xs
xsm
sm
md
lg

ผลไม้ไทยเพื่อสุขภาพในทรรศนะของชาวจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มังคุดกับทุเรียน ขอบคุณภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=k3wszjbBSv8
โดย พชร ธนภัทรกุล

เราทราบกันอยู่แล้วว่า ผลไม้ต่างๆ เช่น มะม่วง ทุเรียน เงาะ ส้ม มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย แตงโม ลองกอง ลางสาด องุ่น กล้วย มะละกอ สตรอเบอร์รี่ แอปเปิล สาลี่ ลูกพลับจีน ผลกีวี และอื่นๆอีกมากมายนั้น ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น เพียงแต่เรารู้จากแง่มุมเรื่องของสารอาหารต่างๆที่มีอยู่ในผลไม้ เช่น วิตามิน เกลือแร่ โปรตีน น้ำตาล ใยอาหาร เป็นต้น ซึ่งเมื่อกินเข้าไปแล้ว ร่างกายจะย่อยและดูดซึมนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์อะไรได้บ้าง

แต่ชาวจีนอธิบายประโยชน์และโทษของผลไม้ในมุมมองที่ต่างออกไป พวกเขาอธิบายด้วยหลักของการ “หยั่งเซิง” (养生เสียงจีนกลาง) หรือการดูแลสุขภาพแผนจีน (Chinese health care) ด้วยการจำแนกผลไม้ชนิดต่างๆออกตามคุณสมบัติที่ต่างกันได้ 3 ประเภทคือ

คุณสมบัติเย็น เช่น ส้ม ส้มเช้ง ส้มโอ กล้วย ลูกพลับ แตงโม มังคุด

คุณสมบัติร้อน เช่น ลิ้นจี่ องุ่น ทุเรียน ทับทิม

และสุดท้ายคุณสมบัติละมุนหรือเป็นกลาง เช่น มะม่วง มะพร้าว แอปเปิล เป็นต้น

ดังนั้น ชาวจีนจึงมักพิจารณาคุณสมบัติที่มีอยู่ในผลไม้ แล้วเลือกกินให้เหมาะกับภาวะร่างกายในแต่ละช่วงเวลา ก็เพื่อปรับดุลภาวะสุขภาพให้สมดุลนั่นเอง และนี่คือสาระสำคัญ

ทีนี้ มันมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบ ทำให้ภาวะร่างกายของคนเราเปลี่ยนไป เช่น กรรมพันธุ์ อายุ เพศ สภาพจิตใจ สภาพแวดล้อม ลมฟ้าอากาศ การใช้ชีวิตและอาหารการกิน การออกกำลังกาย และอื่นๆอีกหลายปัจจัย ซึ่งเราควบคุมบางปัจจัย ไม่ได้ เช่น กรรมพันธุ์ อายุ เพศ สภาพแวดล้อม สมฟ้าอากาศ แต่ก็มีอีกหลายปัจจัยที่เราควบคุมหรือปรับเปลี่ยนได้ เช่น การใช้ชีวิตและอาหารการกิน การออกกำลังกาย

คนเราจึงมีภาวะร่างกายไม่เหมือนกัน จำแนกง่ายๆได้ 4 แบบ คือ

คนที่ร่างกายมีภาวะเย็นจัด หรือ หาน-ถี่-จื้อ (寒体质) ร่างกายจะสร้างความร้อนได้น้อย เย็นตามอุ้งมืออุ้งเท้า สีหน้าซีดเซียว มีเหงื่อน้อย ถ่ายเหลวง่าย คนพวกนี้ชอบดื่มแต่น้ำอุ่น ไม่ค่อยกระหายน้ำ ในช่วงหน้าร้อนที่อากาศร้อนอบอ้าว ต่อให้อยู่ในห้องปรับอากาศ ก็ยังรู้สึกไม่สบายตัว

คนที่ร่างกายมีภาวะร้อน หรือ เย่อ-ถี่-จื้อ (热体质) ร่างกายสร้างความร้อนได้ค่อนข้างมาก สีหน้าแดงก่ำ กระหายน้ำง่าย ชอบดื่มน้ำเย็น รู้สึกสบายตัวขึ้น ถ้าได้อยู่ในห้องปรับอากาศขณะข้างนอกอากาศร้อนอบอ้าว

