xs
xsm
sm
md
lg

“ลาก่อนเทียนกง-1” ผู้เบิกทางสู่สถานีอวกาศถาวรจีน จ้าวจักรวาลเพียงหนึ่งเดียวในอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บรรยายภาพ--ลาก่อน เทียนกง-1 ภาพกราฟิกแสดงห้องทดลองอวกาศเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเหนือบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ณ เวลา 8.15 น. ของวันที่ 2 เม.ย. โดยห้องทดลองเผาไหม้เกือบหมดสิ้นในชั้นบรรยากาศ

สถานีอวกาศเทียนกง-1 ได้ทำการทดลองเชื่อมต่อและจอดเทียบท่ากับยานเสินโจว-8, เสินโจว-9 และเสินโจว-10 มีนักบินอวกาศ 6 คน ได้แก่ ชายสี่ หญิงสอง ใช้ชีวิตอยู่ในห้องทดลอง

เทียนกง-1 ได้ปฏิบัติภารกิจ 4 ปีครึ่ง นานกว่าช่วงชีวิตห้องทดลองที่ออกแบบมาสำหรับใช้งาน 2 ปี ครึ่ง เป็นการเตรียมการขั้นสำคัญของสถานีอวกาศถาวร ที่จะถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรราวปี 2022 (2565)
MGR ONLINE--“สถานีอวกาศเทียนกง-1 ของจีน ได้ตกสู่พื้นโลก บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ณ เวลา 08.15 น. โดยไม่มีรายงานความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน” สำนักงานวิศวกรรมอวกาศที่มีคนบังคับแห่งจีนแถลง (China Manned Space Engineering Office /CMSEO) แถลงข่าวใหญ่แห่งโลกอวกาศในเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา

สถานีอวกาศเทียนกง-1 ได้ถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ แตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เปรียบได้กับการดับสิ้นไปของสิ่ง ทว่า ภารกิจของเทียนกง-1 เป็นดั่งผู้บุกเบิกสถานีอวกาศ ซึ่งจะอยู่ในความทรงจำของชาวจีนและการพัฒนาทางอวกาศ

สำหรับชื่อ ‘เทียนกง-1’ (天宫一号/Tiangong-1)แปลตามหน้าศัพท์หมายถึง “พระราชวังแห่งฟ้า” ซึ่งเป็นนิวาสถานที่ชนชาติจีนปรารถนาจะไปสถิตอยู่ชั่วนิรันดร์ตามความเชื่อประเพณีจีน

เทียนกง-1 เป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของจีน มีน้ำหนัก 8.5 ตัน ความยาว 10.4 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางส่วนที่ยาวสุดเท่ากับ 3.35 เมตร มีพื้นที่ห้อง 15 คิวบิกเมตรสำหรับนักบินอวกาศ 3 คน อาศัยและทำงาน สื่อฮ่องกง เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ระบุ จีนใช้งบฯก่อสร้าง เทียนกง-1 หลายร้อยล้านหยวน

สถานีอวกาศเทียนกง-1 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรของโลกเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 จากฐานปล่อยจรวดเมืองจิ่วเฉวียน มณฑลกานซู่ ซึ่งมีวงโคจรห่างจากโลก 350 กม. สำหรับจรวดขนส่งที่พาเทียนกง-1 ขึ้นสู่วงโคจร คือ ลองมาร์ช--2FT1 (Long March-2FT1) ภารกิจหลักของเทียนกง-1 คือการทดลองการเชื่อมต่อหรือการจอดเทียบท่าระหว่างยานอวกาศ รวบรวมประสบการณ์และความรู้ขั้นสำคัญเพื่อเตรียมการสำหรับการสร้างสถานีอวกาศภายในปี 2565 ทั้งนี้จากรายงานข่าวสำนักข่าวซินหวาซึ่งเป็นกระบอกเสียงหลักของทางการจีนระบุ

สถานีอวกาศเทียนกง-1 ได้ทำการทดลองเชื่อมต่อและจอดเทียบท่ากับยานต่างๆ ได้แก่ เสินโจว-8 เสินโจว-9, และเสินโจว-10

