xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์จีนยืนยัน ค้างคาว เป็นตัวการแพร่ โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยจีนพบ โคโรนาไวรัสในค้างคาวมงกุฎ พร้อมกับยืนยันแล้วว่า เป็นตัวการที่สังหารสุกร ราว 25,000 ตัว ในจีน (แฟ้มภาพ บีบีซี)
ซินหวา— ทีมนักวิจัยจีนพบ โคโรนาไวรัสในค้างคาวมงกุฎ (horseshoe bats) พร้อมกับยืนยันว่า เป็นตัวการที่สังหารสุกร ราว 25,000 ตัว ในจีน

สืบเนื่องจากกรณีที่มีลูกหมูแรกเกิดในฟาร์มที่มณฑลกว่างตง มีอาการป่วยอย่างไม่รู้สาเหตุที่มาที่ไป คือ มีอาการท้องร่วง อาเจียน และตาย โดยเป็นกรณีที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2016 และ 2017

กลุ่มนักวิจัยได้ตั้งข้อสงสัยเบื้องต้นว่า มาจากเชื้อโรคไวรัสที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร หรือโรคพีอีดี (porcine epidemic diarrhea virus ชื่อย่อ PEDV) แต่ต่อมาเมื่อนักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองเพื่อวิเคราะห์ทางยีนส์ ก็ได้ออกมายืนยันว่า สาเหตุที่ทำให้ลูกหมูเป็นโรคท้องร่วงติดต่อและตายในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ คือ SADS หรือ อาการท้องเสียอย่างรุนแรงในหมู

“เมื่อเรานำเชื้อโรคลึกลับมาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ก็ยืนยันได้ว่าเป็นเชื้อไวรัสตัวใหม่จากตระกูลเดียวกัน ทั้งไวรัสพีอีดี และซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome ชื่อย่อ SARS) และค้างคาวมักเป็นคลังเก็บจุลินทรีย์ก่อโรคจำนวนมาก ดังนั้น เราจึงเริ่มแกะรอยไวรัสจากการสุ่มตัวอย่างค้างคาว” นาย สือ เจิงลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส แห่งสถาบันไวรัสวิทยา ณ เมืองอู่ฮั่น สังกัดวิทยาศาสตร์บัณฑิตยสถานแห่งจีน (Chinese Academy of Sciences)

สือบอกว่า นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างจากค้างคาว 591 ตัว ส่วนใหญ่จากค้างคาวมงกุฎ ระหว่างปี 2013 และ 2016 โดย 10 เปอร์เซ็นต์ของการทดลอง ได้ผลบวก

การวิจัยนี้ ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ จีน สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา และผลการค้นพบ ได้ถูกนำออกเผยแพร่ในนิตยสาร Nature เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

“การศึกษาได้มุ่งไปที่ความสำคัญของการระบุความหลากหลายทางชีวภาพของโคโรนาไวรัส และการกระจายตัวในค้างคาว เพื่อสกัดการระบาดใหญ่ในอนาคต ที่จะเป็นภัยคุกคามต่อปศุสัตว์ สุขภาพสาธารณชน และการเติบโตเศรษฐกิจ” รายงานการค้นพบ ระบุ

นอกจากนี้กลุ่มนักวิจัยยังโล่งใจที่ได้พบว่า ไวรัสนี้ไม่ติดต่อสู่มนุษย์หลังจากที่ได้ตรวจร่างกายกลุ่มคนงานที่ใกล้ชิดกับกลุ่มหมูติดเชื้อในฟาร์มที่กว่างตง

“เชื้อโรคที่ติดต่อในคนหลายๆตัว เช่น ซาร์ส มีแหล่งแพร่เชื้อดั้งเดิมมาจากสัตว์ เป็นไปได้ว่า SADS อาจแพร่ระบาดจากค้างคาวไปยังสัตว์เลี้ยง และอาจไปถึงมนุษย์ในอนาคต” หม่า จิ้งอวิ๋น นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเกษตรกรรมแห่งจีนใต้ กล่าว และเป็นผู้เขียนร่วมในงานวิจัยนี้ด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น