โดย ดร.ร่มฉัตร จันทรานุกุล
ผู้อ่านทุกท่านอาจจะพอทราบมาบ้างว่า ประชากรจีนมีมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก การให้คำนิยามของสังคมผู้สูงอายุตามมาตราฐานนานาชาติ คือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีมากกว่า 10% ขึ้นไปจากจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรที่มีอายุสูงกว่า 65 ปีมากกว่า 7% ขึ้นไปจากจำนวนประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้ตามสถิติขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ประจำป 2017 ประชากรจีนทั้งประเทศอยู่ที่ 1,400 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 18.82% ของประชากรทั้งโลก
จำนวนผู้สูงอายุจีนที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน คือสิ่งที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญและค่อนข้างกังวลกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ประชากรผู้สูงอายุจีนทะลุ 230 ล้านคนแล้ว เป็นประเทศเดียวในโลกที่มีประชากรผู้สูงอายุเกิน 200 ล้านคน จำนวนประชากรผู้สูงอายุในเมืองของจีนปี 1990 มีประมาณ 26.41% ของจำนวนประชากรเมืองทั้งหมด และปี 2017 จำนวนผู้สูงอายุในเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 57.35% ทางการจีนคาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2050 จำนวนประชากรผู้สูงอายุจะมากถึง 480 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 2/5 ของประชากรผู้สูงอายุในเอเชีย เท่ากับ 1/4 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งโลก
การมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วนี้ จะให้เศรษฐกิจที่กำลังเติบโตได้รับผลกระทบไม่น้อยทีเดียวเพราะในขณะที่จำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนประชากรวัยแรงงานคิดเทียบเป็นร้อยละมีจำนวนลดลง จากนโยบายการควบคุมประชากรของจีนโดยให้แต่ละบ้านมีลูกได้คนเดียวของรัฐบาลจีนตั้งแต่ช่วงยุคปี 70 เป็นต้นมา ทำให้อัตราการเกิดลดจำนวนลงอย่างมาก ไม่ใช่การลดลงแบบขั้นบันไดแต่คือการลดลงแบบดิ่งลง ทำให้ประชากรที่เกิดในยุคนั้นอยู่ในวัยทำงานช่วงยุคนี้ลดน้อยลงเป็นอย่างมาก
ปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่จีนกำลังประสบอยู่ ถือว่ามาเร็ว และรัฐบาลไม่ได้มีนโยบายหรือตระเตรียมแผนการเข้ามารองรับ คลื่นของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “แก่ก่อนรวย” แปลตรงๆมาจากภาษาจีนว่า “未富先老” หมายถึงสังคมสูงอายุมาเร็วและนำหน้าความเจริญของเศรษฐกิจและสังคม โดยสวัสดิการพื้นฐานในด้านที่เกี่ยวกับบริการผู้สูงอายุยังไม่ดีพร้อม
การเข้าถึงสวัสดิการของผู้สูงอายุจีนในเมืองและในชนบทแตกต่างกัน ผู้สูงอายุในเมืองได้เข้าถึงทรัพยากรมากกว่าชนบทและรายได้ เงินบำเหน็ดบำนาญหรือรายรับได้มากกว่า ผู้สูงอายุในชนบทส่วนใหญ่ต้องดูแลตัวเองเนื่องจากลูกหลานออกไปทำงานในเมืองกันหมด และเงินที่ได้รับจากรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละเดือนอาจจะไม่เพียงพอ ปัญหาของผู้สูงอายุจีนจำนวนมากประสบปัญหาภายในครอบครัวกลายเป็นปัญหาของสังคมที่ตามมา ปัญหาหลักๆ สรุปได้ 4 ประเด็นดังนี้คือ
1. คดีความขึ้นโรงขึ้นศาลที่เกี่ยวกับเรื่องการดูแลผู้สูงอายุในมีจำนวนมากขึ้น ปัญหาพี่น้องลูกหลานในครอบครัวทะเลาะกันเพราะเรื่องค่าใช้จ่ายดูแลคนแก่หรือใครดูแลมากน้อย
2. ปัญหาคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผูุุ้สูงอายุมีมากขึ้น ลูกหลานของผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งพยายามที่จะโยกย้ายทรัพย์สินมาเป็นของตัวเองในขณะที่ผู้สูงอายุกำลังป่วย ความสามารถมีอยู่จำกัดหรือบางกรณีมีการบังคับให้ผู้สูงอายุทำพินัยกรรมขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
