xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จักกับขนมบัวลอยจีน หยวนเซียวกับทังหยวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หยวนเซียวปรุงน้ำ ขอบคุณภาพจาก https://kknews.cc/food/akzamv.html
โดย พชร ธนภัทรกุล

ช่วงตรุษจีนเป็นช่วงที่ชาวจีนมีทั้งพิธีกรรมและกิจกรรมทำกันมากที่สุด และไม่ใช่ทำกันแค่สองสามวัน แต่นานถึง 15 วันเต็มๆ ในอดีตมีข้อกำหนดว่า ในแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งต่างกันออกไปตามท้องถิ่นและตามคนจีนแต่ละสำเนียงพูด ปัจจุยบันไม่ค่อยเคร่งครัดมากนักกับพิธีกรรมและกิจกรรมเหล่านี้ พิธีกรรมและกิจกรรมหลายอย่างจึงเลือนหายไป เหลือไว้เพียงพิธีกรรมและกิจกรรมสำคัญบางอย่างเท่านั้น

ตามความเชื่อของชาวแต้จิ๋ว เหล่าเทพเจ้าทั้งหลายที่อยู่บนโลกจะต้องไปรายงานต่อเง็กเซียนฮ่องเต้บนสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 24 เดือนสิบสอง คือก่อนวันตรุษจีน 7 วัน และจะอยู่บนสวรรค์ 15 วัน ก่อนจะกลับมายังโลกในเช้าวันที่ 4 เดือนหนึ่ง หรือวันชิวสี่ (初四) คือหลังวันตรุษจีน 4 วัน

ฉะนั้น ชาวแต้จิ๋วจะเริ่มจัดของไหว้ไหว้รับเทพเจ้ากลับจากสวรรค์กันล่วงหน้าตั้งแต่ในคืนวันที่ 3 หรือวันชิวซา (初三) และพอเช้าวันที่สี่ ก็จะไปไหว้เทพเจ้าที่ศาลเจ้ากันอีกครั้ง

วันที่ห้าหรือวันชิวโหงว (初五) จะไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภหรือไฉ่ซิ่งเอี๊ย (财神爷)
จากนั้น เว้นไปหนึ่งวัน พอวันที่ 7 ชาวแต้จิ๋วจะต้มจับฉ่ายด้วยผัก 7 ชนิด ที่เรียกว่า “ชิกเอี่ยแก” (七样羹) ทานกัน (ชนิดของผักอาจแตกต่างกันไปแล้วแต่แต่ละตำบลหมู่บ้าน กระทั่งในแต่ะครอบครัว)

แล้วเว้นอีกหนึ่งวัน ในวันที่ 9 หรือชิวเก้า (初九) เป็นวันเกิดของ “ทีกง” (天公) ชาวหมิ่นหนาน (ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว) ก็จะไหว้ “ทีกง” กันแต่เช้าตรู่เลยทีเดียว ทีกงคือใคร ถามอากงอาม่าวัยร่วมร้อย คำตอบที่ได้มักเป็น ทีกงก็คือทีกง หรือเหล่าทีเอี๊ย (老天爷) แต่บ้างว่าคือ เง็กเซียนฮ่องเต้
หยวนเซียว (ยังไม่ได้ต้ม) ขอบคุณภาพจาก https://kknews.cc/food/akzamv.html
จากนั้นเว้นว่างไปจนถึงวันที่ 15 ก็มาถึงวันหยวนเซียว (元宵节) หรือหง่วงเซียวในเสียงแต้จิ๋ว เป็นวันฉลองปิดท้ายเทศกาลตรุษจีน นั่นคืองานประดับโคมไฟ และการละเล่นทายคำปริศนาที่เขียนไว้บนโคมไฟ งานเทศกาลนี้เลยรู้จักกันว่า เป็นงานเทศกาลโคมไฟ หรือเติงเจี๋ย (灯节)

