xs
xsm
sm
md
lg

จับเลี้ยง ดื่มอย่างไรให้ไม่เสียสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครดิตตามภาพ
โดย พชร ธนภัทรกุล

สัปดาห์ที่แล้ว ผมเล่าถึงเหลี่ยงจุ้ย (凉水) ประเภทแชเฉาตุ้ย (青草水) หรือน้ำต้มสมุนไพรสดไปแล้ว สัปดานี้ เราจะมารู้จักกับเหลี่ยงจุ้ยประเภท “จับเลี้ยง” (杂凉什凉) กันบ้าง

น้ำจับเลี้ยง คือน้ำต้มสมุนไพรจีนหลายอย่างคละกัน (Chinese mixed herbs drink)
คำว่า จับ/จั๊บ (杂/什) ในจับเลี้ยง หมายถึงของเบ็ดเตล็ดอะไรก็ตามที่เอามาคละรวมกัน ผสมกัน เช่น ผักหลายชนิดต้มรวมกัน ที่เราเรียกว่า “จับฉ่าย” (杂菜/什菜) ไม่ได้แปลว่า สิบ เพราะจับเลี้ยงหลายตำรับใช้ยาจีนมากถึงสิบกว่ายี่สิบอย่างผสมกันก็มี

อันที่จริงชื่อ “จับเลี้ยง” นี้กร่อนมาจากชื่อเต็มๆว่า “จับเหลี่ยงจุ้ย” (杂凉水什凉水)

ความจริง “จับเลี้ยง” นับได้ว่าเป็นตำรับยาจีนประเภทหนึ่ง เพียงแต่ไม่ใช่ตำรับยาเพื่อการรักษาบำบัดโรค แต่เพื่อดูแลป้องกันสุขภาพมากกว่า ดังนั้น สูตรหรือตำรับ จึงค่อนข้างยืดหยุ่นกว่าตำรับยาอื่นๆ

ใน “จับเลี้ยง” มักมีสมุนไพรจีนบางตัวยืนพื้นเสมอ เช่น เก๊กฮวย หล่อฮั้งก้วย ดอกงิ้ว แห่โกวเช่า เหม่ากึง(รากหญ้าคา) โชยเตียจั้ว(ใบเพกา) ส่วนสมุนไพรจีนที่จัดเพิ่มอาจมี โหล่วเก็ง เทียงฮวยฮุ่ง หง่วงเซียม เง็กเต็ก แบะตัง กิมหงึ่งฮวย(สายน้ำผึ้ง) เป็นต้น สมุนไพรจีนส่วนหลังนี้ ก็แล้วแต่ว่าทางร้านขายยาจีนเขาจะจัดอะไรให้บ้าง ซึ่งมักจัดเพิ่มให้เพียง 3-4 อย่าง ไม่จำเป็นต้องจัดให้ครบหมดทุกอย่าง
เครดิตตามภาพ
เมื่อก่อนเวลาไปร้านยาจีนซื้อ “จับเลี้ยง” ที่ร้านยาจีน จะบอกทางร้านว่าซื้อกี่บาท ทางร้านก็จะจัดให้ตามราคาที่เราบอกไป ดังนั้น “จับเลี้ยง” ที่ได้จึงมีชนิดและปริมาณยาจีนมากน้อยรวมทั้งราคาถูกแพงแตกต่างกันไป แต่สมัยนี้ ร้านยาจีนจัดไว้ให้เสร็จสรรพเป็นห่อใหญ่ แม้ว่าสูตรผสม “จับเลี้ยง” ของแต่ละร้านจะไม่ค่อยเหมือนกัน แต่ก็จะมีตัวยาจีนยืนพื้นเหมือนกันๆกัน ทั้งราคาก็ไม่ต่างกันนัก ตกราวห่อละ 50 บาท

การต้มน้ำจับเลี้ยงควรต้มสองน้ำ การต้มน้ำแรก ให้เอาจับเลี้ยงใส่หม้อ เติมน้ำราว 3-4 ลิตร ต้มจนน้ำเดือด ลดไฟอ่อน ต้มต่ออีก 10-15 นาที จากนั้น ตักเอากากออก ยกหม้อน้ำจับเลี้ยงน้ำแรกลง พักไว้ เอากากจากการต้มน้ำแรก มาใส่น้ำ 2-3 ลิตร ต้มต่อเป็นน้ำที่สอง พอได้น้ำที่สองแล้ว ตักกากทิ้งให้หมด เอาน้ำจับเลี้ยงน้ำแรกมาเทผสมรวมกัน ใช้ไฟอ่อนต้มให้เดือดอีกครั้ง