คนที่ร่างกายอยู่ในภาวะอ่อนแอ หรือ ถี่-จื้อ-ซวี (体质虚) เกิดจากอวัยวะต่างๆของร่างกายเสื่อมหรือหย่อนสมรรถภาพการทำงาน จิตใจห่อเหี่ยวไม่เบิกบาน ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
คนที่ร่างกายอยู่ในภาวะที่อวัยวะทุกส่วนทำงานมากเกินไป หรือ ถี่-จื้อ-สือ (体质实) คนพวกนี้มักเป็นไข้ง่าย ท้องอืดเฟ้อ ท้องงผูกง่าย หงุดหงิดง่าย

ทั้งนี้ คนที่ร่างกายมีภาวะเย็นจัด ร่างกายมักอ่อนแอ ขณะที่คนที่ร่างกายมีภาวะร้อน อวัยวะทุกส่วนก็มักทำงานมากไปหรือหนักไป สรุปคือคนสองกลุ่มนี้ กลุ่มหนึ่งมีภาวะร่างกายเย็น ส่วนอีกกลุ่มมีภาวะร่างกายร้อน แต่ยังมีคนอีกกลุ่ม คือคนที่ร่างกายอยู่ในภาวะไม่ร้อนไม่เย็น ซึ่งเป็นภาวะปกติของร่างกาย
มะม่วงสุก ขอบคุณภาพจาก https://www.buydirectlyfromfarmers.tw/catalogue/AR-010_1033/
กลับมาที่เรื่องการกินผลไม้ เช่นเดียวกับที่คนเรามีภาวะร่างกายต่างกัน ผลไม้ก็มีคุณสมบัติต่างกัน ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และแม้จะพูดกันว่า หน้าร้อนควรกินผลไม้ให้มาก แต่ถ้ากินผลไม้โดยไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ ก็อาจทำให้ไม่สบายได้ แต่ถ้าเลือกกินผลไม้ให้เหมาะกับภาวะร่างกายได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายแน่นอน

กล่าวคือ คนที่ร่างกายมีภาวะค่อนไปในทางร้อน ควรกินผลไม้ที่มีคุณสมบัติเย็นให้มาก ส่วนคนที่ร่างกายทีภาวะค่อนไปในทางเย็น ก็ควรกินผลไม้ที่มีคุณสมบัติร้อน เป็นหลักการง่ายๆที่ใช้คุณสมบัติร้อนเย็นของผลไม้มาคานกับภาวะร้อนเย็นของร่ากาย เพื่อให้ภาวะร้อนเย็น หรือยินหยางในร่างกายเกิดความสมดุลขึ้นนั่นเอง

ผู้ที่ร่างกายมีภาวะเย็น ควรกินผลไม้ที่มีคุณสมัติร้อน เช่น องุ่น ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน ทับทิม อาจรวมไปถึงมะพร้าวที่มีคุณสมัติละมุนด้วย เป็นต้น แต่ผลไม้พวกนี้มักมีสัดส่วนน้ำตาลสูง และให้พลังงานสูง กินแล้วเกิดภาวะร้อนได้ง่าย ร่างกายได้รับพลังงานมากขึ้น

ผู้ที่ร่างกายมีภาวะร้อน ควรกินผลไม้ที่มีคุณสมัติเย็น เช่น สาลี่ แตงโม กล้วย มะม่วง อ้อย แตงไทยแคนตาลูป ส้มเขียวหวาน ส้มเช้ง ส้มโอ ลูกพลับ มังคุด แห้ว ผลกีวี เป็นต้น แต่ผลไม้พวกนี้ ให้พลังงานต่ำ มีเส้นใยมาก มีน้ำตาลน้อย ยิ่งกินมาก ร่างกายก็ยิ่งไม่ได้รับพลังงาน กินบ่อยกินมาก จะทำให้ไม่มีเรี่ยวแรง ร่างกายจะอ่อนแอลง

