xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกจีนฯ จับมือทางทหารมาแต่สมัยอยุธยา เดินเรือจากละโว้-ไซ่ง่อน ใช้เวลา 4 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนที่เส้นทางการเดินเรือจากหมู่เกาะไห่หนันมายังแถบเอเชียอาคเนย์และไปถึงอินเดียและศรีลังกา ในสมัยราชวงศ์ฮั่น(ก่อนค.ศ. 202 – ค.ศ. 220) (ภาพจากอ.ประพฤทธิ์)
“ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นฉบับหลวง”
จากการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยในเอกสารจีน โดย อาจารย์ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี ผู้เชี่ยวชาญ เคยพบสิ่งที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ไทย-จีนในเอกสารจีนโบราณ ซึ่งมีอายุเก่าแก่ ย้อนไปกว่า 2,200 ปี นั่นก็หมายถึงว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีน มีมายาวนานกว่า 2,200 ปี และประวัติศาสตร์อาณาจักรสยาม ก็เก่าแก่โบราณกว่า 700-800 ปี ที่โดยทั่วไปนับจากวันสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในปีพ.ศ.1792

“การตั้งประเทศหนึ่งๆ นั้น ต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 1,000 ปี ทว่า ตามประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เคยศึกษามานั้น กลับมีเพียงแค่ 800 ปี โดยนับตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หากอ้างอิงจากเอกสารจีนแล้วนั้น เป็นไปได้ว่า ชาติไทยเราอาจก่อตั้งมานานกว่า 800 ปี ก็เป็นได้” อาจารย์ประพฤทธิ์ กล่าวเสวนาในหัวข้อ “ประวัติความสัมพันธ์ไทย-จีนในเอกสารจีน” เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2555

เอกสารจีนที่อาจารย์ประพฤทธิ์ ได้หยิบยกขึ้นมาชี้ถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน ได้แก่ “ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นฉบับหลวง” เขียนถึงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ก่อนค.ศ. 205 - ค.ศ. 25/ก่อนพ.ศ.748-568) แต่งโดย ปันกู้ ซึ่งในบรรพ 28 ว่าด้วยภูมิศาสตร์ มีเนื้อหาระบุการเดินเรือผ่านไปยังดินแดนต่างๆ ว่า

“จากจั้งไส้ของยื่อหนาน กล่าวคือ สีเหวิน และเหอผู่ เดินทางโดยเรือ เป็นระยะเวลา 5 เดือน มีอาณาจักรตูหยวน และเมื่อเดินทางโดยเรือต่อไปอีก 4 เดือน มีอาณาจักรอี้หลูม่อ ครั้นเดินทางโดยเรืออีก 20 วันเศษ มีอาณาจักรเฉินหลี หรือสินหลี ต่อมาเดินเท้าต่อไปอีก 10 วันเศษ มีอาณาจักรฟูกานตูหลู จากนั้นเดินทางโดยเรืออีก 2 เดือนเศษ มีอาณาจักรหวงจือ ขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงกับจูหยา ฯลฯ” (ฉบับแปล โดย อ.ประพฤทธิ์)

กลุ่มนักวิชาการได้สันนิษฐานสถานที่ตั้งปัจจุบันของอาณาจักรต่างๆ ในเนื้อหาข้างต้น ดังนี้

- อาณาจักตูหยวน น่าจะอยู่ที่เมืองใดเมืองหนึ่งของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในประเทศเวียดนาม หรืออยู่ที่จ.เพชรบุรี จ.ปราจีนบุรี หรือบริเวณด้านเหนือคอคอดกระ

- อาณาจักรอี้หลูม่อ น่าจะอยู่ที่จ.ราชบุรี หรือบริเวณจ.กระบี่ จ.พังงา จ.ระนอง และมีบางส่วนอยู่ในพม่า หรือเมืองเก่าอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี จ.ลพบุรี หรือในเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