เหตุผลที่ควรต้มสองน้ำ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับที่ต้องคั้นกะทิสองน้ำ เพื่อไม่ให้ทิ้งมะพร้าวที่จะคั้นได้อีกน้ำไปเปล่าๆนั่นแหละ คือการต้มรอบแรก เราจะได้น้ำจับเลี้ยงที่ค่อนข้างเข้ม อาจมีรสขมฝาดเฝื่อนมากจนดื่มยาก และตัวยาในสมุนไพรก็ยังไม่ถูกต้มออกมาหมด การต้มน้ำที่สอง จึงเท่ากับดึงเอาตัวยาที่ยังหลงเหลืออยู่ในสมุนไพรออกมาให้หมด และแน่นอนว่า น้ำต้มรอบสองนี้จะเจือจางกว่าน้ำต้มรอบแรกมาก คือค่อนข้างจืด ไม่ได้รสชาติ จึงให้เอาน้ำแรกกับน้ำที่สองมาผสมกัน เราก็จะได้น้ำจับเลี้ยงที่ไม่เข้มหรือจางเกินไป เหมาะสำหรับดื่มมากกว่า

แต่ถึงอย่างไร น้ำจับเลี้ยงที่ได้ก็ยังอาจมีรสขมฝาดเฝื่อน ไม่น่าดื่มนักสำหรับบางคน โดยเฉพาะเด็ก ชาวจีนจึงนิยมเพิ่มรสหวานในน้ำจับเลี้ยง ด้วยการใส่เปียทึ้ง (冰糖) หรือน้ำตาลกรวด ไม่ก็ใส่โอวทึ้ง (乌糖) หรือน้ำตาลแดง (น้ำตาลอ้อยป่น) หรืออาจใส่น้ำตาลทั้งสองชนิดผสมกัน
เครดิตตามภาพ
ที่เลือกใช้แต่น้ำตาลกรวดหรือน้ำตาลแดง เพราะน้ำตาลสองชนิดให้รสชาติละมุนนุ่มนวล ไม่หวานแหลมเหมือนน้ำตาลทรายขาว ยิ่งถ้าเอาน้ำตาลสองชนิดนี้มาคละผสมกัน ก็จะช่วยให้รสชาติน้ำจับเลี้ยง หอมหวานนุ่มนวล ชวนดื่มชื่นใจนัก

แต่จะใส่แค่พอประมาณ เพื่อให้น้ำจับเลี้ยงพอมีรสหวานแซมรสขมฝาดเท่านั้น พอให้ได้รสที่ดื่มได้ ไม่ใส่จนหวานเจี๊ยบเป็นน้ำหวาน เพราะความหวานระดับนั้น อาจไปลดทอนสรรพคุณทางยาของน้ำจับเลี้ยงลงได้ เนื่องจากตัวสมุนไพรจีนต่างๆที่ใช้ ส่วนมากมักมีคุณสมบัติเย็น ขณะที่น้ำตาลเป็นของที่มีคุณสมบัติร้อนนั่นเอง

ควรใส่น้ำตาลขณะน้ำจับเลี้ยงกำลังเดือด เมื่อคนจนน้ำตาลละลายหมดแล้ว ยกลงจากเตา ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น เทกรองผ่านผ้าขาวบางเพื่อกรองตะกอนทิ้ง ได้น้ำจับเลี้ยง

ทำไมคนจีนถึงนิยมต้มน้ำจับเลี้ยงดื่มกัน
เหตุผลก็คงต้องยกให้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่บังเอิญสอดคล้องกับหลักการแพทย์แผนจีน ที่เน้นเรื่องการปรับสมดุลของร่างกาย ซึ่งต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่องเป็นเวลานาน อย่างอาม่าของผมนี่ ท่านดื่มน้ำจับเลี้ยงมาตลอดชีวิตก็ว่าได้

