เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์
เขตปกครองตนเองทิเบต (西藏自治區) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เป็นที่ราบสูงซึ่งสูงที่สุดในโลก จึงได้รับการขนานนามว่า ‘ดินแดนหลังคาโลก’ ผู้คนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนานิกายวัชรยาน เนื่องด้วยที่ราบสูงทิเบตมีอากาศหนาวจัด ประกอบกับมีความกดอากาศและออกซิเจนต่ำ จึงมีประชากรอาศัยอยู่ไม่มาก จากปัจจัยหลากหลายประการทำให้วัฒนธรรมทิเบตค่อนข้างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งอาจแปลกประหลาดในสายตาผู้คนในภูมิภาคอื่น
เหตุใดชาวทิเบตนิยมโปะมูลวัวไว้บนผนัง
‘สมบัติ’ ในความคิดของคนทั่วไปอาจเป็นบ้าน ที่ดิน อัญมณี หรือเงินทอง แต่สำหรับชาวทิเบตแล้ว สมบัติล้ำค่าของพวกเขาคือ ‘มูลวัว’
ในหมู่ชาวทิเบตมีคำกล่าวว่า “บุตรไม่รังเกียจหน้าตาอัปลักษณ์ของมารดา มนุษย์ไม่รังเกียจความสกปรกของมูลวัว” (子不嫌母醜,人不嫌牛糞髒) กล่าวคือ ชาวทิเบตไม่รู้สึกรังเกียจความสกปรกของมูลวัว ในทางกลับกันยังมองมูลวัวเป็น ‘สมบัติล้ำค่า’ เพราะมูลวัวมีประโยชน์หลากหลายด้าน
มูลวัวในภาษาทิเบตเรียกว่า ‘จิ๋วหว่า’ (久瓦) หมายถึง เชื้อเพลิง เนื่องจากชาวทิเบตใช้มูลวัวเป็นเชื้อเพลิงมานานนับพันปี ทั้งหุงหาอาหาร ต้มน้ำ หรือให้ความอบอุ่น เพราะที่ราบสูงทิเบตไม่มีป่าไม้ ทำให้ขาดแคลนเชื้อเพลิง ชาวทิเบตจึงต้องนำมูลวัวมาผสมกับฟางข้าวสาลี ปั้นเป็นก้อนแล้วโปะไว้ตามกำแพงบ้านเพื่อตากแดดให้แห้ง มูลวัวที่ผสมกับฟางข้าวสาลีเมื่อแห้งแล้วจะไม่แตกหักง่ายและยังเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี จากนั้นนำเชื้อเพลิงมูลวัวแห้งไปกองไว้ตามลานบ้าน หรือบางบ้านอาจวางไว้ตามกองหินพุทธมณี บ้านที่มีเชื้อเพลิงมูลวัวจำนวนมากจะถูกมองว่าเป็นบ้านที่ร่ำรวย สมาชิกในครอบครัวขยันขันแข็ง
*กองหินพุทธมณีคือกองหินที่มีลักษณะคล้ายเจดีย์ ชาวบ้านจะแกะสลักหรือวาดเป็นรูปต่างๆ หรือถ้อยคำที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาลงบนหินในช่วงฤดูหนาวที่ออกไปทำการเกษตรไม่ได้
ลิงค์สำหรับดาวน์โหลดจดหมายข่าวฉบับเต็มที่สามารถกดแล้ว ดาวน์โหลดได้เลย
https://goo.gl/emF6Md
คลิกอ่านจดหมายข่าว
http://www.อาศรมสยาม-จีนวิทยา.com/