MGR Online/เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ - ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนน้ำจืดในทวีป และประเทศในเอเชีย เป็นภัยกับความมั่นคงทางทรัพยากรของจีน ทำให้รัฐบาลจีนทวีความสำคัญในสถานะทิเบตด้วยเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางธรรมชาติ นอกเหนือจากความขัดแย้งจุดยุทธศาสตร์ทางด้านชาติพันธุ์ และการเมืองการปกครอง โดยทิเบต น่าจะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลจีนในหลายๆ ปีนับจากนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคน ยังเริ่มจับทางความสำคัญของทิเบตจากการปรับเปลี่ยนตัวรองนายกฯ ครั้งล่าสุด ซึ่งเลือกนายหูชุนหวา วัย 56 ปี ที่มีประสบการณ์ทำงานอย่างเข้มข้นในทิเบตมากว่า 20 ปี จัดเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เชี่ยวชาญทิเบต พูดทิเบตได้ ก่อนที่จะย้ายมาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกว่างตง มณฑลใหญ่ และจีดีพีสูงสุดของจีน
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลกลางจีนได้ดำเนินนโยบายระดับยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้บรรลุผลในปี 2020 นี้ มีการพัฒนาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจีนอย่างต่อเนื่องจริงจัง ที่ได้ยินช่วงนี้ ก็เป็นเรื่อง โครงการ South-to-North Water Transfer Project ที่ผันน้ำปริมาณ 4.4 หมื่นล้านจากใต้ขึ้นเหนือ ยังมีโครงการ “river chief” ซึ่งเป็นโครงการป้องกันมลพิษ และภัยพิบัติในแม่น้ำลำน้ำ ทางตะวันออกของจีน
ล่าสุด คือโครงการเตาสร้างฝนเทียมทั่วที่ราบสูงทิเบต ที่ริเริ่มในปี 2016 โดยนักวิจัยจากชิงหวา มหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของจีนได้เสนอโครงการชื่อว่า "เทียนเหอ" หรือ "แม่น้ำแห่งสวรรค์" (Sky River) เพื่อสร้างฝนชดเชยปริมาณน้ำในภูมิภาคภาคเหนือที่แห้งแล้งด้วยการจัดการกับสภาพอากาศ
โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อดักไอละอองน้ำจากมรสุมอินเดีย ที่พัดมาปะทเแนวกำแพงธรรมชาติของที่ราบสูงทิเบตและกระจายไปในพื้นที่ภาคเหนือ ให้ก่อตัวเป็นเมฆฝน เพิ่มปริมาณน้ำจืดประมาณ 5,000 ถึง 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ที่ราบสูงทิเบต อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน อยู่ใต้ซินเจียง ข้างซ้ายเป็นมณฑลเสฉวน ด้านใต้คือยูนนาน และเชื่อมชายแดนสำคัญระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินเดีย, เนปาล, ภูฐาน, พม่า เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำกว่า 20 สาย อาทิ แม่น้ำแยงซี, แม่น้ำเหลือง แม่น้ำขนาดใหญ่ที่เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของจีน, แม่น้ำพรหมบุตร, แม่น้ำโขง, แม่น้ำอิรวดี และ แม่น้ำสาละวิน ฯลฯ แม่น้ำเหล่านี้ ไหลผ่านประเทศจีน, อินเดีย, เนปาล, ลาว, พม่าและประเทศต่างๆ เป็นอู่น้ำอารยธรรมของเอเชีย ซึ่งมีประชากรรวมเกือบครึ่งหนึ่งของโลก
ด้วยภูมิประเทศระดับความสูง 4,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร หรือราว 1 ใน 4 ของประเทศจีน แนวเทือกเขาทิเบตนอกจากเป็นกำแพงธรรมชาติ ที่ป้องกันมรสุมต่างๆ ให้จีน ทิเบตยังเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ได้ชื่อว่าเป็นทั้งหลังคาโลก และ หอเก็บน้ำแห่งเอเชีย มีธารน้ำแข็งและทะเลสาบที่มีปริมาณน้ำจืดราว 4 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณนี้ คิดเป็นสัดส่วนถึง 30 เปอร์เซนต์ของน้ำจืดในประเทศจีน การครอบครองและควบคุมจัดการทรัพยากรน้ำจืดเหล่านี้ นับวันจึงทวีความสำคัญ เป็นความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของจีน ทั้งการใช้น้ำจืดและการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนฯ
เซาท์ไชน่า มอรนิงโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 26 มีนาคมว่า จีนกำลังทดสอบเทคโนโลยีการป้องกันภัยแล้งที่ล้ำยุค เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบการปรับสภาพอากาศ ด้วยต้นทุนต่ำ นำฝนมาสู่ที่ราบสูงทิเบต