สุดท้าย ผู้ที่ร่างกายมีภาวะไม่ร้อนไม่เย็น จะเลือกกินผลไม้ได้มากกว่า แต่ที่เหมาะเห็นจะได้แก่ อ้อย สับปะรด เป็นต้น
ข้าวเหนียวมะม่วง ขอบคุณภาพจาก www.mafengwo.cn/photo/poi/7651278_184134759.html
ในที่นี้ขอพูดถึงคุณสมบัติของผลไม้ยอดนิยม 3 ชนิดในบ้านเรา คือมะม่วง มังคุด และทุเรียน

มะม่วง
มะม่วงมีชื่อสามัญในภาษาจีนว่า หมัง-กั่ว (芒果เสียงจีนกลาง) แต่ชาวแต้จิ๋วเรียกว่า ส่วย (檨suain-ที่ต้องใส่ “n” สะกดไว้ เพราะคำนี้มีเสียงนาสิก คือต้องออกเสียงขึ้นทางจมูกด้วย)

มะม่วงสุกมีคุณสมบัติเป็นกลาง รสหวาน แก้กระหาย ชุ่มคอ บำรุงสายตา บำรุงผิว ส่วนมะม่วงดิบ กินแก้อาการคลื่นไส้ เมารถเมาเรือได้ สตรีมีครรภ์ที่มีอาการคลื่นไส้แพ้ท้อง ก็กินมะม่วงดิบแก้แพ้ท้องได้ ข้อเดียวที่ควรระวังคือ มะม่วงจะให้ความชื้นแก่ร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคที่มีความชื้นเป็นสมุฏฐาน เช่น ท้องมาน เหน็บชา เป็นต้น

ดังนั้น ผู้ที่ร่างกายมีพิษความชื้นอยู่แล้ว จึงไม่ควรกินมะม่วงมากไป เรื่องนี้ต้องระวังเพราะจะกลายเป็นการสั่งสมความชื้นมากจนกลายเป็นพิษ แต่ก็ไม่ต้องวิตกจนเกินเหตุ ถึงกับไม่กินมะม่วง

คนที่มีอาการไอ คันในลำคอ เสมหะเหลว หรือเป็นหืดหอบ ไม่ควรกินมะม่วง เพื่อมิให้อาการคันในลำคอเป็นมากขึ้น และการกินมะม่วงในคราวเดียวมากเกินไป แล้วเกิดอาการเสียงแหบแห้งให้บ้วนปากด้วยน้ำละลายเกลือแกง จะช่วยบรรเทาอาการเสียงแหบแห้งได้ มะม่วงน้ำปลาหวานหรือมะม่วงดิบจิ้มเกลือจิ้มกะปิ เป็นการกินมะม่วงดิบที่ป้องกันเสียงแหบแห้งได้

หลายคนชื่นชอบข้าวเหนียวมะม่วงมาก กินได้คราวละไม่น้อย หรือชอบกินเป็นประจำ การกินข้าวเหนียวมะม่วงมากไปอย่างนี้ไม่ดีแน่ เหตุผลคือ มะม่วงจะไปสั่งสมความชื้นในร่างกาย ส่วนข้าวเหนียวมีคุณสมบัติร้อน ก็จะไปทำให้เกิดภาวะร้อนในร่างกาย การสะสมทั้งพิษร้อนพิษชื้นไว้ในร่างกายอย่างนี้ อาจส่งผลให้เกิดอาการแน่นท้อง ปวดท้องได้

มังคุด
มังคุด ชาวจีนเรียก ซาน-จู๋ (山竹เสียงจีนกลาง) เป็นผลไม้ที่มีคุณสมบัติเย็นจัด ใช้ดับร้อนแก้กระหาย แก้คอแห้ง แก้แผลในช่องปาก ที่สำคัญคือกินเพื่อลดภาวะร้อนของร่างกาย แต่ก็ไม่ควรกินมากไป โดยเฉพาะคนที่มีอาการปวดท้องถ่ายเหลวอยู่แล้ว ไม่ควรกิน