ผู้คนทางตอนเหนือของจีนให้ความสำคัญกับกิจกรรมในวันนี้มาก มากกว่าคนทางใต้ ส่วนชาวจีนในไทยก็จัดงานในเทศกาลนี้บ้าง เช่น ทางจังหวัดภูเก็ตมีการจัดงาน “ป่างเตงโห่ย” โดยนำโคมแดงหลากหลายรูปแบบมาตกแต่งอาคารบ้านเรือน และศาลเจ้า เพื่อสร้างสีสันเทศกาลตรุษจีนและกระตุ้นการท่องเที่ยว มีกิจกรรม “สังสรรค์หยวนเซียว” และ “กินตั่วอี๊” (กินบัวลอยจีน)

ในจีน บรรยากาศของงานนอกจากตระการตาด้วยโคมไฟสวยงามหลากหลายรูปแบบแล้ว ยังคึกคักไปด้วยการจุดพลุดอกไม้ไฟ เชิดสิงโต ในอดีตยังเป็นค่ำคืนที่หนุ่มสาวมีโอกาสได้พบเจอพูดคุยกัน เลยมีการเปรียบว่าเป็น คืนวันแห่งความรักของหนุ่มสาวจีน

แต่บรรยากาศที่ว่านี้จะกร่อยลงไปทันที หากไม่มีของกินประจำงานเทศกาลนี้ ชาวจีนทางเหนือจะกินขนมที่เรียกว่า หยวนเซียว ตามชื่อเทศกาล

ขนมหยวนเซียวนี้มีหน้าตาคล้ายขนมหวานชนิดหนึ่งของคนจีนทางใต้ ที่เรียกว่า “ทังหยวน” หรือ “ทังถวน” (汤圆/汤团) ชาวจีนบางสำเนียงเรียก “อี๊” หรือ “ตั่วอี๊” ซึ่งก็คือ บัวลอย นั่นแหละ แม้ขนมสองชนิดนี้จะมีหน้าตาคล้ายกัน แต่มีข้อต่างกันมากเหลือเกิน ตั้งแต่เรื่องของวิธีทำ ไส้ วิธีปรุง รสสัมผัส

การทำหยวนเซียว จะต้องปั้นไส้ก่อน ซึ่งมักเป็นไส้หวาน เช่น งาดำคลุกน้ำตาลทราย ใส่น้ำมันหมูที่กำลังร้อนลงผสมคลุกเคล้าให้ทั่ว เอาแช่ในตู้เย็นไว้สักชั่วโมง เพื่องาดำจับตัวแข็ง เอาออกมาปั้นเป็นก้อน
หยวนเซียวทอด ขอบคุณภาพจาก http://www.haochi123.com/S_caipu/Data/Detail_Caipu_394583885.htm
เตรียมแป้งข้าวเหนียวผสมแป้งข้าวเจ้าเล็กน้อย ใส่ภาชนะปากกว้างก้นแบน นำไส้งาดำที่ปั้นเป็นก้อนใส่ในแป้งข้าวเหนียว แล้วกลิ้งคลุกให้ติดแป้งข้าวเหนียวทั่วทั้งลูก พอเห็นว่าแป้งข้าวเหนียวเกาะจับก้อนงาดำทั่วลูกแล้ว เอาก้อนงาดำที่ติดแป้งข้าวเหนียวนี้ใส่กระชอนจุ่มในน้ำต้มสุก แล้วสลัดน้ำให้หมด ใส่ลงในแป้งข้าวเหนียวเพื่อคลุกอีกครั้ง ทำเช่นนี้หลายๆครั้ง จนแป้งข้าวเหนียวเกาะจับกันหนาตามต้องการ จึงเอาไปต้ม หรือทอด หรือนึ่ง จะได้ขนมหยวนเซียวตามที่ต้องการ วิธีทำขนมหยวนเซียวนั้นยุ่งยากกว่าการทำ “ทังหยวน” หรือบัวลอยมากทีเดียว