หลังจากที่ส่งเทียนกง-1 ขึ้นสู่อวกาศ หนึ่งเดือนต่อมาจีนได้ส่งยานอวกาศไร้คนบังคับคือ เสินโจว-8 (Shenzhou-8) ขึ้นสู่วงโคจร ในวันที่ 3 พ.ย. 2554 สถานีอวกาศเทียนกง-1 และยานเสินโจว-8 โคจรมาเชื่อมต่อและเทียบท่ากันโดยอัตโนมัติได้สำเร็จที่ความสูง 343 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวโลก ต่อจากนั้นยานทั้งสองได้แยกจากกันและทำการจอดเทียบท่ากันอีกเป็นครั้งที่สอง

ความสำเร็จในการเชื่อมต่อและจอดเทียบท่าระหว่างกระสวยอวกาศเป้าหมายคือ เทียนกง-1 และเสินโจว-8 ถือเป็นความก้าวหน้าคืบใหญ่ของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศจีน โดยนับเป็นประเทศที่สามของโลกที่บรรลุเทคโนโลยีดังกล่าว หลังจากที่สองจ้าวอวกาศสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ได้ครองเทคโนโลยีนี้มาก่อนหน้า

“เมื่อผมรายงานความสำเร็จการเชื่อมต่อระหว่างเสินโจว-8 และเทียนกง-1 จากศูนย์ควบคุมอวกาศปักกิ่งในเดือนพ.ย.2554 ชาวจีนต่างน้ำตาไหลด้วยความปีติเมื่อได้เห็นภาพที่ยานอวกาศสองลำที่ลอยเคว้งในห้วงอวกาศอันไพศาลสองลำ มาเชื่อมต่อกัน นับเป็นภาพโรแมนติกที่เกิดจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ไป๋ รุ่ยเสวีย อดีตผู้สื่อข่าวอวกาศ และปัจจุบันเป็น CEO โครงการศึกษาอวกาศเพื่อการพาณิชย์ กล่าว
ภาพกราฟิกแสดง 3 ขั้นตอน การเชื่อมต่อและการจอดเทียบท่ายานอวกาศจีน ความก้าวหน้าคืบใหญ่ของการครอบครองเทคโนโลยีการเชื่อมต่อและการจอดเทียบท่าฯของจีน ทั้งแบบอัตโนมัติและแบบคนบังคับ  (ภาพโดยซินหวา)
ในปี 2555 ยานอวกาศเสินโจว-9 ได้ถูกส่งไปเพื่อจอดเทียบท่ากับสถานีอวกาศเทียนกง-1 โดยทำสถิติครั้งแรกของการเชื่อมต่อและจอดเทียบท่าแบบใช้คนบังคับ ยานเสินโจว-9 และสถานีอวกาศเทียนกง-1 ได้ดำเนินการทดลองเชื่อมต่อและจอดเทียบท่าสองครั้ง ได้แก่ แบบอัตโนมัติหนึ่ง และแบบใช้คนบังคับหนึ่ง

นอกจากนี้ยังนับเป็นการทำสถิติครั้งแรกที่นักบินอวกาศจีน ได้แก่ ไห่ จิ่งหง พร้อมด้วยลูกเรือ หลิว หวัง และนักบินอวกาศหญิง หลิว หยัง ได้ปฏิบัติภารกิจที่สถานีอวกาศเทียนกง-1

ภารกิจครั้งนี้ยังได้พิสูจน์ความสามารถการขนส่งนักบินอวกาศและซับพลายต่างๆจากพื้นโลกไปยังห้องทดลองในอวกาศของจีน พร้อมกับทดลองสมรรถนะของห้องทดลองสถานีอวกาศเทียนกง-1 ในด้านต่างๆ อาทิ การรับรองการทำงานและการใช้ชีวิตของนักบินอวกาศ การควบคุมสภาพแวดล้อม ปฏิบัติการและผลการปฏิบัติการของยานอวกาศที่มาเชื่อมต่อ