- อาณาจักรเฉินหลี หรือสินหลี น่าจะอยู่ที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.กาญจนบุรี จ.นครปฐม หรือบริเวณพะโค หรือบริเวณเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า
ภาพโหลวฉวน หรือเรือหอคอย เป็นเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งของทหารเรือเพื่อลาดตระเวน และจู่โจมเรือศัตรู พบในสมัยยุคราชวงศ์ฮั่น (ก่อนค.ศ. 202 – ค.ศ. 220) (ภาพจากอ.ประพฤทธิ์)
เดินเรือจากไซ่ง่อน ถึงจังหวัดลพบุรี (ละโว้) ใช้เวลา 4 เดือน

การเดินเรือสำเภาในสมัยโบราณกว่า 2,000 ปี ซึ่งขนาดเรือไม่ใหญ่มาก ต้องใช้เวลายาวนานมาก เนื่องจาก มีข้อจำกัดทางความรู้ความชำนาญของผู้สร้างเรือ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีเข็มทิศเดินเรือ ความชำนาญในการเดินเรือโดยจำเป็นต้องแล่นเลาะตามชายฝั่งทะเล หรือจากเกาะหนึ่งข้ามไปอีกเกาะหนึ่ง นอกจากนี้ ตลอดทางต้องแวะเติมเสบียงและน้ำจืด และจอดแวะตามรายทางเพื่อค้าขาย

อาทิ การเดินทางจากเหอผู่ถึงเมืองไซ่ง่อน (โฮจิมินห์) เป็นระยะทาง 2148.32 กม. อาจต้องใช้เวลา 5 เดือน และจากไซ่ง่อน ถึงจังหวัดลพบุรี (ละโว้) ประเทศไทย ระยะทางประมาณ 1,666.8 กม. อาจต้องใช้เวลาเดินทาง 4 เดือน
ภาพวาดเรือใบสองเสาทำจากไม้ ในสมัยยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ช่วงระหว่างก่อนค.ศ. 205 – ค.ศ. 25 (ภาพจากอ.ประพฤทธิ์)
หนังสือ “อี้อู้จื้อ”
เอกสารจีนฉบับต่อมาคือ หนังสือ “อี้อู้จื้อ” เขียนขึ้นใสมัยฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-220/พ.ศ.568-763) แต่งโดย หยาง ฝู ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ปรากฎชื่อ อาณาจักร “จินหลิน หรือจินเฉิน” แปลว่า “อาณาจักรทองคำ” ตั้งอยู่ห่างจากฝูหนัน (กัมพูชา) เป็นระยะทาง 2,000 ลี้ (เท่ากับ 1,000 กม.) ดังนั้น อาณาจักรแห่งนี้น่าจะอยู่ในบริเวณประเทศไทย โดยสถานที่ตั้งตามความเห็นของนักวิชาการ ได้แก่ อยู่ที่เมืองอู่ทองโบราณ จ.สุพรรณบุรี จ.ราชบุรี หรือจ.นครปฐม (เป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุวรรณภูมิในสมัยนั้น)

หนังสือ “อี้อู้จื้อ” ได้บรรยายว่า "จินเฉิน เป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยโลหะเงิน มีประชากรจำนวนมาก นิยมการล่าช้าง หากจับเป็นก็ใช้ขับขี่ ถ้าตายก็เอางา"

“ประวัติศาสตร์ราชวงศ์สุย ฉบับหลวง”
นอกจากนี้ ยังมี“ประวัติศาสตร์ราชวงศ์สุย ฉบับหลวง” วิจัยและเรียบเรียงโดยขุนนางและนักปราชญ์แห่งยุคราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907/พ.ศ.1161-1450) ภายใต้พระราชโองการของจักรพรรดิถังไท่จง (ค.ศ. 627 - 650/พ.ศ. 1170-1193) และ “หนังสือทงเตี่ยน” แต่งโดย ตู้ อิ้ว (ค.ศ. 735-812/พ.ศ. 1278-1355) อัครเสนาบดีสมัยราชวงศ์ถัง หนังสือเล่มนี้เป็นแบบฉบับของหนังสือประวัติเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม โดยในเอกสารทั้งสองเล่มนี้ ต่างกล่าวถึง “อ่าวใหญ่จินหลิน”

เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งทางภูมิประเทศ นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า สถานที่ตั้งปัจจุบันของอ่าวใหญ่จินหลิน น่าจะเป็น อ่าวไทย (โดยมีข้อสันนิษฐานของนักวิชาการท่านอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไป บ้างว่าน่าจะอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน บางว่าอยู่ที่พม่าหรือแหลมมลายู)
ภาพแผนที่การเดินเรือจากหมู่เกาะไห่หนันไปยังหมู่เกาะจีหลง ในยุคราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 - 618) (ภาพจากอ.ประพฤทธิ์)
“บันทึกดินแดนตะวันตกยุคราชวงศ์ถัง” แต่งโดยพระถังซำจั๋ง
เอกสารอีกชุดหนึ่งที่อาจารย์ประพฤทธิ์อ้างอิงถึง คือ “บันทึกดินแดนตะวันตกยุคราชวงศ์ถัง” แต่งโดยพระถังซำจั๋ง หนังสือ “ทงเตี่ยน” ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังฉบับหลวง ฉบับเก่า และประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังฉบับหลวง ฉบับใหม่ ล้วนกล่าวถึง “อาณาจักรตั้วหลัวปอตี่” ซึ่งอาณาจักรแห่งนี้ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการ (จิ้มก้อง*) แก่ราชวงศ์เฉินในยุคอาณาจักรเหนือใต้เมื่อปีค.ศ. 583/พ.ศ. 1126 และได้ส่งให้แก่ราชวงศ์ถังปี ค.ศ. 638/พ.ศ. 1181 อีกด้วย

ในเวลานั้น จิ้มก้อง หรือการส่งเครื่องบรรณาการให้กับจีนนั้น อาจกล่าวได้ว่า ฝ่ายจีนต้องการแสดงอำนาจตน และประเทศที่ส่งมานั้นต้องการผลประโยชน์ทางการค้ากับจีน โดยในสมัยต้นราชวงศ์หมิงมีการส่งเข้ามามากที่สุด การส่งฯ เป็นการแสดงถึงความเคารพ ความจริงใจในการคบค้าสมาคม ซึ่งทางจีนไม่ได้คาดหวังว่ากับสิ่งของ และระยะเวลาการส่งแล้วแต่ความสะดวกของประเทศนั้นๆ เช่น ส่งปีละครั้ง 3 ปีครั้ง และสิ่งของบรรณาการส่วนใหญ่จะเป็นของพื้นเมืองของประเทศนั้นๆ เช่น สยามจะส่ง ไม้ฝาง พริกไทย ช้าง เต่าเขา ปะการัง และมีการส่งฝิ่นไป 3 ครั้ง

สำหรับสถานที่ตั้งอาณาจักรตั้วหลัวปอตี่ นักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่าน่าจะตั้งอยู่ทางใต้ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนบางกลุ่มเห็นว่า อาณาจักรแห่งนี้มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่จ.นครปฐม และมีดินแดนครอบคลุมถึงจ.ราชบุรี เมืองเก่าอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี จ.สิงห์บุรี จ.ชัยนาท และจ.นครสวรรค์
ภาพเรือสำเภาที่บรรทุกคณะทูตอี๋ถังจากญี่ปุ่น ในยุคราชวงศ์ถัง ช่วงระหว่างค.ศ. 838 – 894 เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมจีน และแลกเปลี่ยนระหว่างสองวัฒนธรรม (ภาพจากอ.ประพฤทธิ์)
จีน - ไทย จับมือทางทหารมาแต่สมัยอยุธยา
ในด้านประวัติศาสตร์พันธมิตรทางการทหารจีน - ไทย อาจารย์ประพฤทธิ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากด้านภูมิศาสตร์ และสถานที่ตั้งที่ระบุในเอกสารจีนแล้ว ในด้านประวัติศาสตร์พันธมิตรทางการทหารจีน - ไทย ยังมีมาอย่างยาวนาน โดยแบ่งเป็นช่วงยุคสมัย ดังนี้