การทำทังหยวน จะนวดแป้งข้าวเหนียวให้ขึ้นรูป ใช้นิ้วมือบีบๆกดๆก้อนแป้งให้เป็นแผ่นกลม จากนั้นก็ห่อไส้ ปั้นเป็นลูกกลม ถ้าเป็นบัวลอยลูกเล็กมักไม่ห่อไส้ จากนั้นก็นำไปต้ม ปรุงด้วยน้ำตาลทราย ทังหยวนจะใช้การต้มวิธีเดียว ไม่นำไปทอดหรือนึ่ง เพราะชื่อทังหยวน แปลได้ว่า ขนมลูกกลมๆในน้ำร้อน ทัง (汤) ความหมายเดิมคือน้ำร้อน

นอกจากวิธีทำที่ต่างกันแล้ว ไส้ที่ห่อไว้ก็ต่างกันด้วย ขนมหยวนเซียวจะมีทั้งไส้หวานและไส้เค็ม มีทั้งไส้ถั่วงาและไส้เนื้อไก่เนื้อหมู คล้ายไส้ซาลาเปา ส่วนทังหยวนหรือบัวลอยจะห่อแต่ไส้หวานอย่างเดียว และบัวลอยลูกเล็กมักไม่ห่อไส้

ข้อต่างกันข้อที่สามคือ ขนมหยวนเซียวเป็นขนมรับเทศกาลหยวนเซียว ส่วนขนมทังหยวน (บัวลอย) เป็นขนมรับเทศกาลตงจี่ (冬至) ของคนทางจีนตอนใต้ ชาวแต้จิ๋วก็ทำบัวอยไว้ไหว้เจ้า แต่เป็นบัวลอยลูกเล็ก ไม่ห่อไส้

และเนื่องจากวิธีทำ ทำให้ขนมหยวนเซียวนี้เก็บรักษาได้ไม่นาน แช่แข็งก็ไม่ได้ เพราะจะแตก ดังนั้น ทำแล้วต้องต้มทอดหรือนึ่งเลย ส่วนทังหยวน (บัวลอย) เก็บไว้ได้นาน กระทั่งมีแบบแช่แข็งวางขาย บ้านเราก็มีบัวลอยแช่แข็งแบบสำเร็จรูป เพียงแค่อุ่นในเตาไมโครเวฟก็ทานได้แล้ว
ทังหยวน/บัวลอย (ยังไม่ได้ต้ม) ขอบคุณภาพจาก http://dreamyeh.pixnet.net/album/photo/129980141
เรื่องรสสัมผัสเวลาทานก็ต่างกัน หยวนเซียวเนื้อจะค่อนข้างแข็งกว่า ส่วนทังหยวน (บัวลอย) เนื้อจะนุ่ม เหนียวลื่น ทานง่ายกว่า

และถ้าใช้วิธีต้มเหมือนกัน น้ำต้มในหยวนเซียวจะเหนียวข้นและขุ่น นั่นเป็นเพราะผงแป้งข้าวเหนียวละลายอยู่ในน้ำนั่นเอง ส่วนน้ำต้มทังหยวน (บัวลอย) มักใสกว่า เพราะไม่มีผงแป้งข้าวเหนียวละลายไปกับน้ำ แต่ถ้าต้มนานเกินไป น้ำต้มก็จะเหนียวข้นได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ เวลาที่ใช้ต้มก็ไม่เท่ากัน หยวนเซียวจะใช้เวลาต้มนานกว่า คือสัก 10 นาทีขณะที่ทังหยวนใช้เวลาต้มเพียง 3-5 นาทีเท่านั้น

แม้วิธีปรุงแบบดั้งเดิมทั้งหยวนเซียวและทังหยวน (บัวลอย) จะเป็นการต้ม แต่หยวนเซียวอาจนำมาทอด นึ่ง หรือย่าง ก็ได้ นี่ก็เป็นข้อแตกต่างอีกข้อหนึ่ง

ความนิยมก็ต่างกัน ขนมหนวนเซียวเป็นของกินสำคัญของคนทางจีนตอนเหนือมาช้านาน ในขณะที่คนทางจีนตอนใต้ นิยมทานทังหยวน (บัวลอย) กันมาแต่ไหนแต่ไร เคยเปลี่ยนไปนิยมหยวนเซียว ในทางกลับกัน ทังหยวนกลับได้รับความนิยมมากขึ้นจากคนจีนทางเหนือ เพราะเก็บรักษาได้นาน สามารถแช่แข็งวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตได้