ชาวจีนเชื่อว่า การตรากตรำงานหนัก วิถีชีวิตที่เร่งรีบจนร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ การกินอาหารที่มีคุณสมบัติร้อน โดยเฉพาะพวกของทอดน้ำมันมากไป และสภาพอากาศที่ร้อนชื้นอบอ้าว มักส่งผลให้ร่างกายเราเกิดภาวะที่เรียกว่า เน่ยเย่อร์ (内热จีนกลาง) หรือที่พูดกันว่า “ร้อนใน” ซึ่งก็คือภาวะที่มีความร้อนสะสมอยู่ในร่างกายค่อนข้างมาก หากบวกกับอยู่ในสภาพอากาศช่วงฤดูร้อน ที่ทั้งร้อนอบอ้าวและมีฝนตก (พายุฤดูร้อน) ความร้อนและความชื้นจากภายนอก อาจแทรกเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆได้ง่าย เช่น มีไข้ ไอ คอแดง เจ็บคอ เป็นแผลในช่องปาก ปากแห้ง คัดจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะ (น้ำมูกเสมหะเหลืองเหนียว) ทางแพทย์แผนจีนเรียกอาการเหล่านี้ว่า ฟง-เย่อร์-กั่น-เม่า (风热感冒จีนกลาง) หรือไข้หวัดที่มากับลมและความร้อน (common cold with wind-heat syndrome) แต่ชาวบ้านอย่างอาม่าเรียกง่ายๆว่า “คะยัวะ” หรือร่างกายมีภาวะร้อนเกินไป

ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเจ็บป่วยที่ว่านี้ อาม่ามักจะจัดแจงต้มน้ำ “เหลี่ยง”จุ้ย” หรือน้ำจับเลี้ยงให้ดื่มป้องกันไว้ก่อน
เครดิตตามภาพ
นานมาแล้ว ที่ชาวจีนเชื่อว่า เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น ป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าจะปล่อยให้เจ็บป่วยแล้วค่อยมารักษา พวกเขาจึงเรียนรู้ที่จะดูแลสุขภาพของตัวเองและทุกคนในครอบครัวด้วยวิธีง่ายที่สุด คือต้มน้ำสมุนไพร “เหลี่ยงจุย” หรือน้ำจับเลี้ยง ดื่มเพื่อแก้ร้อนในกันเองแบบง่ายๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ครอบครัวชาวจีนยึดถือปฏิบัติกันต่อเนื่องกันมาจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ครั้งโบราณแล้ว ดังมีหลักฐานบันทึกว่า แถบเมืองซัวเถาในจีน มีร้านขายน้ำจับเลี้ยงกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงและชิงแล้ว หรือที่มีชาวแต้จิ๋วชื่อ ตั้งไคไท่ ไปเปิดร้านขายน้ำจับเลี้ยงในฮ่องกงตั้งแต่ปี 1846 นอกจากนี้ ยังพบมีชื่อร้านขายน้ำจับลี้ยงบนฉลากปิดโถยาในสมัยแผ่นเนชิงด้วย

ร้านขายน้ำจับลี้ยงเหล่านี้ บางร้านก็ขายน้ำ “แชเฉาจุ้ย” หรือน้ำต้มสมุนไพรสดด้วย แม้แต่ร้านขายยาจีนและร้านค้าประเภทอื่นก็ขายน้ำจับลี้ยงด้วยเหมือนกัน และยังคงสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน สมุนไพรจีนที่ร้านขายน้ำจับลี้ยงใช้ อาจมีต่างจากบ้านเรา เช่น ซัวเซียม เง็กเต็ก เส็กตี่ ดอกสายน้ำผึ้ง เก๊กฮวย กลีบบัว ใบบัว โหล่วกึง จั่วจิเช่า หื่อชอเช่า (ใบคาวตอง) แป่ขี่เช่า (กะเม็ง) เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้พืชทะเลบางชนิด เช่น สาหร่าย เป็นต้น เป็นต้น

