ไชน่า เดลี - ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนชี้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะไม่ทำแย่งงานมนุษย์ โดยภาครัฐและเอกชนไม่ควรเร่งปลดพนักงาน แต่ต้องยกระดับบุคลากรของตัวเองขึ้นไปสู่ทักษะและสร้างมูลค่าเพิ่มที่มากกว่าเดิมให้ได้
วานนี้ (9 เม.ย.) นางต่ง หมิงจู (董明珠) ประธานหญิงของบริษัทกรี (Gree) บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านยักษ์ใหญ่ของจีน กล่าวบนเวทีในงานโป๋อ่าว ฟอรัม ฟอร์ เอเชีย 2561 ซึ่งจัดขึ้นที่เกาะไหหลำ ประเทศจีน โดยระบุว่า พัฒนาการของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ก้าวล้ำขึ้น ไม่ได้หมายความว่างานของมนุษย์จะน้อยลง และบริษัทต่าง ๆ ไม่ควรจะเอาแต่เร่งปลดพนักงานอย่างเดียว
นางต่งระบุว่า บริษัทต่าง ๆ ต้องเร่งบ่มเพาะแรงงานที่มีพรสวรรค์และศักยภาพสำหรับภาคการผลิต ในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ บิ๊กดาต้า เปลี่ยนโรงงานต่าง ๆ ให้ฉลาดขึ้นและใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น
"ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการสร้างผู้ที่มีความสามารถในภาคการผลิต เพราะเราต้องการแรงงานที่มิใช้เก่งแต่เพียงการหมุนไขควงได้เร็วกว่า แต่เราก็ต้องการบุคลากรที่เรียนรู้สิ่งใหม่ได้อย่างรวดเร็ว" ผู้บริหารระดับสูงของ บ.ผลิตเครื่องไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีนระบุ และว่า "เราไม่ควรจะหวาดกลัวยุคสมัยที่สิ่งต่าง ๆ ฉลาดขึ้น แต่เราควรจะภาคภูมิใจกับมัน และพยายามถีบตัวขึ้นไปด้วยการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการควบคุมเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
ปัจจุบัน บ.กรี มีฐานการผลิตในประเทศจีน 8 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ไม่ใช้แรงงาน แต่นางต่งกลับคุยอวดว่าทางบริษัททุ่มเทพนักงานกว่า 12,000 คน ไปในส่วนของการวิจัยและพัฒนา
ทุกวันนี้มีความกังวลกันว่า บริษัทข้ามชาติกำลังแก่งแย่งกันยกระดับตัวเองเข้าสู่เทคโนโลยียุคถัดไป โดยปรับประสิทธิภาพของโรงงานและระบบการผลิต ซึ่งก่อให้เกิดความหวาดกลัวกันว่าจะส่งผลกระทบต่อระดับการจ้างงานของมนุษย์ให้ลดลง
นายริชาร์ด ไบลีย์ ประธานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นของเอชพี บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ ระบุว่า อนาคตของผลิตภาพนั้นจะขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI), เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ, บิ๊กดาต้า (Big Data) และเทคโนโลยีอื่น ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องใช้เวลา โดยรัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ ต้องเตรียมพร้อมในการรับมือกับความท้าทายใหม่
ด้านนายอัลลัน กาบอร์ กรรมการผู้จัดการของ บริษัทเมอร์ค โฮลดิ้งส์ (ประเทศจีน) ให้มุมมองว่า เขาเชื่อว่าทางออกสำหรับการแทนที่คนของเครื่องจักร คือการฝึกอบรมบุคลากรอย่างเป็นระบบในวงกว้าง เพื่อที่จะให้เกิดความมั่นใจได้ว่าแรงงานนั้นเหมาะสมกับการทำงานโลกยุคหน้า และสามารถฉกฉวยโอกาสใหม่ ๆ ได้
กาบอร์ระบุด้วยว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะทำให้เกิดความท้าทายใหม่ ๆ แต่เชื่อว่าผู้คนจะสามารถปรับตัวสอดรับกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่จำต้องมีมาตรการที่ช่วยเหลือแรงงานให้สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่และยกระดับฝีมือตัวเองเพิ่มขึ้นให้ได้ พร้อมเสริมว่าการอุบัติขึ้นของเทคโนโลยีใหม่นั้นไม่ได้หมายความถึงการทิ้งคนไว้เบื้องหลังเสมอไป
ด้าน นายหยวน ฮุย (袁辉) ผู้ก่อตั้งเสี่ยวไอ โรบ็อต (小i机器人) บริษัทหุ่นยนต์จีนในเซี่ยงไฮ้ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีจะไม่นำไปสู่ภาวะของการว่างงาน แต่ในทางตรงกันข้ามจะกระตุ้นให้ผู้คนยกระดับตัวเองขึ้นไป ก้าวไปสู่งานที่ต้องใช้ทักษะและสร้างมูลค่าเพิ่มที่มากกว่าแทน