ข้อแตกต่างข้อสุดท้าย คือทั้งหยวนเซียวและทังหยวน (บัวลอย) ต่างเป็นของกินโบราณที่มีประวัติยาวนาน จึงมีตำนานเรื่องเล่ารวมทั้งที่มาของชื่อเรียกที่ต่างกัน
ทังหยวน/บัวลอย ขอบคุณภาพจาก http://toutiao.china.com/jksy/gundong/13000138/20171229/31889000.html
คนจีนสมัยโบราณเรียกกลางคืนว่า “เซียว” (宵) ส่วนหยวน (元) นั้นแปลว่า แรก หรือ (อันดับ) ที่หนึ่ง จึงเรียกคืนวันที่ 15 เดือนหนึ่งตามปฏิทินเกษตรคติของจีน ซึ่งเป็นคืนวันเพ็ญแรกของปีว่า หยวนเซียว

แล้วในคืนวันเพ็ญนี้ มีการประดับโคมไฟ ก็กลายเป็นงานเทศกาลโคมไฟ หรือเติงเจี๋ย (灯节) ไปด้วย ว่ากันว่า การประดับโคมไฟมีมาแต่สมัยแผ่นดินซีฮั่น (西汉) เมื่อกว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา มาในสมัยแผ่นดินพระเจ้าหมิงตี้แห่งราชวงศ์ตงฮั่น (东汉明帝) ก็เริ่มมีงานชมโคมไฟ เหตุเพราะพระองค์ส่งเสริมศาสนาพุทธ จึงให้ประดับโคมไฟในคืนวันเพ็ญเดือนหนึ่งนี้ เพื่อสักการะบูชาพระพุทธเจ้าในพระราชวังและวัดต่างๆ ต่อมาการประดับโคมเพื่อสักการะบูชาพระพุทธเจ้า ได้ค่อยๆแปรเปลี่ยนไปเป็นงานเทศกาลโคมไฟไปทั่วประเทศจีน และมีการทำขนมชนิดหนึ่งทานกันในคืนวันนี้ เลยเรียกขนมนี้ว่า หยวนเซียว ไปด้วย
นี่เป็นเพียงหนึ่งในเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของเทศกาลงานโคมไฟในคืนวันหยวนเซียว
ทังหยวน/บัวลอยลูกเล็กไม่มีไส้ ขอบคุณภาพจาก http://www.newsancai.com/gb/traditional/folk/2017/02/11/228735-125jklo
หยวนเซียวที่เป็นทั้งชื่อขนมและชื่องานเทศกาลชื่อนี้ จึงมีมานานมากแล้ว และมีเรื่องขำขันเล่ากันว่า ในปี 1912 ซึ่งเป็นปีที่หยวนซื่อข่าย (袁世凯) สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ เขาเกิดรังเกียจชื่อขนมและชื่อเทศกาลนี้ เพราะบังเอิญคำแรกไปพ้องเสียงกับแซ่ของเขา และคำนั้นก็เกิดไปพ้องเสียงคำอีกคำคือ เซียว (消) ที่แปลว่า กำจัด สลาย ก็เลยสั่งให้เปลี่ยนชื่อขนมนี้เป็น “ทังหยวน” ตามชื่อขนมที่คนจีนทางใต้นิยมกัน เพราะมันคล้ายกัน และคงเป็นเหตุนี้แหละที่ทำให้คนจีนในยุคต่อมาสับสนกับชื่อเรียกของขนมสองชนิดนี้ ทุกวันนี้ ผู้คนในหลายพื้นที่ในจีนไม่แยกแล้วว่า ขนมไหนคือหยวนเซียว ขนมไหนคือทังหยวน เรียกปนเปกันไปหมด คือมีทั้งเรียกขนมหยวนเซียวเป็นขนมทังหยวน และเรียกขนมทังหยวนเป็นขนมหยวนเซียว


กำลังโหลดความคิดเห็น