ขณะที่บ้านเรากำลังฮือฮากับ "แจ็ค หม่า" หรือ "หม่า หยุน (马云)" มหาเศรษฐีชาวจีนผู้ก่อตั้งเครืออาลีบาบา บริษัทอีคอมเมิร์ซระดับโลกที่กำลังย่ำเท้าบุกไปทุกดินแดนทั่วโลก รวมถึงเมืองไทยที่ แจ็ค หม่า เพิ่งมาจับมือกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย พร้อมกับการร่ายมนต์ด้วยยอดคำสั่งซื้อทุเรียนจากไทย 130,000 ลูกภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และประกาศทุ่มเงินลงทุนกว่า 11,000 ล้านบาท
ว่ากันว่า ณ เดือนมีนาคม 2561 "หม่า" นั้นเป็นชายที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีน ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 42,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ราว 1.34 ล้านล้านบาท [1]
ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่น่ายกย่องก็คือ ความร่ำรวยของชายวัย 53 ปีผู้นี้ไม่ได้เกิดจากมรดกหรือทรัพย์สินของบรรพบุรุษ แต่เกิดจาก "หนึ่งสมองสองมือ" ของชายผู้นี้โดยแท้
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงมหาเศรษฐีระดับโลก เรามักจะนึกถึงภาพ นึกถึงชื่อของผู้ชายทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็น เจฟฟ์ เบซอส (เจ้าของอเมซอน) บิลล์ เกตส์ (ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์) วอร์เรน บัฟเฟต์ (นักลงทุน และซีอีโอเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์) มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก (ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก) หรือ การ์โลส สลิม (เจ้าของ America Movil บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของเม็กซิโก) ส่วนของไทยก็เช่น คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี (ไทยเบฟ) , คุณธนินท์ เจียรวนนท์ (ซีพี) , คุณหมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ (เครือ รพ.กรุงเทพ) ฯลฯ
แต่เมื่อถามว่าแล้วมหาเศรษฐีที่เป็น "ผู้หญิง" ที่เป็นนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จระดับโลกล่ะ? ... เชื่อว่าหลายคนคงนึกไม่ออก
ด้วยเหตุนี้ "มุมจีน MGR Online" จึงถือโอกาสนี้ขอแนะนำหญิงเหล็กแห่งวงการธุรกิจจีนที่ได้ชื่อว่าเป็น มหาเศรษฐีฝ่ายหญิงอันดับหนึ่งของโลกที่สร้างความร่ำรวยมาด้วยหนึ่งสมองสองมือของเธอล้วน ๆ ให้ทุกคนได้รู้จักกัน ... เธอผู้นี้มีนามว่า "โจว ฉุนเฟย"
จากข้อมูลของนิตยสารฟอร์บส์ โจว ฉุนเฟย (周群飞) ปัจจุบันอายุ 48 ปี ถือเป็นสตรีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีน ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 7,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 233,000 ล้านบาท ทั้งยังถูกยกย่องว่าเป็น มหาเศรษฐีฝ่ายหญิงอันดับ 1 ของโลกที่สร้างฐานะมาด้วยลำแข้งตัวเอง (World's richest self-made woman) [2]
โจวเป็นผู้ก่อตั้ง และซีอีโอบริษัทผู้ผลิตกระจกหน้าจอสัมผัส (Touchscreen) เจ้าใหญ่ของโลกที่มีชื่อว่าเลนส์ เทคโนโลยี (Lens Technology) ซึ่งก่อตั้งในปี 2546 และต่อมาเมื่อปี 2558 ก็เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น
ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีผู้ผลิตกระจก และหน้าจอสัมผัสสำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ นาฬิกา กล้องดิจิทัล เครื่องใช้ไฟฟ้า กระจกรถยนต์ ฯลฯ รายใหญ่ที่สุดของจีน ด้วยกำลังการผลิตรวมต่อปีหลายร้อยล้านชิ้นจากโรงงาน 32 แห่งทั่วประเทศ จ้างงานบุคลากรกว่า 60,000 ตำแหน่ง ทำ บ.เลนส์ ให้ได้รับฉายาว่าเป็น "ราชาแห่งกระจกโทรศัพท์ (手机玻璃大王)" ซึ่งในปี 2558 เคยมีการประเมินไว้ว่า เลนส์ เทคโนโลยี มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 11,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 360,000 ล้านบาท) เลยทีเดียว