แม้น้ำจับลี้ยงจะเป็นเครื่องดื่ม ที่ช่วยป้องกันการเจ็บป่วยเกๆน้อยๆ โดยเฉพาะการป้องกันหวัดและแก้ร้อนใน ถือเป็นเครื่องดื่มที่ประโยชน์ในแง่ของการดูแลสุขภาพ แต่การดื่มน้ำจับลี้ยงมากไป ก็มีผลเสียเหมือนกัน คืออาจทำให้ภาวะสมดุลของร่างกายเสียไป จากที่ร่างกายเริ่มมีภาวะร้อนมากไป ก็จะกลับกลายเป็นมีภาวะเย็นเกินไป จากสมุนไพรจีนที่มีแต่คุณสมัติเย็นนั่นเอง ซึ่งก็ส่งผลให้เจ็บป่วยได้เหมือนกัน โดยเฉพาะสตรีและผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ ควรดื่มแต่พอประมาณ
เครดิตตามภาพ
ดังนั้น อย่าซื้อน้ำจับเลี้ยงดื่มทุกวันตามคำโฆษณาของบริษัทผลิตน้ำจับเลี้ยงบรรจุขวดขาย ต้องเว้นช่วงห่างไว้บ้าง แม้อาม่ามักต้มน้ำจับเลี้ยงให้ทุกคนดื่มเสมอ แต่อาม่าก็จะคอยเตือนเมื่อเห็นคนไหนดื่มน้ำจับเลี้ยงมากไปว่า “ดื่มมาก เดี่ยวก็ขี้ไหลดอก” (ขออภัยที่ใช้คำไม่สุภาพ) และวลีทองของอาม่า คือ ” ร้อนในแก้ง่าย แต่เย็นในแก้ยาก”

เย็นในหมายถึงร่างกายมีภาวะเย็นกินไป อาการที่แสดงออกเวลาร่างกายมีภาวะเย็นเกิรไป คือ มีน้ำมูกมากและเหลวใส ท้องอืดเฟ้อ ถ่ายเหลว ถ้าเป็นมาก อาจมีอาการปวดหลังปวดเอว ปวดตามข้อกระดูก มือเย็นเท้าเย็น

หากพอรู้คุณสมบัติของสมุนไพรจีนบ้าง จะเลือกใช้สมุนไพรจีนมาต้มเองก็ยิ่งดี ยกตัวอย่าง เช่น

แห่โกวเช่าร่วมกับใบเพกา ต้มน้ำดื่ม แก้ไอ เจ็บคอ เสียงแห้ง เป็นแผลในช่องปาก

หล่อฮั้งก้วย เแก้ไอ ละลายเสมหะ เจ็บคอ คอบวม ท้องผูก

เก๊กฮวย แก้ร้อนใน ดับร้อนถอนพิษไข้ แก้หวัด แก้ไข้

ดอกงิ้ว แก้ร้อนใน ขับความชื้นในร่างกาย ถอนพิษ แก้ท้องเสียถ่ายเหลว แก้บิด

เปะเหม่ากึง(รากหญ้าคา) แก้ร้อนใน แก้ไอ แก้ไข้ เจ็บคอ คอบวม ไล่ความชื้นในร่างกาย ขับน้ำ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะมีเข้ม

กำเช่า ดับร้อนถอนพิษ แก้ไอ หอบ แก้เจ็บคอ คอบวม มีเสมหะมาก แก้ปวดท้องถ่ายเหลว
เครดิตตามภาพ
ชาวจีนมีคำเตือนมาแต่โบราณแล้วว่า “อะไรที่เป็นยา ย่อมมีพิษอยู่สามส่วน” ตำรา “เน่ยจิง” (内径เสียงจีนกลาง) หรือ Canon of Medicine บันทึกว่า
เครดิตตามภาพ
สมุนไพรนั้น บ้างมีพิษมาก บ้างมีพิษปานกลาง บ้างมีพิษน้อย และบ้างไม่มีพิษ การใช้สมุนไพรรักษาโรคนั้น หากใช้...

สมุนไพรที่มีพิษมาก รักษาได้ผล 60 เปอร์เซ็นต์ ควรหยุดใช้และเปลี่ยนตัวยา

สมุนไพรที่มีพิษปานกลาง รักษาได้ผล 70 เปอร์เซ็นต์ ควรหยุดใช้และเปลี่ยนตัวยา

สมุนไพรที่มีพิษน้อย รักษาได้ผล 80 เปอร์เซ็นต์ ควรหยุดใช้และเปลี่ยนตัวยา

สมุนไพรที่ไม่มีพิษ รักษาได้ผล 90 เปอร์เซ็นต์ ควรหยุดใช้และเปลี่ยนตัวยา

ดังนั้น อย่าคิดว่า สมุนไพรเป็นอะไรที่ได้จากธรรมชาติแล้วจะต้องปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง ซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะถ้าใช้มากเกินไป บ่อยเกินไป ก็อาจเป็นพิษหรือมีผลข้างเคียงได้

จึงไม่ควรดื่มจับเลี้ยงทุกวัน ดื่มเพียง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็มากพอแล้ว
สูตรจับเลี้ยงโดยคุณไช่สีเจวียน เครดิตตามภาพ



กำลังโหลดความคิดเห็น