เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์
เพศหญิงเป็นเพศที่มีข้อจำกัดต่างๆ ในการดำรงชีวิตมากกว่าเพศชาย ทั้งในเรื่องสรีระ การให้กำเนิดบุตร ฐานะทางสังคม ฯลฯ โดยเฉพาะสตรีจีนสมัยโบราณซึ่งอยู่ภายใต้กรอบสังคม ความเชื่อและค่านิยมบางเรื่องอันเนื่องจากอิทธิพลของวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัย และอาจไม่ได้เปิดเผยต่อบุคคลทั่วไปมากนัก คำถามที่ฟังดูธรรมดาในปัจจุบันเมื่อได้คำตอบจากเรื่องราวในอดีตอาจทำให้ผู้คนสมัยนี้นึกไม่ถึงเลยก็ได้
สตรีจีนโบราณโกนขนหรือไม่
สตรีจีนโบราณให้ความสำคัญแก่เรื่องความสวยความงาม โดยเฉพาะเรื่องเส้นขนเช่นเดียวกับสตรีในปัจจุบัน ส่วนใหญ่นิยมใช้เส้นด้ายสองเส้นหนีบกำจัดขนอ่อนบนใบหน้า หรือที่คนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ‘หมังหมิ่ง’ (挽面)
อันที่จริงการใช้เส้นด้ายกำจัดขนอ่อนบนใบหน้าเป็นเทคนิคการเสริมสวยของชาวจีนในแถบเมืองเก่าหรือชนบทในพื้นที่หมิ่นหนาน (閩南) เช่น เซี่ยเหมิน (廈門) เฉวียนโจว (泉州) จางโจว (漳州) ซัวเถา (汕頭) แต้จิ๋ว (潮州) รวมทั้งไต้หวัน (台湾) ซึ่งนิยมทำกับผู้หญิงที่กำลังจะออกเรือนเพื่อให้ใบหน้าดูเกลี้ยงเหลา การทำหมังหมิ่งในสมัยก่อนต้องมีพิธีเซ่นไหว้และหญิงสูงวัยเป็นผู้ทำให้แก่เจ้าสาวเท่านั้น แต่เมื่อการทำหมังหมิ่งได้ผลดีจึงได้รับความนิยมและแพร่หลายไปยังผู้หญิงทั่วไป การทำหมังหมิ่งนิยมใช้เส้นด้ายที่ทำจากปอ แต่ปัจจุบันปอหายากมากขึ้น จึงใช้เส้นด้ายธรรมดาแทน
การทำหมังหมิ่งมีเรื่องราวความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย (隋 ค.ศ. 581-618) เมื่อถึงสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) และราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616-1911) ผู้หญิงที่รักสวยรักงามเริ่มใช้วิธีนี้เพื่อกำจัดขนในจุดอื่นๆ เช่น บริเวณหน้าแข้ง ฯลฯ
ลิงค์สำหรับดาวน์โหลดจดหมายข่าวฉบับเต็มที่สามารถกดแล้ว ดาวน์โหลดได้เลย
https://goo.gl/FF5Czb
คลิกอ่านจดหมายข่าว
http://www.อาศรมสยาม-จีนวิทยา.com/