ขณะที่ลูกค้าของเลนส์ เทคโนโลยี นั้นก็คือ แบรนด์สมาร์ทโฟนชื่อดังที่เราใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะเป็น แอปเปิล (บ.เลนส์ผลิตหน้าจอไอโฟน และหน้าจอแซฟไฟร์ คริสตัลสำหรับแอปเปิลวอตช์ด้วย) ซัมซุง หัวเว่ย เอชทีซี โนเกีย ฯลฯ โดยปัจจุบันรายได้ ของ บ.เลนส์ ราว 2 ใน 3 มาจากการผลิตหน้าจอให้กับสองบริษัทสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่ของโลกนั่นคือ แอปเปิล และซัมซุง
ทั้งนี้ เลนส์ เทคโนโลยี ซึ่งมีชื่อภาษาจีนว่า หลานซือเคอจี้ (蓝思科技) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ มณฑลหูหนาน (เมืองฉางซา ; www.hnlens.com) ซึ่งเป็นมณฑลบ้านเกิดของโจวเอง
โจว ฉุนเฟย เกิดในปี ค.ศ.1970 ที่เซียงเซียง (湘乡) มณฑลหูหนาน เป็นน้องคนสุดท้องในพี่น้องจำนวน 3 คน ของครอบครัวชาวจีนธรรมดา ๆ ครอบครัวหนึ่งที่พ่อแม่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพด้วยการสานตะกร้าไม้ไผ่ ทำเก้าอี้ และซ่อมจักรยาน โดยพ่อซึ่งเป็นอดีตทหารผ่านศึกนั้นทั้งตาบอด และนิ้วขาดจากอุบัติเหตุในโรงงานในช่วงทศวรรษที่ 1960 ต่อมาโจวในวัยเพียง 5 ขวบ ก็ต้องสูญเสียแม่ไปตลอดกาล [3]
“ตอนนั้นทุกวันฉันต้องคิดว่าข้าวมื้อถัดไปจะหาได้จากที่ไหน และฉันจะได้มันมาได้ยังไง” โจวในวัยเด็กช่วยครอบครัวหาเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ แต่ก็มีโอกาสได้เรียนหนังสือ และด้วยความเฉลียวฉลาดของเธอทำให้ในบรรดาพี่น้องสามคนเธอเป็นคนเดียวที่มีโอกาสได้เรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษา
กระทั่งช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ซึ่งเศรษฐกิจจีนเริ่มเบ่งบานจากนโยบายการเปิดประเทศ และสี่ทันสมัยของเติ้ง เสี่ยวผิง โจวในวัย 16 ปี พร้อมครอบครัวก็อพยพไปอยู่ที่เซินเจิ้นเพื่อหาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า เธอมีโอกาสได้ทำงานที่โรงงานกระจกนาฬิกาที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยเซินเจิ้น โดยตอนกลางวันเธอก็ทำงานในโรงงาน ส่วนกลางคืนก็ขวนขวายลงเรียนภาคค่ำ จนได้วิชาทั้งการบัญชี การใช้งานคอมพิวเตอร์ จนถึงได้ใบขับขี่รถสาธารณะ
ระหว่างที่เป็นลูกจ้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนนาฬิกาได้เงินเดือนเพียง 180 หยวน (900 บาท) เธอกลับไม่หยุดแสวงหาความรู้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ โดยตลอด จนกระทั่งได้ความรู้และเทคนิคการพิมพ์ซิลค์สกรีน (Silk-screen Printing; 丝网印刷) ก่อนที่ในเดือนมีนาคม 2536 (ค.ศ.1993) เธอกับพี่น้องและญาติ ๆ รวม 8 คนจะรวบรวมเงินทุนได้ 20,000 หยวน (ราว 100,000 บาท) ออกมาเช่าอาคารพาณิชย์เพื่อเปิดกิจการการพิมพ์ซิลค์สกรีนด้วยตัวเอง
ในปี 2540 (ค.ศ.1997) ระหว่างวิกฤตการณ์ทางการเงินเอเชียกำลังลุกลาม โจว ฉุนเฟย มองเห็นโอกาสสำคัญและลงมือซื้อเครื่องจักรในการผลิตกระจกนาฬิกาแบบครบวงจร ด้วยประสบการณ์ที่มีและการควบคุมคุณภาพที่ดี ประกอบกับเศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น อุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาในจีนกำลังบูม ธุรกิจการผลิตกระจกนาฬิกาของเธอจึงสร้างชื่อในแวดวงอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้ในอีกไม่กี่ปีต่อมา ในปี 2544 (ค.ศ.2001) บริษัทของเธอคว้าโอกาสสำคัญในการผลิตกระจกหน้าจอโทรศัพท์มือถือให้กับ ทีซีแอล (TCL) บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของจีนชื่อดังได้สำเร็จ
