MGR ONLINE--หะแรกที่นั่งใคร่ครวญถึงการพัฒนาจีนแล้ว อดไม่ได้ที่ย้อนดูไทย เมื่อปีที่แล้ว ระหว่างเข้าร่วมโครงการรายงานข่าวที่ประเทศจีน ผู้สื่อข่าวแอฟริกัน ที่เข้าร่วมโครงการฯเดียวกัน ได้ถามผู้เขียนว่า “ประเทศไทย เจริญกว่าจีน ใช่ไหม?” ทำเอาผู้เขียนอึ้งไปครู่หนึ่ง ก่อนจะตอบว่า เมื่อก่อนอาจใช่ แต่เดี๋ยวนี้จีนพัฒนาเศรษฐกิจ-เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปไกลกว่าไทยแล้ว
อาจารย์ชาวจีนที่ผู้เขียนได้ไปเรียนการแปลภาษาไทย-จีน คือ หลวน เหวินหวา เล่าว่า เมื่อครั้งที่ท่านมาเมืองไทยเมื่อต้นทศวรรษ 1980 เพื่อเรียนศึกษาภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ตอนนั้น ไทยเรามีโทรทัศน์สีดูกันแล้ว ขณะที่จีนยังดูโทรทัศน์ขาวดำ
เมื่อเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ในราวทศวรรษ 1980 ประเทศไทยจัดเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่อัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ จากข้อมูลสถิติ National Economic and Social Development Board (NESDB) ระบุว่าช่วง 1980- 1996 จีดีพีไทย ขยายตัวต่อปีเฉลี่ย 9 เปอร์เซ็นต์ จนถึงช่วงทศวรรษที่ 1990 หรือ ราว 20 ปีที่ผ่านมา มีกระแสชาวไทยคุยฟุ้งกันใหญ่ว่า “ไทยจะเป็นเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียตัวที่ห้า” ต่อคิวสี่เสือเศรษฐกิจ ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้และไต้หวัน
ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยช่วงโชติดังกล่าวข้างต้น จีนเพิ่งเริ่มดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศในปีค.ศ. 1978 ภายใต้การนำของผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ในช่วงนั้นจีนเพิ่งหลุดพ้นจากความวุ่นวายการปฏิวัติวัฒนธรรม (1974-76) ในปี 1976 จีดีพีจีนดิ่งเหว -1.6 และหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเติบโตจีนก็ยังลุ่มๆดอนๆ โตแรงในปี 1978 (11 เปอร์เซ็นต์) และตกลงมาอยู่ที่ตัวหลักเดียว ติดต่อกัน 3 ปี ก่อนที่จะพุ่งแรงเป็นติดจรวด และได้สร้างปรากฏการณ์ ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ (Economic Miracle) อันลือลั่น แหล่งข้อมูลสถิติโดยทั่วไประบุ ระหว่างปี 1978-2013 เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่อปีที่ 9.5 เปอร์เซ็นต์ และพิชิตแท่นชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับสองของโลกเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยตามหลังเพียงสหรัฐอเมริกา ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจได้ช่วยให้ประชากรหลายร้อยล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน
แม้จีนพัฒนาเศรษฐกิจมั่งคั่ง แต่ก็รู้ตัวดีและประกาศชัดเจนต่อชาวโลกว่าจีนกำลังเผชิญปัญหาร้ายแรงมากมาย คือการพัฒนาที่ไม่สมดุล การพัฒนาที่ไร้คุณภาพและผลกระทบอันไม่พึงปรารถนา อาทิ การทำลายสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาความยากจนยังเป็นงานหนักเข็นครกขึ้นเขา ความไม่เท่าเทียมในการพัฒนาระหว่างเขตเมืองและเขตชนบท การกระจายรายได้ที่ไม่ทั่วถึง อีกทั้งปัญหาการจ้างงาน ปัญหาการรักษาพยาบาล ปัญหาการซื้อบ้านที่อยู่อาศัยของประชาชน และปัญหาการดูแลผู้สูงอายุ
จีนต้องฝ่าฟันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อที่จะบรรลุถึงความฝันที่วาดไว้ถึง “สองความฝัน” ผู้นำสี จิ้นผิง ผู้ขึ้นกุมอำนาจสูงสุดสมัยแรกเมื่อปลายปี 2012 และได้ตั้งเป้าการสร้างสังคมกินดีอยู่ดีถ้วนหน้า (Mederately prosperous society) ในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน นี่คือความฝันแรก
จีนได้ปักหมุดชัยชนะที่เด็ดขาดของการสร้างชาติจีน อยู่ที่ความสำเร็จในการสร้างสังคมกินดีอยู่ดีถ้วนหน้า ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสู่การบรรลุความฝันที่สอง คือการสร้างชาติสังคมนิยมสมัยใหม่ (Modern Socialist China) ภายในกลางศตวรรษที่ 21 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีค.ศ. 2049
หันกลับมาดูความเป็นจริงปัจจุบัน อันถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการสร้างสังคมกินดีอยู่ดีถ้วนหน้าในสองปีข้างหน้า ขณะที่นักวิชาการจีนบางคนคาดว่าในความเป็นจริงอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทำให้ประชาชนจีนที่มีมากถึงกว่า 1.3 พันล้านคน กินดีอยู่ดีกันทั่วถ้วนหน้าได้ เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
