xs
xsm
sm
md
lg

มองหมากล้อมจีน บนกระดานหมากโลก -

เผยแพร่:   โดย: เกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

นายหวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน ตอบคำถามเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน ในงานแถลงข่าว การประชุมประจำปีของสมัชชาผู้แทนประชาชนจีน (เอ็นพีซี) หรือรัฐสภาจีน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 [ภาพไชน่าเดลี]
MGR Online / ไชน่าเดลี - ในช่วงประชุมประจำปี สมัชชาผู้แทนประชาชนจีน (เอ็นพีซี) เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายหวังอี้ ได้แถลงว่าจีนไม่ต้องการหรือมีเจตนาที่จะเข้ามารับบทบาทแทนที่สหรัฐฯ ในระดับนานาชาติ และเขาเตือนว่าสงครามการค้า เป็น "วิธีการที่ไม่ถูกต้อง" หากสหรัฐฯ ใช้วิธีนี้จะเผชิญการต่อต้านรุนแรง สิ่งที่ควรทำคือการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของทะเลจีนใต้ มุ่งสร้างความสัมพันธ์จีน - สหภาพยุโรป แข็งแกร่ง รับผิดชอบในการปกป้องระบบการค้าเสรีของโลก ปรับยุทธศาสตร์การเป็นหุ้นส่วนกับอาเซียน ตลอดจนสร้างความร่วมมือจีน - ญี่ปุ่น

หวังอี้ กล่าวว่าบทเรียนในประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าการทำสงครามการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์นี้ เป็น "วิธีการที่ไม่ถูกต้อง" และจะทำให้เกิดผลสะท้อนกลับ เช่นเดียวกับการทำร้ายผู้อื่น "จีนย่อมมีปฏิกิริยาตอบโต้ที่จำเป็นและถูกต้อง"

"ในฐานะที่เป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด อันดับหนึ่งและอันดับสองของโลก สหรัฐฯ และจีนควรแบกรับความรับผิดชอบต่อประชาชนทั้งสองประเทศและประเทศอื่นๆ" หวังอี้ กล่าว และเสริมฯ ว่า "ทั้งสองฝ่ายควรนั่งหารือ และหาทางออกได้ ด้วยการเจรจาที่สร้างสรรค์อย่างเท่าเทียมกัน แม้มีการแข่งขันระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่แข่งและควรเป็นคู่ค้าแทน บางคนกล่าวหาว่า จีนจะเข้ามาแทนที่บทบาทของสหรัฐฯ ในโลก ข้อสรุปนี้ผิดพลาด" นายหวัง กล่าว

"สื่อฯ ฝั่งตะวันตก ได้แสดงความคิดเห็นและการคาดการณ์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งเน้นแต่ความพังทลายล่มจม หรือภัยคุกคามของจีน "ทฤษฎีจีนล่ม" กลายเป็นเรื่องที่น่าหัวเราะไปทั่วโลก ในขณะที่ทฤษฎี 'จีนคือภัยคุกคาม' ข้อเท็จจริงมีประจักษ์อยู่แล้ว ว่าประเทศจีนมีส่วนร่วมมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปีของการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก และเป็นประเทศที่มีสัดส่วนมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของความพยายามในการบรรเทาความยากจนทั่วโลก"

นายหวัง อี้ ได้กล่าวทั้งในด้านมุ่งสร้างความสัมพันธ์จีน - สหภาพยุโรป แข็งแกร่ง รับผิดชอบในการปกป้องระบบการค้าเสรีของโลก และจำเป็นที่จะต้องเร่งเจรจาเพื่อสรุปข้อตกลงการลงทุนของจีนและสหภาพยุโรป แม้มีบางประเด็นที่จีนและสหภาพยุโรป มีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ทั้งสองฝ่ายต่างตระหนักดีว่า จำเป็นต้องเข้าใจกันและกัน เปิดกว้าง ส่วนสันติภาพและความร่วมมือจีน - ญี่ปุ่น จีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับการเติบโตที่มั่นคง ยอมรับและยินดีต้อนรับการพัฒนาของจีน ซึ่งปีนี้นับเป็นวันครบรอบ 40 ปีของการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพและความร่วมมือจีน - ญี่ปุ่นด้วย เราต้องอย่าลืมว่าทำไมสนธิสัญญาสันติภาพและความร่วมมือจีน - ญี่ปุ่น จึงเกิดขึ้น และในช่วงเวลาที่สำคัญนี้ เราขอให้ญี่ปุ่นมีความเชื่อถือทางการเมือง และสร้างรากฐานความสัมพันธ์ทางการเมืองกับจีน มีอดทนกับการแก้ปัญหาขัดแย้งพิพาท"

"จีนยังยกระดับการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และสร้างอนาคตร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับชุมชนอาเซียน มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะรักษาสันติภาพและความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์สันติภาพในภูมิภาค และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ"

หวัง อี้ กล่าวว่า โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งทาง ก็เป็นเป้าหมายใหญ่ของกระทรวงต่างประเทศจีน ในปีพ.ศ. 2561 เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายฯ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ตามหลักการตลาดเสรี เป็นไปตามกฎของการปรึกษาหารือร่วมกัน การมีส่วนร่วมและผลประโยชน์ร่วมกัน โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีความเสมอภาค รวมทั้งเป็นประโยชน์อย่างทั่วถึง ไม่มีประเทศที่มีอำนาจเหนือกระบวนการ ทุกฝ่ายมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีข้อตกลงด้านหลังห้อง ทุกอย่างโปร่งใส ไม่มีผู้ชนะกินรวบ มีแต่ผลชนะร่วมกัน" นายหวัง กล่าวฯ และเสริมว่า มีโครงการจำนวนมากที่ดำเนินการภายใต้โครงการนี้ อันเป็นการ "เพิ่มแรงกระตุ้นที่จำเป็นกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเจ้าบ้าน"

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศจีน ทำให้นึกเปรียบเทียบกับยุทธศาสตร์การต่างประเทศของสองซีกโลกที่แตกต่างกัน บรรดาผู้เชี่ยวชาญกิจการระหว่างประเทศ ต่างมีความเห็นว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่จีนได้เข้ามาแทนที่ในเวทีโลก ดร.เฮนรี คิสซินเจอร์ อดีตนักการทูตชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี ค.ศ. 1973 เคยเป็นที่ปรึกษาความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในรัฐบาลของ ริชาร์ด นิกสัน ได้พูดถึงเรื่องนี้ในหนังสือเล่มของเขาเรื่อง "On China" โดยอ้างถึงยุทธศาสตร์ของจีน กับหมากล้อม เกมกระดานที่เก่าแก่ที่สุดและซับซ้อนที่สุดในโลก ซับซ้อนชนิดที่ว่าไม่มีวัน หมากตาเดินจะซ้ำเดิม

ตามที่ ดร.เฮนรี คิสซินเจอร์ กล่าวนั้น ทฤษฎีการทหารของจีน และหมากล้อมนี้ มีจุดร่วมปรัชญาความคิดเดียวกัน เป็นข้อสรุปของ ตำราพิชัยสงครามซุนวู ซึ่งย้ำว่า "สงครามเป็นทางเลือกสุดท้าย สติปัญญายิ่งใหญ่กว่าอาวุธ วิธีการที่จะชนะ คือการโน้มน้าวให้ศัตรูเห็นว่ารบกันไปก็ไม่มีประโยชน์"

โลกตะวันตกอาจจะคุ้นเคยหมากล้อม ด้วยชื่อญี่ปุ่น "โกะ" ที่เชื่อกันว่าได้รับการประดิษฐ์เมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว และปัจจุบันมีผู้เล่นนับล้านทั่วโลก การเล่นบนตารางสี่เหลี่ยมที่มีจุดตัดกัน 19 จุดตามแกนแต่ละเส้น ที่ผู้เล่นสองคน ต้องเปลี่ยนหมากหินสีขาวหรือดำ (ค่าเท่ากันทั้งหมด) บนตาราง เป้าหมายคือการล้อมรอบและจับหมากศัตรูพลิกเป็นพวกหรือหมากของตน ไม่ใช่ฆ่าถอนออกจากกระดานฯ ซึ่งเกมกระดานเดียวนี้ บางทีอาจใช้เวลาทั้งวัน ใช้ความอดทนกว่าจะได้ผู้ชนะ