ภารกิจครั้งนี้ได้รับรองแล้วว่าจีนได้ครอบครองเทคโนโลยีการเชื่อมต่อและจอดเทียบท่ายานอวกาศ และความสามารถอย่างเต็มพิกัดในการขนส่งมนุษย์และเสบียงข้าวของต่างๆไปยังกระสวยอวกาศที่โคจรอยู่นอกโลก ซึ่งเป็นขั้นตอนชี้ขาดการสร้างสถานีอวกาศ

ในเดือนมิ.ย.2556 ยานอวกาศเสินโจว-10 ได้ถูกส่งขึ้นไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนกง-1 สองครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการเชื่อมต่ออัตโนมัติและครั้งที่สองเชื่อมต่อด้วยมือบังคับแบบต่างๆ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีต่างการเชื่อมต่อยานอวกาศและสนับสนุนการอาศัยอยู่ในห้วงอวกาศของนักบินฯ

สำหรับนักบินอวกาศสามคนที่ไปปฏิบัติภารกิจในเสินโจว-10 ได้แก่ เนี่ย ไห่เซิง, จัง เสี่ยวกวง, และหวัง ย่าผิง โดยทั้งหมดทำงานอยู่ในสถานีอวกาศเทียนกง-1 เป็นเวลา 12 วัน ทำการทดลองการแพทย์ในอวกาศ และการทดลองด้านเทคนิกต่างๆ

นักบินอวกาศหญิง หวัง ย่าผิง ยังได้บรรยายเกี่ยวกับหลักการฟิสิกส์พื้นฐานจากห้องทดลองในอวกาศให้แก่นักเรียนที่เข้าร่วมชั้นเรียนบนพื้นโลก โดยใช้ระบบถ่ายทอดสดผ่านวีดิโอ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและการตื่นตัวสาธารณะต่อการขุดค้นทางอวกาศและวิทยาศาสตร์

ยานเสินโจว-10 ปฏิบัติภารกิจแล้วเสร็จและกลับสู่โลกในเดือนมิ.ย.2556
กลุ่มนักเรียนที่เข้าร่วมชั้นเรียนบนพื้นโลกกำลังตั้งคำถามนักบินอวกาศหญิง หวัง ย่าผิง ซึ่งปฏิบัติภารกิจในห้องทดลองอวกาศเทียนกง-1  เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2556 (ภาพ ซินหวา)
ยุติบริการข้อมูลในเดือนมี.ค.2559

สถานีอวกาศเทียนกง-1 ได้ปฏิบัติภารกิจบริการทางอวกาศเป็นเวลาทั้งสิ้น 4 ปี ครึ่ง นานกว่าช่วงชีวิตห้องทดลองที่ออกแบบมาสำหรับใช้งาน 2 ปี ครึ่ง เป็นขั้นตอนสำคัญและบุกเบิกทางให้จีนเป็นชาติมหาอำนาจที่สามในโลก ที่สามารถสร้างสถานีอวกาศถาวรในราวปี 2565 หรือราวทศวรรษที่ 2020

ทั้งนี้ ในปี 2535 จีนได้พัฒนายุทธศาสตร์ 3 ขั้นตอน สำหรับภารกิจอวกาศที่มีคนบังคับ ได้แก่ ขั้นตอนแรกการส่งนักบินอวกาศไปยังอวกาศและเดินทางกลับมายังพื้นโลกอย่างปลอดภัย และนักบินอวกาศคนแรกคือ หยัง ลี่เหว่ย ผู้พิชิตภารกิจเสินโจว-5 ในปี 2546

ขั้นตอนที่สอง การพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิกเที่ยวบินอวกาศขั้นสูง รวมทั้งกิจกรรมของยานพาหนะเสริมพิเศษ และการเชื่อมต่อในวงโคจร

ขั้นตอนต่อไปคือ การประกอบและการส่งปฏิบัติการสถานีอวกาศที่มีคนบังคับถาวร

ในอนาคต เมื่อสถานีอวกาศนานาชาติปลดระวางในปี 2567 ตามแผนที่กำหนดไว้ สถานีอวกาศจีนจะเสนอทางเลือกที่ดีงาม พญามังกรเป็นประเทศเดียวที่มีสถานีอวกาศถาวร เป็นจ้าวอวกาศเพียงหนึ่งเดียวในจักรวาล.




กำลังโหลดความคิดเห็น