3. ปัญหาผู้สูงอายุที่ถูกหลอกมีจำนวนมากขึ้น จากพวกธุรกิจที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพผู้สูงอายุ เงินจากผู้สูงอายุหลอกง่ายและผู้สูงอายุในเมืองส่วนใหญ่มีเงิน พวกแก็งหลอกลวงผู้สูงอายุจะทำงานกันเป็นทีมและหลอกล่อให้เข้ามาเป็นสมาชิก วิธีการของคนพวกนี้ส่วนใหญ่คือ จัดสัมมนาให้เข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆฟรี จะเริ่มพูดชักชวนขายผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพหรือเครื่องมือดูแลสุขภาพต่างๆที่มีราคาแพงอย่างมาก
อีกขบวนการหนึ่งคือพวกหลอกให้ลงทุนในกองทุนที่ชักชวนว่าจะได้ดอกเบี้ยงาม เมื่อเริ่มต้นก็ให้ดอกเบี้ยตามที่สัญญาไว้เพื่อให้เหยื่อวางใจ ต่อมาเมื่อเงินกองทุนมีจำนวนมากขึ้น โจรพวกนี้จะนำเงินทั้งหมดออกมาและหนีไป ปิดสำนักงาน ไม่มีใครติดต่อได้อีก อีกกรณีที่มีจำนวนมากคือโทรศัพท์หาผู้สูงอายุและแจ้งว่าลูกหลานหรือญาติพี่น้องประสบอุบัติเหตุหรือมีหนี้นอกระบบจำนวนมากต้องโอนเงินมาโดยด่วน หากไม่โอนเงินมาตอนนี้จะมีอันตรายถึงชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น เหยื่อของกองทุนพวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุซึ่งไม่ทันกับกลโกงต้มตุ๋นที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีความสามารถในการป้องกันตัวเองลดลง
4. ปัญหาการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุในกลุ่มวัย 65 ปีขึ้นไปโดยเฉพาะในชนบทมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก โดยมากเป็นปัญหาทางจิตใจผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวหรือมีความน้อยเนื้อต่ำใจกับครอบครัว ไม่อยากให้ตัวเองเป็นภาระของครอบครัวเป็นต้น
ปัญหาที่ตามมาของสังคมผู้สูงอายุหลักๆคือประชากรวัยแรงงานที่ลดน้อยลง ประชากรสูงวัยมากขึ้น ทำให้สังคมและรัฐต้องมาเข้ามาจัดสวัสดิการผู้สูงอายุด้านต่างๆ การเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลในเมืองใหญ่ของจีนค่อนข้างยากลำบาก คนล้นทะลัก ต้องรอคิวยาว ทรัพยากรทางแพทย์ยังไม่พร้อมเท่าที่ควร ผู้สูงอายุชนบทหากมารักษาตัวในเมืองต้องใช้เงินก้อนโต
นอกจากนี้ ยังกระทบต่อการพัฒนาการเกษตร โดยปกติผู้สูงอายุในชนบทมีมากกว่าในเมืองอยู่แล้ว กอปรกับคนวัยหนุ่มสาวแห่ออกไปทำงานในเมือง ทำให้การเติบโตของการเกษตรจีนหยุดชะงัก คนชราที่อยู่ในชนบทมีความสามารถจำกัดในการเรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ
ภาคการเกษตรมีความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ดังนั้นรัฐบาลค่อนข้างให้ความสำคัญกับปัญหานี้เช่นกัน การที่สังคมผู้สูงอายุขยายใหญ่ ส่งผลประการหนึ่งคือทำให้รายได้ของรัฐบาลลดน้อยลงในแง่ของภาษีรายได้ของผู้ที่ยังทำงาน จากปริมาณการเติบโตของตัวเลขผู้สูงอายุจีนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ณ ปัจจุบันรัฐบาลจีนมีแนวทางและนโยบายที่จะเข้ามารองรับดังนี้
1. การปรับเปลี่ยนมาตรฐานเงินเกษียณอายุ ที่ให้ผู้เกษียณอายุในชนบทได้รับเงินมากขึ้น ผู้เกษียณอายุในเมืองได้ขึ้นเงินเกษียณอายุที่ได้รับ ตามตัวเลขจากทางการในปี 2017 ปรับเพิ่มแล้วประมาณ 5% เพื่อให้ผู้สูงวัยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปี
2. สร้างระบบประกันสุขภาพของผู้สูงอายุให้แข็งแรงมากขึ้นเพื่อประกันสุขภาพผู้สูงวัย เพราะปัจจุบันผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหาการเข้าถึงการรักษพยาบาล ส่วนใหญ่เป็นเพราะปัญหาการเงิน ตัวอย่างเช่นในอู่ฮั่น มีกลุ่มผู้สูงอายุ 38% เท่านั้นที่สามารถใช้เงินประกันสังคมได้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเอง ผู้สูงอายุในชนบทยิ่งเข้าถึงทรัพยากรได้ยากกว่า การร่วมมือและถ่ายโอนผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชนบทเข้ามาในเมืองยังทำได้ยาก สถานพยาบาลหลายแห่งขาดยาและบุคลากรการแพทย์