การวิเคราะห์ของดร. คิสซินเจอร์ นี้ ได้กล่าวอ้างจากผลงานของเดวิด ไล่ ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาความมั่นคงแห่งเอเชีย ที่วิทยาลัยการทัพบกสหรัฐฯ ในเอกสารฉบับหนึ่งของปีพ. ศ. 2547 ดร. ไล่ ระบุถึงปรัชญาของหมากล้อม ที่นำแนวทางของหลักการสำคัญของตำราพิชัยสงครามซุนวู มาประยุกต์

หลักการสำคัญของซุนวู คือการใช้ความยืดหยุ่นและฉับพลัน การเคลื่อนไหวที่ไม่คาดคิด ชิงความได้เปรียบในสถานการณ์ที่นำสู่การบรรลุเป้าหมายทางการเมืองได้ดีที่สุด ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว แตกต่างจากกระบวนทัศน์หรือยุทธศาสตร์ของอเมริกา หรือโลกตะวันตก เพราะศิลปะของสงครามส่วนใหญ่ของโลกตะวันตก เน้นหนักในการใช้กำลังรบ จำกัดอยู่ที่สมรภูมิ และวิธีการสู้รบก็คือแรงกำลัง อุปมาก็คงเหมือนเกมกระดานฝั่งตะวันตก "หมากรุก" ที่ใช้การเผชิญหน้า ฆ่าตาย หรือล้างเผ่าพันธุ์ ก่อนที่จะใช้อำนาจแบ่งแยก ปกครอง ครอบงำเพื่อบรรลุชัยชนะเบ็ดเสร็จ"

ที่น่าสนใจคือ การประยุกต์ใช้ทฤษฎีหมากล้อม ในยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของจีน ตามส่วนต่างๆ ของโลก จีนได้วางหมากไว้อย่างมีกลยุทธ์ พิจารณาตัวอย่างของการล้อมไต้หวัน คืนไต้หวันกลับสู่อธิปไตยของจีน โดยไม่ต้องใช้กำลังรบ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนใช้บันไดทางเศรษฐกิจ การทหารและการทูต เพื่อระงับการเคลื่อนไหวของชาวไต้หวันในการก้าวสู่เอกราช ปักกิ่งได้กระตุ้นกระแสการค้าและการลงทุนไหลที่ผ่านช่องแคบไต้หวัน (ปัจจุบันมีมูลค่านับหมื่นล้านดอลลาร์) ในพร้อมกันนั้น จีนใช้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นทางการทูตและการเพิ่มระดับการลงทุนของจีนในประเทศต่างๆ ที่สัมพันธ์ธุรกิจกับไต้หวัน อาทิเช่น ช่วงเวลาเพียง 10 ปี จีนลงทุนในประเทศออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นจาก 3,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2549 เป็นมากกว่า 30,000 ล้านเหรียญในปีนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ในเมืองแคนเบอร์รา พูดอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า ถึงแม้จะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ แต่ใช่ว่าจะรับรองไต้หวัน และว่ากันโดยทั่วไป ทุกวันนี้ หาชาติที่รับรองสถานะให้ไต้หวันกันตรงๆ ยากมากแล้ว

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา หลายๆ ประเทศกำลังขยับไปหาจีน และห่างจากอเมริกา แม้บางแห่งยังคงทีท่าทีต้านจีน เช่น ปากีสถาน, บังคลาเทศ, อินเดีย, ไต้หวัน, พม่า, ลาว, ไทย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม ส่วนกลุ่มประเทศที่ จุดยืนยังอยู่ตรงกลาง เข้ากับทั้งฝ่ายจีน และอเมริกา คือ กัมพูชา, ศรีลังกา, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และ ออสเตรเลีย ซึ่งในกลุ่มที่ยังต่อต้านจีน จีนก็ไม่กดดันอะไรเพียงแต่หันไปเจรจากับกลุ่มที่เห็นด้วยกับจีน รอบๆ ประเทศที่ยังไม่เอาด้วยนั้น

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มประเทศต่างๆ 11 ประเทศได้ลงนามในข้อตกลงทางการค้า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการร่วมมือเพื่อคานสมดุลย์กับจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในตอนแรก หลายฝ่ายคิดว่า สหรัฐฯ จะเล่นบทนำ แต่หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ ถอนตัวออกไปจากความร่วมมือข้อตกลงนี้ ทำให้ประเทศที่เหลือต้องเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีประเทศสหรัฐอเมริกา นี่ก็เป็นช่วงเวลาที่เอเชียแปซิฟิก ค่อยๆ เปลี่ยนจากการครอบงำของอเมริกาไปสู่การพึ่งตนเองมากขึ้น บังคับให้ประเทศในเอเชียคิดทบทวนกลยุทธ์ของตน