นักวิจัยของโครงการ Sky River ให้ข้อมูลกับ เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ว่า การจำลองสภาพอากาศ แสดงให้เห็นว่าที่ราบสูงทิเบตมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภัยแล้งรุนแรง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ไม่เพียงพอชดเชยความแล้งเนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะอุดมไปด้วยน้ำจำนวนมากที่ไหลผ่านที่ราบสูงในแต่ละวัน แต่ปัจจุบัน ที่ราบสูงฯ ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่แห้งแล้งที่สุดในโลก ข้อมูลการสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ระบุว่า พื้นที่ที่มีปริมาณเฉลี่ยน้ำฝนน้อยกว่า 25 ซม. ต่อปี หมายถึงทะเลทราย ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของทิเบตมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยน้อยกว่า 10 ซม. ต่อปีแล้ว
รัฐบาลจีนมีความพยายามที่จะใช้เทคโนโลยีการทหาร มาป้องกันภัยพิบัติพลเรือน เมื่อ 10 ปีก่อน และโครงการฯ นี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ไขสภาพอากาศของกองทัพจีน โดย China State Science and Technology Corporation ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ด้านการป้องกันภัยสภาพอากาศ และเป็นผู้นำในด้านโครงการสำรวจบุกเบิกต่างๆ ระดับชาติ รวมถึงโครงการสำรวจดวงจันทร์ และการสร้างสถานีอวกาศของจีน
ระบบเทคโนโลยีสร้างฝนเทียม ด้วยเตาเผาเชื้อเพลิงนี้ คือการนำสารซิลเวอร์ไอโอไดด์ ลอยไปบนฟ้าเหนือหลังคาโลก เตาเผาเหล่านี้ติดตั้งอยู่บนยอดเขาทั่วเทือกเขาทิเบต กระจายพื้นที่รวมประมาณ 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร (620,000 ตารางไมล์) หรือสามเท่าของประเทศสเปน โดยจะเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในโลก คาดว่าจะเพิ่มปริมาณน้ำฝนในภูมิภาคนี้ได้ถึง 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณร้อยละ 7 ของการใช้น้ำทั้งหมดของประเทศจีน
นักวิจัยของโครงการฯ บอกว่า ณ เวลานี้ มีเตาสร้างฝนเทียม ถูกติดตั้งเพื่อการทดลองบนเทือกเขาในทิเบต, ซินเจียงและพื้นที่อื่น ๆ มากกว่า 500 แห่ง และมีผลลัพธ์ที่น่าพอใจมาก
นักวิจัยฯ ผู้ปฏิเสธที่จะเผยชื่อฯ กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ออกแบบและสร้างเตาฯ โดยใช้เทคโนโลยีทางทหารที่ทันสมัย ทำให้สามารถเผาไหม้เชื้อเพลิงแข็งที่มีความหนาแน่นสูงได้อย่างปลอดภัย แม้อยู่ในสภาพแวดล้อมระดับความสูงกว่า 5,000 เมตร ที่ขาดแคลนออกซิเจน
ความคิดและเทคโนโลยีการสร้างฝนเทียมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จีนเป็นประเทศแรกที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกับพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยใช้ข้อมูลรวบรวมแบบเรียลไทม์จากเครือข่ายดาวเทียม 30 แห่ง ซึ่งโคจรติดตามมรสุมเหนือมหาสมุทรอินเดีย
นอกจากเตาเผาฯ จีนยังใช้เครือข่ายภาคพื้นดิน อาทิ เครื่องบิน, โดรน และปืนใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการปรับสภาพอากาศในทิเบต
ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์นั้น ฝนจะเกิดขึ้นไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว จะเกิดขบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำในมวลอากาศขึ้นบนแกนกลั่นตัว เกิดเป็นฝนตกลงมา ฉะนั้นสารเคมีที่ใช้จึงประกอบด้วย "สูตรร้อน" ใช้เพื่อกระตุ้นเร่งเร้ากลไกการของบรรยากาศ และการทำฝนเทียมจากซิลเวอร์ไอโอไดด์ ที่ผลิตโดยเตาเผาไหม้จะส่งอนุภาคขึ้นไปทำให้เกิดการก่อตัวของเมฆฝน
ข้อมูลจากเรดาร์ ทำให้นักวิจัยพบว่า สายลมอ่อน ๆ สามารถนำอนุภาคซิลเวอร์ไอโอไดด์ ที่ผลิตโดยเตาเผา ลอยขึ้นไปสูงกว่า 1,000 เมตร เหนือจากยอดเขา และเตาเผาซิลเวอร์ไอโอไดด์ หนึ่งเตา สามารถสร้างเมฆหนา แผ่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5 กิโลเมตร
"บางครั้งหิมะจะเริ่มตกเกือบจะทันทีหลังจากที่เราจุดเตาสร้างฝนเทียม มันเหมือนมายากล" นักวิจัยฯ กล่าว
หนึ่งในความท้าทายการทำงานระบบฯ นี้ คือการหาหนทางที่จะรักษาระดับเผาไหม้ของเตา ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ห่างไกล และเป็นสภาพทุรกันดารที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งในการทดลองครั้งแรกๆ ประสบปัญหาเปลวไฟมักดับ เนื่องจากขาดออกซิเจน