3. ปรับเกณฑ์อายุการทำงานในระบบของผู้สูงอายุให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เกษียณอายุงาน 60 ปี เป็น 65 ปี หรือตามความสมัครใจ ทุกวันนี้คนมีอายุยืนยาวกว่าสมัยก่อน การทำงานในระบบยาวกว่าเงินบำนาญที่จะได้รับก็มากกว่า นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมสังคมต่างๆ เพื่อให้มีส่วนรวมในการพัฒนาสังคมและมนุษย์ ให้ผู้สูงอายุเห็นว่าตัวเองยังมีความหมาย
4. จัดตั้งชุมชนเกษียณ ภายใต้แผนเศรษฐกิจของบุคลากรที่เกษียณอายุ กลุ่มสังคมผู้เกษียณมีความสำคัญ จะมีการจัดตั้งชุมชนในแต่ละพื้นที่หลักให้บริการแก่ผู้สูงอายุ เช่นการดูแลสุขภาพที่บ้าน งานบ้าน พยาบาล ฯลฯ เป็นต้น และมีการสร้างโรงอาหาร ร้านน้ำชา ศูนย์ดูแลและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ ตลอดจนศูนย์บริการให้คําปรึกษาทางกฎหมาย ในชุุมชนจะมีความหลากหลายและบริการครบวงจร
ในประเทศพัฒนาแล้วมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจรเหมือนเนสเซอรี่ คือคนในครอบครัวก่อนไปทำงานส่งผู้สูงอายุไปที่ศูนย์ฯ ตอนเย็นรับกลับมาบ้านอยู่กับครอบครัว ทำให้ชีวิตของผู้เกษียณอายุไม่น่าเบื่อและไม่ถูกตัดขาดออกจากสังคม
5. จัดระบบผู้เกษียณอายุในชนบทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากที่กล่าวไปข้างต้นผู้สูงอายุในชนบทมีมากและปัญหาที่ประสบมากกว่าผู้สูงอายุในเมือง ทางการจีนเคยทำแบบสอบถามกับประชาชนในชนบทเกี่ยวกับเรื่องที่กังวลมากที่สุด 8.52% ของประชาชนเลือก การดูแลตัวเองเมื่อสูงอายุ จากขนาดครอบครัวที่เล็กลงและลูกหลานไปอยู่ในเมืองกันหมด ทำให้ผู้สูงอายุต้องอยู่คนเดียวหรือสามีภรรยาต้องดูแลกันเอง ด้านรัฐบาลพยายามขยายความเป็นเมืองเข้าไปในเขตชนบท ทั้งนี้ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจท้องถิ่นโดยรวมจะได้ประโยชน์ กลุ่มผู้สูงอายุเองก็จะได้ประโยชน์นี้ด้วย
6. พัฒนาอุตสาหกรรมบริการผู้สูงอายุและขยายตลาดการบริโภคของผู้สูงอายุ ภาคบริการผู้สูงอายุจีนเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น รัฐบาลยังไม่มีกฎหรือข้อบังคับแนวทางพัฒนาในภาคนี้อย่างชัดเจน แต่ปฎิเสธไม่ได้จริงๆว่าจำนวนผู้สูงอายุในจีนมีจำนวนมากและความสามารถในการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้มีอยู่ค่อนข้างแข็งแกร่ง เป็นตลาดบริโภคใหญ่ เนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ที่มากขึ้นโดยทั่วไปของประชาชน
โครงสร้างครอบครัวจีนในปัจจุบันคือ 4 - 2 - 1 หมายถึงในครอบครัวมีคนแก่ 4 คนปู่ ย่า ตา ยาย สามีภรรยา 2 คน ลูก 1 คน ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ต้องโดดเดี่ยวและมีความต้องการบริการต่างๆ เพื่อเข้ามาแทนที่ส่วนที่ตัวเองขาด แต่อุตสาหกรรมการบริการผู้สูงอายุยังขาดแคลน ผู้สูงอายุทั่วประเทศในแต่ละปีมีกำลังบริโภคอยู่ที่ 100 ล้านต่อปี ในปัจจุบันการบริการที่มีอยู่ยังไม่สามารถตอบโจท์ผู้สูงอายุได้และยังขาดผู้เชี่ยวชาญในด้านการดูแลและการบริการ
ผู้เขียนเห็นว่าหลายๆประเทศกำลังประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน แต่ละประเทศต่างมีนโยบายรับมือที่แตกต่างกัน ในประเทศกำลังพัฒนาระบบสวัสดิการและประกันสังคมอาจจะยังไม่เข้มแข็งและยังไม่ทั่วถึงพอ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน คือตัวเราเองต้องวางแผนล่วงหน้าและบริหารจัดการให้ดี ไม่ใช่แค่กับตัวเองแต่ยังต้องวางแผนให้กับคนในครอบครัวด้วยค่ะ