ใครชอบกินมังคุดครั้งละมากๆ ควรใส่ใจกับภาวะร้อนเย็นของร่างกายตนเองด้วย ใครที่ร่างกายมีภาวะเย็นหรืออ่อนแออยู่แล้ว ถ้ายังกินมังคุดคราวละมากๆ อาจทำให้มีอาการถ่ายเหลว อาเจียน กินน้อยไว้นั่นแหละดี อีกข้อที่ควรระวังคือ อย่ากินผลไม้ที่มีคุณสมบัติเย็น เช่น แตงโม สาลี่ ส้ม ซ้ำเติมเข้าไปอีก หากรู้ตัวว่า กินมังคุดมากไป ให้ต้มน้ำขิงใส่น้ำตาลอ้อยกินแก้กันได้

มังคุดเป็นผลไม้ที่ออกในฤดูกาลเดียวกับทุเรียน ซึ่งทุเรียนมีคุณสมบัติร้อนจัด จึงมักถูกจับให้คู่กันหนึ่งเย็น หนึ่งร้อน หลักการคือใช้เย็นแก้ร้อน และใช้ร้อนแก้เย็น ดังนั้น หากกินทุเรียนมากจนร่างกายเกิดภาวะร้อน อย่างที่เรียกกันว่าร้อนใน ก็ให้กินมังคุดที่มีคุณสมบัติเย็นจัดเพื่อแก้ไขภาวะร้อนนี้
ข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิ ขอบคุณภาพจาก http://blog.sina.cn/dpool/blog/s/blog_685369f00102vxs8.html?vt=4
ทุเรียน
ทุเรียน ชาวจีนเรียก หลิว-เหลียน (榴莲เสียงจีนกลาง) เป็นผลไม้ที่มีกลิ่นแรง คนชอบว่าหอมหวานถึงขั้นหลงใหล คนไม่ชอบว่าเหม็น แค่ได้กลิ่นแต่ไกล ก็รีบเดินเลี่ยงไป ทุเรียนมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนที่สุดในบรรดาผลไม้ทั้งหลาย จนขึ้นชื่อว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ โดยมีคุณสมบัติร้อนจัดเป็นจุดเด่น แต่ก็กลายมาเป็นข้อเสียไปด้วย ทำให้ทุเรียนไม่ใช่ผลไม้ที่เหมาะสำหรับทุกคน

คนที่ร่างกายมีภาวะร้อน ต้องระวังเรื่องกินทุเรียนไว้เป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้ไม่สบายหรือที่ป่วยอยู่แล้ว อาการอาจทรุดลงได้ ใครป็นโรคที่มักมีภาวะร้อนแฝงอยู่ในร่างกายเสมอ เช่น โรคมะเร็ง โรคผิวหนัง โรคตับ รวมไปถึงคนที่มีอาการร้อนใน หงุดหงิดขี้โมโห นอนไม่หลับ หากงดกินทุเรียนได้ ย่อมดีที่สุด ส่วนข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทินี่ ถือเป็นของต้องห้ามสำหรับคนที่ร่างกายมีภาวะร้อนไปเลย เพราะทั้งทุเรียนและข้าวเหนียวต่างก็มีคุณสมบัติร้อนด้วยกันทั้งคู่ แม้จะมีน้ำกะทิจากมะพร้าวและน้ำตาลปึกที่มีคุณสมบัติละมุนค่อนไปทางเย็นผสมอยู่ด้วย แต่ก็คงไม่ช่วยอะไรได้นัก

คนที่ร่างกายมีภาวะเย็น มีอาการเบื่ออาหาร ปากจืด ถ่ายเหลว ทุเรียนอาจช่วยแก้ไขภาวะสุขภาพดังกล่าวได้ และถ้าเป็นคนชอบกินทุเรียน ก็ถือว่าโชคดี แต่ถ้าคุณกินทุเรียนมากไป จนเกิดภาวะร้อนขึ้น เช่น หน้าแดง ท้องอืดแน่น ให้กินมังคุดที่มีคุณสมบัติเย็นตาม จะช่วยแก้ไขภาวะร้อนนี้ได้




กำลังโหลดความคิดเห็น