แต่หลังจากมีการปรับปรุงการออกแบบเตาฯ สามารถทำงานแม้ในสภาวะใกล้สูญญากาศ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี โดยไม่จำเป็นต้องบำรุงรักษา
เชื้อเพลิงที่เผาไหม้ยังต้องเป็นเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพ และสะอาด เช่นเดียวกับ เครื่องยนต์จรวด ที่ปล่อยเพียงไอระเหยและคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น ทำให้เหมาะสำหรับการใช้งาน แม้ในพื้นที่ที่ได้รับการปกป้องจากสิ่งแวดล้อม
การสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของระบบฯ ล้วนใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และควบคุมการทำงานระยะไกลหลายพันกิโลเมตร ด้วยแอปพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน ผ่านระบบดาวเทียมพยากรณ์อากาศ
ข้อได้เปรียบของระบบเตาสร้างฝนเทียมนี้ มีมากกว่า วิธีสร้างฝนแบบอื่นๆ เช่น การใช้เครื่องบิน, การยิงปืนใหญ่ พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ หรือ น้ำแข็งแห้ง เพื่อช่วยการเกิดฝนไปที่เมฆ และการเป่าไอโอไดด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ
"วิธีการอื่นๆ เหล่านั้น ต้องทำในเขตปลอดบิน อาจใช้เวลานานและยุ่งยาก ในหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน"
เครือข่ายเตาฯ ภาคพื้นดิน ยังมีราคาประหยัด หน่วยการเผาไหม้แต่ละเครื่อง มีต้นทุนประมาณ 50,000 หยวน (8,000 เหรียญสหรัฐ) สำหรับสร้างและติดตั้ง ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ยังมีแนวโน้มลดลงตามสัดส่วนการผลิตเป็นจำนวนมาก
ข้อเสียของเตาเผาไหม้ มีเพียงว่า ประสิทธิผลขึ้นอยู่กับลมธรรมชาติ ซึ่งพัดพาสารก่อตัวเมฆฝน ที่อาจไม่เป็นไปตามทิศทางที่ต้องการบ้าง
ในเดือนมีนาคมนี้ China Aerospace Science and Technology Corporation (CASC) ได้ลงนามข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยชิงหวา และมณฑลชิงไห่ เพื่อจัดสร้างระบบปรับสภาพอากาศขนาดใหญ่บนที่ราบสูงทิเบตแล้ว
ดร. เล่ย ฝานเพ่ย ประธานบริษัท China Aerospace Science and Technology Corporation (CASC)กล่าวว่า อุตสาหกรรมอวกาศของประเทศจีนจะผนวกรวมโครงการปรับสภาพอากาศกับโครงการ Sky River ของมหาวิทยาลัยชิงหวา
"การปรับสภาพอากาศในทิเบตเป็นนวัตกรรมที่สำคัญในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของจีน" นายเล่ย ฝานเพ่ย กล่าว "มันจะมีส่วนสำคัญไม่ใช่แค่การพัฒนาประเทศจีนและความมั่งคั่งของโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ดีต่อมนุษยชาติ"
นายชิว หยง ประธานมหาวิทยาลัยชิงหวา กล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าวส่งสัญญาณถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลกลาง ในการใช้เทคโนโลยีทางทหารที่ทันสมัยในภาคพลเรือน เทคโนโลยีนี้จะกระตุ้นการพัฒนาในภูมิภาคตะวันตกของจีนอย่างมาก
นายชิว หยง บอกว่ายังไม่ได้กำหนดขนาดพื้นที่และวันที่เปิดตัวโครงการนี้ เนื่องจากกำลังรอการอนุมัติขั้นสุดท้ายจากรัฐบาลกลาง
อย่างไรก็ตาม ขณะที่การอภิปรายยังคงดำเนินต่อไปภายในคณะทำงานฯ เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุด ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มก็มีความเห็นแตกต่างของการแก้ปัญหาฯ
หม่า เว่ยเฉียง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยธรณีวิทยาทิเบต สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน กล่าวเตือนว่า แม้การทดลองดังกล่าวเป็นประวัติการณ์ใหม่ และสามารถช่วยตอบคำถามทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจมากมาย ในทางทฤษฎี เตานี้หากสร้างขึ้นในจำนวนที่มากพอ อาจส่งผลทั้งดีและไม่ดีต่อสภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค และในสถานการณ์จริง อาจจะไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝนที่สามารถผลิตได้ ความพยายามของมนุษย์กับระบบสภาพอากาศ อาจดูเป็นการรบกวนบังคับ ฝืนธรรมชาติมากเกินไป รัฐบาลพึงรอบคอบในการสนับสนุนโครงการนี้ ด้วยเป็นการทดลองที่อาจส่งผลกระทบต่อการลดลงของฝนในภูมิภาคอื่น ๆ ของจีน