สิ่งที่กลุ่มการนำของสี จิ้นผิงได้ทำใน 5 ปีที่ผ่านมานั้น นับเป็นเพียงการเริ่มปรับเปลี่ยนหันเหสู่เส้นทางฝันอันยิ่งใหญ่ และแก้ไขปัญหาจากการพัฒนาที่ผ่านมา
จากการแถลงรายงานของนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาผู้แทนประชาชนจีน หรือเอ็นพีซี (National People' s Congress /NPC) รายงานผลงานรัฐบาลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญๆได้แก่
- จีดีพี สูงขึ้นจาก 54 ล้านล้านหยวน มาถึง 82.7 ล้านล้านหยวน อัตราเติบโตต่อปีโดยเฉลี่ย เท่ากับ 7.1 เปอร์เซ็นต์
- ประชาชนมากกว่า 68 ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน
- การบริโภคพลังงานและน้ำ ต่อหน่วยจีดีพี ลดลง มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ การปล่อยสารก่อมลพิษในสิ่งแวดล้อมลดลงอย่างต่อเนื่อง และมลพิษอากาศลดลงอย่างน่าพอใจโดยจำนวนวันที่มีมลพิษอากาศสูงมากในเมืองหลัก ลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์
-รายได้บุคคลเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยต่อปี 7.4 เปอร์เซ็นต์ ก้าวล้ำการเติบโตของเศรษฐกิจ และสร้างกลุ่มรายได้ปานกลางกลุ่มใหญ่ที่สุดในโลก 400 ล้านคน
-จำนวนนักท่องเที่ยว เพิ่มจาก 83 ล้านคน เป็นกว่า 130 ล้านคน
-สร้างงานในเขตเมืองเพิ่มขึ้น กว่า 66 ล้านตำแหน่งงาน
พร้อมกันนี้ นายกฯหลี่ได้แถลงเป้าหมายสำหรับปี 2018 นี้
เป้าหมายการเติบโตจีดีพี จะอยู่ที่ราว 6.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมสำหรับช่วงเปลี่ยนถ่ายระบบเศรษฐกิจจากการเติบโตอย่างรวดเร็วไปสู่ขั้นตอนการพัฒนาที่ทรงคุณภาพสูง และยังสามารถบรรลุเป้าหมายกระตุ้นการจ้างงานในระดับที่น่าพอใจ
-ดำเนินมาตรการพัฒนาเพื่อช่วยประชาชนในเขตชนบทอีกกว่า 10 ล้านคน พ้นจากฐานะยากจน
-สร้างงานในเขตเมือง กว่า 11 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานในการสำรวจ จะอยู่ที่ 5.5 เปอร์เซ็นต์ และอัตราไร้งานทำในเขตเมืองที่ขึ้นทะเบียน จะอยู่ที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์
-ตัดลดภาษีธุรกิจและภาษีเงินได้บุคคล อีกมากกว่า 8 แสนล้านหยวน หรือราว 4 ล้านล้านบาท โดยจะมุ่งความสำคัญไปที่การลดอัตราภาษีในภาคคมนาคมและภาคการผลิต และเพิ่มรายได้ขั้นต่ำที่ต้องจ่ายภาษีของรายได้จากยอดขายประจำปีสำหรับผู้เสียภาษีวิสาหกิจขนาดเล็ก นอกจากนี้จะตัดลดภาษีลงกึ่งหนึ่งให้แก่กลุ่มธุรกิจโลว์โปรไฟล์ขนาดเล็ก เป็นต้น
-ผลักดันความคืบหน้าอย่างสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างอุปทาน
ขณะนี้ สี จิ้นผิง วัย 64 ปี ครองอำนาจสูงสุดเป็นสมัยที่สอง และก่อนเปิดประชุมสองสภา อันได้แก่ สภาที่ปรึกษาการเมือง และการประชุมสภาเอ็นพีซีนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ได้ยื่นข้อเสนอปรับแก้รัฐธรรมนูญ “ยกเลิกข้อจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีที่กำหนดไว้ไม่เกินสองสมัย” ซึ่งฟันธงได้เลยว่า สี จิ้นผิง จะกุมอำนาจต่อไปหลังสิ้นสุดวาระสมัยที่สองในปี 2022 ซึ่งมิใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย
สี จิ้นผิงจะล้างมือในอ่างทองคำและส่งมอบอำนาจให้แก่ทายาทการเมืองเมื่อใด อาจเชื่อมโยงกับตารางเวลาบรรลุเป้าหมายในขั้นตอนต่างๆสู่ความฝันจีน ที่เขาเป็นคนริเริ่ม หรืออย่างน้อยก็ในนามของเขา และเกมบนเวทีการเมือง ที่จะประกันเกียรติภูมิยิ่งใหญ่ของเขาในหน้าประวัติศาสตร์จีน ที่ไม่น้อยหน้าไปกว่าผู้นำสูงสุดจีนคนใด ไม่ว่าเหมา เจ๋อตง หรือเติ้ง เสี่ยวผิง
ทั้งนี้ จีนตั้งเป้าใช้เวลาอีกถึง 30 ปี กว่าที่จะไปถึงฝั่งฝันทั้งสองความฝัน จากปี 2020 จีนได้นับเป็นฤกษ์เริ่มออกเดินทางสู่การสร้างสังคมนิยมที่ทันสมัย โดยแบ่งช่วงการพัฒนาเป็นสองขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนแรกจะใช้เวลา 15 ปี (จากปี 2020-2035) เพื่อสร้างพื้นฐานสังคมนิยมที่ทันสมัย และในขั้นตอนที่สอง จะใช้เวลาอีก ราว 15 ปี จากปี 2035 ไปถึงกลางศตวรรษที่ที่ 21 (ซึ่งสีมีอายุ 95 ปี) เพื่อบรรลุการสร้างประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย นี่คือเป้าหมายยิ่งใหญ่ ที่จีนจะประกาศตัวเป็นประเทศพัฒนาแล้ว.