1. สมัยวั่นลี่ที่ 6 (ค.ศ. 1573 - 1620/พ.ศ. 2116-2163) ในยุคราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 - 1644/พ.ศ.1911-2187) มีโจรสลัดจีนชื่อว่า หลิน เต้าเฉียง มาที่เมืองปัตตานี แต่ถูกสยามปราบ จึงกลับไปปล้นสดมภ์ที่มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) ในขณะนั้นสยามอาสาช่วยจีนปราบโจรสลัด

2. ยุคสมเด็จพระมหาธรรมราชา (ค.ศ. 1583/พ.ศ. 2126) พม่ายกทัพรุกรานเมืองจีนหลายครั้ง จนล่วงมาถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ค.ศ. 1591/พ.ศ. 2134 ตรงกับสมัยวั่นลี่ที่ 19 ของจีน) สยามอาสาร่วมมือกับจีนตีพม่า ทว่า ต่อมากลับไม่มีความคืบหน้าในการร่วมมือใดๆ

3. ยุคสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ค.ศ. 1593/พ.ศ. 2136) สยามมีความสามารถในการเดินเรือเป็นอย่างมาก ขณะนั้นญี่ปุ่นเข้าตีเกาหลี สยามจึงแสดงความจำนงแก่จีน จะส่งกำลังโจมตีญี่ปุ่น แต่ฝ่ายเสนาบดีของจีน มณฑลก่วงตง (ในขณะนั้นเป็นเมืองที่ดูแลประเทศแถบเอเชียอาคเนย์) ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่มั่นใจในสมรรถนะการรบของสยามที่จะต้องไปรบกับญี่ปุ่นซึ่งระยะทางไกลมาก (อ้างอิงจาก เอกสารเกาหลี)

4. สมัยนายกรัฐมนตรี พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปีค.ศ. 1975/พ.ศ. 2518
ภาพเรือไห่ฮู่ ซึ่งเป็นเรือโบราณจีนในยุคราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618–907) สามารถแล่นทำการรบได้ในทุกสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นหนึ่งในเรือประจัญบานที่มีชื่อเสียงของทหารเรือ (ภาพจากอ.ประพฤทธิ์)
หนังสือ "หมิงสือลู่-ชิงสือลู่"
อาจารย์ประพฤทธิ์ ยังได้ศึกษาและแปล "หมิงสือลู่-ชิงสือลู่" จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และพิมพ์โดยบริษัท มติชน ซึ่งเป็นบันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ตอนว่าด้วยสยาม และหนังสือ ระยะทางทูตไทยไปปักกิ่ง ประเทศจีน ของพระอินทรมนตรีแย้ม ซึ่งเล่าถึงการเดินทางไปประเทศจีนในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นเอกสารที่บันทึกเรื่องราวของสยาม จากหอหลวงของราชสำนักจีน มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จึงเป็นเอกสารสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง โดย "หมิงสือลู่" เป็นผลงานการแปลของอ.ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี และอ.วินัย พงศ์ศรีเพียร เป็นผู้ตรวจสอบการแปลของนักวิชาการตะวันตกเท่าที่หาได้ และนำเนื้อความมาวิเคราะห์

ขณะที่ "ชิงสือลู่" เป็นผลงานแปลของคณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยในเอกสารจีน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แต่ได้รับการปรับปรุงคำแปลให้ถูกต้องจากกรมศิลปากร และมีทีมงานนักวิชาการรุ่นใหม่ ภายใต้การนำของอ.วินัยเป็นผู้วิเคราะห์เอกสารฯ




กำลังโหลดความคิดเห็น