ทุกประเทศในเอเชียตอนนี้ต้องค้าขายกับจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ และแน่นอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนสูงกว่าสหรัฐฯ ผู้นำของประเทศต่างๆ ในเอเชีย รู้ดีว่าเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ต้องพึ่งพาปักกิ่ง ซึ่งได้เทียบให้เห็นประโยชน์และการเสียผลประโยชน์กับจีนชัดเจน แต่อิทธิพลของสหรัฐฯ ก็ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงของประเทศ การค้าอาวุธซึ่งเป็นตลาดที่ยาวนานของสหรัฐอเมริกาก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม จีนก็เริ่มแสดงแสนยานุภาพทางทหาร และขายอาวุธให้ชาติต่างๆ เพิ่มขึ้นเช่นกัน พร้อมกับแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เพื่อจัดลำดับภูมิภาคใหม่ ดึงพันธมิตรอาเซียนเก่าแก่ของชาวอเมริกัน เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเข้ามาใกล้ตนเอง

ในอดีต ประเทศที่ซื้ออาวุธของอเมริกา ก็ผูกกองทัพและนโยบายต่างประเทศของตนไปกับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ขยายอำนาจในเอเชียตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และยังมีบารมีทุกวันนี้ ดังนั้นหลายประเทศจึงเหมือนต้องประคองสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งและวอชิงตัน ไม่อาจเลือกได้ ระหว่างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของจีนและความมั่นคงทางทหารของอเมริกา

ทันวี มาดาน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียแห่ง Brookings Institution กล่าวว่า "ประเทศเหล่านี้ไม่ต้องการเลือกว่าจะอยู่กับใคร ไม่ว่าด้านไหน ดังนั้นพวกเขาจึงวางตัว เพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดจากทั้งสองอำนาจ ลดความเสี่ยงจากความขัดแย้ง และรักษาความเป็นอิสระไปในที เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากยุคสงครามเย็นของยุโรป ซึ่งแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างสองฝ่าย แต่วันนี้ ประเทศต่างๆ ยอมรับอิทธิพลที่กำลังเติบโตของจีน แต่ละยุทธศาสตร์จึงมีความประนีประนอมสูง และอาจใช้เป็นแบบอย่างตามๆ กันสำหรับชาติอื่นๆ ในเอเชีย ตลอดทั้งทั่วโลกด้วย เพื่อจะสามารถรับมือได้กับโลกที่อยู่ระหว่าง จีน-อเมริกัน

กลับมาที่การวิเคราะห์ของดร. เฮนรี คิสซินเจอร์ ซึ่งกล่าวอ้างจากผลงานของเดวิด ไล่ ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาความมั่นคงแห่งเอเชีย ที่วิทยาลัยการทัพบกสหรัฐฯ ว่า ภูมิศาสตร์การเมืองแบบหมากล้อมของจีน คือการลงทุนในต่างประเทศที่รัดกุม มุ่งเป้าไปที่การล้อมรอบพื้นที่ที่มีนัยยะสำคัญ ในระยะยาวของจีน ได้แก่ แอฟริกา ละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก ฯลฯ

ดร. ไล่ กล่าวว่า "การเคลื่อนไหวในแอฟริกา อเมริกาใต้และยุโรปตะวันออก เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหญ่ของจีน" ซึ่งสอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่เชื่อว่า เรากำลังจะเห็นความเสื่อมลงในระยะยาวของอำนาจรัฐอเมริกัน ตัดกับความรุ่งเรืองของจีนที่ผุดรอบภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น ตามปรัชญาหมากล้อมที่เน้นความปรองดอง ไม่เผชิญหน้า ปะทะ หักหาญ ทำลาย ยึดฉวยเอาประโยชน์ฝ่ายเดียว แต่ใช้ความยืดหยุ่น ประโยชน์ร่วม ผ่อนหนักเบาขัดแย้ง แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ด้วยความอดทน และเข้าใจว่าสงครามคือทางเลือกสุดท้าย ที่ไม่มีใครได้ประโยชน์


กำลังโหลดความคิดเห็น