การได้งานผลิตกระจกหน้าจอโทรศัพท์จาก TCL ส่งผลให้ในอีก 2 ปีต่อมา (2546) เมื่อโมโตโรลา บริษัทโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ ต้องการหาผู้ผลิตกระจกหน้าจอให้กับ มือถือโมโตโรลารุ่น Razr V3 โจวจึงคว้างานใหญ่ได้สำเร็จ โดยในปี 2547 (ค.ศ.2004) เธอได้รับออเดอร์ผลิตหน้าจอ Motorola Razr V3 ถึง 100 ล้านชิ้น และเป็นบันไดต่อยอดให้เธอไปหาลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอีกหลายแห่งทั้ง เอชทีซี โนเกีย ซัมซุง โดยแม้กระทั่งยุคของโทรศัพท์มือถือจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของสมาร์ทโฟนที่หน้าจอแบบสัมผัส-ทัชสกรีนเป็นชิ้นส่วนสำคัญ แต่ด้วยวิสัยทัศน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้ บ.เลนส์ เทคโนโลยีของโจว กลายเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของผู้ผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนโลกไปโดยปริยาย
แน่นอนว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ และยั่งยืน ย่อมมิได้หล่นลงมาจากฟากฟ้า ผู้ที่ก้าวจากกองดินขึ้นไปสู่ดวงดาวย่อมเคยผ่านการล้มลุกคลุกคลานมานับครั้งไม่ถ้วน
“ฉันเคยขายบ้านตัวเอง 2 ครั้ง เพื่อหาเงินมาจ่ายเงินเดือนพนักงาน ... ตอนที่หมุนเงินไม่ทัน ฉันเคยเป็นทุกข์จนคิดอยากจะฆ่าตัวตาย ตอนนั้นฉันยืนอยู่บนถานีรถไฟ Hung Hom ที่ฮ่องกง และเกือบจะคิดสั้นไปแล้ว ตอนนั้นคิดว่าถ้าตัวเองหายไป ปัญหาคงจะหายไปด้วย แต่ตอนนั้นเผอิญลูกสาวโทรศัพท์เข้ามาพอดี ช่วยดึงฉันกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง ฉันรู้ดีว่าครอบครัวและพนักงานต้องการฉัน ฉันยอมแพ้ไม่ได้ ฉันต้องสู้ต่อ” โจวเล่าเรื่องราวให้สื่อฟังแบบเปิดอก
จากชีวิตของเด็กสาวผู้ยากจน สู่แรงงานอพยพที่ต้องทำงานกลางวันเพื่อส่งตัวเองเรียนตอนกลางคืน สู่เจ้าของกิจการ-นักธุรกิจหญิงผู้ประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นเศรษฐินีชั้นแนวหน้าของจีนและของโลก โจว ฉุนเฟย ได้กลายเป็น “ไอดอลสาวฉันทนา” ณ พ.ศ.นี้ไปเรียบร้อย
ในการสัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซี สื่อโทรทัศน์ใหญ่ของอเมริกา เธอเล่าถึงเคล็ดลับความสำเร็จทางธุรกิจของเธอไว้ 3 ข้อด้วยกัน คือ
1. จงเตรียมตัวให้ดี (Prepare well)
โจวบอกว่าถ้าริจะทำธุรกิจ จงเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอนาคต โดย ประการแรก ต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของตัวเองในภาพรวมเสียก่อน ประการที่สอง ต้องทำจิตใจให้แกร่ง แกร่งจนกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความล้มเหลว สาม ทำความเข้าใจในตลาดที่คุณกำลังทำธุรกิจอยู่ รวมถึงคู่แข่งจนเข้าใจถ่องแท้และเตรียมแผนสำรองไว้เสมอ
2. จงเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา (Keep learning)
“ลูกค้าของคุณจะไม่บอกราคาสูงที่สูงขึ้นสำหรับสินค้าของคุณเพียงเพราะคุณมีแต้มต่อหรอก แต่ความรู้และความเข้าใจในธุรกิจจะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของบริษัทของคุณเอาไว้ เมื่อคุณยังมีความสามารถในการเรียนรู้ นั่นหมายความว่าคุณยังสามารถเติบโตต่อไปได้อีก” โจวอธิบาย
3. จงอย่ายอมแพ้ (Never give up)
โจวบอกว่า คนจำนวนมากจะประสบกับการพังทลายของความมั่นใจเมื่อพบกับอุปสรรคหรือความล้มเหลว แต่กุญแจแห่งความสำเร็จนั่นคือการไม่ยอมแพ้ แม้ในห้วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด โดยวิธีการฝึกคนของโจวอย่างเช่น การจัดทริปให้ผู้บริหารราว 20 คน ไปเดินขึ้นภูเขาต้าเหวย (大围山) ซึ่งยอดมีความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,600 เมตรด้วยกัน ผู้บริหารหลายคนยอมแพ้ตั้งแต่เดินได้ครึ่งทาง เธอจึงสอนว่า “เมื่อคุณยอมแพ้แค่ครึ่งทาง คุณก็จะไม่มีแรงและความกล้าพอที่จะกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งแล้ว มีเพียงการยืดหยัดและเดินหน้าต่อเท่านั้นที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ ดังนั้นจงอย่ายอมแพ้ เพียงเพราะความล้มเหลวหรืออุปสรรคเพียงเล็กน้อย”
อ้างอิงจาก :
[1] https://www.forbes.com/profile/jack-ma/
[2] https://www.cnbc.com/2018/04/16/worlds-richest-self-made-woman-shares-3-pieces-of-advice-for-success.html
[3] https://baike.baidu.com/item/%E5%91%A8%E7%BE%A4%E9%A3%9E