรับงานสารพัดช่าง เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว
จนเมื่อ ปีพ.ศ. 2527 หลังจากที่ได้ทำงานเป็นลูกจ้างติดตั้งลิฟต์มานาน ชานก็ได้เก็บเงินมากพอที่จะเริ่มต้นธุรกิจติดตั้งลิฟท์ของตัวเอง ในปีพ. ศ. 2538 ลูกๆ เริ่มโต ครอบครัวจึงย้ายเข้าไปอยู่ในอพาร์ตเมนต์ของตนเองที่ฮุงฮอม เวลานั้นลูกสาวคนโต ได้แต่งงานและมีลูกสามคนแล้ว
"ชีวิตที่เกาลูน ผ่านไปอย่างรวดเร็ว นึกถึงวันที่เพิ่งว่ายน้ำมาฮ่องกง เมื่อมีคนถามผม มาจากไหน แรกๆ ก็บอกว่ามาจากมณฑลกวางตุ้ง" ชานกล่าว และว่า ทุกวันนี้กลายเป็น คุณตา นั่งดูลูก ๆ และหลานของเขา ซึ่งกำลังสร้างอนาคตของตนเองเช่นกัน โดยลูกสาวคนโตซึ่งเรียนมาทางบัญชี ไม่มีปัญหาในการหางาน กำลังคิดที่จะเดินทางไปต่างประเทศกับครอบครัวของเธอ
แต่ลูกชายของเขาซึ่งจบการศึกษามาแล้ว 12 ปี ยังไม่มีงานที่มีรายได้มั่นคงพอที่จะสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงได้ด้วยตนเอง
ชาน กล่าวว่า เวลานี้ฮ่องกงค่าครองชีพสูง คนหนุ่มสาวหลายคน อยากจะย้ายถิ่นฐานหนีฮ่องกงไป ทำให้เขารู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกับแม่ เมื่อ 40 ปีก่อน แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์เป็น-ตาย ที่แตกต่างกันอย่างมากมายก็ตาม
เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ รายงานว่า ในช่วงระหว่างค.ศ. 1950 - 1970 มีคนจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมาก แลกชีวิตของตน เพื่อหลบหนีข้ามฝั่งเซินเจิ้น ไปยังฮ่องกง
เฉิน ปิ่งอัน นักเขียน ผู้รวบรวมสัมภาษณ์ เก็บข้อมูลการเดินทางของคนจีนอพยพฮ่องกง จำนวนหลายล้านคนที่ไม่เคยถูกบันทึกไว้ ในชื่อหนังสือว่า "The Great Exodus to Hong Kong" ซึ่งก่อนหน้านี้ ประเด็นดังกล่าวมีความอ่อนไหวในการนำเสนอ ทั้งในการเก็บบันทึกว่าคนจำนวนมหาศาลเหล่านั้น หลบหนีจากแผ่นดินได้อย่างไร และทุกวันนี้พวกเขาอยู่ที่ไหนกันบ้าง เพราะแน่นอนว่า คนเหล่านี้ คือกำลังสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกงในช่วง 70-80
จุดเริ่มต้นเรื่องราวการอพยพนี้ อยู่ที่หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ในเมืองเซินเจิ้น ซึ่งทุกค่ำคืนจะมีคนว่ายน้ำข้ามแม่น้ำต้าเผิง และอ่าวเซินเจิ้น เสี่ยงตายกับคลื่นลม และฉลาม เป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร โดยช่วงอพยพใหญ่ มี 4 ครั้ง ปี ค.ศ. 1957, 1962, 1972 และ 1979 อันเป็นช่วงวิกฤติทั้งภัยอดอยาก และปฏิวัติวัฒนธรรมฯ
จากการศึกษาของเฉิน พบว่า มีคนหนีข้ามฝั่งไปฮ่องกง เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายราว 2 ล้านคน ยังมีตัวเลขมากกว่านั้น เพียงแต่ไม่มีการบันทึกเพราะเป็นผู้สูญหาย เสียชีวิตระหว่างทาง หรือไปไม่ถึงฝั่ง ถูกจับกุมตัวส่งกลับ
เฉิน กล่าวว่า การอพยพในเวลานั้นใหญ่โตมโหฬารกว่าครั้งที่ชาวเยอรมันตะวันออก ปีนกำแพงเบอร์ลิน หรือชาวเกาหลีเหนือข้ามแม่น้ำย้าหลู่ 鴨綠 เข้าเมืองตานตง ประเทศจีน
สถิติของทางการกวางตุ้ง และนักการศึกษาฯ เคยระบุว่า มีชาวจีนราว 560,000 คน จาก 62 เมือง ใน 12 มณฑล หนีไปฮ่องกง ระหว่างปี ค.ศ. 1949 - 1974 และสื่อฮ่องกงเองก็อ้างตัวเลขทีประมาณ 700,000 คน แต่จากการค้นคว้าของเฉิน ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีตัวเลขสูงมากกว่านั้น 2-3 เท่าตัว และผู้หลบหนีส่วนใหญ่ อยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ มีทั้งนักศึกษา เยาวชน คนงาน ทหาร และเจ้าหน้าที่ โดยเส้นทางหลบหนีที่ใช้มากที่สุดคือ เขตเสอโข่ว เซินเจิ้น เพื่อไปยังหยวนหล่ง 元朗 ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฮ่องกง ซึ่งเป็นเส้นทางหลบหนีที่เสี่ยงอันตราย กับการเสียชีวิตเพราะจมน้ำ หรือถูกทหารบนฝั่งยิงฯ
ในช่วงเวลาเหล่านั้น จำนวนผู้เสียชีวิตมีมากขนาดถึงกับต้องมีอาชีพสัปเหร่อประจำ เพื่อฝังศพรายวันผู้อพยพที่ไปไม่ถึงอีกฝั่ง
การพลีชีวิตเพื่อแลกชีวิตใหม่ของคนอพยพจำนวนมากนี้ กลายเป็นแรงสะเทือนใจ บันดาลใจให้เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนหลังยุคเหมาเจ๋อตง ประกาศเปิดประเทศและปฏิรูป โดยมีจุดเริ่มต้นที่เซินเจิ้นนี้เอง
(ตอน 2 - เซินเจิ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน)
....................................
ข้อมูลอ้างอิง/เรียบเรียง -
1. The Man Who Swam to Hong Kong
http://www.sixthtone.com/news/1000406/the-man-who-swam-to-hong-kong
2. From ‘freedom swimmers’ fleeing China to fears of Hong Kong being swamped with migrants, a history of city’s border controls
http://www.scmp.com/magazines/post-magazine/article/2126847/freedom-swimmers-fleeing-china-fears-hong-kong-being-swamped
3. Forgotten stories of the great escape to Hong Kong
http://www.scmp.com/news/china/article/1126786/forgotten-stories-huge-escape-hong-kong